ReadyPlanet.com


ป.วิอาญา


     อยากทราบคำอธิบายข้อกฎหมายคำว่า  คดีเสร็จเด็ดขาดกับคำว่าคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดและคำพิพากษาถึงที่สุดความหมายต่างหรือเหมือนกันอย่างไรถ้าจะขอความอนุเคราะกรุณาช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ       ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงเลยครับกระผม


ผู้ตั้งกระทู้ ยอดชาย :: วันที่ลงประกาศ 2008-11-23 21:06:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1868119)

ต้องขอโทษนะครับไม่มีคำอธิบายเป็นทางการครับ ขอตอบตามความเห็นนะครับ

"คดีเสร็จเด็ดขาด"กับคำว่า"คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด"

สองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่เวลาใช้อาจเลือกที่ใช้อยู่บ้างครับ

คดีเสร็จเด็ดขาด---มีความหมายว่า คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ไม่มีอะไรต้องพิจารณาต่อไปและเป็นเหตุให้การนำคดีมาฟ้องระงับไปแล้วตาม

มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิด เช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

 

ดูอย่างอย่างที่ศาลใช้คำนี้นะครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9045/2544

คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นหญิงสมัครใจเข้าวิวาทกับ ภ. ต่างคนต่างทำร้ายซึ่งกันและกันแต่พละกำลังโจทก์สู้ ภ. ไม่ได้ จึงล้มลงกับพื้นในลักษณะนอนหงาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ ภ. ตรงเข้าทำร้ายโจทก์โดยไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกับโจทก์มาก่อน แม้ว่าโจทก์และ ภ. จะถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสองคนและคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย โดยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับ ภ. แม้จะเป็นเวลาใกล้เคียงต่อเนื่องกันก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฉวยโอกาสทำร้ายโจทก์ทั้งที่โจทก์ไม่มีทางสู้ โจทก์ไม่ได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทและกระทำผิดต่อจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ฝ่ายเดียว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายทั้งตามความเป็นจริงและตามกฎหมายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(4) , 28 (2)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2550

เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมด้วยทรัพย์ของกลางในคดีก่อนกับคดีนี้ในคราวเดียวกัน แต่ที่แยกฟ้องเพราะทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีมีผู้เสียหายสองคน การที่จำเลยมิได้รับทรัพย์ของกลางในคดีนี้กับในคดีก่อนไว้คนละคราวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรแล้ว สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยสำหรับความผิดฐานรับของโจรในคดีนี้จึงระงับไปตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำว่า"คำพิพากษาถึงที่สุด"

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่ความ ก็สามารถอุทธรณ์ได้ และถ้าไม่มีคู่ความอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  คำพิพากษาของของศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด และในทำนองเดียวกัน ถ้าในชั้นอุทธรณ์ เมื่อไม่มีคู่ความฎีกาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด

ดูการใช้คำนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2551

ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้อง ว. ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 128 ฉบับ ที่ศาลแพ่งธนบุรี 2 คดี ซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ ว. ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ และโจทก์ฟ้องบริษัท น. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2 คดี ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้บริษัท น. ชำระเงินตามฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการจำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวจำเลยผู้สั่งจ่ายยังไม่ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาให้โจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามคดีนี้ให้รับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค ส่วนคดีเดิมทั้งสี่สำนวนโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้การฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นการฟ้องเกี่ยวกับเช็คพิพาทชุดเดียวกันแต่มูลหนี้คดีนี้เป็นคนละมูลหนี้กับคดีเดิมและสภาพแห่งข้อหาต่างกันทั้งจำเลยก็เป็นคนละคนกัน กรณีมิใช่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173 วรรคสอง (1) จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-11-24 09:14:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล