ReadyPlanet.com


การนับวัน


ขอทราบหลักเกณฑ์การนับวันสำหรับในคดีอาญาและแพ่งด้วยค่ะว่า มีหลักการนับตามกฎหมายที่ถูกต้องอย่างไรคะ ยังสับสนอยู่ค่ะ อยากให้คุณลีนนท์ช่วยอธิบายให้อีกครั้ง หากจะกรุณาช่วยยกตัวอย่างสั้นๆ ให้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ นก :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-15 09:32:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1888435)

คดีอาญา

มาตรา 21 ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุก รวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึง จำนวนชั่วโมง

ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวัน เป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวใน วันถัดจากวันที่ครบกำหนด

 

มาตรา 22 โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้อง คำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้น จะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตาม คำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดี เรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่ กำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบ กระเทือนบทบัญญัติใน มาตรา 91

 

คดีแพ่ง

มาตรา 193/3   ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวันให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่ เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-15 17:30:23


ความคิดเห็นที่ 2 (2102950)

กรณีผู้ต้องคำพิพากษา ได้รับการประกันตัว เมื่อมีคำพิพากษา จะต้องหักวันที่ได้รับการประกันตัว ออกจากจำนวนวันจำคุกที่ศาลตัดสินด้วยหรือไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น โกศล วันที่ตอบ 2010-09-01 11:44:48


ความคิดเห็นที่ 3 (4255619)

 ถ้าศาลตัดติด1เดือน15วันเท่า45วันใช่ไหมค่ะ

แล้วเราก็นับตั้งแต่วันที่ตัดติดให้ครบ45วันใช่ไหมค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น การ์ตูน วันที่ตอบ 2018-06-01 10:46:18


ความคิดเห็นที่ 4 (4363530)

 อยากทราบเกี่ยวกับการนับวันที่ศาลพิพากษาว่าตัดคุกในศาลชั้นต้น แต่มีการสู้คดีประกันตัวออกมา และสาลอุทธรณ์ก็ตัดสินเหมือนศาลชั้นต้น อยากทราบว่าวันที่ต้องติดคุกเริ่มนับตั้งแต่วันไหนค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปาริชาติ วันที่ตอบ 2020-03-02 12:34:33


ความคิดเห็นที่ 5 (4552308)

 การหักวันคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในกรณีจำเลยถูกขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451 - 4453/2564

ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก ไม่ได้บัญญัติให้ศาลต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเสมอไป ศาลมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกหรือไม่ในแต่ละคดี เพียงแต่บัญญัติบังคับไว้ว่า หากเห็นว่าไม่สมควรหักก็ให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา จำเลยที่ 8 ถูกขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาในคดีสำนวนนี้และสำนวนอื่นในเวลาเดียวกันตามหมายขัง 134 คดี เป็นการขังซ้อนกันไป เมื่อศาลได้หักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในคดีกลุ่มอื่นแล้ว การที่จะหักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในสำนวนนี้อีกจึงเป็นการหักที่ซ้ำซ้อนซึ่งทำให้การบังคับโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เป็นไปตามความจริง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากหักวันคุมขังในกลุ่มคดีอื่นที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและยุติธรรมดีแล้ว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 264, 265, 268, 334, 335 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 500,000 บาท ที่เอาไปตามสำนวนแรก ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 280,000 บาท ที่เอาไปตามสำนวนที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 300,000 บาท ที่เอาไปตามสำนวนที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 200,000 บาท ที่เอาไปตามสำนวนที่ 4 แก่ผู้เสียหาย บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 6 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1128/2554 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 6 ในสำนวนแรกและสำนวนที่ 3 นับโทษจําเลยทั้งสิบสองติดต่อกันไปและติดต่อกับคดีดังกล่าวข้างต้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 12 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

จำเลยที่ 6 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 10 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 10 เป็นคดีใหม่ และจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 10 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 335 (7) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 335 (7) วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 เป็นผู้ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง โดยความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ฐานร่วมกันลักทรัพย์ และฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ส่วนจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 5 รวม 4 กระทง จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 6 ที่ 11 และที่ 12 รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 เนื่องจากหักวันคุมขังในกลุ่มคดีอื่นที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ถูกคุมขังแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 1,280,000 บาท แก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ให้จำเลยที่ 6 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 800,000 บาท แก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 1,000,000 บาท แก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ให้จำเลยที่ 11 และที่ 12 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 480,000 บาท แก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ต่อจากคดีอื่นตามบัญชีแนบท้ายนั้น โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 แต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวน ทั้งที่เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายในลักษณะเดียวกันและโจทก์อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องมีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี การนับโทษต่อจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปี ไม่ได้ ให้นับโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1840 ถึง 1870/2562 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1893 ถึง 1897/2562 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 145 ถึง 262/2563 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 291 ถึง 348/2563 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 360 ถึง 520/2563 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 555 ถึง 616/2563 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 607 ถึง 617/2563 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยที่ 6 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1893 ถึง 1897/2562 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 145 ถึง 262/2563 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 291 ถึง 348/2563 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 607 ถึง 617/2563 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยที่ 8 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 291 ถึง 348/2563 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 607 ถึง 617/2563 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยที่ 9 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 145 ถึง 262/2563 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 607 ถึง 617/2563 ของศาลชั้นต้น ให้นับโทษจำเลยที่ 11 และที่ 12 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1893 ถึง 1897/2562 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 360 ถึง 520/2563 ของศาลชั้นต้น แต่ให้จำคุกไม่เกินคนละ 20 ปี ส่วนคดีอื่นนอกจากนี้ศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ในคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษา และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1893 ถึง 1897/2562 ศาลพิพากษาให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้มาบวกกับโทษตามคำพิพากษาแล้วจึงไม่อาจบวกโทษจำเลยที่ 6 ได้อีก ยกคำขอในส่วนนี้

จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์

ระหว่างอุทธรณ์จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 1

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 8 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า คำขอกู้เงิน หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้ที่อ้างว่าจำเลยที่ 8 ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างผู้เสียหายและผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน กับจำเลยทั้งสิบสองอย่างไรบ้าง จึงลงโทษจำเลยที่ 8 ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268 ไม่ได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ...” มาตรา 265 บัญญัติว่า “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ...” มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ” วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว” คดีในกลุ่มที่ 16 นี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 8 จำนวน 3 คดี คือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 543/2560, 586/2560 และ 2169/2560 ซึ่งเป็นคดีสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 ตามลำดับ โจทก์บรรยายฟ้องคดีทั้งสามสำนวนดังกล่าวด้วยข้อความอย่างเดียวกันว่า เมื่อ (ระบุช่วงเวลากระทำความผิดแต่ละคดี) ต่อเนื่องกันตลอดมา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งเอกสารคำขอกู้เงินระยะปานกลาง หนังสือกู้เงินระยะปานกลาง (ระบุเลขที่ของหนังสือสัญญากู้ในแต่ละสำนวน) และใบรับเงินกู้ อันเป็นเอกสารสิทธิ โดยการนำแบบคำขอเงินกู้ แบบหนังสือกู้เงิน และแบบใบรับเงินกู้ของสหกรณ์ ก. ผู้เสียหายมากรอกข้อความด้วยลายมือเขียนและพิมพ์ข้อความลงในแบบเอกสารดังกล่าว มีสาระสำคัญว่า (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้เสียหายขอกู้เงินระยะปานกลาง (ระบุจำนวนเงินและวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน) และนำที่ดินมาเพื่อจำนองประกันเงินกู้ วงเงินจำนอง (ระบุจำนวนเงิน) และร่วมกันปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) ลงในเอกสารคำขอกู้เงินระยะปานกลาง หนังสือกู้เงินระยะปานกลาง และใบรับเงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่า คำขอกู้เงินระยะปานกลาง หนังสือกู้เงินระยะปานกลาง และใบรับเงินกู้ที่จำเลยในแต่ละสำนวนร่วมกันทำปลอมขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงที่แสดงว่า (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) ซึ่งเป็นสมาชิกของผู้เสียหายยื่นคำขอกู้เงินระยะปานกลาง และนำที่ดินมาจำนอง และได้รับเงินกู้ (ระบุจำนวนเงิน) ตามหนังสือกู้เงินระยะปานกลางและใบรับเงินกู้ที่จำเลยในแต่ละสำนวนร่วมกันทำปลอมขึ้นไปจากสหกรณ์ ก. ผู้เสียหายแล้ว ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน (ระบุชื่อ) คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้อื่นหรือประชาชน เมื่อ (ระบุช่วงเวลากระทำความผิดแต่ละคดี) ต่อเนื่องกันตลอดมาวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ภายหลังจากที่จำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว จำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกันใช้เอกสารคำขอกู้เงินระยะปานกลางและหนังสือกู้เงินระยะปานกลาง อันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกันทำปลอมขึ้น อ้างแสดงต่อสหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ให้อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน (ระบุจำนวนเงิน) ตามคำขอกู้เงินระยะปานกลางและหนังสือกู้เงินระยะปานกลางดังกล่าวให้แก่ (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) และร่วมกันใช้ใบรับเงินกู้อันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกัน ทำปลอมขึ้นแสดงต่อสหกรณ์ ก. ผู้เสียหายว่า (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) ได้รับเงิน (ระบุจำนวนเงิน) เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เงินจำนวนดังกล่าวมาอยู่ในความครอบครองของ (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) โดยมี (ระบุชื่อผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน) เป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้เงินจากสหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ ก. ผู้เสียหาย ผู้เสียหายที่ 2 ในแต่ละสำนวน (ระบุชื่อ) คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้อื่นหรือประชาชน แล้วจำเลย (ระบุจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวน) ร่วมกันลักเอาเงิน (ระบุจำนวนเงิน) ของสหกรณ์ ก. ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 334 และ 335 ... ในเรื่องเอกสารสิทธิ โจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า คำขอเงินกู้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นและใช้เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่า มีการขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย หนังสือกู้เงิน (หนังสือสัญญากู้เงิน) เป็นเอกสารที่ทำขึ้นและใช้เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่า ผู้เสียหายตกลงให้กู้เงินตามที่ขอกู้นั้น และใบรับเงินกู้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นและใช้เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่า ผู้ที่กู้เงินได้รับเงินที่กู้แล้ว อันเป็นการแสดงถึงการก่อตั้งสิทธิ การระงับแห่งสิทธิ และความผูกพันระหว่างผู้กู้เงินกับผู้เสียหายแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 8 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 8 เข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว คำฟ้องของโจทก์สำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 จึงเป็นคำฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ จำเลยที่ 8 ฎีกาโดยสรุปว่า จำเลยที่ 8 ไม่ได้กระทำความผิด เพราะในทางปฏิบัติของผู้เสียหาย เมื่อสมาชิกมาขอกู้เงินและลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ เมื่อมีการอนุมัติเงินกู้แล้ว ฝ่ายสินเชื่อจะติดต่อสมาชิกผู้กู้ให้มาลงลายมือชื่อในหนังสือกู้เงิน (หนังสือสัญญากู้เงิน) หลังจากที่ให้คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ลงชื่อในช่องอนุมัติแล้ว การลงลายมือชื่อของผู้กู้มิได้กระทำต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้จึงไม่อาจรู้ได้ว่าลายมือชื่อผู้กู้เป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้พิจารณาอนุมัติไปตามที่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายสินเชื่อ หัวหน้าสินเชื่อ และผู้จัดการสหกรณ์ที่ตรวจสอบเอกสารความถูกต้องมาแล้วเท่านั้น คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ทุก ๆ 2 ปี จึงเป็นการยากที่คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่จะเข้ามีส่วนร่วมขบวนการปลอมเอกสารกับฝ่ายจัดการซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย จำเลยที่ 8 ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากผู้เสียหาย โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าได้มีการนำคำขอเงินกู้ หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้ไปใช้โดยถูกบันทึกในบัญชีเงินสด บัญชีลูกหนี้รายตัว งบทดรองประจำเดือน และงบดุลบัญชีของผู้เสียหายในปีที่เกิดเหตุ หรือเบิกจ่ายออกจากบัญชีใด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีข้อพิรุธสงสัยตามสมควรนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมกันปลอมคำขอเงินกู้ หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้เพื่อให้ได้เงินมาจากผู้เสียหายแล้วร่วมกันลักเอาเงินดังกล่าวไปตามฟ้องทั้งสี่สำนวน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 10 ก็ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ปลอมคำขอเงินกู้ หนังสือเงินกู้ และใบรับเงินกู้เพื่อให้ได้เงินมาจากผู้เสียหายแล้วร่วมกันลักเอาเงินดังกล่าวไป ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ส่วนจำเลยที่ 8 ปรากฏตามหนังสือกู้เงินระยะปานกลางเอกสารแผ่นที่ 2 ในสำนวนการสอบสวนสำนวนแรก และแผ่นที่ 2 ในสำนวนการสอบสวนสำนวนที่ 3 ว่า จำเลยที่ 8 ลงลายมือชื่อในช่องเลขานุการ (เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้) ในส่วนบันทึกการอนุมัติเงินกู้ของหนังสือกู้เงินทั้งสองฉบับ โดยหนังสือกู้เงินทั้งสองฉบับระบุว่า เป็นไปตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 40 ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มีนาคม 2555 เมื่อตรวจดูสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ปรากฏว่า เป็นสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 38 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 จากนั้นเป็นการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 39 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ถัดมาเป็นสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 39 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 วันที่ 8 ธันวาคม 2553 และวันที่ 1 มีนาคม 2554 ตามลำดับ ต่อจากนั้นเป็นสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 40 ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 วันที่ 5 ตุลาคม 2554 และวันที่ 9 มีนาคม 2555 ตามลำดับ หลังจากนั้นเป็นสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 41 ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 และสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 43 และชุดที่ 44 ต่อ ๆ กันไป ปรากฏชื่อจำเลยที่ 8 เข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ตั้งแต่การประชุมชุดที่ 39 ครั้งที่ 1 วันที่ 17 สิงหาคม 2553 ติดต่อกันมาจนถึงการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ชุดที่ 41 วันที่ 17 เมษายน 2555 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีการปลอมคำขอเงินกู้ หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้แล้วเอาเงินของผู้เสียหายไปหลายร้อยฉบับ การปลอมเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำกันเป็นขบวนการ ยากที่จะปกปิดมิให้คนในองค์กรรู้เรื่องได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 8 อายุประมาณ 60 ปี เข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้เป็นสมัยที่ 2 หรือสมัยที่ 3 บางช่วงดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำเลยที่ 8 ย่อมรู้กิจการภายในโดยเฉพาะในเรื่องการให้กู้เงินของผู้เสียหายเป็นอย่างดี และรู้อยู่ว่าเอกสารการกู้ยืมดังกล่าวอันได้แก่ คำขอเงินกู้ หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้เป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยที่ 8 ลงลายมือชื่อในหนังสือกู้เงินปลอมดังกล่าวจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 ร่วมปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและร่วมกันลักเอาเงินตามหนังสือกู้เงินดังกล่าวไปจริง ส่วนหนังสือกู้เงินระยะปานกลางเอกสารแผ่นที่ 2 ในสำนวนการสอบสวนสำนวนที่ 4 ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 8 ลงไว้ แต่หนังสือกู้เงินดังกล่าวระบุอ้างว่าเป็นไปตามรายงานคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ชุดที่ 41 ครั้งที่ 1 วันที่ 17 เมษายน 2555 เมื่อตรวจดูรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยที่ 8 มีชื่อเป็นกรรมการและลงลายมือชื่อเข้าร่วมประชุม ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีการอนุมัติเงินกู้รายนางสาวประทุม จำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อซื้อที่ดิน 190,000 บาท ซื้อหุ้น 10,000 บาท กำหนดชำระคืนวันที่ 31 มีนาคม 2560 ตรงตามหนังสือกู้เงินระยะปานกลางเอกสารในสำนวนการสอบสวนสำนวนที่ 4 แผ่นที่ 2 ดังกล่าว เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ประกอบกับนางสาวประทุม มาให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ได้กู้เงินหรืออนุญาตให้ผู้ใดใช้ชื่อของนางสาวประทุมไปกู้เงินผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 8 ร่วมลงมติอนุมัติให้กู้เงินดังกล่าวทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีการกู้เงินกันจริง และคำขอเงินกู้ หนังสือกู้เงิน และใบรับเงินกู้ดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จึงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 8 ร่วมปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และร่วมลักเอาเงินของผู้เสียหายไปในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำตามฟ้องจริง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ต่อไปว่า มีเหตุต้องหักวันคุมขังคดีทั้งสามสำนวนนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาในคดีนี้หรือไม่ จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า จำเลยที่ 8 ถูกขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนานถึง 2 ปีเศษ ถึงจะได้เริ่มมีการสืบพยานและมีคำพิพากษา การไม่หักวันคุมขังออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เห็นว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ศาลต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเสมอไป โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก บัญญัติว่า “โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น” วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา 91” จึงเห็นได้ว่า การหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ศาลมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ในแต่ละคดี เพียงแต่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติบังคับไว้ว่า หากเห็นว่าไม่สมควรหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาก็ให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาและโทษจำคุกตามคำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้นั้น กรณีนี้จำเลยที่ 8 ถูกขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาในคดีสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 นี้และสำนวนอื่นในเวลาเดียวกันตามที่ปรากฏในหมายขังรวม 134 คดี เป็นการขังซ้อนกันไป คำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่า ศาลได้หักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในคดีกลุ่มอื่นแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 8 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในเรื่องนี้ การที่จะหักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 นี้อีกจึงเป็นการหักที่ซ้ำซ้อนซึ่งทำให้การบังคับโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เป็นไปตามความจริง คดีในสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 นี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8 กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องมีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี การนับโทษต่อจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปี ไม่ได้ ให้นับโทษจำเลยที่ 8 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 291 ถึง 348/2563 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 607 ถึง 617/2563 ของศาลชั้นต้น แต่ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี ส่วนคดีอื่นนอกจากนี้ศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอให้นับโทษในส่วนคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษานั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 8 มากแล้ว การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 8 เนื่องจากหักวันคุมขังในกลุ่มคดีอื่นที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและยุติธรรมดีแล้ว มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ตามที่จำเลยที่ 8 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 8 มีความผิดแล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 8 โดยไม่หักวันคุมขังคดีสำนวนแรก สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4 นี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 8 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-18 09:44:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล