ReadyPlanet.com


ที่ดินปรปักษ์


ทำอย่างไรถึงจะทราบว่าที่ดินที่เราครอบครองโดยชอบธรรมมาเกิน 10 ปีเจ้าของเดิมได้ออกโฉดปีไหนค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ พรพิมล :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-16 08:33:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1888966)

ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอคัดถ่ายสำเนาโฉนดได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-16 21:20:31


ความคิดเห็นที่ 2 (1889703)

ที่ว่าครอบครองโดยชอบธรรมนั้นต้องดูด้วยน่ะครับว่าคำว่าชอบธรรมของคุณนั้นเข้าองค์ประกอบของกฎหมายหรือเปล่า เพราะคุณต้องครอบครอบด้วย

-ความสงบ (ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง)

-และเปิดเผย (ไม่มีผู้ใดโต้แย้งการครอบครองอีกเช่นกัน)

-ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ (พูดง่ายๆ ที่แปลงนี้ฉันจะเอาแล้วน่ะครับพี่น้อง)

    หากเมื่อครบ 3 องค์ประกอบนี้และเมื่อคุณครอบครองมาจนเป็นเวลา 3 ปี กรีเป็นโฉนดที่ดิน  แต่หากเป็น นส.3 ก็ เพียง 1 ปี ก็ได้สิทธิครอบครองโดยกฎหมายแล้วครับ

   แต่การที่คุณจะเข้าไปในสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินของบุคคลอื่นนั้นคุณต้องเป็นผู้เป็นผู้มีส่วนได้เสียครับเช่น คุณได้ฟ้องคดีแล้ว หรือคุณทำอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ดินแปลงนี้ซึ่งก็ต้องเกี่ยวข้องอย่างที่ได้แจ้งข้างต้นนั้นแหละครับ พนักงานที่ดินจึงจะให้คุณตรวจสอบที่ดินแปลงที่คุอ้างการาครอบครองนี้ได้ครับพี่น้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น รอบเปลื้อน วันที่ตอบ 2009-01-19 01:05:41


ความคิดเห็นที่ 3 (1892339)

การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒-ความหมาย

การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ คือ การจดทะเบียนตามคำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาล ซึ่งศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. (ครอบครองปรปักษ์) มีได้เฉพาะโฉนดที่ดินเท่านั้น
การครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒ (ครอบครองปรปักษ์) คือ การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ผู้ครอบครองนั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น อสังหาริมทรัพย์ที่จะนำมาจดทะเบียนประเภทนี้กับสำนักงานที่ดิน มีได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้น หากเป็นที่ดินที่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ , น.ส.๓ ก., น.ส.๓ ข. ) หากมีการแย่งการครอบครองเกิน ๑ ปี จะต้องขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๗ ถ้าที่ดินมีเพียงหลักฐานใบไต่สวน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์จึงไม่อาจจดทะเบียนการได้
มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๙๐/๒๕๐๕, ๑๘๖/๒๕๐๘, ๑๓๓๑/๒๕๐๘)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๑. ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒
๒. ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๘
๓. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘

ประเภทการจดทะเบียน
๑. ได้มาโดยการครอบครอง หมายความว่า ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ใน
ที่ดินมาเต็มตามโฉนดที่ดิน
๒. ได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วน หมายความว่า โฉนดที่ดินมีชื่อบุคคลหลายคนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนไม่เต็มตามโฉนดที่ดิน
๓. กรรมสิทธิ์รวม (ได้มาโดยการครอบครอง) หมายความว่า โฉนดที่ดินมีชื่อบุคคลเดียวหรือหลายคน และศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เต็มแปลง (ในกรณีโฉนดที่ดินมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ก็ไม่อาจทราบได้ว่าส่วนที่ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองนั้นเป็นส่วนของผู้หนึ่งคนใด) และผู้ที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินกับผู้ได้มาโดยการครอบครอง ได้ตกลงยอมให้ผู้ได้มาโดยการครอบครองมีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินด้วย
๔. แบ่งได้มาโดยการครอบครอง หมายความว่า โฉนดที่ดินมีชื่อบุคคลเดียวหรือหลายคน และศาลมี
คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเฉาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เต็มแปลง และผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินไม่ยอมให้ผู้ได้มามีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินด้วยโดยต้องมีการรังวัดแบ่งแยกส่วนของผู้ได้มาออกเป็นโฉนดที่ดินฉบับใหม่

สาระสำคัญ
การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ มีวิธีดำเนินการ ดังนี้
๑. ผู้ได้มาโดยการครอบครองต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น คำพิพากษาที่นำมาแสดงเพื่อขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองนั้น อาจไม่ใช่คดีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองเป็นโจทก์หรือเป็น
ผู้ร้องขอได้มาโดยการครอบครองก็ได้ คดีดังกล่าวอาจเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองเป็น
จำเลยถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน แต่ศาลวินิจฉัยแล้วรับฟังได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. จำเลยก็สามารถนำคำพิพากษาดังกล่าวมาขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองได้ (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๖๐๘/ว ๒๑๙๖๗ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๒) แต่ถ้าเป็นคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยยอมรับกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โดยศาลมิได้มีการวินิจฉัยหรือพิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครอง ก็ไม่อาจนำมาจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองได้
๒. ถ้าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมาเต็มตามโฉนดที่ดินก็ให้จดทะเบียนประเภท “ได้มาโดยการครอบครอง”
๓. ถ้าโฉนดที่ดินมีชื่อบุคคลคนเดียวหรือหลายคน แต่ผู้ได้มาได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เต็มแปลงให้สอบสวนว่า ต่างฝ่ายต่างจะยอมให้ผู้ได้มามีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินหรือไม่
๓.๑ ถ้าตกลงกันได้โดยเจ้าของโฉนดที่ดินยอมให้ผู้ได้มาโดยการครอบครองมีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินให้จดทะเบียนในประเภท “กรรมสิทธิ์รวม (ได้มาโดยการครอบครอง)”
๓.๒ ถ้าไม่ตกลงกันก็ให้แบ่งแยกส่วนของผู้ได้มาออก โดยให้ผู้ได้มาและผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ไปดูและระวังเขตที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตน และจดทะเบียนประเภท “แบ่งได้มาโดยการครอบครอง”
คำว่า ”ไม่ตกลงกัน” มีตัวอย่าง เช่น มีผู้ได้มาโดยการครอบครอง ขอจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครอง แต่ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินมาได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้มีหนังสือเรียกให้เจ้าของโฉนดที่ดินส่งมอบ และมาให้ถ้อยคำว่าจะยอมให้ผู้ได้มาลงชื่อร่วมในโฉนดที่ดินได้หรือไม่ ปรากฏว่าเจ้าของโฉนดที่ดินไม่ยอมมา กรณีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีไม่ตกลงกัน
กรณีที่มีปัญหาว่าไม่อาจหาตัวผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้ เช่น ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดินได้ตายไปนานแล้วไม่อาจหาตัวทายาทได้ กรณีนี้หากผู้ได้มาโดยการครอบครองได้มาไม่เต็มตามโฉนดที่ดิน ก็ควรดำเนินการจดทะเบียนแบ่งได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ขอ ในกรณีนี้เมื่อไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน
ในการจดทะเบียนแบ่งได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ขอไม่อาจดำเนินการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗)ฯ ข้อ ๘(๓) ที่กำหนดให้ผู้ได้มาและผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ไปดูแลระวังเขตที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตนได้ กรณีนี้เพื่อให้การปฏิบัติทางทะเบียนเป็นไปตามคำสั่งศาล จึงแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งแยกเฉพาะส่วนที่ได้มาออกโดยไม่ต้องระวังรอบแปลง และไม่ต้องทำการแก้ไขรูปแผนที่ เนื้อที่ อนุโลมตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๒/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๓ เรื่อง การรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อการชลประทานตามโครงการของกรมชลประทาน โดยดำเนินการรังวัดแบ่งแยกส่วนที่ได้มาโดยการครอบครองออก เสร็จแล้วให้ส่งรูปแผนที่ที่รังวัดตามที่ผู้ขอนำชี้เขตได้มาโดยการครอบครองออก เสร็จแล้วให้ส่งรูปแผนที่ที่รังวัดตามที่ผู้ขอนำชี้เขตได้มาโดยการครอบครองสอบถามศาลไป หากศาลยืนยันมาว่าถูกต้องก็ให้ดำเนินการต่อไป และเมื่อจดทะเบียนเสร็จแล้วให้เจ้าหน้าที่บันทึกกลัดติดไว้ในโฉนดที่ดินแปลงคงเหลือฉบับสำนักงานที่ดินว่า “เมื่อเจ้าของที่ดินมาทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ให้รังวัดสอบเขตเสียก่อน” แต่ถ้าคู่กรณีไม่ประสงค์จะขอรังวัดสอบเขตและยืนยันให้จดทะเบียนก็ให้บันทึกรับทราบแล้วจึงจดทะเบียนให้ไป
๓.๓ ถ้าผู้ได้มาได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนไม่เต็มตามโฉนดที่ดิน ให้จดทะเบียนในประเภท “ได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วน”
๔. ในการดำเนินการจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครอง ถ้าไม่ได้โฉนดที่ดินมาตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘ (๔) ให้ถือ
ว่าโฉนดที่ดินสูญหายให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดิน แล้วดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี ในกรณีเช่นนี้โฉนดที่ดินเดิมเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไป แม้ตามข้อเท็จจริงโฉนดที่ดินจะไม่ได้สูญหาย แต่เจ้าของที่ดิน
ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้ก็ให้ถือว่าโฉนดที่ดินสูญหาย ตามหนังสือ ที่ มท ๐๖๑๒/๑/ว ๔๕๘๘ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๔
๕. ในระหว่างดำเนินการออกใบแทน ให้ลงบัญชีอายัดไว้ โดยระบุให้ชัดเจนว่าอยู่ระหว่างออกใบแทนเพื่อจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ และหากมีผู้มาขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ดังนี้
๕.๑ กรณีได้มาโดยการครอบครองเต็มตามโฉนดที่ดิน ให้แจ้งคู่กรณีทราบถึงการได้มาโดยการครอบครองตามที่ลงบัญชีอายัดไว้ และระงับการจดทะเบียนทันที
๕.๒ กรณีได้มาโดยการครอบครองที่ดินบางส่วนไม่เต็มตามโฉนดที่ดิน ให้ระงับการจดทะเบียนไว้ และแจ้งให้คู่กรณีทราบถึงการได้มาโดยการครอบครองตามที่ลงบัญชีอายัดไว้ หากคู่กรณีทราบแล้วยังมีความประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินในส่วนที่เหลือ ซึ่งมิได้ถูกครอบครอง ให้แนะนำ
คู่กรณีมาขอจดทะเบียนหลังจากที่ได้รับจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองเสร็จแล้ว
๕.๓ กรณีโฉนดที่ดินมีชื่อบุคคลหลายคนและผู้ได้ที่ดินมาโดยการครอบครองได้มาเฉพาะส่วนของ
คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนไม่เต็มตามโฉนดที่ดิน ถ้าผู้มาขอจดทะเบียนจะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับ
ที่ดินในส่วนของบุคคลที่ถูกครอบครอง ให้ดำเนินการตาม ๕.๑ ถ้าผู้มาขอจดทะเบียนจะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนของบุคคลที่มิได้ถูกครอบครอง ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบถึงการได้มาโดยการครอบครองตามที่ลงบัญชีอายัดไว้ หากคู่กรณีทราบแล้วยังยืนยันให้จดทะเบียน ก็ให้บันทึกคู่กรณีไว้เป็น
หลักฐานแล้วดำเนินการจดทะเบียนต่อไปได้
เมื่อได้ออกใบแทนและจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ แล้ว
ให้จำหน่ายบัญชีอายัด หรือถ้ามีกรณีจะต้องยกเลิกการออกใบแทนโดยที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ก็ให้จำหน่ายบัญชีอายัดเช่นเดียวกัน
(หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๐๘/ว ๖๓๗๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๓ และหนังสือกรมที่ดิน
ที่ มท ๐๗๑๐/ว ๑๙๒๓๔ ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๔)
๖. ถ้าผู้ได้มาโดยการครอบครองได้กรรมสิทธิ์มาไม่ตรงตามโฉนดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้ใหม่
เมื่อออกโฉนดที่ดินให้ใหม่แล้ว ถ้าได้โฉนดที่ดินเดิมมาให้หมายเหตุด้วยหมึกแดงลงไว้ในด้านหน้าของโฉนดที่ดินเดิมแสดงว่าโฉนดที่ดินฉบับนั้นได้มีการออกโฉนดใหม่แล้ว สำหรับกรณีที่ไม่ได้โฉนดที่ดินเดิมมา ให้ระบุไว้ในประกาศโฉนดที่ดิน แสดงว่าไม่ได้โฉนดที่ดินมาด้วย
เกี่ยวกับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ซึ่งได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. กรณี
ผู้ได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เต็มตามโฉนด และผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ยินยอมให้ผู้ได้
มามีชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีพนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานที่ดินบางแห่งยังเข้าใจสับสนว่าจะปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗)ฯ ข้อ ๘ (๓) หรือ ข้อ ๘ (๕) โดยเคยมีการจดทะเบียนให้ไปโดยดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗)ฯ ข้อ ๘ (๕) ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง กรณีผู้ได้มาได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เต็มตามโฉนด และผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ยอมให้ผู้ได้มามีชื่อร่วมโฉนดที่ดิน
ดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนประเภทแบ่งได้มาโดยการครอบครองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗)ฯ ข้อ ๘ (๓) วรรคแรก ในการจดทะเบียนเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครอง ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้แก่ผู้ได้มาโดยการครอบครองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗)ฯ ข้อ ๘ (๕) ให้ส่งเรื่องให้หารือกรมที่ดินทุกเรื่อง (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๑๐/ว ๒๐๑๐๙ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๐)
๗. ถ้าโฉนดที่ดินนั้นมีการจดทะเบียนผูกพัน เช่น จำนอง เช่า ภาระจำยอม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ศาลทราบ เมื่อศาลแจ้งมาอย่างไรให้ปฏิบัติตามควรแก่กรณี (กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘)

แนวทางการวินิจฉัยที่สำคัญเกี่ยวกับการจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม

ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒
๑. กรณีผู้ได้มาโดยการครอบครองตามคำสั่งศาลอันถึงที่สุด มาขอจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมา เจ้าหน้าที่ได้เรียกให้ พ. ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินส่งมอบโฉนด
ที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการจดทะเบียนการได้มาตามคำสั่งศาล แต่ พ. ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้ และได้ขออายัดที่ดินเพื่อฟ้องผู้ได้มาโดยการครอบครองเป็นคดีขึ้นใหม่ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวสูญหาย เพราะไม่ได้โฉนดที่ดินมาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ข้อ ๘(๔)
ส่วนกรณีที่ พ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมขออายัดไว้และได้ฟ้องคดีขึ้นใหม่แล้ว เมื่อศาลสั่งให้ ผ. ได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ก็ย่อมจดทะเบียนลงชื่อ ว. ผู้จัดการมรดกของ ผ. ลงในโฉนดที่ดินได้ เพราะคำสั่งศาลที่สั่งให้ได้มาโดยการครอบครองถึงที่สุดแล้ว คำสั่งย่อมมีผลบังคับแม้จะมีการฟ้องร้องคดีกันใหม่ก็ตาม แต่เมื่อได้จดทะเบียนลงชื่อ ว. ผู้จัดการมรดกของ ผ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เนื่องจากการได้มาโดยการครอบครองแล้ ว.จะจดทะเบียนอย่างอื่นเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อไปไม่ได้ เนื่องจากผลของการอายัดของ พ.
๒. กรณีโฉนดที่ดินมีชื่อโจทก์ และ บ. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินส่วนที่ บ. ครอบครองทำประโยชน์ทางด้านทิศเหนือได้ขายให้แก่โจทก์แล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกัน ต่อมาจำเลยบุกรุกที่ดินด้านทิศเหนือที่โจทก์ซื้อมาจาก บ. ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินด้านทิศเหนือเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องระหว่างการพิจารณาคดีของศาลโจทก์จำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ จำเลยและบริวารจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ศาลได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลมิได้วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันจะมีผลใช้ยันต่อผู้มีชื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ คงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลย ซึ่งเป็นคู่ความไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคแรก เท่านั้น (เทียบคำพิพากษาฎีกา ที่ ๒๒๐๘/๒๕๒๖) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลโดยถือว่า โจทก์ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวโดยประการอื่นนอกจากนิติกรรมได้ หากโจทก์มีความประสงค์จะขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของ บ. ก็ต้องให้ บ.
มาดำเนินการจดทะเบียนโอนให้ต่อไป
๓. ศาลพิพากษาให้ ป ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ แต่ ผ และ ห ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้ได้มากับผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินย่อมไม่อาจตกลงกันได้ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ชอบที่จะรับดำเนินการให้โดยรังวัดแบ่งแยกส่วนของผู้ได้มาออก แล้วจดทะเบียนในประเภทแบ่งได้มาโดยการครอบครอง โดยแจ้งให้ทายาทผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ยังมีกรรมสิทธิ์ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ไปดูแลระวังแนวเขตที่ดิน หากทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ยังมีกรรมสิทธิ์ไม่ระวังแนวเขตที่ดิน หรือไม่สามารถแจ้งให้ทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ยังมีกรรมสิทธิ์ไปดูและระวังแนวเขตได้ ก็ให้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนของผู้ได้มาออก โดยอนุโลมปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๒/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๓ เรื่อง การรังวัดแบ่งแยกที่ดิน
เพื่อการชลประทาน ตามโครงการของกรมชลประทาน โดยไม่ต้องทำการรังวัดรอบแปลงและไม่ต้องแก้เขตจำนวนที่ดินและรูปแผนที่แต่อย่างใด แต่ให้ผู้ได้มาเป็นผู้นำรังวัดชี้เขตเฉพาะส่วนที่ตนได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองตามคำสั่งศาล เมื่อรังวัดเสร็จแล้วให้ชี้แจงพร้อมส่งรูปแผนที่ตามที่รังวัดได้สอบถามไปศาลก่อน ถ้าศาล
ยืนยันว่าเป็นการถูกต้องตามคำสั่งศาลก็ให้จดทะเบียนต่อไปได้ ส่วนแปลงคงเหลือให้เจ้าหน้าที่บันทึกกลัดติดไว้ในโฉนดที่ดินดังกล่าวว่า “หากเจ้าของที่ดินจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ให้รังวัดสอบเขตเสียก่อน แต่ถ้าคู่กรณีไม่ประสงค์จะขอรังวัดสอบเขตและยืนยันให้จดทะเบียนโดยยินยอมรับผิดชอบกันเองก็ให้บันทึกความรับผิดชอบไว้แล้วดำเนินการต่อไปได้”
๔. ที่ดินที่ ส. ยื่นคำขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ตามคำสั่งศาล
ที่สั่งให้ ส. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับกับที่ดิน น.ส.๓ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ได้มาได้กรรมสิทธิ์ไม่เต็มทั้งโฉนด ที่ดินมีชื่อ ว.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ ว. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงนี้ไว้กับธนาคาร และยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจากจำนอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือแจ้งให้ ว. นำโฉนดที่ดินไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการให้ ส. และสอบถามว่าจะยินยอมให้ ส. มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินหรือไม่ แต่ ว.มิได้นำโฉนดที่ดินไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่ กลับมีหนังสือโต้แย้งว่า การรังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ ส. ได้ออกทับโฉนดที่ดิน ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของ ว. ว่าไม่ประสงค์จะให้ ส. ผู้ได้มามีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินด้วย
จึงชอบที่จะดำเนินการแบ่งแยกส่วนของผู้ได้มาออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ข้อ ๘(๓) โดย
จะต้องแจ้งให้ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไปดูและระวังเขตด้วย หากผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ไปดูแลระวังเขต หรือไม่สามารถแจ้งให้ผู้มีชื่อในโฉนดไปดูแลระวังแนวเขตได้ ก็ให้รังวัดแบ่งแยกส่วนของผู้ได้มาออกโดยอนุโลมปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๒/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๓ เรื่อง การรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อการชลประทานตามโครงการของกรมชลประทาน
ส่วนกรณีมีการจดทะเบียนจำนองผูกพันอยู่นั้น เมื่อการได้มาโดยการครอบครองบางส่วนดังกล่าว เป็นการได้มาภายหลังการจดทะเบียนจำนอง ส. จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองโดยมีภาระการจำนองติดไปด้วย การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองรายนี้จึงต้องจดทะเบียนในประเภท “แบ่งได้มาโดยการครอบครอง (ครอบจำนอง)” โดยอนุโลมปฏิบัติเกี่ยวกับการจดแจ้งครอบจำนอง ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ ๑๔/๒๕๐๐ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ เรื่อง วิธีการจดแจ้งครอบจำนองและวิธีการจดทะเบียนปลอดจำนอง ๕. การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ หมายถึง การครอบครอง
ทรัพย์สินของผู้อื่น และหมายรวมถึง การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินของตนด้วย
ดังนั้น ผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินของผู้อื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง หากครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว ก็ย่อมได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๑๕/๒๕๓๗) อย่างไรก็ดี การที่ผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองดังกล่าวจะมาขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองได้ ผู้ได้มาต้องร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าผู้ได้มามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘(๑) ซึ่งในการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและดุลยพินิจของศาล
๖. การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. กล่าวคือ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ครอบครองครบ ๑๐ ปี มิใช่ต้องให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาจึงได้กรรมสิทธิ์ การที่จะต้อง
ให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาก็เพื่อจะได้จดทะเบียนให้ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘ กรณีของเรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลว่า ท. ครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนของ ม. เป็นเวลา ๑๗ ปี ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. ก่อนที่ พ. จะจดทะเบียนรับโอนมรดก การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นแม้ไม่จดทะเบียนก็ไม่เสียไป แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ (มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ แห่ง ป.พ.พ.) การที่ พ. จดทะเบียนรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ท. ไม่ถือว่า พ. เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๙-๔๑๒/๒๕๐๗ และ ๑๐๖๙,๑๐๗๐/๒๕๒๒) ดังนั้น จึงดำเนินการจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้เป็นไปตาม
คำสั่งศาลได้
๗. ศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุด กรณี ม.ได้ร้องขอต่อศาลให้ตนมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในโฉนดที่ดิน ม. ย่อมมีสิทธิที่จะมาขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๗๘ แห่งประมวล
กฎหมายที่ดิน และเมื่อไม่ได้โฉนดที่ดินมา พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ชอบที่จะออกใบแทนโฉนดที่ดินเพื่อดำเนินการให้ผู้ขอได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๗ แม้ ส. จะได้ขอให้ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แล้ว
ก็ตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจจะระงับการจดทะเบียนได้ เพราะคำสั่งศาลที่สั่งให้ ม.ได้มาโดยการครอบครองได้ถึงที่สุดแล้ว คำสั่งย่อมมีผลบังคับ เมื่อไม่มีเหตุที่จะระงับการจดทะเบียนได้ดังนั้น เมื่อได้ออกใบแทนโฉนด
ที่ดินให้ผู้ขอแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ชอบที่จะดำเนินการจดทะเบียนลงชื่อผู้ได้มาโดยการครอบครองลงในโฉนดที่ดินได้
๘. อ ครอบครองที่ดินแปลงนี้มา ๒๗ ปี จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า อ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินก่อนที่ ส จะ
จดทะเบียนรับมรดกและขายให้แก่ ย เมื่อ อ ยังมิได้มีการจดทะเบียนสิทธิให้ปรากฏย่อมจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ เรื่องนี้
จึงไม่อาจจดทะเบียนให้ อ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองตามคำสั่งศาลได้ เว้นแต่ศาลจะได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าการซื้อขายดังกล่าว ย ผู้ซื้อมิใช่เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตจึงจะจดทะเบียนให้ต่อไปได้

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗ - ๑๘/๒๔๙๗ การครอบครองที่ดินปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑ จึงใช้ยันผู้เยาว์ได้ (เพราะเป็นการได้ที่ดินโดยอายุความ)
๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๙,๑๐๗๐/๒๕๒๒ จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทเกินกว่า ๑๐ ปี ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตนครอบครอง โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการรับมรดก แม้โจทก์จะเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม โจทก์ก็มิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ จำเลยจึงยกกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๗๙ - ๑๔๘๐/๒๕๒๔ จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดียกที่ดินส่วนที่พิพาทให้วัด โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เจ้าอาวาสได้ลงชื่อรับเอาที่ดินนั้น เป็นการรับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๔ จำเลยยึดถือตามสิทธิเก็บกิน ต่อมาวัดครอบครองตั้งแต่วันที่รับที่ดิน จำเลยยึดถือแทนเมื่อ ๑๐ ปี วัดได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ โดยไม่ต้องจดทะเบียน กรรมสิทธิ์ไม่สิ้นไปเพราะไม่เรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายใน ๑๐ ปี
๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๓๑/๒๕๒๕ โจทก์ครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่บิดามารดาโจทก์กำลังเป็นความกับจำเลยอยู่ในศาลและอยู่ในระหว่างคดีตามคำพิพากษา แม้จะเกิน ๑๐ ปี โจทก์ก็อ้างเป็นการครอบครองปรปักษ์ยันจำเลยผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอก แต่เป็นบุตรและบริวารของบิดามารดา เมื่อบิดามารดาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตกลงยกที่พิพาทให้เป็นของจำเลย และศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลย่อมผูกพันโจทก์ด้วย
๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๖๙/๒๕๓๓ ที่ดินของผู้ร้องและผู้คัดค้านอยู่ติดกัน ที่พิพาทมีเนื้อที่ ๙.๖ ตารางเมตร อยู่ในเขตที่ดินของผู้คัดค้าน ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่พิพาท ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ตกลงกันว่า
ในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดรุกล้ำของฝ่ายใด หากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแล้วปรากฏว่าฝ่ายใดรุกล้ำก็ให้คืน
ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาจะครอบครองที่ดินเฉพาะที่เป็นของผู้ร้องจริง ๆ เท่านั้น หากเป็นของบุคคลอื่นผู้ร้องก็ไม่มีเจตนาที่จะครอบครองและยึดถือเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่มีเจตนาที่จะครอบครองและ
ยึดถือที่ดินของผู้คัดค้านเป็นของผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๔/๒๕๓๔ สัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงจะจดทะเบียนโอนเมื่อแบ่งแยกโฉนดเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าโจทก์กับ ฉ. จะปล่อยเวลาล่วงเลยไปนาน มิได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาอันสมควรเพื่อแบ่งแยกโฉนด โดย ฉ. ยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์แสดงตนเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่ แสดงว่าทั้งโจทก์และ ฉ. มิได้คำนึงถึงการที่จะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ถือได้ว่า ฉ. สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์
จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ หาใช่ครอบครองตามสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้ เมื่อครบสิบปีโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์
๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒/๒๕๓๕ การที่จำเลยปลูกบ้านในที่พิพาทโดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัย แม้จำเลยจะอยู่เรื่อยมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งนั้นถือได้ว่าจำเลยครอบครอง
ที่พิพาทแทนเจ้าของ แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๙/๒๕๓๕ เจ้าของที่ดินไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมต้องไปจดทะเบียนโอนให้แก่
ผู้ครอบครองปรปักษ์
๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๒/๒๕๓๕ จำเลยครอบครองปลูกบ้านและทำประโยชน์ในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามกฎหมาย แม้โจทก์จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่พิพาทโดยการครอบครองตามคำสั่งศาลไปก่อนแล้ว โจทก์ก็หามีสิทธิดีกว่าอันจะเป็นเหตุให้มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยไม่ เพราะโจทก์มิใช่ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๑๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๐๒/๒๕๓๕ ที่ดินพิพาทมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตลอดมาเกือบทุกปีนับแต่ที่ฝ่ายผู้ร้องอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท การอ้างว่าได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ การครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอก็ยังไม่ครบสิบปี แม้จะฟังว่าฝ่ายผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ผู้ร้องทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
๑๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๘/๒๕๓๖ โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ในโฉนดที่ดินแทน แล้วโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนได้กรรมสิทธิ์โดยการ
ครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
แม้การบรรยายฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองมุ่งในเรื่องการครอบครองปรปักษ์ แต่การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
๑๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๑/๒๕๓๖ เมื่อผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้กรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสิ้นสุดลงโดยการไม่ใช้ ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องไม่ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลา ๒ ปี ตราบใดที่ยังไม่มีผู้อื่นมาแย่งกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องหาเสียกรรมสิทธิ์ไปไม่
๑๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๒๗/๒๕๓๖ การครอบครองที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ นั้น ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้วติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีเท่านั้น เมื่อนับแต่วันออกโฉนดครั้งแรกถึงวันยื่นคำร้องขอ ผู้ร้องครอบครองที่ดินมายังไม่ถึง
สิบปี ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์
๑๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗๗๙/๒๕๓๖ โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามต่างรับโอนที่ดินที่มีโฉนดไขว้สับกัน และต่างฝ่ายต่างครอบครองที่ดินที่ตนรับโอนมาเกินกว่า ๑๐ ปี ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงต่างได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับโอนและครอบครองมา แม้จำเลยทั้งสามจะมีชื่อในโฉนดที่ดินที่โจทก์ครอบครองก็จะอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนารับโอนไม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสาม
ส่งมอบโฉนดโดยแลกเปลี่ยนกันและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้
๑๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๙/๒๕๓๗ แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันทำสัญญา แต่ที่ดินพิพาทมีข้องบังคับห้ามโอนภายใน ๑๐ ปีนับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับโฉนดตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา ๓๑ บทบัญญัติดังกล่าวเจตนาจะปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ ยังไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน ผู้คัดค้านจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจะเอาระยะเวลาการครอบครองซึ่งอยู่ภายในข้อบังคับห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่
๑๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๙/๒๕๓๗ หลังจากมารดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ ๑ แล้ว มารดาโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ ต่อมามารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แม้การซื้อขายและการยกที่ดินพิพาทดังกล่าวจะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากมารดาโจทก์มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ การที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนที่ดินยกที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตร เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้
๑๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔๕/๒๕๓๗ ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นสัดส่วน การที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดิน ก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็น
เจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของรวมคนอื่นๆ ว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทนเจ้าของรวมคนอื่นอีกต่อไป
๑๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๑๕/๒๕๓๗ ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดของจำเลย แต่โจทก์ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑ ปีแล้วแม้โจทก์จะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินของโจทก์เอง หากแต่ต้องถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินของผู้อื่น โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒ หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยโจทก์ต้องรู้ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยด้วยไม่
๑๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๑๐ -๑๓๑๑/๒๕๓๘ ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินมีเอกสารสิทธิเพียง น.ส.๓ จำเลยชำระเงินให้ ส. ผู้จะขายครบถ้วน และผู้จะขายได้มอบที่พิพาทให้จำเลยเข้าครอบครองแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา แสดงว่าผู้จะขายได้สละการครอบครองและได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วจำเลยยังครอบครองทำนาในที่พิพาทตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี แล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท
๒๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๕๑/๒๕๓๘ แม้การที่บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โจทก์ โดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ตามกฎหมายทำให้เป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมานับตั้งแต่บิดาโจทก์ยก
ที่พิพาทให้โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒
๒๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๕๑/๒๕๓๘ จำเลยที่ ๒ ครอบครองที่พิพาทในระหว่างคดี จะอ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่ จึงไม่อาจนับระยะเวลาดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ได้ครอบครองมาก่อนวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ได้ และเมื่อหลังจากที่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ ๒
ก็เพิ่งครอบครองที่พิพาทมาเพียง ๗ ปีเศษ จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง
๒๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๖๘/๒๕๓๘ ที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ เมื่อขณะซื้อขายผู้ขายมีแต่สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้ภายหลัง ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ เมื่อนับถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ไม่เกิน ๑๐ ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒
ทำนองเดียวกับการเริ่มนับเวลาครอบครองปรปักษ์ในที่ดินที่เป็นที่งอกริมตลิ่ง ของที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน จะเริ่มต้นนับได้ต่อเมื่อที่ดินนั้นพ้นจากสภาพเป็นที่ชายตลิ่งมาสู่สภาพเป็นที่งอกริมตลิ่งแล้วส่วนการครอบครองในขณะที่เป็นที่ชายตลิ่งจะนำมานับรวมเข้าใน ๑๐ ปีตามมาตรา ๑๓๘๒ ด้วยไม่ได้ เพราะที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒)
๒๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๘๖/๒๕๓๘ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ กล่าวถึงเฉพาะด้านผู้ครอบครองว่าถ้าได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นติดต่อกันนาน ๑๐ ปี แล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์ การนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินของจำเลยในระหว่างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. ติดต่อมาจนตกเป็นของโจทก์ สามารถนับรวมกันได้
เมื่อรวมเป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์
๒๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๘๗/๒๕๓๘ จ. ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงแก่ความตาย เป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี แล้ว จ. จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ตามมาตรา ๑๕๙๙ และ ๑๖๐๐ จึงตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ จ. แม้โจทก์มิได้ครอบครองต่อเนื่องในที่ดินที่ จ. ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ จ. ครอบครองมาโดยทางมรดก ๒๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๗๙/๒๕๓๙ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ไว้แล้ว แต่ผู้ร้องไม่สามารถจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในอีกคดีหนึ่งว่า พ.ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองเช่นเดียวกันและสำนักงานที่ดินได้ออกใบแทนโฉนดให้แล้วก่อนที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ คำสั่งศาลดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจเพิกถอนได้ แต่ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว
จึงเป็นบุคคลภายนอกมีอำนาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่า พ.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ (๒) จึงชอบที่เสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาท ไม่อาจร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทขอให้ศาลมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ผู้ร้องได้
๒๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๒/๒๕๓๙ จำเลยปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรจำเลยที่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัย แสดงว่าจำเลยครอบครองที่ดินชั่วคราวโดยไม่ได้เจตนาเป็นเจ้าของ แม้ครอบครองเกินกว่า ๑๐ ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒ และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยยังอยู่ในที่ดิน การที่โจทก์ขอให้รื้อถอนบ้านออกไปจึงไม่ขาดอายุความ
๒๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓๙๓/๒๕๔๐ ตราบใดที่ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ จะครอบครองปรปักษ์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนด เพราะที่ดินมีโฉนดเท่านั้นที่บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทมีโฉนด เมื่อที่ดินพิพาทเพิ่ง
ออกโฉนด และระยะเวลาที่ผู้ร้องครอบครองจนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลยังไม่ถึง ๑๐ ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ผู้ร้องคงมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น
๒๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๙๕/๒๕๔๑ จำเลยเข้าครอบครองและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทมากว่า
๑๐ ปี จนจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์มาก่อนที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจาก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม แม้จำเลยจะมิได้จดทะเบียนสิทธินั้น จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์เองก็มิได้ดำเนินการเพื่อแสดงสิทธิดังกล่าว
แก่จำเลย กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนกลายเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์มาอีก ฉะนั้น เมื่อจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมานับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี แล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒
๒๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๕๓/๒๕๔๑ แม้ น. บิดาจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และจำเลยได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จาก น. จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการยกให้เท่านั้นไม่มีบทกฎหมายห้ามมิให้จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในทำนองนี้และไม่มีบทกฎหมายกำหนดไว้ว่าการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทดังกล่าว แม้ครอบครองเกิน ๑๐ ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒
จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเกิน ๑๐ ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองปรปักษ์ แม้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ น. ได้มาโดยไม่ชอบและจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยการยกให้ทางทะเบียนได้ก็ตาม คงมีผลเฉพาะเป็นการเพิกถอนทางทะเบียนในส่วนที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยได้รับ และเป็นผลให้จำเลยไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดเท่านั้น แต่การเพิกถอนไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์แต่อย่างใด แม้การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของจำเลยยังมิได้จดทะเบียน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้เพราะมิใช่กรณีต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๓๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๙๐/๒๕๔๑ จำเลยผู้ซื้อครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ขาย จำเลยจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง แม้ว่าศาลจะมี
คำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท
๓๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๗/๒๕๔๒ ผู้คัดค้านซื้อที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งรวมที่ดินพิพาทมาด้วยจาก ส.
ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โดยสุจริต ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนที่
ผู้คัดค้านจะจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนนั้นขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แม้ผู้ร้องจะยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาครอบครองใหม่ เมื่อยังไม่ถึง ๑๐ ปี สิทธิของผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างต่อผู้คัดค้านไม่ได้
๓๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๖/๒๕๔๒ พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทเพราะจำเลยซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกันและเป็นที่ดินแปลงใหญ่มาเพื่อขยายโรงงาน และที่ดินดังกล่าวมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีก ๑๒ คน จำเลยจึงฟ้องคดีเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ขณะที่จำเลยให้ลูกจ้างไปทำรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดินก็ไม่ปรากฏว่ามีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินว่างเปล่ามีหญ้ารกปกคลุมแนวรั้วไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจัง แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแม้จะทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ติดต่อกันนายเกินกว่า ๑๐ ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
๓๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๓๐/๒๕๔๒ การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ จะต้องแสดงอาการยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อตนจริงๆ โดยสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ลำพังการมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดและการเสียภาษีบำรุงท้องที่ย่อม
มิใช่เป็นการครอบครองที่ดิน
๓๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๔๓ เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณ -สมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง ๑๐ ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๘๒
๓๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๔๓/๒๕๔๓ ที่ดินพิพาทเป็น ส.ค.๑ ป. เจ้าของที่ดินได้ขอออกโฉนดที่ดิน
ระหว่างเดินสำรวจเพื่อออกโฉนด ป. ได้ยกที่ดินพิพาทให้ ย. เมื่อ ป.ตาย เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ออกโฉนดแล้ว
ส่งมอบให้ ค. บุตรของ ป. แต่ ย. ยังไม่ทราบการดำเนินการออกโฉนดจึงนำ ส.ค.๑ ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซ้ำซ้อนขึ้นอีก ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทจาก ย. โดยทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจาก ย. ผู้โอนเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์
๓๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๐๑/๒๕๔๔ จำเลยได้ครอบครองและได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแต่เมื่อ ส. ขอออกโฉนดที่ดินจำเลยไม่ได้คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ส. ที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินคือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ เป็นต้นไป ต่อมามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๓ เนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งยังไม่ถึง ๑๐ ปี เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไป แม้จำเลยครอบครองต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๙ ยังไม่ถึง ๑๐ ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒
๓๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๓๖/๒๕๔๔ ………..เอกสารการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย
ระบุชื่อว่า “หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ” แต่ไม่ได้ระบุข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว
ในวันทำสัญญา และจำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้จะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคแรก แต่โจทก์เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า ๑๐ ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒

ค่าธรรมเนียม
การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองถือเป็นการจดทะเบียนประเภทมีทุนทรัพย์ (หนังสือกรมที่ดิน ด่วนมาก ที่ มท ๐๗๐๘/ว ๑๙๔๙๘ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๘) จะต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินของทางราชการร้อยละ ๒ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๑)ฯ ข้อ ๒ (๗) (ก)

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ไม่ต้องเรียกเก็บ เพราะถือว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้แต่ถือว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากรของผู้ได้กรรมสิทธิ์ ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ๑๐๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีขายการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-01-24 13:45:22


ความคิดเห็นที่ 4 (1895635)

การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง กระบวนการครอบครองกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์(ที่ดิน)หรือ สังหาริมทรัพย์ ของผู้อื่นโดยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนและการถือครองนั้นโดยสงบและเป็นที่เปิดเผยไม่มีการปิดบังอำพรางหรือซ่อนเร้นและมีเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งขัดแย้งกับสิทธิของเจ้าของตัวจริง ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเพื่อแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวนั้นแล้ว จึงจะได้ถือกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

ในกฎหมายแพ่งของประเทศไทยถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ครอบครองนั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น อสังหาริมทรัพย์ที่จะนำมาจดทะเบียนประเภทนี้กับสำนักงานที่ดิน มีได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้น หากเป็นที่ดินที่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก., น.ส.3 ข.) และมีการแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี จะต้องขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ถ้าที่ดินมีเพียงหลักฐานใบไต่สวน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์จึงไม่อาจจดทะเบียนการครอบครองปรปักษ์ได้ ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ผู้ครอบครองนั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น และไม่ต้องจดทะเบียนเพื่อแสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ในสังหาริมทรัพย์นั้นแสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ยกเว้นสังหาริมทรัพย์พิเศษที่ต้องจดทะเบียน

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-02-01 09:04:01


ความคิดเห็นที่ 5 (1895687)

 การครอบครองปรปักษ์

 

 

เป็นการที่บุคคลอื่นจะได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเราโดยการครอบครอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

หลักเกณฑ์แห่งการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์

ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 6 ประการ ดังนี้

1. ครอบครองหมายถึง กิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน เช่น เข้าทำประโยชน์ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ในเรือกสวนไร่นาถือว่าได้ครอบครองเรือสวนไร่นานั้นเป็นต้น

2. ทรัพย์สินของผู้อื่น หมายถึง ทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่ในกรณีที่ดินจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจองเท่านั้น

3. โดยสงบ คือ การครอบครองโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้กำลัง การหลอกลวงและไม่มีใครมาหวงห้าม กีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของ หรือฟ้องร้องขับไล่

4. โดยเปิดเผย คือ การครอบครองโดยมิได้หลบซ่อนเร้น ปิดบัง หรืออำพรางใด ๆ

5. ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ การครอบครองโดยเจตนาดังใจที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่การครอบครองแทนผู้อื่น เช่น คนสวนเฝ้าสวนแทนเจ้าของสวนหรือครอบครองตามสัญญาให้อำนาจไว้ เช่น การครอบครองที่นาทำนาตามสัญญาเช่านา เป็นต้น

6. การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันสิบปี หรือสังหาริมทรัพย์ห้าปี ความหมายของอสังหาริมทรัพย์โดยทั่ว ๆ ไป หมายถึงที่ดินรวมทั้งทรัพย์ก็คือ ทรัพย์ที่ขนเคลื่อนที่ได้นั่นเอง การครอบครองปรปักษ์จะได้กรรมสิทธิ์ต้องปรากฏว่าครอบครองติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลานานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวด้วย

หลักเกณฑ์ 6 ประการข้างต้นข้อที่ควรจำเป็นพิเศษ คือ ต้องเป็นทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่ และถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันนานถึง 10 ปี กรณีที่ดินมีหลักฐานต่อไปนี้ ถือว่ามีสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น ไม่ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ซึ่งรู้จักหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ที่ดินมือเปล่า” คือ

1. น.ส. 3 เรียกย่อจากคำว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นแบบเก่า

2. น.ส. 3 ก. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ออกโดยใช้การถ่ายรูปทางอากาศ

3. น.ส. 5 ใบจอง เป็นหนังสือที่รัฐอนุญาตให้ครอบครองที่ดินชั่วคราว

4. น.ส. 5 ใบไต่สวน เป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อการจะออกโฉนดที่ดิน

5. ใบนำ เป็นหนังสือที่ออกให้แก่ครอบครองที่ดิน นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน

6. ส.ค. 1 เป็นหนังสือแจ้งการครอบครอง

7. ที่ดินมีสิทธิ์ครอบครองแล้ว ไม่มีหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงสิทธิเลย

ที่ดินตามที่กล่าวมาข้างต้น การถูกผู้อื่นแย่งการครอบครองไม่ใช่อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 1382 แต่จะอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 1376 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครอง โดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิ์จะได้คืน ซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืน ซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-01 11:49:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล