ReadyPlanet.com


ฟ้องเรียกเงินเดือนอายุความ5ปีม.193/33 หรือ2ปีม.193/34


กระผมทำงานบริษัทแห่งนึง ออกมาแล้วประมาณ 4 ปีโดยไม่ได้เงินเดือน เพราะตอนนั้นเถ้าแก่ถังแตก แต่ตอนนี้เขารวยแล้ว ไม่ทราบอายุความตามมาตรา 193/33 ห้าปี หรือ 193/34 สองปี ใช้กับกรณีของกระผมครับ  ขอบคุณครับ

สุรินทร์   ศุกร์16 มกราคม 2552



ผู้ตั้งกระทู้ สุรินทร์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-16 06:15:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1888965)

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าการฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายมีอายุความ 2 ปี หรือ 5 ปี

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7613 - 7626/2548

 

ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งนายจ้างยังไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง ซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติอายุความที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างมีกำหนด 2 ปี ไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 193/34 (9)

 

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 14 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกันสังคมที่จำเลยทั้งสองหักไว้แต่ไม่นำส่งสำนักงานประกันสังคมและเงินกองทุนสะสมพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 และจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 14 แก่โจทก์ที่ 14

จำเลยทั้งสองทั้งสิบสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นายสุจินต์ นายสุรพล และนางสาวฐิตินาถ เป็นกรรมการของบริษัทวิเศษอุดมทรัพย์ จำกัด โดยกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ บริษัทวิเศษอุดมทรัพย์ จำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งและศาลฎีกาพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ทั้งสิบสี่แถลงว่า ประสงค์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าจ้างค้างจ่ายเพียงอย่างเดียว ไม่ติดใจเรียกร้องเงินประกันสังคม เงินกองทุนเงินสะสม ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกต่อไป

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 235,766 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,570 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 11,097 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 76,964 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 30,000 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 19,900 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 366,690 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 145,733 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 29,340 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 166,111 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 35,000 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 29,865 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 112,869 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 564,724 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าการฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายมีอายุความ 2 ปี หรือ 5 ปี เห็นว่า ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานซึ่งนายจ้างยังไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติอายุความที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างมีกำหนด 2 ปี ไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 193/34 (9) โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ฟ้องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ดังนั้น ค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 14 ฟ้องเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ดังนั้น ค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 จึงขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น...

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 11,097 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 30,590 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 20,236 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 30,240 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 135,524 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 35,758 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 93,765 บาท และโจทก์ที่ 14 จำนวน 325,184.33 บาท แต่ทั้งนี้โจทก์ดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายในจำนวนที่หักเงินประกันสังคมและภาษีเงินได้ตามกฎหมายออกแล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 ให้ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 และ ที่ 12 แล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกาโดยเร็วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง หรือดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-16 21:18:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1889045)

ขอกราบขอบพระคุณท่านลีนนท์มากครับ เออ..แล้วมาตรา193/33(4)ซึ่งบัญญัติว่าห้าปี นั้น นับในกรณีไหนครับ  กรณีไหนเป็น2ปี กรณีไหนเป็น5ปีครับ

สุรินทร์ เสาร์17 มกราคม 2552

ผู้แสดงความคิดเห็น สุรินทร์ วันที่ตอบ 2009-01-17 03:38:43


ความคิดเห็นที่ 3 (1889093)

มาตรา 193/33 (4) นั้นเป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2548

 

บทบัญญัติมาตรา 193/33 และมาตรา 193/34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้นเป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักอันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) มิใช่ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4)

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานในหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 59,500 บาท โดยเป็นเงินเดือน 47,500 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก 12,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท คงค้างเดือนละ 7,000 บาท ตลอดมา นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 58 เดือน เป็นเงิน 406,000 บาท โจทก์ทวงถามแบ้ว แต่จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก จำนวน 406,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งมีอายุความ 2 ปี โจทก์ใช้สิทธิเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค้างจ่ายจำนวน 168,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2546 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับตรวจสอบให้การรับรองระบบบริหารคุณภาพและบริหารจัดการต่างๆ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพได้ค่าจ้างเดือนละ 47,500 บาท ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ทำงานกับจำเลยตลอดมา โดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านนั้นเป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับค่าจ้างในส่วนนี้จากเดือนละ 12,000 บาท เป็นเดือนละ 5,000 บาท เห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้แก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท เป็นการจ่ายเงินเดือนที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาแน่นอน โจทก์สามารถฟ้องเรียกเงินดังกล่าวได้ภายในอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา” มาตรา 193/34 (9) บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงานเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป” เห็นว่า บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้น เป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา คดีนี้โจทก์เป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก อันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) มิใช่มาตรา 193/33 (4) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - รัตน กองแก้ว )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-17 10:19:54


ความคิดเห็นที่ 4 (1889370)

ขอกราบขอบพระคุณท่านลีนนท์อีกครั้งครับ เออ..แล้วในกรณีทำงานเป็น"ที่ปรึกษา" โดยในสัญญาเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "consultant" นั้นถือเป็นลูกจ้างไหมครับ   คอนซัลแทนท์ ฟ้องเรียกเงินเดือน (จ่ายเป็นเดือนๆ ประจำทุกเดือน จะไปบริษัทก็ได้ไม่ไปก็ได้ครับ บางครั้งนายจ้างก็ใช้โทรถามปรึกษาเอา) จะเข้ามาตรา193/33ห้าปี หรือ193/34สองปีครับ

สุรินทร์ อาทิตย์18 มกราคม 2552

ผู้แสดงความคิดเห็น สุรินทร์ วันที่ตอบ 2009-01-18 01:37:45


ความคิดเห็นที่ 5 (1889649)

เมื่อได้รับเงินเดือนประจำก็ควรจะถือเป็นลูกจ้างครับ ส่วนจะเข้ามาตราใด ก็ขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิเรียกร้องนั้นใครเป็นผู้ใช้ ตามตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ให้ไว้ข้างต้นครับ

 

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

 

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

 

ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุว่า

"การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า "ลูกจ้าง" ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเหตุผล และการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย

"มิฉะนั้นผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ที่รับจ้างรับค่าจ้างเป็นรายเดือนในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือน มาเป็นสินจ้างตามการทำงานที่ทำ เช่น แพทย์เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษาหรือค่าทำความเห็นมาเป็นรายครั้ง ซึ่งก็ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย "

http://www.oknation.net/blog/thanyasak/2008/09/14/entry-3/comment

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-18 22:18:37


ความคิดเห็นที่ 6 (1889706)

ขอกราบขอบพระคุณท่านลีนนท์อีกครั้งครับ ในสัญญาเขียนสั้นๆเป็นภาษาอังกฤษเพียงว่า "Mr.Surin has been working in xxxxCompany as a Consultant since xxxxxx 2004. His salary is xxxxxBaht (xxxxxBaht)."

เมื่อสี่ปีก่อนตอนทำงานอยู่ ทางบริษัทแจ้งกระผมว่าผมไม่มีสิทธิทำประกันสังคม(ไม่มีประกันสังคม)เพราะเป็นเพียงที่ปรึกษา  แบบนี้อายุความ2ปี หรือ5ปีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สุรินทร์ จันทร์19มกราคม2552 วันที่ตอบ 2009-01-19 01:15:20


ความคิดเห็นที่ 7 (1889783)

ถ้าเป็นลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับก็ต้องใช้ 2 ปีครับ (ตามฎีกา) แต่ถ้าเป็นผู้อื่นเรียกเอาเงินเดือนของเราก็ใช้อายุความ 5 ปี (ตามฎีกา)

ตอนนี้ศาลฎีกาตีความอย่างนี้ แต่ต่อไปในอนาคตอาจมีการกลับฎีกาก็ได้ ดังนั้นไม่ตัดสิทธิคุณที่จะนำคดีไปฟ้องร้อง แล้วอุทธรณ์ ฎีกา ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ก็ได้ เพราะว่าฎีกาไม่ใช่กฎหมายครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-19 10:40:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล