ReadyPlanet.com


เรื่องนิติกรรมสหกรณ์


หากผู้กู้จะกู้เงิน โดยใช้หุ้นสหกรณ์ค้ำประกัน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้ภรรยายินยอม  และหากไม่ได้นั้นผิดตามมาตราใดครับ 



ผู้ตั้งกระทู้ นิติฯแปดริ้ว :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-31 17:04:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1858168)

การกู้ยืมเงินกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสครับ การทำนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเป็นไปตาม

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยา จัดการได้มิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-31 18:24:41


ความคิดเห็นที่ 2 (1858596)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 ที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6 และ 7 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านเลขที่ 889 หมู่ 1 ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่8 เมษายน 2534 นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่ 9 เมษายน 2535 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 26080 และ 26081 ครั้นถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2536 นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนายเรียนกับจำเลยที่ 2 ก่อนนั้น เห็นว่า การที่นายเรียนให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2เป็นกรณีที่นายเรียนจัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479 เมื่อนายเรียนให้ที่ดินพพาททั้ง 2 แปลง แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่นายเรียนจดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ที่ดินทั้ง 2 แปลง จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินทั้ง 2 แปลงมิใช่เป็นการครอบครองในฐานะทายาทของนายเรียนที่จะต้องมีหน้าที่แบ่งสินสมรสให้โจทก์แทนนายเรียน แต่จำเลยที่ 2 ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จากนายเรียน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสของนายเรียนให้โจทก์

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียนที่ยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้บ้านเลขที่ 889 จะเป็นสินสมรสระหว่างนายเรียนกับโจทก์แต่ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่นายเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง นายเรียนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ที่นายเรียนมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1476 วรรคสองแต่นายเรียนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 889 อีกครึ่งหนึ่งของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ทั้งหลังให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิเว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งบ้านเลขที่ 889 อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียนได้ โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียน

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2008-11-02 12:29:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล