ReadyPlanet.com


การยกย่องหญิงอื่น


การยกย่องหญิงอื่นนั้นหมายถึงอะไรคะ

และการอุปการะหญิงอื่น โดยที่พาไปห้าง แต่ไม่ได้ออกสังคมของชาย เช่น พาไปงานพิธีต่างๆ  นั้น ไม่ได้ถือเป็นการยกย่องหญิงอื่นใช่ไหมคะ หรือ การอุปการะหญิงอื่น หมายรวมถึงการยกย่องไปด้วยกันคะ

รบกวนอธิบายให้ด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษากฎหมาย :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-05 14:08:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1873122)

การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ความหมายก็ตรงตัวอยู่แล้วคือ การแสดงออกให้คนทั่วไปได้ทราบว่าผู้หญิงคนใดคนหนึ่งมีฐานะเป็นภริยาของเขา และเป็นการแสดงโดยเปิดเผยไม่ปิดบังสายตาใคร เช่น พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน พาไปออกงานเลี้ยงงานสังคมต่าง ๆ แนะนำให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงทราบว่าหญิงนั้นมีฐานะเป็นภรรยาตน เป็นต้น

ส่วนการอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นนั้นหมายถึงการที่ชายการให้ความช่วยเหลือหญิงที่มิใช่ภริยาตนในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ ให้เงินทองใช้จ่ายเป็นอาจิณ ซื้อข้าวของที่จำเป็นในการใช้ในชีวิตประจำวัน และการอุปการะเลี้ยงดูต้องเป็นไปแบบสามีภริยากันทั่วไป

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2525

จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้วยกย่องเป็นภริยาอย่างออกนอกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่ากรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคแรก

 

 

มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตาม มาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะ เรียกค่าทดแทนไม่ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-05 21:49:39


ความคิดเห็นที่ 2 (1873123)

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดกับโจทก์ที่ 1 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1แบ่งสินสมรส 450,000 บาท คืนหรือใช้ราคาสินส่วนตัว 154,500 บาทกับใช้ค่าทดแทนความเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และใช้สินสอด40,000 บาท คืนแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ทั้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 2,000บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ทั้งสามเฉพาะในเรื่องขอแบ่งสินสมรส โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1มีเหตุหย่าจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีบันทึกการโต้ตอบทางโทรศัพท์ระหว่างโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 3 นางเดือนเพ็ญ วงษ์ไชยสกุล นางวงจันทร์ อัศวเวคินกุล พันจ่าเอกสมจิตต์ พึงไตรรัตน์ นางสุภาวรรณ สรรสุนทรเทพ นายไพศาล ศรีนพรัตน์วัฒนา ตามเอกสารหมาย จ.21ถึง จ.31 และ จ.38 ภาพถ่ายทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.41 สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมชื่อผู้เป็นหุ้นส่วน ภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามเอกสารหมาย จ.6 ข.7 จ.10 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ทั้งสามและยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภรรยาอย่างออกหน้า อนึ่งสัญญาทัณฑ์บนตามเอกสารหมาย จ.14 ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงแม้จำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าเป็นผู้เขียนเอกสารนั้นเอง และจดหมายตามเอกสารหมาย จ.17 จ.18 จ.19 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวก่อนที่จำเลยที่ 1 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทัณฑ์บนให้โจทก์ที่ 1 ไว้ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 อีกตามเอกสารหมาย จ.14นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสามยังเบิกความประกอบสนับสนุนเอกสารดังกล่าวโดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 ยืนยันว่าเคยพบจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยกันในห้องนอนในสภาพที่ร่วมประเวณีกันเสร็จใหม่ ๆ รูปเรื่องน่าเชื่อดังโจทก์นำสืบ ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์แต่งเรื่องขึ้นเพื่อหาเหตุฟ้องหย่านั้นเห็นว่าเลื่อนลอยไม่มีเหตุผล พยานโจทก์มั่นคง คดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1มีเหตุหย่าจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย" ฯลฯ

"สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหาย โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองด่าหมิ่นประมาทโจทก์ทางโทรศัพท์ โจทก์มีโจทก์ทั้งสามและบันทึกการโต้ตอบทางโทรศัพท์เป็นพยานหลักฐาน พยานจำเลยไม่สามารถหักล้างได้ ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ 2,000 บาทเป็นการสมควรแล้ว ส่วนค่าเสียหายในการที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับความชอกซ้ำถูกดูหมิ่นเหยียดหยามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยกย่องเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่น ฉันสามีภริยา โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ศาลล่างกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 200,000บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว" ฯลฯ

"พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรส 450,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาทแทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์"

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-05 21:52:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล