ReadyPlanet.com


ค่าขาดไร้อุปการะ


ผู้รับบุตรบุญธรรมจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากบุตรบุญธรรมได้หรือไม่  และบุตรบุญธรรมจะเรียกได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ gik :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-15 23:26:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1850974)

คำถามคุณอาจจะไม่ชัดเจน ผมขอเข้าใจคำถามคุณว่า

1.ผู้รับบุตรบุญธรรมเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากบุคคลภายนอกที่มาทำละเมิดกับบุตรบุญธรรมจนถึงแก่ความตามย ได้หรือไม่

2. บุตรบุญธรรม เรียกค่าขาดไรอุปการะจากบุคคลภายนอกที่มาทำละเมิดกับผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายได้หรือไม่

มาตรา 1598/28 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตร ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

เมื่อบิดามารดามีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์หรือบุตรที่ทุพพลภาพ(ที่ชอบด้วยกฎหมาย) และกฎหมายกำหนดว่า บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงตอบคำถามข้อ 2 ว่า เมื่อใครมาทำให้ผู้รับบุตรบุญธรรมตาย  บุตรบุญธรรมจึงเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากบุคคลผู้ทำละเมิดได้ครับ แต่ในขณะที่บุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์นะครับ

ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้บุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ผู้รับบุตรบุญธรรม แต่

มาตรา 1598/29 การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดก ของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตร บุญธรรมนั้น

เมื่อไม่มีกฎหมายให้บุตรบุญธรรมมีหน้าที่ดังกล่าว เมื่อมีใครมาทำละเมิดต่อบุตรบุญธรรมจนถึงแก่ชีวิต ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากบุคคลภายนอกได้ครับ (ความเห็น)

แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา (มาตรา 1598/28)

ดังนั้นแม้ผู้รับบุตรบุญธรรมเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ แต่บิดามารดาที่แท้จริงสามารถเรียกได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-16 13:56:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1850975)

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดเป็นแนวทางการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใช้บังคับจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติและผู้รู้จักคุ้นเคยกัน โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ต่อมาการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้แพร่หลายออกไปสู่บุคคลภายนอกทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะคนต่างด้าวนั้นให้ความนิยมรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางส่วนแสวงหาประโยชน์จากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยกระทำในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกระทบกระเทือนต่อสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงได้กำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญและป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม อีกทั้งยังคุ้มครองประโยชน์ของบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก ตลอดจนประโยชน์ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

ดังนั้น แนวทางการรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้ จะได้พิจารณาหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดเป็นแนวทางการรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ และแนวทางการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒

๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรม ปรากฏอยู่ในหมวด ๔ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายแม่บทในการรับบุตรบุญธรรม โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับบุตรบุญธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา และถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับแต่หลักเกณฑ์กว้างๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ยังคงใช้บังคับควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นสำคัญ บทบัญญัติเรื่องดังกล่าวอยู่ในมาตรา ๑๕๙๘/๑๙ - ๑๕๙๘/๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญไว้เป็นแนวทางในการรับบุตรบุญธรรม ดังต่อไปนี้

 

๑.๑ หลักเกณฑ์ในเรื่องอายุ

หลักเกณฑ์ในเรื่องอายุถูกกำหนดไว้เป็นประเด็นสำคัญในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบัญญัติไว้เป็นมาตราแรกที่กล่าวถึงอายุของผู้ที่จะรับบุคคลอื่นมาเป็นบุตรบุญธรรมและในมาตราถัดไปกล่าวถึงเกณฑ์อายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่ต้องได้รับความยินยอมหรือไม่ ดังปรากฏในมาตรา ๑๕๙๘/๑๙ ที่ว่า “บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี”

ตามมาตรา ๑๕๙๘/๑๙ นี้ได้กำหนดแนวทางการรับบุตรบุญธรรมโดยคำนึงถึงอายุของผู้รับบุตรบุญธรรมว่าต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปีและต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจึงจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ ในเรื่องหลักเกณฑ์อายุของผู้จะรับบุคคลอื่นมาเป็นบุตรบุญธรรมเคยมีปัญหาว่า ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมมีอายุต่ำกว่ายี่สิบห้าปีแต่ต่อมาผู้รับบุตรบุญธรรมมีอายุครบยี่สิบห้าปี การรับบุตรบุญธรรมนั้นจะมีผลเป็นประการใด ซึ่งได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้พิพากษาวางเป็นบรรทัดฐานไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๐๔/๒๔๙๗

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๐๔/๒๔๙๗ “ถ้าขณะรับบุตรบุญธรรมนั้นผู้รับบุตรบุญธรรมมีอายุต่ำกว่ายี่สิบห้าปี การรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ แม้ภายหลังผู้รับบุตรบุญธรรมจะมีอายุครบยี่สิบห้าปี ก็ไม่ทำให้การรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์ขึ้นมาได้”

เหตุผลที่สำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์อายุของผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ก็เนื่องจากความสัมพันธ์ของผู้รับบุตรบุญธรรมกับผู้เป็นบุตรบุญธรรมนั้น เสมือนกับความสัมพันธ์ของบิดามารดากับบุตร ฉะนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมีวัยต่างกันพอสมควรที่จะเป็นบิดามารดากับบุตรได้ ในขณะเดียวกันกฎหมายก็มิได้จำกัดว่าผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมจะต้องเป็นเพศเดียวกันหรือแตกต่างกัน หรือไม่มีข้อจำกัดว่าบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมจะมีอายุอย่างมากไม่เกินกี่ปีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๙๓/๒๕๓๗ ขณะที่ บ.จดทะเบียนรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม บ. มีอายุ ๒๕ ปี ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม มาตรา ๑๕๘๒ ที่กำหนดว่าผู้รับบุตรบุญธรรมตต้องมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี ส่วนการที่ บ. รับจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรบุญธรรมนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของ บ. ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิมมาตรา ๑๕๘๔ การจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของ บ. ย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมายจำเลยทั้งสองจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของ บ.

นอกจากนี้หลักเกณฑ์ในเรื่องอายุปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๐ ที่ว่า “การรับบุตรบุญธรรม ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย”

ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช ได้อธิบายไว้ว่า “ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมถ้ายังเป็นเด็กไม่รู้เดียงสาไม่อาจตัดสินใจในเรื่องการเป็นบุตรบุญธรรมตามลำพัง ต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดา แต่ถ้าเด็กมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไปแล้ว ถือว่าโตพอที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้เอง มาตรา ๑๕๙๘/๒๐ จึงกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีนี้ด้วยว่าจะยอมไปเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นหรือจะยังคงอยู่กับบิดามารดาของตนตามเดิม”

๑.๒ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องความยินยอม

หลักเกณฑ์เรื่องความยินยอมมี ดังนี้

๑.๒.๑ ประการแรก คือ ความยินยอมของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๐ ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเด็กมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไปแล้ว ถือว่าโตพอที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้เอง ตามสมควร จึงกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีนี้ด้วยว่าจะยอมไปเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นหรือจะยังคงอยู่กับบิดามารดาของตนตามเดิม

๑.๒.๒ ประการที่สอง คือความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ ที่บัญญัติว่า “การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง

ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้”

ในหลักความยินยอมประการที่สองนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดถึงตัวบุคคลที่จะให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ ซึ่งผู้เยาว์หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก็ตาม ผู้ที่จะให้ความยินยอมตามมาตราดังกล่าวประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้

(๑) บิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม กรณีผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมมีทั้งบิดาและมารดา

(๒) มารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง

(๓) ศาลสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม กรณีไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์

ในหลักความยินยอมนี้มีประเด็นปัญหาถกเถียงกันมาก และหลายปัญหาได้รับการวินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้โดยคำพิพากษาของศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๐๑/๒๕๓๕ การที่บิดามารดาจดทะเบียนหย่ากันโดยมีข้อตกลงให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของมารดานั้นมีผลทำให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๐ , ๑๕๖๖(๖) ฉะนั้น เมื่อมารดายินยอมให้บุตรผู้เยาว์ไปเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลภายนอกก็ชอบที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนบิดาซึ่งหมดอำนาจปกครองแล้ว

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ ๒๙๖/๒๕๒๘ เกี่ยวกับมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสองว่า คำสั่งศาลเป็นเพียงคำสั่งที่แสดงเจตนาให้ความยินยอมแทนบิดามารดาเด็กเท่านั้น ผู้ร้องจะต้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ อีก ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก

๑.๒.๓ ประการที่สาม คือ ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก กรณีผู้เยาว์ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ ที่บัญญัติว่า “ในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมถ้าผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา ถ้าสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอมให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

สำหรับการให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ กฎหมายกำหนดให้สถานสงเคราะห์เด็กเหล่านั้นเป็นผู้ให้ความยินยอม ซึ่งเรื่องนี้ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ได้อธิบายมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ นี้ว่า “เนื่องจากไม่สามารถหาตัวบิดาและมารดาผู้เยาว์ได้ และการทอดทิ้งย่อมแสดงถึงเจตนาของบิดามารดาที่ไม่ประสงค์จะใช้อำนาจปกครองเหนือบุตรผู้เยาว์อีกต่อไป ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในกระบวนการรับผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งเป็นบุตรบุญธรรมจึงให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทน หากบุคคลดังกล่าวไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนสถานสงเคราะห์เด็กนั้นก็ได้”

ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้ง แต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็ก บิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง จะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ ดังความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ ที่ว่า “ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้ง แต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก บิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง จะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หนังสือมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งจะถอนมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้น”

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์ในกรณีที่เด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลมิได้ถูกทอดทิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นกรณีที่บิดามารดาไม่อาจจะเลี้ยงดูได้จึงนำมามอบให้สถานสงเคราะห์ช่วยเลี้ยงดู เป็นต้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความยินยอม โดย

(๑) บิดาและมารดา ทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอม

(๒) บิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง ทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอม

(๓) ศาลสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม กรณีสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอม บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็กก็ได้

ในเรื่องนี้รองศาสตราจารย์ วิยะดา สมสวัสดิ์ ได้อธิบายมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ ไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้งแต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็ก ตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก บิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์ในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองจะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้ให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ “หนังสือมอบอำนาจนี้จะถอนมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้น” แต่ถ้าสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอม บิดารมารดา หรือบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็กก็ได้”

๑.๒.๔ ประการที่สี่ คือ ศาลสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม สำหรับอำนาจศาลที่จะสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมนั้น นอกจากจะเป็นไปตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ แล้ว ยังมีในกรณีที่ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์ต้องการรับบุตรบุญธรรมในสถานสงเคราะห์ที่ตนดูแลรับผิดชอบอยู่เป็นบุตรบุญธรรม ต้องให้ศาลสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม ซึ่งป้องกันประโยชน์ได้เสียด้วยการแสวงหาประโยชน์ในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยตนเองให้ความยินยอมเองอันอาจก่อให้เกิดการกระทำที่มิชอบขึ้นได้ เพราะมิได้มีการตรวจสอบถ่วงดุล จึงจำเป็นต้องให้ศาลอนุญาตหากผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์จะรับเด็กในความดูแลเป็นบุตรบุญธรรม หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๔ ที่บัญญัติว่า “ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์เด็กในการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ จะรับผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของผู้นั้นแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็ก”

บทบัญญัติในมาตรานี้ คำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งเป็นการป้องกันการกระทำที่มิชอบต่อเด็ก และอำนาจปกครองของบิดามารดา กรณีที่ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์ต้องการรับบุตรบุญธรรมในสถานสงเคราะห์ที่ตนดูแลรับผิดชอบอยู่เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เสียก่อน ทั้งนี้ เพราะผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์นั้นเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียจึงต้องให้ศาลซึ่งเป็นกลางเป็นผู้ให้ความยินยอม

๑.๒.๕ ประการที่ห้า คือ ความยินยอมจากคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งหลักความยินยอมจากคู่สมรสปรากฏอยู่ใน มาตรา ๑๕๙๘/๒๕ ที่บัญญัติว่า “ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น”

หลักเกณฑ์การให้ความยินยอมตามมาตรานี้ เนื่องจากการรับบุตรบุญธรรม เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับทรัพย์มรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม เพราะผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีสิทธิในกองมรดกเสมือนหนึ่งผู้สืบสันดาน และในทางกลับกันผู้เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมตามควรแก่ฐานานุรูปซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาได้ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการยินยอมของคู่สมรส เนื่องจากชายหญิงที่จดทะเบียนเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องอยู่กินหลับนอนอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน มีกองทรัพย์สินและหนี้สินบางประเภทร่วมกันตลอดจนมีทรัพย์สินที่ต้องจัดการร่วมกัน การที่คู่สมรสอีกฝ่ายจะรับบุคคลใดมาเป็นบุตรบุญธรรมไว้ในบ้านประการหนึ่งหรือคู่สมรสต้องไปเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวและความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินของคู่สมรสไม่มากก็น้อยแล้วแต่กรณีไป ดังจะเห็นว่ามาตรา ๑๖๒๗ บุตรบุญธรรมจะมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานจึงมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม อันมีผลทำให้ส่วนแบ่งในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายจากคู่สมรสที่ถึงแก่กรรมไปก่อนน้อยลง เพราะตนมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา ๑๖๓๕ (๑) ด้วยเหตุนี้หากผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมหรือจะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสอยู่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมหรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรส เมื่อศาลอนุญาตแล้วก็นำคำอนุญาตของศาลไปยื่นขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

ในหลักความยินยอมจากคู่สมรสมีประเด็นปัญหาว่า ถ้าผู้จะรับบุตรบุญธรรมมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหลายคน จะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาคนใดบ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๗๐/๒๕๒๔ พิพากษาว่า “ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหลายคน จะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาทุกคน” และ “การที่คู่สมรสให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม ก็ไม่ทำให้มีฐานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย” ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๔/๒๕๐๙ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๒๒/๒๕๓๔

ยังมีประเด็นปัญหาว่า ถ้าการรับบุตรบุญธรรมได้กระทำโดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรสจะมีผลอย่างไร ซึ่งกรณีนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๔/๒๕๓๑(ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๒/๒๕๓๗ พิพากษาว่า “การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ซึ่งคู่สมรสฝ่ายหนึ่งกระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด” และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๕๙/๒๕๓๐ ได้พิพากษาในเรื่องลักษณะนี้โดยเพิกถอนการรับบุตรบุญธรรม

๑.๓ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นบุตรบุญธรรมซ้ำซ้อน

การห้ามเป็นบุตรบุญธรรมซ้ำซ้อนของผู้เยาว์ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ ได้บัญญัติว่า “ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยจะต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้วและมิให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับ” มาตรานี้ได้วางหลักสำคัญไว้สองประการ กล่าวคือ

(๑) หลักห้ามเป็นบุตรบุญธรรมซ้ำซ้อนของผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่า ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นได้

(๒) ความยินยอมของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้ว ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน

เรื่องนี้ศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช ได้อธิบายไว้ว่า “ตามปกติในการรับบุตรบุญธรรมนั้น บุตรบุญธรรมมักจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลเพียงคนเดียว ต่างกับผู้รับบุตรบุญธรรมที่อาจรับบุตรบุญธรรมหลายคนได้ในคราวเดียวกัน แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามบุตรบุญธรรมเป็นบุตรบุญธรรมของผู้รับบุตรบุญธรรมหลายคนในคราวเดียวกัน ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครทำเช่นนั้น อย่างไรก็ดีมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ ได้วางหลักการ ห้ามเฉพาะผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งในกรณีของบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้วไม่มีปัญหาในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรแต่อย่างใด และในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของตนอยู่แล้วถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะรับผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของตนอีกด้วย การรับบุตรบุญธรรมเช่นว่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาโดยกำเนิดด้วยอีก ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ วรรคท้าย แต่คู่สมรสซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมอยู่แล้วจะต้องได้รับความยินยอมในการนี้ด้วย”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๒๑ - ๒๖๒๒/๒๕๓๑ การที่ ป. กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อ ป. และผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมในวันเดียวกัน โดย ป. จดทะเบียนก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของ ป. ก่อนแล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๖ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

๑.๔ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในแบบพิธี

แบบพิธีในทางแพ่งปรากฏให้เห็นในหลายมาตรา เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ดังนั้นแบบพิธีในทางแพ่งเพื่อความสมบูรณ์ของเจตนารมณ์และการบังคับน่าจะจำแนกได้ ดังนี้

(๑) กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น การฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าทรัพย์

(๒) กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ เช่น สัญญาเช่าซื้อ

(๓) กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ

ในหลักแบบพิธีที่เกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรมนั้น มาตรา ๑๕๙๘/๒๗ บัญญัติว่า “การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

ในการรับบุตรบุญธรรมนั้น เมื่อผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการรับบุตรบุญธรรมครบถ้วนแล้ว เพื่อให้การรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์ตามกฎหมายจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๗ การจดทะเบียนนั้น ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะต้องเป็นผู้ร้องขอต่อนายทะเบียน นายทะเบียนจะตรวจสอบหลักฐานต่างๆ เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนจึงจะจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมให้ ถ้านายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียน ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรมจะยื่นคำร้องขอต่อศาลก็ได้ เมื่อไต่สวนได้ความว่าได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งให้รับจดทะเบียน สำหรับนายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมคือผู้อำนวยการเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอ และการที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้จดทะเบียนรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมของตนแล้วจะถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า เนื่องจากการจดทะเบียนเหมือนกับการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ซึ่งมาตรา ๑๕๕๙ บัญญัติห้ามไว้ ฉะนั้น หากการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่แล้วก็อาจเพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ตามหลักทั่วไป อย่างไรก็ดีการเพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนี้จะต้องมีเหตุบกพร่องในการจดทะเบียน ถ้าหากไม่มีเหตุบกพร่องในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้วก็จะเพิกถอนไม่ได้ เช่น นายแดงจดทะเบียนรับเด็กหญิงขาวเป็นบุตรบุญธรรมของตน ต่อมาปรากฏว่าเด็กหญิงขาวมีอาการผิดปกติทางสมองไม่เจริญเติบโตเหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไป นายแดงจะขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้ หรือนายดำจดทะเบียนรับเด็กชายเขียวเป็นบุตรบุญธรรมของตนต่อมานายดำมีฐานะยากจนลงไม่อาจจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายเขียวได้ นายดำก็จะขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่จะมีเหตุอื่นที่จะฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ ตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๓

เมื่อจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมแล้ว แม้จะปรากฏว่าผู้ให้ความยินยอมใช้สูติบัตรกับสำเนาทะเบียนปลอมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก็ตาม พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งถอนทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ มิได้บัญญัติให้อำนาจไว้ พนักงานอัยการจะร้องขอใช้สิทธิทางศาลได้ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๔๐/๒๕๒๔)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๔/๒๕๓๘ การที่โจทก์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายอ้างตนว่าเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่จำเลยทั้งสองคัดค้านอ้างว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำคัดค้านสิทธิในการรับมรดกของโจทก์ย่อมถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่า การจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ ๒ และนาง ว. ไม่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ ๑ ที่จะให้ความยินยอมในการจดทะเบียนและเจ้าพนักงานผู้ทำการจดทะเบียนเป็นปลัดอำเภอตรีไม่ใช่นายทะเบียนตามกฎหมายที่จะมีอำนาจจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๕๑/๒๕๓๘ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙๘/๒๗ เดิมบัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ฉะนั้น การที่เจ้ามรดกทำหนังสือมีข้อความแสดงความจำนงและยินยอมรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แต่ปรากฏว่าไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของเจ้ามรดก จึงไม่อาจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓๖/๒๕๔๖ เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ บรรพ ๕ และบรรพ ๖ แล้ว แม้มาตรา ๑๕๘๖ บัญญัติว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ” และมาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติไว้ด้วยว่า “...บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” ก็ตาม แต่บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวหมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๘๕ เท่านั้น ผู้ตายรับผู้คัดค้านที่ ๑ มาเลี้ยงอย่างบุตรบุญธรรม ทั้งไปแจ้งต่อกำนันว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๑๔๙๘ เป็นบุตร แม้จะกระทำก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยผู้รับบุตรบุญธรรมต้องร้องขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ ประกอบกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ ข้อ ๒ วรรคสอง ดังนั้น การที่ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ ๒ แจ้งการเกิดของผู้คัดค้านที่ ๑ ว่าเป็นบุตรจึงมิใช่เป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ ๑ จึงมิใช่ทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๓ วรรคหนึ่ง

๑.๕ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองฐานะและสิทธิหน้าที่

เนื่องจากบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมมีความสัมพันธ์ทั้งทางส่วนตัวและทางทรัพย์สิน และยังมีความสัมพันธ์ต่อบิดามารดาเดิมที่ให้กำเนิด หากกฎหมายไม่กำหนดรับรองสถานะและสิทธิหน้าที่ให้ชัดเจนย่อมก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ อันทำให้เกิดข้อโต้แย้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ได้ จึงกำหนดหลักรับรองฐานะและสิทธิหน้าที่ของบุตรบุญธรรมดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๕๙๘/๒๘ ที่ว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๒ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้รับรองฐานะและสิทธิหน้าที่ของบุตรบุญธรรมไว้หลายประการ กล่าวคือ

(๑) รับรองให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งก็หมายความว่าบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีฐานะอย่างไร บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะเช่นนั้นเหมือนกัน

(๒) รับรองสิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมที่มีต่อบิดามารดาเดิมหรือครอบครัวที่ตนได้กำเนิดมา ว่าไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาแต่อย่างใด

(๓) รับรองอำนาจปกครองของผู้รับบุตรบุญธรรม โดยกำหนดให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องสับสนในเรื่องอำนาจปกครองผู้เป็นบุตรบุญธรรมว่าอยู่ในอำนาจปกครองของใคร

โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม ได้จำลองภาพมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ด้วยเหตุนี้เมื่อได้มีการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเรียบร้อยแล้ว ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงเข้ามาแทนที่บิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กเพื่อรับช่วงสิทธิและปฏิบัติหน้าที่ต่อเด็กต่อไป บิดามารดาโดยกำเนิดจึงหมดอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว แม้ต่อมาผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่กรรมเด็กนั้นก็ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายนั้นอยู่ เหตุนี้บิดามารดาเดิมของเด็กหรือภริยาของผู้รับบุตรบุญธรรมย่อมไม่มีอำนาจปกครองเด็กนั้นตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๗/๒๔๙๒ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๗/๒๔๙๕)

อย่างไรก็ตามบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา จึงยังมีสิทธิจะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาตามสัญญาที่ทำไว้กับมารดาในขณะที่ทั้งคู่จดทะเบียนหย่าแม้ภายหลังมารดาจะได้ยกตนให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นก็ตาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๙๙/๒๕๓๕)

นอกจากนี้มาตรา ๑๕๙๘/๒๘ วรรคสอง ยังได้กำหนดให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๒ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งก็คือมาตรา ๑๕๖๑ - ๑๕๔๘/๑ ดังนั้น ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงเป็นเหมือนผู้ใช้อำนาจปกครองเหนือบุตรบุญธรรม และต้องทำหน้าที่ดุจบิดามารดาของบุตรบุญธรรม กล่าวคือ มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาต่อบุตรบุญธรรม ตัวบุตรบุญธรรมเองก็มีสิทธิใช้นามสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรม และมีหน้าที่ต่อผู้รับบุตรบุญธรรมทำนองเดียวกันกับหน้าที่ต่อบิดามารดาโดยกำเนิดของตน หากมีผู้มาทำละเมิดบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้เยาว์ถึงแก่ความตาย ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๑๓/๒๕๑๗) อย่างไรก็ตาม บุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรมตามความหมายของกฎหมายอาญา

เคยมีปัญหาว่า “ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมตายก่อนบุตรบุญธรรม อำนาจปกครองจะกลับคืนไปยังบิดามารดาเดิมที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” ซึ่งประเด็นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๙/๒๕๔๐ ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตาย กฎหมายมิได้บัญญัติให้อำนาจปกครองกลับคืนไปยังบิดามารดาโดยกำเนิดดังเช่นในกรณีเลิกรับบุตรบุญธรรม ดังนั้น จึงต้องถือว่าบิดามารดาโดยกำเนิดยังคงหมดอำนาจปกครองเช่นเดิม (คำพิพากษาศาลฎีกานี้พิพากษาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๗/๒๔๙๒ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๗/๒๔๙๕)

ประเด็นปัญหาว่าอนุสัญญาว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ข้อ ๔ (ค) ขัดต่อหลักการรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยที่ ๒๕๙/๒๕๔๘ ว่า “ตามอนุสัญญาว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ข้อ ๔ (ค) และโดยเฉพาะข้อ ๒๗ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดว่า การรับบุตรบุญธรรมในรัฐกำหนดไม่มีผลให้นิติสัมพันธ์ฉันบิดามารดาและบุตรซึ่งมีอยู่ก่อนสิ้นสุดแต่รัฐผู้รับบุตรบุญธรรมอาจเปลี่ยนนิติสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัวกำเนิดของเด็กสิ้นสุดลงก็อาจกระทำได้ ถ้ากฎหมายของรัฐผู้รับบุตรบุญธรรมอนุญาต การที่อนุสัญญาทั้งสองข้อกำหนดหลักการดังกล่าวไว้เช่นนี้ ก็เนื่องจากรูปแบบและผลทางกฎหมายภายในเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักการดังกล่าวไว้เช่นนี้ ก็เนื่องจากรูปแบบและผลทางกฎหมายภายในเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมของแต่ละประเทศที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญากำหนดไว้แตกต่างกัน โดยบางประเทศกำหนดให้การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแบบขาดจากครอบครัวเดิม (Full adoption) แต่บางประเทศก็อาจกำหนดเป็นแบบไม่ขาดจากครอบครัวเดิม (Limited adoption) หรือทั้งสองแบบรวมกัน ดังนั้นข้อ ๔ (ค) ของอนุสัญญาฯ จึงกำหนดไว้เพียงเพื่อให้หน่วยงานที่ต้องให้ความยินยอมได้รับรู้สถานะทางกฎหมายของประเทศผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นเพราะหากต่อไปมีการฟ้องร้องในศาลของประเทศผู้รับบุตรบุญธรรม กฎหมายสารบัญญัติของประเทศนั้นอาจเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในกรณีดังกล่าวได้ ตามหลักว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของประเทศผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น ฉะนั้น ข้อกำหนดข้อ ๔ (ค) ของอนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่ขัดกับมาตรา ๑๕๖๓ มาตรา ๑๕๖๔ มาตรา ๑๕๙๘/๒๘ และมาตรา ๑๖๒๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวเดิมของบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยแต่อย่างใด

(๔) รับรองสิทธิในทรัพย์มรดกของบุตรบุญธรรม ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๙ ที่บัญญัติว่า “การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น” ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม เพราะการรับบุตรบุญธรรมนั้นเป็นเรื่องของการแสดงความเมตตาและเสียสละ ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รับความเพลิดเพลินความสมบูรณ์ทางจิตใจ คลายความเหงาและว้าเหว่ในขณะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมไปแล้ว จึงไม่ควรหวังประโยชน์ตอบแทนจากการรับมรดกของบุตรบุญธรรมอีก นอกจากนี้หากให้สิทธิผู้รับบุตรบุญธรรมเพื่อหวังจะรับมรดกโดยเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมให้อดๆ อยากๆ ป่วยไข้ก็ไม่รักษาหวังจะให้ตายเร็วๆ เพื่อตนจะได้รับมรดกอันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรก็ได้ นอกจากนี้บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมก็ไม่เสียสิทธิในการรับมรดกบุตรบุญธรรมด้วย จึงไม่เหมาะสมที่จะให้ผู้รับบุตรบุญธรรมมามีสิทธิร่วมรับมรดกอีก อย่างไรก็ดีมาตรา ๑๕๙๘/๒๙ นี้ ไม่ให้สิทธิผู้รับบุตรบุญธรรมรับมรดกบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้น ถ้าเป็นการรับมรดกบุตรบุญธรรมในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแล้วก็ไม่มีข้อขัดข้องแต่ประการใด

๑.๖ หลักเกณฑ์การเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน

สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินของผู้รับบุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๓๐ ที่ว่า “ถ้าบุตรบุญธรรมซึ่งไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลืออยู่ภายหลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

ห้ามมิให้ฟ้องคดีเรียกร้องสิทธิตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบุตรบุญธรรมหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย”

บทบัญญัติในมาตรานี้วางหลักในเรื่องสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บุตรบุญธรรมตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมโดยมีหลักสำคัญว่า

(๑) บุตรบุญธรรมนั้นไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานและถึงแก่ความตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม

(๒) ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลืออยู่ภายหลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

(๓) สิทธิเรียกร้องนี้มีอายุความหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบุตรบุญธรรมหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย

หลักสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนของผู้รับบุตรบุญธรรม เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้ให้ทรัพย์สินแก่บุตรบุญธรรมและต่อมาบุตรบุญธรรมตายไปก่อนโดยไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน จึงให้ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลือภายหลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว การที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้ทรัพย์สินจากบุตรบุญธรรมตามมาตรานี้หาได้มาในฐานะที่เป็นมรดกตกทอด แต่เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย และจะต้องรอให้มีการชำระหนี้กองมรดกเสียก่อน หากมีเหลือผู้รับบุตรบุญธรรมก็ได้ไป หากไม่มีเหลือก็เรียกอะไรไม่ได้ทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของผู้รับบุตรบุญธรรมยังมาทีหลังคู่สมรสและผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๖๒๙ และในกรณีจะต้องฟ้องร้องเพื่อให้ศาลบังคับตามสิทธิเรียกร้องนี้ กฎหมายได้กำหนดอายุความฟ้องร้องเอาไว้ว่าจะต้องฟ้องคดีเรียกร้องสิทธิภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบุตรบุญธรรมหรือภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย หากพ้นเวลาดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความ

๑.๗ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลิกรับบุตรบุญธรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเลิกรับบุตรบุญธรรมเอาไว้ ซึ่งน่าจะจำแนกได้เป็น ๓ กรณี กล่าวคือ

๑.๗.๑ การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง

การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง มีหลักอยู่ในมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ ที่ว่า “การเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วจะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้

ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา และให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ วรรคสอง ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสีย หรืออัยการ

การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย”

การเลิกรับบุตรบุญธรรมอาจกระทำได้โดยความตกลงยินยอมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทำนองเดียวกับที่กฎหมายยอมรับให้มีการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรส ซึ่งการตกลงเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

(๑) ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้รับบุตรบุญธรรมจะตกลงกันเลิกการรับบุตรบุญธรรมในเวลาใดๆ ก็ได้

(๒) ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะกระทำได้โดยผู้รับบุตรบุญธรรมกับบิดาและมารดาของบุตรบุญธรรมตกลงยินยอมกัน และหากบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี บุตรบุญธรรมนั้นจะต้องตกลงยินยอมด้วย ถ้าในขณะที่จะตกลงเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้น บิดาและมารดาของบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายไปหมดทั้งสองคนแล้ว หรือบิดาหรือมารดาของบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตาย หรือบิดามารดาของบุตรบุญธรรมคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่ยินยอมให้เลิกรับบุตรบุญธรรมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญ หรือสวัสดิภาพของบุตรบุญธรรม หรือบิดา หรือมารดาของบุตรบุญธรรมเป็นคนวิกลจริต หรือหายไปจากถิ่นที่อยู่ไม่ทราบว่าไปอยู่ ณ ที่ใด จึงไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ กรณีเช่นนี้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ประสงค์จะเลิกรับบุตรบุญธรรมจะต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกรับบุตรบุญธรรม

(๓) ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ และการรับบุตรบุญธรรมนั้นได้กระทำโดยคำสั่งศาลก็ดี หรือเป็นการรับผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง หรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กโดยผู้รับผิดชอบในสถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมก็ดี หรือเป็นการรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของตนอยู่แล้วเป็นบุตรบุญธรรมของตนก็ดี การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลอนุญาตให้เลิกรับบุตรบุญธรรมได้โดยผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี หรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตดังกล่าว และตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ วรรคสองนั้น การเลิกรับบุตรบุญธรรมที่ตกลงกันเองทั้งสามกรณีดังกล่าวข้างต้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นนายทะเบียนในการนี้แล้ว

๑.๗.๒ การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยการสมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม ตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๒ “การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๑”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๕๑ ห้ามมิให้ผู้รับบุตรบุญธรรมการสมรสกับบุตรบุญธรรม เพราะถือว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันบิดามารดากับบุตรต่อกัน แต่ถ้าหากบุคคลทั้งสองฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กฎหมายห้ามไว้ไปทำการสมรสกันแล้ว การสมรสนั้นก็เป็นอันสมบูรณ์ทุกประการ แต่การสมรสดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมโดยผลของกฎหมายมาตรา ๑๕๙๘/๓๒ นับแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกันเป็นต้นมา บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมมีฐานะเป็นสามีภริยากันเพียงฐานะเดียวเท่านั้น การสมรสที่จะมีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมแม้เป็นการสมรสกันตามกฎหมายแล้วแต่การสมรสนั้นจะเป็นโมฆะก็ตามก็มีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมด้วย เพราะเป็นการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๑ ที่ห้ามมิให้ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมสมรสกัน เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมใช้ปืนข่มขู่บุตรบุญธรรมให้สมรสกับตน บุตรบุญธรรมกลัวจึงยอมจดทะเบียนสมรสด้วย การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆียะ แม้ต่อมาภายหลังศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนี้แล้วก็ตาม ชายหญิงคู่นี้ก็ไม่กลับมามีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไปแต่อย่างใด และการเลิกรับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมนี้เป็นการเลิกกันโดยผลของกฎหมาย มีผลทันทีตั้งแต่เวลาที่บุคคลทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมกันอีก

๑.๗.๓ การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล

การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ต้องอาศัยเหตุแห่งการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกกัน เหตุแห่งการฟ้องร้องบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ “คดีฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้น เมื่อ

(๑) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๒) ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๓) ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๔) ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๕) ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๖) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่เกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๗) ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดาและการกระทำนั้นเป็นการละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๖๔ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๓ มาตรา ๑๕๗๔ หรือมาตรา ๑๕๗๕ เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๘) ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด และเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

จะเห็นได้ว่า เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเลิกการรับบุตรบุญธรรมแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเลิกก็จำเป็นต้องนำคดีมาสู่ศาล โดยมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ กำหนดเหตุในการฟ้องคดีเลิกการรับบุตรบุญธรรมไว้ ๘ ประการ ดังนี้

(๑) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชังหรือได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ กระทำชั่วร้ายแรง หมายถึง การกระทำฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณีซึ่งวิญญูชนรู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นเจ้าของซ่องโสเภณีถูกตำรวจจับส่งฟ้องศาล หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกรียวกราว บุตรบุญธรรมซึ่งเป็นหญิงมีสิทธิฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๔/๒๕๔๕ โจทก์อุปการะเลี้ยงดูจำเลยมาตั้งแต่จำเลยอายุได้ ๗ วัน ต่อมาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมแสดงว่าโจทก์เมตตารักใคร่จำเลยเสมือนลูก โจทก์ได้ให้การศึกษาที่ดีแก่จำเลยและอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตลอดมาจนจำเลยสมรสมีครอบครัว โจทก์ก็ยังมีความรักและความเมตตาต่อจำเลย ตั้งใจจะยกทรัพย์สมบัติให้แต่เมื่อจำเลยเติบใหญ่ขึ้นมากลับไม่มีความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้มีพระคุณ จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงอันเป็นเรื่องที่บุตรไม่พึงกระทำต่อมารดา ทั้งจำเลยมักหาเรื่องระรานโจทก์อยู่ตลอดเวลาและยังนำอาวุธปืนมาขู่จะฆ่าโจทก์ ครั้งสุดท้ายจำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงอันเป็นเรื่องที่บุตรไม่พึงกระทำต่อมารดา ครั้งสุดท้ายจำเลยด่าว่าโจทก์ต่อหน้าบุคคลอื่นอีก นับว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์แล้ว นอกจากนั้นจำเลยยังไม่มีความซื่อสัตย์ต่อโจทก์จะเอาที่ดินของโจทก์เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร เหยียดหยามโจทก์อันเป็นการทำชั่วอย่างร้ายแรงไม่สมควรที่จะให้จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเลิกรับบุตรบุญธรรมได้

(๒) ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้ การหมิ่นประมาทถึงการใส่ความให้เขาเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนการเหยียดหยามถึงการทำให้อับอาย เสียหาย ดูหมิ่น สบประมาท ด่าว่า หรือแสดงกริยาอาการที่ทำให้เห็นว่าบุคคลนั้นต่ำต้อยกว่าตน เช่น บุตรบุญธรรมเรียกผู้รับบุตรบุญธรรมว่า “อ้าย” เป็นการเหยียดหยามผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างร้อยแรง ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๘๖/๒๕๓๔)

(๓) ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรง และการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ การประทุษร้ายหมายถึง การจงใจทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งถ้าเป็นการทำร้ายร่างกายก็จะต้องมีบาดแผลโลหิตไหลหรือเกิดช้ำบวม และต้องเป็นการกระทำอันเป็นความผิดทางอาญาด้วย หากเป็นการทำร้ายโดยการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นความผิด ไม่เป็นเหตุที่จะฟ้องขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

(๔) ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้ การไม่อุปการะเลี้ยงดูหมายถึง การไม่จัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือการรักษาพยาบาลให้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป เช่น บุตรบุญธรรมไม่ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมออกจากบ้าน แสดงให้เห็นว่าไม่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๘๖/๒๕๒๔) แต่ถ้าบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่คนละจังหวัดกัน โดยไปมาหาสู่กันเสมอ ต่อมาบุตรบุญธรรมออกจากงานไปอยู่ที่อื่นโดยไม่แจ้งให้ผู้รับบุตรบุญธรรมทราบ ผู้รับบุตรบุญธรรมไปหาโดยประสงค์ให้ช่วยส่งเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่พบกันบุตรบุญธรรมย่อมไม่ทราบความประสงค์ จึงยังถือไม่ได้ว่าบุตรบุญธรรมจงใจละทิ้งและไม่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม อันจะเป็นเหตุฟ้องขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๑๐/๒๕๒๖)

(๕) ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้ การที่ผู้รับบุตรบุญธรรมทิ้งไป หรือบุตรบุญธรรมทิ้งผู้รับบุตรบุญธรรมไปเกินหนึ่งปีฝ่ายที่ถูกละทิ้งฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

(๖) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ เช่น บุตรบุญธรรมไปชิงทรัพย์จนถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๔ ปี ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

(๗) ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดาและการกระทำนั้นเป็นการละเมิดหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาแก่บุตรบุญธรรม หรือไม่จัดการทรัพย์สินของบุตรบุญธรรมด้วยความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำหรือเอาเงินได้ของบุตรบุญธรรมไปใช้จ่ายโดยมิชอบหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้รับบุตรบุญธรรมที่สำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หรือทำกิจการที่เป็นประโยชน์ของผู้รับบุตรบุญธรรมขัดกับประโยชน์ของบุตรบุญธรรมโดยไม่ขออนุญาตจากศาลก่อน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดหรือาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้ เช่น บุตรบุญธรรมเจ็บป่วยก็ไม่พาไปหาหมอ ปล่อยทิ้งไว้จนโรคกำเริบจาเป็นอัมพาตทำให้บุตรบุญธรรมเสียหาย เช่นนี้ บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

(๘) ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมทารุณบุตรบุญธรรม หรือมีพฤติการณ์ที่ล่วงเกินในทางเพศจนศาลต้องถอนอำนาจปกครองและตั้งผู้ปกครองให้บุตรบุญธรรม ดังนี้ บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

บิดามารดาของบุตรบุญธรรมที่ได้ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมไปแล้วไม่มีช่องทางที่จะขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมโดยการถอนความยินยอมดังกล่าวได้

๑.๘. หลักเกณฑ์การฟ้องคดี

หลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สามารถจำแนกได้หลายประการ กล่าวคือ

(๑) หลักเกณฑ์ในเรื่องผู้มีอำนาจฟ้องคดี ซึ่งหลักเกณฑ์นี้บัญญัติอยู่ในมาตรา๑๕๙๘/๓๕ “การฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ให้บิดามารดาโดยกำเนิดเป็นผู้มีอำนาจฟ้องแทน แต่ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วบุตรบุญธรรมฟ้องได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใด

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง อัยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้”

หมายความว่า ในการฟ้องคดีเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้น ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมต้องเป็นผู้ฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรม เท่ากับว่าบิดามารดาโดยกำเนิดได้เห็นชอบในการฟ้องคดีดังกล่าวด้วยแล้วจึงยอมฟ้องคดีแทนให้ สำหรับบุตรบุญธรรมที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไปมีอำนาจฟ้องคดีเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใด เพราะถือว่าโตพอที่ระรู้ผิดชอบต่างๆ ได้ดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างใด อัยการในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐผู้คุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของประชาชนมีอำนาจตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๕ วรรคท้ายที่จะฟ้องคดีขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมแทนบุตรบุญธรรมได้

(๒) หลักเกณฑ์ในเรื่องผลของคำพิพากษาเลิกรับบุตรบุญธรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๓๖ ที่ว่า “การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว”

มาตรานี้ได้กำหนดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งทำให้การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันสิ้นสุดลงในวันเวลาดังกล่าวด้วย บุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมก็ยุติความสัมพันธ์ในฐานะบิดามารดากับบุตรต่อกัน แต่เนื่องจากการรับบุตรบุญธรรมได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน ตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนการเลิกรับบุตรบุญธรรมบุคคลภายนอกก็ไม่ทราบมาตรานี้ จึงได้คุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไว้ว่า การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้จนกว่าจะได้จดทะเบียนการเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้นแล้ว เช่น ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมแล้ว ผู้รับบุตรบุญธรรมได้เอาที่ดินของบุตรบุญธรรมไปให้บุคคลภายนอกผู้ทำการเช่าโดยสุจริต ๒ ปี เช่นนี้ บุคคลภายนอกดังกล่าวก็ได้สิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินนั้น

๑.๙ หลักเกณฑ์การรับรองอำนาจปกครองผู้เยาว์

อำนาจปกครองสำหรับบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น มาตรา ๑๕๙๘/๓๗ บัญญัติว่า “เมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ หรือนับแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม แต่ถ้าได้มีการตั้งผู้ปกครองของผู้เป็นบุตรบุญธรรมไว้ก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป เว้นแต่บิดามารดาโดยกำเนิดจะร้องขอและศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเป็นผู้มีอำนาจปกครอง

การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้มาโดยสุจริตก่อนจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม”

หลักสำคัญของมาตรานี้ ก็คือการกล่าวถึงอำนาจปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่กฎหมายต้องการรับรองและคุ้มครองผู้เยาว์มิให้ปราศจากอำนาจปกครอง ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เยาว์นั่นเอง ดังนั้นเมื่อการรับบุตรบุญธรรมเลิกแล้ว ไม่ว่าจะเลิกเพราะบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมตกลงเลิกกันเอง เพราะบุตรบุญธรรมสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรมหรือเพราะศาลพิพากษาให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมก็ตามบุตรบุญธรรมก็กลับคืนสู่ครอบครัวเดิมของตน ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ บิดามารดาโดยกำเนิดก็กลับมีอำนาจปกครองบุตรนับตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม หรือเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๓๗ นอกจากนี้แม้จะเป็นการรับผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมก็ตาม บิดามารดาโดยกำเนิดก็กลับมามีอำนาจปกครองผู้เยาว์นั้น เช่นกรณีปกติเหมือนกัน อย่างไรก็ดี หากก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรมได้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของผู้รับบุตรบุญธรรมและตั้งผู้ปกครองให้บุตรบุญธรรมไว้แล้ว เมื่อมีการเลิกการรับบุตรบุญธรรมผู้ปกครองดังกล่าวก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป แต่ทั้งนี้บิดามารดาโดยกำเนิดมีสิทธิที่จะมาร้องขอต่อศาลในคดีที่มีการตั้งผู้ปกครองนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ปกครองและให้บิดามารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรขึ้นมาใหม่ก็ได้

การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรมจากผู้รับบุตรบุญธรรมมาเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดก็ดี หรือการถอนผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมจากผู้รับบุตรบุญธรรมที่มีอยู่แล้วก่อนการเลิกการรับบุตรบุญธรรมมาให้บิดามารดาโดยกำเนิดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ดี ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริตก่อนจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม เช่น บุตรบุญธรรมอายุ ๑๘ ปี ทำการหมั้นโดยได้รับความยินยอมของผู้รับบุตรบุญธรรมแล้ว ต่อมามีการเลิกรับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมกลับมาอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดตามเดิม บิดามารดาจะอ้างว่าสัญญาหมั้นดังกล่าวเป็นโมฆียะเพราะไม่ได้รับความยินยอมจากตนให้เป็นที่เสื่อมสิทธิแก่คู่หมั้นของบุตรบุญธรรมไม่ได้

มีประเด็นปัญหาว่า “ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายในขณะบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ อำนาจปกครองจะกลับเป็นของบิดามารดาเดิมหรือไม่” ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาว่าการตายของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ได้ทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกไป แม้ผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตาย บุตรบุญธรรมก็ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ตายอยู่นั่นเอง บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์หาได้กลับมีอำนาจปกครองบุตรบุญธรรมขึ้นมาใหม่ไม่ อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะกลับคืนมาต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ปกครองจะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ได้ หรือมิฉะนั้นก็ควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรมกลับคืนแก่บิดามารดาเดิมเช่นเดียวกับกรณีเลิกรับบุตรบุญธรรมด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลายื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เยาว์โดยใช้อำนาจปกครอง

 

๑.๑๐. หลักเกณฑ์เรื่องอายุความ

หลักเกณฑ์ในเรื่องอายุความ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลผู้ถูกกระทบสิทธิและจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาหรือระงับข้อพิพาท ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นจะสิ้นสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ศาลบังคับตามที่ร้องขอ อายุความจึงเป็นทั้งข้อจำกัดสิทธิ และให้สิทธิแต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด อายุความมีกำหนดไว้ทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา และแม้แต่ในทางปกครอง กฎหมายก็กำหนดระยะเวลาไว้ ทั้งนี้ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อเท็จจริง ความถูกต้องชัดเจนของพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือ และน้ำหนักในการตรวจสอบข้อพิพาท ตลอดจนให้การพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุด ในเรื่องการเลิกรับบุตรบุญธรรมก็เช่นกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ ดังนี้

มาตรา ๑๕๙๘/๓๔ “ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้น หรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น”

คดีฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมจะต้องฟ้องเสียภายในกำหนด ๑ ปีนับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้นหรือภายในกำหนด ๑๐ ปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้นมิฉะนั้นคดีขาดอายุความ เช่น บุตรบุญธรรมหมิ่นประมาทผู้รับบุตรบุญธรรมในวันที่ ๑๐ แต่ไปรู้เหตุหมิ่นประมาทวันที่ ๑๕ อายุความก็นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ไม่ใช่วันที่หมิ่นประมาท แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่เกิดเหตุ ถ้าเพิ่งจะมารู้เมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้ว ๙ ปี ๖ เดือนต้องฟ้องภายใน ๖ เดือนที่เหลืออยู่ มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ

จะเห็นได้ว่าการรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติไว้อย่างกว้าง และกำหนดเงื่อนไขในการรับบุตรบุญธรรมไว้ด้วย ซึ่งสามารถกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้

(๑) การรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ สามารถกระทำได้ทั้งการรับผู้เยาว์และผู้บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นบุตรบุญธรรม

(๒) การรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับการรับบุตรบุญธรรมครบถ้วนแล้ว อีกทั้งต้องจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม

สำหรับรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยเฉพาะนั้น ได้กำหนดแนวทางการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งจะได้กล่าว ต่อไปนี้

๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ตราออกบังคับใช้ด้วยเหตุผลที่ว่า “เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติและผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น บัดนี้ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่นๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว สมควรกำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไว้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญและป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก ตลอดจนประโยชน์ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม” ทั้งนี้ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเพิ่มเติมจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๓ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

แนวทางในการรับบุตรบุญธรรม ตามพระราชบัญญัตินี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงการรับบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ส่วนสาระสำคัญและแนวทางการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข สำหรับใช้เป็นแนวทางในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไว้ ดังนี้

๒.๑ หลักเกณฑ์ในเรื่ององค์กรกลุ่มในรูปแบบคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายของประเทศไทยมีคณะกรรมการมากที่สุด การกำหนดให้มีองค์กรกลุ่มในรูปแบบของคณะกรรมการในกฎหมายนั้น มิใช่ว่าจะเหมาะสมใช้ได้กับทุกกรณี เพราะการมีคณะกรรมการเป็นวิธีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง บางครั้งอาจมีความเหมาะสมและจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการจัดการกับปัญหาในบางเรื่อง แต่บางกรณีอาจไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้คณะกรรมการเป็นผู้แก้ปัญหาก็ได้ จึงขอกล่าวถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มี “องค์กรกลุ่ม” ในรูปแบบของคณะกรรมการเสียก่อน เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการมีคณะกรรมการ และหลังจากนั้นจะได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ “คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”

๒.๑.๑ ความหมายของคณะกรรมการ

“คณะกรรมการ” คือ “กลุ่มของบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการบางอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน และมีความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในทางการบริหารนั้นถือว่าคณะกรรมการเป็นการกระทำของกลุ่ม โดยถือว่าคณะกรรมการเป็นกลุ่มก่อให้เกิดการรวมพลัง (synergy) ผลรวมของงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นกลุ่มย่อมมีมากกว่าผลรวมของงานที่เกิดจากต่างคนต่างทำคณะกรรมการอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น Board, Commission, Task Force หรือ Team Work”

“คณะกรรมการ” คือ “กลุ่มบุคคลคณะหนึ่งซึ่งทำหน้าที่พิจารณาปัญหา หรือประมวลความเห็นเพื่อเสนอแก่ฝ่ายดำเนินการ คณะกรรมการอาจตั้งขึ้นในสายงานของหน่วยงานหลัก หรือหน่วยงานที่ปรึกษา (Staff ) ก็ได้”

คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่มที่เกิดจากการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ มีอำนาจหน้าที่หรือภาระที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นการถาวรหรือเป็นการเฉพาะกิจก็ได้ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนั้น อาจเป็นไปด้วยความมุ่งหมายต่างๆ กัน เช่น คณะกรรมการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการ คณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสิน คณะกรรมการที่กำหนดให้ทำหน้าที่แต่เฉพาะศึกษารายละเอียดโดยไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชาจะตัดสินใจตามที่เสนอหรือไม่ก็ได้ คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีอำนาจที่จะให้คำแนะนำหรือตัดสินใจในทางธุรกิจหรือการปฏิบัติราชการ ในการบริหารจัดการในทางธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดินจะเห็นว่าอาจกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ ได้เช่น คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการการเงิน คณะกรรมการตรวจบัญชี เป็นต้น

๒.๑.๒ วัตถุประสงค์ของการมีคณะกรรมการ

การใช้องค์กรกลุ่มในรูปแบบของคณะกรรมการสำหรับบังคับการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น โดยทั่วไปจะมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ คณะกรรมการสามารถนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับรู้ข้อเท็จจริงซึ่งกันและกันได้มากกว่าบุคคลเพียงคนเดียว การตัดสินใจจะกระทำด้วยประสบการณ์ร่วม ทำให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันหาวิธีร่วมกันในการตัดสินใจจนได้การตัดสินใจที่มีคุณภาพสูงสุด ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์กว่า เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ และมีความหลากหลายในการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งที่แตกต่างกัน ซึ่งคนเดียวทำไม่ได้

(๒) เพื่อให้ได้ทางเลือกในการตัดสินใจที่มากกว่า เพราะมีความหลากหลายของข้อมูล โดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากหลายอาชีพและความเชี่ยวชาญหลายสาขา

(๓) เพื่อไม่ให้อำนาจตัดสินใจผูกขาดอยู่กับบุคคลคนเดียว ต้องการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายผู้มีประสบการณ์ เนื่องจากการตัดสินใจของคนๆ เดียวมีแนวโน้มของการใช้อำนาจที่เป็นเผด็จการ

(๔) เพื่อต้องการให้ตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในการพิจารณาปัญหา ทำให้การตัดสินใจจากกลุ่มมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยผ่านทางตัวแทน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อตามและยอมรับคำตัดสินที่มีขึ้นนั้น ทั้งนี้ การบริหารองค์กรสมัยใหม่ยอมรับกันว่าเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานเพื่อให้เกิดผลงานสูงสุด ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

(๕) เพื่อประสานแผนงานและนโยบาย ทำให้ทุกคนเห็นได้ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างใด แผนเป็นอย่างไร ตนอยู่ส่วนใดของแผน และทุกคนแนะนำแผนได้

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2008-10-16 13:58:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล