ReadyPlanet.com


ความรับผิดของเจ้าของอาคาร


ถ้าเราเป็นเจ้าของอาคารแล้วให้ผู้อื่นเช่า  กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตัวอาคาร  เราในฐานะผู้ให้เช่าต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ (เพราะอาจมีการดัดแปลงอาคารโดยเราไม่ทราบ)


ผู้ตั้งกระทู้ เอ๋ :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-14 15:47:02


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1888386)

การที่เจ้าของทรัพย์ได้ส่งมอบการครอบครองให้กับผู้เช่าแล้ว เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นอันจะโทษเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ เจ้าของทรัพย์ก็ไม่ต้องรับผิด

ส่วนเรื่องการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ทางเจ้าของทรัพย์จะต้องรับผิดหรือไม่ก็ต้องไปว่ากันในกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร เป็นต้น แต่ไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุเพลิงไหม้

ส่วนเพลิงไหม้เกิดจากเหตุใด ใครได้รับความเสียหาย ทางผู้เช่าซึ่งครอบครองทรัพย์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่อย่างไร

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2542

 

เหตุที่เกิดเพลิงไหม้อาคารที่จำเลยที่ 3 เช่ามาจากจำเลยที่ 1 เสียหาย และทำให้วัสดุที่ถูกเพลิงไหม้หล่นใส่รถยนต์ที่จอดอยู่หน้าอาคารที่เกิดเหตุเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่อาคารดังกล่าวโดยสายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดิมอยู่นั้นเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยที่ 3 ผู้เช่าผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดต่อเจ้าของรถยนต์เพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคสอง

ในปัญหาที่ว่าเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 3 นำสืบแต่เพียงว่า ได้เปลี่ยนสายไฟฟ้าในอาคารที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมด ขณะเกิดเหตุภายในอาคารไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และเปิดไฟฟ้าไว้ที่หน้าอาคารและในห้องครัวแห่งละ 1 ดวงเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อกระแสไฟฟ้าเกิดลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้อย่างไร จำเลยที่ 3 ไม่ทราบ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ค - 2503 สงขลา ไว้จากนายบุญช่วย สวนใจเย็น มีอายุคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2537 ถึงวันที่26 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 200/8-9 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทนดูแลเก็บผลประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าและครอบครองอาคารดังกล่าวเปิดกิจการร้านอาหารใช้ชื่อว่าเดอะเบสท์ราชาเป็ดย่าง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นบนชั้นสองของอาคารเลขที่ดังกล่าวเพราะกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากจำเลยทั้งสามซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสายไฟฟ้าภายในบ้านให้อยู่ในสภาพที่ไม่ให้เป็นอันตรายได้ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้วัสดุซึ่งถูกเพลิงไหม้ตกลงบนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่นายบุญช่วยผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามผู้กระทำละเมิด แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่นายบุญช่วย จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,217 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 208,217 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารที่เกิดเหตุและให้จำเลยที่ 3เช่า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนเก็บค่าเช่าจากจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิด ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้องเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่อาคารเลขที่ 200/8-9 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 1 ทำให้วัสดุที่ถูกเพลิงไหม้หล่นใส่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งจอดอยู่หน้าอาคารที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2534

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เพลิงไหม้เพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้อาคารของจำเลยที่ 1 เสียหายเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่อาคารของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 เช่ามาจากจำเลยที่ 1เพื่อเปิดกิจการร้านอาหาร โดยสายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่นั้นเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยที่ 3 ผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง

ในปัญหาที่ว่าเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์แต่จำเลยที่ 3 นำสืบแต่เพียงว่าได้เปลี่ยนสายไฟฟ้าในอาคารที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดขณะเกิดเหตุภายในอาคารไม่ได้ใช้เครื่องไฟฟ้าและเปิดไฟฟ้าไว้ที่หน้าอาคาร และในห้องครัวแห่งละ 1 ดวงเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ กระแสไฟฟ้าเกิดลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้อย่างไรจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเท่านั้น ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย และเมื่อคดีฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเกิดจากสายไฟฟ้าซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรโดยมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย เช่นนี้แล้ว แม้จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าของจำเลยที่ 3 เช่นนั้น

พิพากษายืน

( ระพินทร บรรจงศิลป - ชนะ ภาสกานนท์ - ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-15 16:18:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล