ReadyPlanet.com


ที่ดิน


การไปฝากเอกสารไว้ในแฟ้มเรื่อง เช่น ใบสมรส ไว้ในแฟ้มของโฉนดที่ดินที่ทางกรมที่ดินเก็บไว้ (เพื่อให้ทางกรมที่ดินทราบว่า นาง ก. เป็นภรรยาของนาย ข. (โดยนายข. เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนาง ก.) เพื่อเป็นหลักฐานกรณีมีการโอน หรือขาย   ว่า จะต้องให้นาง ก. รับรู้ หรือยินยอมนั้น

เรียนถามท่านลีนนท์ว่า มีประโยชน์อย่างใด และในแง่กฎหมายสามารถบังคับได้หรือไม่  (ที่ดินดังกล่าว ได้ซื้อมาในระหว่างสมรส)

และหากบุคคลผู้รับโอนรู้อยู่ว่า เป็นสินสมรส และรับโอน (โดยเสน่หา)  จะมีผลเป็นอย่างไร (โดยภรรยาไม่ยินยอม)  นาง ก. ในฐานะภริยาโดยชอบกฎหมายของนาย ข. จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้อย่างไรบ้างคะ



ผู้ตั้งกระทู้ จิ๋ว :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-18 15:54:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1878314)

ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส

ดังนั้นการที่สามีจะทำนิติกรรมให้โดยเสน่หาต้องได้รับความยินยอมจากภริยาก่อน ถ้าฝ่าฝืนกระทำไปโดยปราศจากความยินยอม ฝ่ายภริยาสามารถร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้นั้นได้ครับ

ไม่ว่าผู้รับโอนการให้จะทราบหรือไม่ว่าผู้ให้มีคู่สมรสอยู่ก่อนหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นการให้สินส่วนตัวซึ่งคู่สมรสมีสิทธิจัดการสินส่วนตัวได้โดยลำพังและไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสครับ

 

 

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยา จัดการได้มิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

 

มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่ สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม นั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่า ตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่ วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-19 09:05:08


ความคิดเห็นที่ 2 (1878612)

จากที่คุณลีนนท์อธิบบาย ย่อหน้าสุดท้าย

หากรู้เหตุนั้นแล้วไม่สามารถเพิกถอนได้ภายใน 1 ปี เพราะว่า ที่ดินนั้นยังผ่อนไม่หมด (คงระยะยาว) หรือยังไม่ประสงค์จะเพิกถอน 

หมายถึงสามารถกระทำได้ภายใน 10 ปีใช่ไหมคะ

(และการเพิกถอนนั้นจะเป็นอย่างไร หากที่ดินนั้นยังติดจำนองกับธนาคารอยู่  คือยังผ่อนไม่ครบงวดค่ะ)

และเรื่องฝากเอกสารกับทางกรมที่ดินในแฟ้มเรื่อง

คุณลีนนท์เห็นด้วยไหมคะว่า จะมีประโยขน์อย่างไรบ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น จิ๋ว วันที่ตอบ 2008-12-19 20:37:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1878880)

ขอคำตอบค่ะท่านลีนนท์  อยากทราบด้วยครับ

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เจตน์ วันที่ตอบ 2008-12-20 21:01:10


ความคิดเห็นที่ 4 (1879079)

1. รู้เหตุแล้วไม่เพิกถอนภายในหนึ่งปี ก็หมดสิทธิเพิกถอนครับ

แต่ระยะเวลาสิบปีนั้น กฎหมายเขียนไว้ กว้าง ๆ เพื่อผ่อนคลายระยะเวลาเรื่องรู้เมื่อใด หากรู้เมื่อมีการโอนเมื่อเวลาล่วงพ้นมาแล้ว 9 ปี 11 เดือนอย่างนี้ก็ถือว่าได้ฟ้องขอให้เพิกถอนภายใน 10 ปี แล้ว

แต่ถ้ารู้เมื่อล่วงเลยเวลา 10 ปี ก็ย่อมหมดสิทธิที่จะเพิกถอนแล้วครับ

 

2. เมื่อต้องการเพิกถอนนิติกรรมที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส แม้ยังติดจำนองก็สามารถทำได้เพราะการจำนองกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้จำนองอยู่ครับ

 

3. เรื่องฝากเอกสารไว้กับสำนักงานที่ดิน เข้าใจว่าทางสำนักงานที่ดินคงไม่รับฝากเพราะไม่มีหน้าที่ที่ต้องทำ แต่ถ้ารับฝากก็น่าจะมีประโยชน์อยู่มากทีเดียวครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-21 22:36:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล