ReadyPlanet.com


เขตอำนาจศาล


จะเช็คว่า มีศาลใดบ้างที่อยู่ในเขตอำนาจของแต่ละท้องที่ จะเช็คได้จากที่ใดได้บ้างคะ



ผู้ตั้งกระทู้ เพ็ญ :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-26 19:55:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1881622)

ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจศาล

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  20446/2555

บริษัทนารายณ์ภัณฑ์ จำกัด                   โจทก์
นางพาชื่น______________                 จำเลย
 
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง
 
          แม้จำเลยจะให้การว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน แต่ในรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างโจทก์จริง และศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับเดียวกันนั้นโดยไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจศาลไว้ด้วย จำเลยไม่โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวแม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่วินิจฉัยให้
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน 1,803,097 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,216,527 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,780,957 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,216,527 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มกราคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 1 ของจำเลยว่าการที่ศาลแรงงานกลางมิได้ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การต่อสู้เรื่องอำนาจศาล แต่ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างโจทก์จริง แล้วศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับเดียวกันนั้นโดยมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจศาลไว้ จำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่วินิจฉัยให้
          พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
 
 
( สุนทร ทรงฤกษ์ - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - อนันต์ ชุมวิสูตร )
 
ศาลแรงงานกลาง - นายศักดิ์ชัย รังสีวงศ์
 
 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2008-12-27 19:01:33


ความคิดเห็นที่ 2 (1881671)


มาตรา ๗ บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวามาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒
(๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้วให้เสนอต่อศาลนั้น ในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่งการอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1532 กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่า โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกันไปตั้งครอบครัวของตนขึ้นใหม่ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้ว ได้ฟ้องขอให้แบ่งสินสมรส จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้เช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นที่อยู่นอกเขตศาลชั้นต้น ประกอบกับโจทก์เป็นฝ่ายเริ่มต้นคดีโดยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นก่อน จึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมาตรา 4 (1) และมาตรา 4 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2543
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอธิบายคำพิพากษาศาลฎีกาศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนและคำร้องของจำเลยดังกล่าวไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง ศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องของจำเลยเสียเองหาได้ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในกรณีเช่นนี้ได้ แต่เมื่อคดีมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งไปโดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2550
โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและไม่จำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึ่งว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 224,336 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกำแพงเพชร และจำเลยทั้งสามมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในมูลละเมิด ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 สถานที่ที่มูลคดีเกิดรวมทั้งภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์ระบุในคำฟ้องว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 181/1-5 ถนนสรวศ์ แขวงสุริยวงค์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น แต่การส่งหมายเรียกและสำนวนคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3 ไม่อาจกระทำได้ เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าไม่พบภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ตามฟ้อง โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 เป็นบ้านเลขที่ 499/9-11 หมู่ที่ 3 อาคารเบญจินดา ชั้น 4 ถึงชั้น 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นสืบพยานเสร็จแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง จำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปความได้ว่า จำเลยที่ 3 เคยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตบางรัก เมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจตุจักร และจำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นจะต้องตรวจพิจารณาคำฟ้องอีกครั้ง หากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ ก็ชอบที่จะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ศาลชั้นต้นเพิกเฉย จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว อีกทั้งโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริต การที่ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้วหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและไม่สั่งจำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่”
พิพากษายืน
( มนตรี ยอดปัญญา - สมศักดิ์ เนตรมัย - อิศเรศ ชัยรัตน์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2527
โจทก์เสนอคำฟ้องแต่แรกโดยระบุภูมิลำเนาของจำเลยผิดพลาดเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิดไปว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ แต่เมื่อความจริงเรื่องภูมิลำเนาของจำเลยปรากฏขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลยเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้ ศาลชั้นต้นจึงมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้จึงผิดพลาด ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ได้
ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้ศาลจำต้องกำหนดเวลาให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ในกรณีที่สั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่คำฟ้องต้องห้ามเรื่องเขตอำนาจศาล

คดีสืบเนืองมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ แล้วส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยตามที่อยู่ในคำฟ้องไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่แล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะภูมิลำเนาของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรีก่อนโจทก์ฟ้องคดี จึงมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องเป็นไม่รับคำฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องไว้แล้วก็ชอบที่จะพิจารณาคดีต่อไป จะกลับคำสั่งรับคำฟ้องเดิมเป็นไม่รับโดยถือเอาสำเนาทะเบียนบ้านมาเป็นหลักในการพิจารณาย่อมไม่ชอบ เพราะคำสั่งรับคำฟ้องมิใช่การพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลยเกิดขึ้นก่อนศาลได้รับคำฟ้องไว้ ศาลชั้นต้นจึงมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นโจทก์เสนอคำฟ้องแต่แรกโดยระบุภูมิลำเนาของจำเลยผิดพลาดจึงเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิดไปว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้แต่เมื่อความจริงเรื่องภูมิลำเนาของจำเลยปรากฏขึ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้จึงผิดพลาด ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ได้ ซึ่งคำฟ้องของโจทก์กรณีนี้จะต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล คือศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อคำฟ้องของโจทก์ถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลเช่นนี้ ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมและสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ ย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีแล้ว ก็จะต้องกำหนดเวลาให้โจทก์ไปยื่นคำฟ้องใหม่ด้วยนั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้ศาลจำต้องกำหนดเวลาให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ในกรณีที่สั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่คำฟ้องต้องห้ามเรื่องเขตอำนาจศาล คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

( ประการ กาญจนศูนย์ - โกวิท สุนทรขจิต - กิติ บูรพรรณ์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2543
คำว่า มูลคดีเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) หมายถึงเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องแต่เพียงให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดชำระเงินตามเช็คเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องจึงเกิดขึ้นในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2540
คำว่า มูลคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 อันเนื่องมาแต่มูลเหตุละเมิดที่ละเมิดที่จำเลยได้ก่อขึ้นเท่านั้น การที่กรมการประกันภัยโจทก์ซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงพระโขนงซึ่งเป็นศาลชั้นต้น จึงมิใช่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ คงเป็นเพียงสิทธิที่โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น มูลคดีจึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง โจทก์จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแขวงพระโขนงหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7212/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) บัญญัติให้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่ามูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คโดยบรรยายว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีที่ธนาคารสาขาชุมแพ (จังหวัดขอนแก่น) เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ส่วนสถานที่ตั้งของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ระบุในคำฟ้องชัดเจนว่า ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 819/5 หมู่ที่ 1 จังหวัดขอนแก่น โดยมิได้บรรยายถึงสถานที่ตั้งแห่งอื่นอีก ดังนั้น สถานที่ที่จำเลยที่ 2 นำเช็คมาแลกเงินสดจึงได้แก่สถานที่ที่โจทก์ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2543 อ้างแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2548
โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาจ้าแรงงานเพื่อว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร โดยทำสัญญาและก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ตามมูลหนี้ค่าก่อสร้างเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานถือว่ามูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลหนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2542
ขณะ ท.ทำคำขอประกันชีวิตกับบริษัทจำเลย ท.มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี ในเขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ในวันทำคำขอเอาประกันชีวิต ส.พนักงานของจำเลยไปอธิบายรายละเอียด ผลประโยชน์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บ้านอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. และพนักงานของจำเลยเป็นผู้กรอกรายละเอียดในคำขอประกันชีวิตให้ ท.ลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งพา ท.ไปตรวจสุขภาพที่คลีนิคแพทย์ในตลาดวังน้ำเย็น แพทย์ได้ทำรายงานตามใบตรวจสุขภาพ ส.ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แล้ว ส.ส่งเอกสารดังกล่าวให้จำเลยสาขาสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครพิจารณาออกกรมธรรม์ให้แก่ ท. และต่อมาจำเลยตกลงรับประกันชีวิตกับ ท. การที่ ท.ตกลงใจที่จะเอาประกันชีวิตกับจำเลย ซึ่งต่อมาจำเลยตกลงรับประกันชีวิตกับ ท.ถือได้ว่ามูลคดีจากการทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้เกิดที่ภูมิลำเนาของ ท. ที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดกบินทร์บุรีได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1)
ก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ท.ได้เคยให้แพทย์ตรวจรักษาร่างกายจากการตรวจร่างกายประกอบกับการเอกซเรย์ปอดแล้ว แพทย์พบว่า ท.น่าจะเป็นวัณโรคปอด จึงได้รักษา ท.ต่อเนื่องกันประมาณ 5 เดือน แล้ว ท.ขาดการติดต่อหลังจากนั้นมาพบแพทย์อีกโดย ท.มีอาการไอ หอบ แพทย์จึงทำการตรวจรักษาและให้ยาไปรับประทาน ดังนี้ การที่ ท.ได้ทำคำขอเอาประกันชีวิตโดยไม่ปรากฏว่า ท.ได้แจ้งว่า เคยเป็นวัณโรคปอดมาก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่า ท.เคยเป็นวัณโรคปอดและตาม ป.พ.พ.มาตรา 865 เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกัยภัยทราบ การที่ ท.ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตดังนี้สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใดเมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2545
ส. ตัวแทนขายประกันของจำเลย สาขานครราชสีมา ติดต่อ อ. ให้ทำสัญญาประกัน และ อ. ตกลงทำสัญญาตามแบบฟอร์มตรวจร่างกายและสัญญาประกันภัยของจำเลย จึงเป็นการเริ่มต้นทำสัญญาประกันภัยที่จังหวัดนครราชสีมาถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดนครราชสีมา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)
นายแพทย์ พ. ผู้ตรวจสุขภาพและร่างกายของ อ. ก่อนทำสัญญาประกันภัยมีความเห็นว่า อ. ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย อ. หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วยืนยันว่า อ. เป็นเพียงโรคประสาทเครียดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และ ส. ตัวแทนขายประกันของจำเลยซึ่งเป็นผู้ติดต่อ อ. ทำสัญญาประกันภัยยืนยันว่า อ. สามารถพูดคุยได้รู้เรื่องแบบคนปกติธรรมทั่วไปและได้มีการสั่งงานให้ลูกน้องปฏิบัติงานได้อย่างปกติ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่า อ. รู้แล้วว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคประสาทเครียดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะ
โจทก์เป็นบุตร ง. จึงเป็นทายาทลำดับที่ 1 และมีสิทธิรับมรดกของ ง. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ขณะที่ อ. ตาย ง. ยังมีชีวิตอยู่ง. จึงมีสิทธิได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยครึ่งหนึ่ง และเมื่อ ง. ตาย สิทธิในการเรียกเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยไม่ต้องนำสืบให้เห็นว่าเป็นทายาทของ ง. ลำดับไหน มีทายาทด้วยกันกี่คน โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ง. ผู้รับประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2549
จ. มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ได้ติดต่อผ่าน ว. นายหน้าขายประกันชีวิตของบริษัทจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตราด โดย ว. เป็นผู้กรอกข้อความลงในใบคำขอเอาประกันชีวิตให้ จ. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอเอาประกันภัย แล้วส่งเอกสารนั้นไปให้จำเลยซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พิจารณารับคำขอเอาประกันชีวิตและออกกรมธรรม์ให้ ดังนี้ การเริ่มต้นทำสัญญาประกันชีวิตจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดตราด กรณีถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดตราดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดตราด ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2464/2542
บันทึกในทางทะเบียนการหย่าตามฟ้องทำที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ทำหน้าที่ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองจึงถือว่า เป็นกรณีที่อ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่านั้น แม้จำเลยและบุตรทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ก็ตาม ก็ถือว่าสถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าไว้นั้น จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์แล้ว ต่อมามีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดี เมื่อศาลสูงเห็นว่าไม่ถูกต้อง ย่อมพิพากษากลับเป็นให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไว้ก่อนวันมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2539 ค้นไม่พบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2540
สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือซึ่งต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้นแม้มีการจัดทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อ จึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า สำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) และมาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2538
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(5) บัญญัติว่าบรรดาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลแพ่งนั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งก็ได้ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลแพ่งที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้คดีนี้ศาลแพ่งรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จแสดงให้เห็นว่า ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 14(5) แล้ว ศาลแพ่งจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2544
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระเงิน 5,575,551.53 บาทจากโจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลย 5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ 6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมากจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ จึงเป็นกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้อยู่แก่จำเลยจำนวนเท่าใด แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าถูกต้อง ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากเป็นจำนวนที่ถูกต้องโจทก์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331เมื่อโจทก์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
การตรวจคำฟ้องศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่าให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิอันเป็นกรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วนำข้อเท็จจริงในคำฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์และพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) ซึ่งมีผลเป็นการพิจารณาคดีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ ตามมาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2543
จำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนร่วมกันก่อสร้างบ้านพักรับรองข้าราชการและจำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ทำข้อตกลงกับโจทก์ ณ ที่ทำการบริษัทโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง ให้โจทก์ติดต่อซื้อสินค้าจำพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากบริษัท ล. ในนามของโจทก์เพื่อนำไปก่อสร้างบ้านพักรับรองแล้วจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้บริษัท ล. ในนามของโจทก์ หากบริษัท ล. เรียกเก็บเงินค่าสินค้าและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อไปในนามโจทก์ และโจทก์ชำระเงินให้แก่บริษัท ล. ไปจำเลยที่ 2 จะชดใช้คืน การเจรจาติดต่อเปิดเครดิตในการซื้อสินค้าดังกล่าว ใช้ติดต่อทางโทรศัพท์และโทรสาร โดยจำเลยที่ 2 มาเจรจาที่บริษัทโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง แม้บริษัท ล. มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในเขตศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์) แต่ข้อตกลงในการเจรจาติดต่อเปิดเครดิตในการซื้อสินค้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคู่สัญญาสามฝ่าย คือ ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และฝ่ายบริษัท ล. โดยการทำข้อตกลงเพื่อเปิดเครดิตได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์และโทรสารระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดลำปาง ดังนั้นมูลคดีในการก่อให้เกิดสัญญาสามฝ่ายเกี่ยวกับการทำข้อตกลงในการเปิดเครดิตจึงเกี่ยวเนื่องกันทั้งในเขตอำนาจทั้งศาลจังหวัดลำปาง และศาลชั้นต้น (จังหวัดอุตรดิตถ์)

 

แหล่งที่มา * http://www.nitisart.com/board_detail.php?bn=&board_id=1201

 

ผู้แสดงความคิดเห็น *** วันที่ตอบ 2008-12-27 23:20:06


ความคิดเห็นที่ 3 (1925831)

อยากทราบว่าการฟ้องหย่าและเรียกค่าเสียหายกับชายชู้  จะเรียกมาในคดีเดียวกับฟ้องหย่าได้หรือไม่  เนื่องจากว่าชายชู้มิได้มีภูมิลำเนาในเขตศาลที่ฟ้องหย่า และมูลเหตุที่อ้างว่าเป็นชู้ก็มิได้อยู่ในเขตศาลดังกล่าวด้วย  ชายชู้จะอ้างเรื่องเขตอำนาจศาลได้หรือไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น พิม วันที่ตอบ 2009-04-15 01:58:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล