ReadyPlanet.com


ฟ้องเช็ค


เรียน คุณ ลีนนท์  ที่นับถือ

ขอเรียนถามว่า เช็คชำระหนี้จะฟ้องร้องแจ้งความ ถ้าไม่มีสัญญาเงินกู้              มีแต่เช็คกับใบคืนเช็ค แจ้งความได้หรือไม่

ข้าฯได้ไปแจ้งความตำรวจไม่รับ บอกว่าการเป็นหนี้เกิน 2,000 บาท ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นสัญญา ฟ้องร้องไม่ได้

หลักฐานการโอนเงินก็ไม่มี เพราะข้าฯจ่ายให้ลูกหนี้เป็นเงินสด  แล้วลูกหนี้ก็เขียนเช็คมอบให้

ขอความกรุณาคุณลีนนท์ช่วยกรุณาอธิบาย และแนะนำด้วย

ขอขอบคุณ ขออวยพรให้คุณลีนนท์มีสุขภาพแ

ข็งแรง



ผู้ตั้งกระทู้ มะนาว :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-24 13:42:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1880282)

ถ้ามีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

มาตรา 653    การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

เมื่อไม่มีหลักฐานและไม่สามารพบังคับกันได้ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงิน ตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้ มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงิน ตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

แต่ถ้าเกิดจากมูลหนี้อื่นที่สามารถพิสูจน์ได้ก็เอาผิดได้ครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่

"เป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย"

การเป็นหนี้พนัน เป็นตัวอย่างที่เป็นมูลหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ จึงขาดองค์ประกอบตาม พ.ร.บ. เช็ค ดังกล่าวข้างต้นครับ

แต่ฟ้องทางแพ่งได้ครับ ฟ้องภายใน 1 ปี


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-24 13:54:24


ความคิดเห็นที่ 2 (1880313)

เรียน คุณ ลีนนท์  ที่นับถือ

ขอขอบคุณ สำหรับคำตอบแต่ยังไม่เข้าใจ ขอรบกวนถามอีกครั้ง ข้าฯได้ถามคำถามเดียวที่ถามคุณลีนนท์ถามไปยังอาจารย์มีชัย ทำไมคำตอบแย้งกัน ขอให้คุณลีนนท์ อธิบายด้วย

อาจารย์มีชัย ตอบว่า (บอกกับตำรวจว่าแจ้งความตามกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเช็ค ไม่ใช่แจ้งความเรื่องการกู้เงิน (การกู้เงินแจ้งความไม่ได้เพราะเป็นเรื่องทางแพ่ง ตำรวจเขาไม่มีหน้าที่ทำให้) การจ่ายเช็คโดยมีเจตนาไม่ใช้เงิน เป็นความผิดอาญา ที่ต้องแจ้งความก่อน จึงจะไปดำเนินคดีเองได้)

ขอรบกวนอีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ขอหมายเลขฏีกาคำพิพากษาด้วย 

ขอขอบคุณ ขออวยให้คุณลีนนท์ มีความสุขในวันปีใหม่

ผู้แสดงความคิดเห็น มะนาว วันที่ตอบ 2008-12-24 14:41:55


ความคิดเห็นที่ 3 (1880876)

ขอให้อ่านคำตอบข้างบนให้ดีนะครับ การที่คำตอบได้อ้างถึงสัญญากู้เงินเนื่องจาก ตาม พ.ร.บ ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น จะเป็นความผิดทางอาญาได้ก็ต่อเมื่อ*

ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

ซึ่งก็ได้เน้นตัวอักษรสีแดงไว้ให้เป็นที่สังเกตแล้ว

ตามคำถามของคุณดังนี้

*

เรียน คุณ ลีนนท์  ที่นับถือ

ขอเรียนถามว่า เช็คชำระหนี้จะฟ้องร้องแจ้งความ ถ้าไม่มีสัญญาเงินกู้              มีแต่เช็คกับใบคืนเช็ค แจ้งความได้หรือไม่

*

เมื่อไม่มีสัญญาเงินกู้ จึงเป็นการออกเช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ที่ไม่สามารถบังคับกันได้ตาม มาตรา 653 ที่ยกมาให้ดูข้างต้นนะครับ

ดังนั้นเมื่อคุณไปแจ้งความโดยไม่อาจอ้างมูลหนี้ที่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย ตำรวจก็จะไม่รับแจ้งความเอาผิดกับผู้สั่งจ่ายได้

สำหรับฎีกาไม่มีครับเพราะไม่ใช่เรื่องต้องตีความอะไรมาก เพราะหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คเพราะไม่สามารถบังคับกันได้อันเนื่องมาจากการกู้เงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือครับ คำตอบของท่านอื่นจะเป็นอย่างไรนั้นผมจะไม่ขอก้าวล่วงเป็นความเห็นของแต่ละท่านครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-25 20:19:48


ความคิดเห็นที่ 4 (1881716)

คุณมีเสรีภาพที่จะเลือกบริโภคข้อมูลที่ได้มา

คุณเป็นคนแจ้งในกระทู้ว่า "ข้าฯ ได้ไปแจ้งความตำรวจไม่รับ" แล้วทำไมตำรวจไม่รับล่ะครับ ก็เพราะมันไม่เข้าอาญาครับ

ส่วนความคิดเห็นคนอื่นกรุณาหย่านำมาปะปนเลยครับ เพราะความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันได้

ขอให้คุณโชคดีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 09:10:28


ความคิดเห็นที่ 5 (1881717)

ตอบคำถามคำว่า "มูลหนี้จริง"

มูลหนี้จริง คือเป็นหนี้กันจริง ๆ

แต่...........

มาตรา 4 ....ชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย...

องค์ประกอบ

1. หนี้ที่มีอยู่จริง = ก็คือมูลหนี้จริงน่ะแหละ

2. บังคับได้ตามกฎหมาย =  หนี้กู้ยืมเงินกันกว่า 2,000 บาท ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ตอบคำถามคุณคือ = กฎหมายไม่ให้นำบุคคลมาสืบยืนยันแทนหลักฐานการกู้ยืมครับ เพราะฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 09:20:22


ความคิดเห็นที่ 6 (1881723)

ผมนำคำพิพากษาฎีกา ที่มีแง่คิดเกี่ยวกับ หนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายมาให้ดู ฎีกาข้างล่างนี้ จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินที่อ้างเป็นพยานติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนใช้เป็นหลักฐานฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ แง่คิดก็คือ ขนาดเขามีสัญญาเงินกู้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ติดอากรให้ครบถ้วน เขายังต่อสู้ถึงฎีกากันเลย ดังนั้น ถ้าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมก็ไม่ครบองค์ประกอบตาม พ.ร.บ. เช็ค แต่คุณฟ้องให้ชำระหนี้ตามตั๋วเงินได้ ภายในกำหนด 1 ปี ครับ

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2548

 

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยโจทก์มีสัญญากู้ยืมมาแสดง ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2540 จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอยุธยา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2540 สั่งจ่ายเงิน 1,000,000 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืมซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทปิดอากรแสตมป์ไม่ครบตามกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ หนี้สัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ที่บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ยืมโจทก์โดยโจทก์มีสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.8 มาแสดง ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( จรัส พวงมณี - นินนาท สาครรัตน์ - สถิตย์ ทาวุฒิ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 09:36:24


ความคิดเห็นที่ 7 (1881725)

การสืบพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่าหลักฐานการกู้ยืมสูญหายหรือถูกทำลายไปโดยประการใด สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ แต่ต้องให้ศาลเชื่อว่าเคยมีหนังสือกู้ยืมนี้จริงจึงจะครบองค์ประกอบความผิด ฎีกาข้างล่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ฟ้องอาญาคดีเช็คได้นะครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546

 

การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย

การกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาบางขุนนนท์ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 จำนวนเงิน 1,517,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2542 แสดงว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) ลงโทษจำคุก 8 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ให้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมายจ.7 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ฉีกทำลายสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.7 ไปแล้ว แต่โจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินที่ฉีกทำลายนั้นมาปะติดปะต่อภายหลัง ต่อมาเมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทไปฝากเข้าบัญชีนายอภิชาต อริยะวิริยานนท์ เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.8 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยตกลงสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยเปลี่ยนเอาสัญญากู้ยืมเงินมาฉีกทำลายถือว่าได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ อันเป็นผลให้หนี้นั้นระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และโจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลยไป จำเลยได้นำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวไปฉีกทำลายแสดงว่าโจทก์ยอมรับเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยรับคืนมาจากโจทก์และนำมาฉีกทำลายถือว่าไม่เป็นเอกสารแล้ว แม้ต่อมาโจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาแสดงต่อศาล ก็ถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออีกต่อไป ไม่อาจฟ้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วหากหลักฐานนั้นสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีอาญา หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) สำหรับคดีแพ่ง แล้วแต่กรณีซึ่งคดีนี้จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานไว้ให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้จะฉีกทำลายสัญญากู้ยืมเงินภายหลังที่ออกเช็ค ก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบานั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตามแต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเมื่อพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้ เมื่อพิจารณาถึงมูลหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นมาเพื่อลงทุนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และโทษที่ลงแก่จำเลยเพียงระยะสั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีกับจำเลยหลังจากที่พ้นโทษมาประกอบกับจำเลยป่วยเป็นมะเร็งในโพรงจมูกเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงเห็นควรลงโทษในสถานเบาและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย และเพื่อให้จำเลยได้รู้สำนึกในผลแห่งการกระทำของตนให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๆ 3 เดือน เป็นเวลา1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( พีรพล จันทร์สว่าง - สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์ - สมชัย จึงประเสริฐ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 09:48:38


ความคิดเห็นที่ 8 (1881726)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2544

อุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่ ฝ. แทนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4หรือไม่ โดยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นประการอื่น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ฝ. ฝ. คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยออกเช็คฉบับแรกจำนวน 4,000,000 บาทให้แก่ ฝ. โดยรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไว้แล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่ ฝ. จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาท แสดงให้เห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ตามเช็คฉบับแรกมีมูลหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ ฝ. จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การออกเช็คพิพาทของจำเลยซึ่งไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายกลับมาเป็นความผิดขึ้นมาอีก

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(5) ให้จำคุก1 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า เดิมจำเลยกู้ยืมเงินจากนายฝ้าย โคกาอินทร์ ไปจำนวน 4,000,000 บาทแต่ไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือไว้ โดยจำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายจำนวน 4,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่นายฝ้ายใหม่จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 อยู่ด้วย จากนั้นนายฝ้ายนำเช็คพิพาทไปชำระหนี้เงินที่นายฝ้ายกู้ยืมจากโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายฝ้ายและจำเลยเกินกว่าห้าสิบบาทและไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้เป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเพราะเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายแทนเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่ โดยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นประการอื่น ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ได้แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายฝ้ายแทนเช็คตามเอกสารหมาย จ.4ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างนายฝ้ายกับจำเลยตามจำนวนที่ระบุในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 898, 900 จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า หนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 และเช็คพิพาทมีมูลหนี้ที่ผิดต่อกฎหมายรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ชัดเจนขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก), 247ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ซึ่งในปัญหาดังกล่าวได้ความจากนายฝ้ายพยานโจทก์ว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินนายฝ้าย นายฝ้ายคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนจำเลยออกเช็คจำนวน 4,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4ให้แก่นายฝ้าย โดยรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไว้แล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่นายฝ้ายใหม่จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทแสดงให้เห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4มีมูลหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้นายฝ้ายจะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การออกเช็คพิพาทของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายกลับเป็นความผิดขึ้นมาอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น"

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

( จิระวรรณ ศิริบุตร - วิรัช ลิ้มวิชัย - ทองหล่อ โฉมงาม )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 09:53:27


ความคิดเห็นที่ 9 (1881733)

คำพิพากษาคดีนี้ใช้คำพูดเหตุผลชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6463/2544

 

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วจำเลยผิดสัญญา ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ คดีอาญาถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า สัญญากู้มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ หนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายพิพากษายกฟ้องแต่คดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้แล้ว จึงมิใช่ประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คดีก่อนศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้จากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2536 ต่อมาจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และเมื่อถึงกำหนดชำระต้นเงินคืนจำเลยก็ไม่ชำระรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น520,808.22 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 520,808.22 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า จำนวน 300,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันต่อมาโจทก์แก้ไขเดือนที่ลงในเช็คแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยและได้นำเอกสารสัญญากู้ท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ไปอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำ และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระต้นเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 และออกเช็คเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโจทก์จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ถือว่าสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง จึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ ดังนั้น หนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ดังกล่าวนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยผิดสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ กรณีในคดีอาญานั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า สัญญากู้มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ เอกสารจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง จึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้หนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้แล้ว กรณีจึงมิใช่ประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น และที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้นนั้น ในคดีก่อนศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้จากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง"

พิพากษายืน

( ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช - ชูชาติ ศรีแสง - สบโชค สุขารมณ์ )

หมายเหตุ

การที่จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นคดีอาญาและมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้องค์ประกอบของความผิดดังกล่าวจะบัญญัติว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายก็ตาม

เมื่อคดีก่อนที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง จึงไม่อาจเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 ได้เนื่องจากจะต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำระหว่างคดีแพ่งด้วยกัน โดยไม่ต้องพิจารณาว่าคดีก่อนและคดีหลังมีประเด็นเป็นอย่างเดียวกันหรือเรื่องเดียวกันหรือไม่

ไพโรจน์ วายุภาพ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-28 10:02:16


ความคิดเห็นที่ 10 (1882143)

เรียน  คุณ ลีนนท์ ที่นับถือ

  ขอขอบคุณ เป็นอย่างสูง  จะไม่ลืมบุญคุณ ที่อุตส่าห์ หาฏีกาคำพิพากษามาให้อ่านหลายๆ ตัวอย่าง  แต่คงใช้เวลาหลายวันกว่าจะอ่านเข้าใจ   พิมพ์มาขอบคุณก่อนเพราะจะเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัดกว่าจะกลับก็คงเป็นหลังปีใหม่  จะทำบุญเผื่อให้คุณลีนนท์ด้วย

 ขอขอบคุณอีกครั้ง ขออวยพรให้คุณลีนนท์มีความสุขตลอดปี 2552

ผู้แสดงความคิดเห็น มะนาว วันที่ตอบ 2008-12-29 13:15:37


ความคิดเห็นที่ 11 (1882237)

ด้วยความยินดีครับ  โชคดีปีใหม่ 2552 เช่นกันครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-29 16:23:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล