ReadyPlanet.com


การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน


คืออยากทรบกรณีศึกษาเกี่ยวกับการควบบริษัทจำกัดเข้ากัน  การเลิกบริษัทจำกัด  และการชำระบัญชีที่เป็นตัวอย่างและคำตอบค่ะ 


ผู้ตั้งกระทู้ สุจิตรา (sujitra_praw-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-06 12:46:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1847059)

ส่วนที่ 9 การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

 

มาตรา 1238 อันบริษัทจำกัดนั้นจะควบเข้ากันมิได้ เว้นแต่จะเป็นไป โดยมติพิเศษ

 

มาตรา 1239 มติพิเศษซึ่งวินิจฉัยให้ควบบริษัทจำกัดเข้ากันนั้นบริษัท ต้องนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับตั้งแต่วันลงมติ

 

มาตรา 1240 บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งคำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าว

(แก้ไข*ฉบับที่ 18* พ.ศ. 2551)

ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัด ค้าน

ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ใช้ หนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น

 

มาตรา 1241 บริษัทได้ควบเข้ากันแล้วเมื่อใด ต่างบริษัทต้องนำความ ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ควบเข้ากัน และบริษัทจำกัดอันได้ ตั้งขึ้นใหม่ด้วยควบเข้ากันนั้น ก็ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่

 

มาตรา 1242 จำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับ ยอดรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมอันมาควบเข้ากัน

 

มาตรา 1243 บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดา มีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-07 17:34:11


ความคิดเห็นที่ 2 (1847065)

บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการเลิกกิจการเพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไป และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไป ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง

โจทก์ไม่ได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างอีก

 

คดีทั้งสิบสามสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 กับเรียกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลในต่างประเทศจดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เดิมจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อว่า ธนาคารซูมิโตโมจำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 ได้ควบรวมกิจการกับจำเลยที่ 1 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ผลการควบรวมกิจการดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ และจำเลยที่ 2 ต้องรับโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสิบสามเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1เริ่มทำงานและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือเสนอต่อพนักงานทุกคนให้ยอมรับการโอนย้ายจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไปเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โดยกำหนดให้ลงลายมือชื่อยอมรับสภาพการจ้างตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งจัดทำขึ้นมาโดยพลการและกำหนดค่าจ้างกับผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานต่ำกว่าเดิม ในขณะที่พนักงานซึ่งรับโอนจากธนาคารซูมิโตโม จำกัด ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้จำเลยที่ 1 กำหนดให้พนักงานทุกคนลงลายมือชื่อตอบรับสภาพการจ้างใหม่ภายในวันที่ 12มีนาคม 2545 หากไม่ลงลายมือชื่อจะเลิกจ้างระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับธนาคารซูมิโตโม จำกัดกำลังดำเนินการควบรวมกิจการอยู่นั้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยที่ 1 ให้ยอมรับพนักงานทุกคนเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานตามสภาพการจ้างเดิมทุกประการ หากพนักงานคนใดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ให้ถือว่าพนักงานคนดังกล่าวครบเกษียณอายุและให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า พนักงานที่ประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องยอมรับสภาพการจ้างใหม่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้น ซึ่งจะได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานลดต่ำกว่าเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้ประกาศข้อพิพาทแรงงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานจึงขอยุติการไกล่เกลี่ยและประกาศข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดว่าสหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมาภายหลังได้จดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2544 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง จึงให้ยกเสียโดยไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานครั้งนี้แต่อย่างใด หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานทุกคนในอัตราปีละ 4 เท่า ของเงินเดือน โดยแบ่งจ่ายปีละ 2 งวด งวดละ 2 เท่าของเงินเดือนกำหนดจ่ายในเดือนมิถุนายนและธันวาคมของแต่ละปี จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 ซึ่งครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสงวดแรก แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่จ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทั้งสิบสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายและเงินโบนัสตามบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดีแก่โจทก์ทั้งสิบสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสาม

จำเลยที่ 1 ทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินและการแข่งขันในธุรกิจธนาคารอย่างรุนแรง จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นต้องควบรวมกิจการกับธนาคารซูมิโตโม จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และให้ธนาคารสามารถดำรงอยู่และแข่งขันต่อไปได้ โดยเป็นการควบรวมกิจการทั่วโลกทั้งในประเทศไทยในการควบรวมกิจการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ส่วนธนาคารซูมิโตโม จำกัด ยังดำรงอยู่และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารซูมิโตโมมิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 1 จะโอนมายังจำเลยที่ 2 ก่อนควบรวมกิจการจำเลยที่ 1 ได้ประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่าจะมีการโอนพนักงานไปทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยได้รับอัตราเงินเดือนไม่น้อยกว่าเดิมและนับอายุการทำงานต่อเนื่อง แต่สวัสดิการและผลประโยชน์อาจจะแตกต่างจากเดิมบ้างขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะประกาศใช้ โดยให้ส่งคำตอบแก่จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 พนักงานทุกคนที่ตอบตกลงภายในวันดังกล่าวจะได้รับโอนไปทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้ส่งคำตอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้แจ้งให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างพนักงานที่มิได้ตอบรับการทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 โดยจะเลิกจ้างหลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 หลังจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 และได้จ่ายค่าชดเชยกับเงินอื่นใดตามกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบสามแล้ว สำหรับเงินโบนัสอัตรา 2 เท่า ของเงินเดือน จำเลยที่ 1 ได้จ่ายให้โจทก์ทั้งสองสามแล้วเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ได้แสดงเจตนาโอนย้ายเข้าสู่สถานภาพพนักงานของจำเลยที่ 2 ภายในวันที่12 มีนาคม 2544 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบสามกับจำเลยที่ 2 ยังไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและเงินโบนัสตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสิบสาม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสาม คำให้การของจำเลยทั้งสองคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความ และคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องและบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ จดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน2544 จำเลยที่ 1 และธนาคารซูมิโตโม จำกัด ได้ควบรวมกิจการผลจากการควบรวมกิจการได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งต่อพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ว่าลูกจ้างที่ต้องการโอนไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ให้ตอบรับข้อเสนอรับเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 มิฉะนั้นจะถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง แต่โจทก์ทั้งสิบสามมิได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ในระหว่างที่จำเลยที่ 1กับธนาคารซูมิโตโม จำกัด กำลังดำเนินการควบรวมกิจการอยู่นั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 จึงประกาศข้อพิพาทแรงงานให้เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานครั้งนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนยกเลิกไปทะเบียนพาณิชย์และไม่ได้ประกอบธุรกิจอีก หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานว่า สหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนยกเลิกใบทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 และจำเลยที่ 1 ได้นำเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามมาวางศาลครบถ้วนแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสามว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสิบสามถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ในกรณีที่กิจการใดมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอนรับมรดกหรือด้วยประการอื่นใด หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนหรือควบกับนิติบุคคลใดสิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใดให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ" บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารซูมิโตโม จำกัด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544เป็นต้นไปผลของการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับธนาคารซูมิโตโม จำกัด อันเป็นนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก บัญญัติไว้อีกด้วยโดยผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้วดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ คดีนี้โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสิบสามตามที่โจทก์ทั้งสิบสามกล่าวอ้างอีกคดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้างจริงการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแต่ที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสาม ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242 - 7254/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-07 17:46:15


ความคิดเห็นที่ 3 (1847068)

การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน หมายถึง การนำเอาบริษัทจำกัดตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป มาเข้ากันรวมเป็นบริษัทใหม่เกิดขึ้นเรียกบริษัทแบบนี้ว่า “การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน” อาจมีเหตุผลมาจากเพื่อรวมทุน 2 บริษัท มาดำเนินการโครงการใดโครงการหนึ่งที่ต้องใช้ทุนจำนวนมาก หรืออาจมาจากสาเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในการดำเนินกิจการจึงควบเข้าเป็นบริษัทเดียวกันหรืออาจมาจากสาเหตุเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

การควบคุมบริษัทจำกัดเข้ากัน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. การจะนำบริษัทจำกัดมาควบเข้ากันได้ แต่ละบริษัทจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่เป็นมติพิเศษ และนำมติพิเศษนี้ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันลงมติ

2. หากแต่ละบริษัทมีเจ้าหนี้ จะต้องบอกกล่าวเรื่องการควบบริษัทเข้ากันให้เจ้าหนี้ทราบ และหากเจ้าหนี้มีข้อคัดค้านอย่างใด ก็ขอให้แจ้งบริษัทภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่บอกกล่าว ถ้ามีการคัดค้าน บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ เว้นแต่จะได้ใช้หนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว

3. บริษัทต้องโฆษณาวัตถุประสงค์ควบบริษัทในหนังสือพิมพ์ท้องที่ จำนวน 7 ครั้งเป็นอย่างน้อย

4. บริษัทได้ควบเข้ากันแล้ว แต่ละบริษัทต้องนำความไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ควบเข้ากัน และบริษัทที่ตั้งใหม่เพราะควบเข้ากันนั้น ก็ต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดใหม่ด้วย

5. จำนวนเรือนหุ้นของบริษัทใหม่ ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมอันมาควบเข้ากัน

6. บริษัทจำกัดที่เกิดใหม่นี้ย่อมรับสิทธิรวมทั้งความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่บริษัทเดิมมีอยู่ก่อนนำมาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

บริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคล เมื่อมีการก่อตั้งขึ้นแล้ว ก็อาจมีการสิ้นสุดพ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “การเลิกบริษัทจำกัด” เช่นเดียวกับการตายของบุคคลธรรมดา การเลิกบริษัทจำกัดจะต้องนำไปจดทะเบียนเลิกบริษัทภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกกัน

(มาตรา 1254 การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำ บอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกัน และในการนี้ต้อง ระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุก ๆ คนให้จดลงทะเบียนไว้ด้วย)

 

เหตุแห่งการเลิกบริษัทขึ้นอยู่คุณสมบัติของผู้ถือหุ้น คุณสมบัติของผู้ถือหุ้นจึงไม่มีผลทำให้บริษัทจำกัดต้องเลิกกัน แต่บริษัทจำกัดเลิกได้ด้วย

1) โดยผลแห่งกฎหมาย

2) โดยคำสั่งศาล

1.การเลิกโดยผลแห่งกฎหมาย

บริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ได้แก่ ป.พ.พ.มาตรา 1236 ดังนี้

1.1 ถ้าข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้เลิกกันกรณีใด เมื่อกรณีนั้นเกิดขึ้นก็เลิกกัน

1.2 ถ้าบริษัทตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้นก็เลิกกัน

1.3 ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวเมื่อเสร็จการนั้ก็เลิกกัน

1.4 เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติพิเศษให้เลิกบริษัท เนื่องจากผู้ถือหุ้นต่างก็เป็นเจ้าของบริษัท ถ้าหากผู้ถือหุ้นมองเห็นว่า การดำเนินการของบริษัทมีแต่ขาดทุน และล้มเหลว

1.5 เมื่อบริษัทล้มละลาย อนึ่ง หากวัตถุประสงค์ของบริษัทจำกัดขัดต่อกฎหมายโดยแจ้งชัด หรือกลายเป็นพ้นวิสัย บริษัทจำกัดต้องเลิกกันโดยผลแห่งกฎหมาย

2.การเลิกโดยคำสั่งศาล

ผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับความเสียหายอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกบริษัท 4 ประการ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1237 ดังนี้

(มาตรา 1237 นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประ ชุมตั้งบริษัท
(2) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำ การปีหนึ่งเต็ม
(3) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทาง หวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
(4) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน

(เฉพาะ (4)แก้ไข*ฉบับที่ 18*พ.ศ. 2551)

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัทหรือทำผิด ในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัทหรือให้มีการ ประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร)

2.1 กระทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

2.2 บริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึง 1 ปี เต็ม ผู้ถือหุ้นอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกบริษัทได้

2.3 การค้าของบริษัทมีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางกลับฟื้นตัวได้ ผู้ถือหุ้นอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้เมื่อได้แสดงหลักฐานว่าขาดทุนจริง แลไม่มีทางกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

2.4 จำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึง 7 คน หุ้นส่วนที่เหลืออาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกบริษัทได้

อนึ่ง การเลิกบริษัทต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชี และให้ผู้ชำระบัญชีนี้นำรายละเอียดการเลิกไปขอจดทะเบียนเลิกบริษัทภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกกัน (ป.พ.พ.มาตรา 1254)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-07 18:05:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล