ReadyPlanet.com


ที่ดินถูกปิดทางเข้าออก


ที่ดินของปู่ ถูกปิดทางเข้า ออก  ซึ่งครอบครัวปู่และครอบครัวของดิฉันใช้ทางเข้า ออก นี้มานานมากกว่า 80 ปี เนื่องจากสมัยก่อนที่ดินของปู่ทางเข้า ออกอยู่กลางที่ดินของเจ้าของที่ดิน ก็คือ ที่ดินทางซ้ายและขวาเป็นที่ดินของ นาย ก. (นามสมมุติ) ส่วนที่ดินปู่ จะอยู่ตรงกลาง ซึ่งต่อมาได้ขายที่ดินที่ใช้เป็นทางเข้า ออกให้ นาย ก. เนื่องจากเขาจะทำโรงสีข้าว และได้ให้ใช้ทางเข้าออก ในที่ดินของนาย ก. ด้านขวาริมสุดที่ดิน  โดยใช้ทางเข้า ออก มานานกว่า 80 ปี และหลังจากนั้นกิจการโรงสีก็ได้เลิกกิจการประมาณ 30 ปี  รื้อโรงสี ออกจนมีแต่ที่ดินว่างเปล่าตั้งแต่นั้น  จนประมาณเดือน เม.ย. 2551 ทราบว่า เจ้าของที่ดิน คนเดิม น าย ก. ได้ขายที่ดินให้คนใหม่ และคนใหม่ก็ได้นำรั้วลวดหนามมาล้อมปิดกั้นไม่ให้ใช้ทางเข้าออกอีกต่อไป จนปัจจะบันนี้  ดิฉันอยากได้รับคำแนะนำ ซึ่งจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง


ผู้ตั้งกระทู้ ตุ๊ก (tuk_pat-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-22 21:00:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1854300)

ถ้าได้ใช้ทางนั้นเกิน 10 ปี ก็สามารถฟ้องให้จดทะเบียนภาระจำยอมได้ครับ ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าไม่ได้ใช้ทางเพราะเจ้าของอนุญาต แต่ใช้ทางเพื่อเป็นทางเข้าออกโดยไม่ได้ขออนุญาตใครครับ

ลองอ่านคำพิพากษาฎีกาดู

ในเรื่องภาระจำยอม กฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7828/2547

 

โจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่การใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใคร ก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 2.5 เมตร ยาว 6 เมตร เป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้สนและทำถนนที่จำเลยขุดออกให้โจทก์เดินได้ตามปกติ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อและทำถนนได้เองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภาระจำยอมในเรื่องทางเดินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งมีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1387 ว่า "อสังหาริมทรพัย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น" แสดงว่ากฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์คือที่ดิน ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในมาตรา 1382 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ คดีนี้โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( โนรี จันทร์ทร - ทวีวัฒน์ แดงทองดี - จิระ โชติพงศ์ )

มีคำถามเพิ่มเติมก็ถามเข้ามานะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-23 17:31:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล