ReadyPlanet.com


แจ้งความ


เรียน  คุณ ลีนนท์  ที่เคารพ

ขอถามว่าการแจ้งความเช็ค เพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด  กับแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน  แตกต่างอย่างไร

เพราะเช็คเด้ง จากสัญญากู้ยืมเงิน  ลูกหนี้จ่ายเช็คมา 12 ใบ เดือนละใบ  3ใบแรกแจ้งความกับตำรวจ เขียนว่าดำเนินคดี จนถึงที่สุด 

3 ใบ ต่อมาตำรวจบอกแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานไว้   ซึ่งตำรวจให้เหตุผลว่าพอเช็ค  3 ใบแรก ขึ้นศาล เช็คที่เหลืออีก 9 ใบ ที่ทยอยแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก็จะไปรวมกันได้

ขอถามว่า  เช็คที่แจ้งความว่าเพื่อเป็นหลักฐาน  มีอายุความหรือไม่  ถ้ามีนานเท่าไร



ผู้ตั้งกระทู้ พงษ์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-15 15:38:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1850950)

การแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการการกระทำใดๆ เกิดขึ้นอย่างที่ได้แจ้งความไว้จริง แต่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหา

แต่การแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุดคือ ผู้แจ้งประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าผู้รับแจ้งดำเนินการตามกฎหมายต่อไปครับ

สำหรับอายุความในทางอาญาต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ส่วนในทางแพ่งเรื่องตั๋วเงินไม่ต้องแจ้งความแต่ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-16 13:07:32


ความคิดเห็นที่ 2 (1850978)

เรียน  คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

  ขอถามใหม่  คุณตอบไม่ตรงประเด็น  ที่ตอบมาผมเข้าใจอยู่แล้ว  แต่ที่ไม่เข้าใจคือและขอถามคือ

1.เช็ค 3 ใบ(3เดือน)  แจ้งความดำเนินคดีถึงที่สุด ตำรวจทำเรื่องให้แล้ว เรียกผู้ต้องหามาพิมพ์ลายนิ้วมือมาสอบสวนแล้วก็ปล่อยตัวไป ตอนนี้เรื่องอยู่กับอัยการ  ใครแพ้-ชนะ ก็รอศาลตัดสิน

เท่ากับว่าเช็ค 3 ใบแรกไม่หมดอายุความ และเป็นคดีไปแล้ว

2.ที่ผมยังไม่เข้าใจก็คือ เช็ค อีก 3 ใบ ต่อมา ตำรวจบอกให้แจ้งเป็นหลักฐานเท่านั้น และลงบันทึกประจำวันไว้ ตำรวจบอกว่ารอศาลพิพากษา คดีแรกก่อน จะได้ไม่ต้องเรียกผู้ต้องหามาสอบ มาพิมพ์ลายนิ้วมือตำรวจไม่ต้องเดินทางไปธนาคารสอบ สมุห์บัญชี   คือข้ออ้างของตำรวจบอกว่า  คดีที่ร้ายแรงมีเยอะมาก คดีเช็คไม่ค่อยว่าง  ผมต้องการถามคุณลีนนท์ว่า  ข้อกฏหมายแจ้งความเป็นหลักฐานเท่านั้น  จะมีผลให้เช็ค 3ใบ ต่อมา เป็นอย่างไรหรือผมควรนำเช็คไปแจ้งความใหม่ว่าดำเนินคดีถึงที่สุด  ขอรบกวนคุณลีนนท์  ตอบด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น พงษ์ วันที่ตอบ 2008-10-16 14:01:23


ความคิดเห็นที่ 3 (1851302)

เรียน  คุณ ลีนนท์  ที่เคารพ

  ขอเพิ่มรายละเอียด คือเช็ค 3 ใบแรก ตำรวจขอค่าดำเนินการ  ทางผมจ่ายไป 5 พัน  ส่วนเช็คชุดที่ 2 อีก 3ใบ  แจ้งความเป็นหลักฐานอย่างเดียวตำรวจไม่เอาเงิน  ถามว่า  เช็คชุดที่2 แจ้งเพื่อกันขาดอายุวามไว้ก่อนจะมีผลภายหน้าอย่างไร  เพราะตอนนี้ลูกหนี้กำลังพยายามเคลียร์อยู่

  ขอขอบคุณล่วงหน้า

ผู้แสดงความคิดเห็น พงษ์ วันที่ตอบ 2008-10-17 09:02:54


ความคิดเห็นที่ 4 (1851964)

เรียน  คุณลีนนท์  ที่เคารพ

   ถ้าไม่รบกวนจนเกินไปอยากขอทราบคำตอบด้วยครับ    คำถามคือ  ความเห็นที่ 2 และ 3  ด้านบน

 ขอขอบคุณมาก

ผู้แสดงความคิดเห็น พงษ์ วันที่ตอบ 2008-10-18 19:40:52


ความคิดเห็นที่ 5 (1852128)

ฎีกาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชา/ มีปัญหาว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒(๗)หรือไม่? ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ.มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ.มาตรา ๓๓๓ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒(๗) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๒๐ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ (ฎ. ๖๖๔๔/๒๕๔๙ ล.๘ น.๑๐๗)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอร้องให้ ส. ไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่นโดยบอกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น เมื่อข้อความในสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 326, 328

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากเอกสารในหน้าแรกสรุปความได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยไปหานางสุจินตนาและขอร้องให้นางสุจินตนาไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลป่าแดดและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่น โดยบอกว่าคณะครูดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 27 มีนาคม 2544 เรื่อง ขอให้โยกย้ายครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม มามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบด้วย และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามได้แจ้งความเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 เท่านั้น เมื่อข้อความในเอกสารระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

( นันทชัย เพียรสนอง - สุมิตร สุภาดุลย์ - คมวุฒ บุรีธนวัต )

ศาลจังหวัดเชียงราย - นางกฤษณา กลั่นนุรักษ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายธีระพงศ์ จิระภาค

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-19 11:05:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล