ReadyPlanet.com


อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ


 พกอาวุธปืนในที่สารธารณะ + ปืนไม่มีทะเบียน

ปืนขนาด 9mm ไม่มีทะเบียน มีกระสุนในแม็กกาซีน

 

มีบทลงโทษอย่างไรบ้าง

 

คนแถวบ้านโดนไปเลยอยากทราบประดับความรู้



ผู้ตั้งกระทู้ Pom :: วันที่ลงประกาศ 2013-08-16 03:08:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2401241)

จากคดีที่ศาลเคยตัดสินไว้ก็ประมาณ 1 - 2 ปีครับ

อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-16 09:54:43


ความคิดเห็นที่ 2 (2401496)

ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
ไม่ว่าจำเลยจะพาอาวุธปืนของกลางไปโดยมีกระสุนปืนอยู่ในรังเพลิงหรือไม่ก็ตามก็ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4942/2550

พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง


          พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ ป.อ. มาตรา 371 มิได้กำหนดองค์ประกอบในการกระทำความผิดว่าอาวุธปืนหรืออาวุธที่พาไปต้องเป็นอาวุธปืนหรืออาวุธที่สามารถใช้ได้ทันที ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะพาอาวุธปืนของกลางไปโดยมีกระสุนปืนอยู่ในรังเพลิงหรือไม่ก็ตาม ก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และ ป.อ. มาตรา 371 แล้ว

 
________________________________


          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 และริบของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดได้อาวุธปืนสั้นออโตเมติกขนาด .45 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน กระสุนปืน 7 นัด และซองกระสุนปืน 1 ซอง เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสนิท ดอนทองแดง และจ่าสิบตำรวจสัญญา ลิบไพรวัลย์ ผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดหตุจ่าสิบตำรวจสัญญาได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่งว่า จำเลยจะขับรถจักรยานยนต์ไปเอายาเสพติดให้โทษโดยจำเลยพกอาวุธปืนไปด้วย ให้ไปดักจับที่บ้านจำเลยในซอยข้างปั๊มน้ำมันสุนทรีออยล์ พยานทั้งสองกับพวกจึงไปยังบริเวณบ้านจำเลย พบจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาจอดหน้าบ้าน พยานทั้งสองแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยวิ่งหลบหนีโดยวิ่งวนรอบบ้าน ระหว่างวิ่งจำเลยชักอาวุธปืนสั้นออกจากเอวโยนทิ้งไปที่พงหญ้าข้างบ้าน จ่าสิบตำรวจสัญญาหยิบอาวุธปืนดังกล่าวขึ้นมา ต่อมาจ่าสิบตำรวจสนิทจับกุมจำเลยได้ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองไปบ้านเกิดเหตุเพื่อจับกุมจำเลยตามที่ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าจำเลยไปเอายาเสพติดให้โทษโดยพกอาวุธปืนไปด้วย เชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองไปเพื่อตรวจค้นจับกุมจำเลยตามอำนาจหน้าที่ พยานโจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เมื่อจำเลยเห็นพยานโจทก์ทั้งสอง จำเลยก็วิ่งหลบหนีอันเป็นพิรุธส่อให้เห็นว่าจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายอยู่ในครอบครอง ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน พยานโจทก์ทั้งสองวิ่งไล่ตามจำเลยระยะห่างประมาณ 10 เมตร เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเห็นจำเลยโยนอาวุธปืนของกลางทิ้งไปที่พงหญ้า เมื่อจำเลยโยนอาวุธปืนดังกล่าวทิ้ง จ่าสิบตำรวจสัญญาก็เก็บอาวุธปืนของกลางทันที ทั้งชั้นจับกุมจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจตรีพัฒนา ฉายาวัฒน์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสนิทและจ่าสิบตำรวจสัญญาแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยฎีกาว่า บริเวณบ้านเกิดเหตุมีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จ่าสิบตำรวจสนิทและจ่าสิบตำรวจสัญญาต้องวิ่งติดตามจำเลยและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ไม่น่าเชื่อว่าจะเห็นจำเลยโยนอาวุธปืนของกลางทิ้งนั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจวิ่งติดตามจับกุมจำเลยไปในระยะใกล้ ย่อมต้องสังเกตการกระทำของจำเลยเพื่อจะได้สามารถติดตามจับกุมจำเลยได้ทัน แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่กับพยานโจทก์ต้องกระโดข้ามสิ่งกีดขวาง ก็ไม่เป็นเหตุให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่นำหญิงพลเมืองดีผู้แจ้งเหตุมาเบิกความเป็นพยานและไม่นำอาวุธปืนของกลางอ้างส่งต่อศาลเพื่อให้จำเลยรับรองว่าเป็นอาวุธปืนของกลางจริง กับพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือบนอาวุธปืนของกลาง เพื่อยืนยันว่าเป็นอาวุธปืนของจำเลยจริงนั้น เห็นว่า โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลใดหรืออ้างส่งวัตถุของกลางใดต่อศาล กับพนักงานสอบสวนจะตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือบนอาวุธปืนของกลางหรือไม่ เป็นดุลพินิจของโจทก์และพนักงานสอบสวน การที่โจทก์และพนักงานสอบสวนดำเนินการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่พยานผู้จับกุมเบิกความ ทั้งคดีนี้มีจ่าสิบตำรวจสนิทและจ่าสิบตำรวจสัญญาผู้ร่วมจับกุมเป็นประจักษ์พยานเห็นจำเลยโยนอาวุธปืนของกลางทิ้ง จึงรับฟังคำเบิกความของพยานผู้จับกุมได้ ที่จำเลยฎีกาว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยคดีนี้ตามบันทึกการจับกุม และจับกุมจำเลยในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เวลาเดียวกัน เป็นพิรุธนั้น เห็นว่า เวลาจับกุมจำเลยตามบันทึกการจับกุม และตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เป็นเพียงระยะเวลาที่ผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนประมาณเอาคร่าว ๆ เท่านั้น ทั้งจำเลยเบิกความรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยก่อนแล้วจึงพาไปบ้านนายโอดำ ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน จึงไม่เป็นพิรุธถึงกับทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองเสียไปจนรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบตำรวจสนิทและจ่าสิบตำรวจสัญญาเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับการวิ่งหลบหนีของจำเลยและอาวุธปืนของกลางนั้น เห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่สาระสำคัญจนถึงกับทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ได้รับแจ้งเรื่องอาวุธปืน ไม่ได้รับแจ้งเรื่องยาเสพติดให้โทษ แต่มีการสอบถามจำเลยเรื่องยาเสพติดให้โทษเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า จ่าสิบตำรวจสัญญาซึ่งเป็นผู้รับแจ้งจากหญิงพลเมืองดีเบิกความว่า ได้รับแจ้งว่าจำเลยจะขับรถจักรยานยนต์ไปเอายาเสพติดให้โทษโดยพกอาวุธปืนไปด้วย ทั้งบันทึกการจับกุมก็ระบุว่านำตัวจำเลยส่งสถานีตำรวจภูธรตำบลสามควายเผือกเพื่อดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย สอดคล้องกับคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสัญญา พยานโจทก์จึงไม่เป็นพิรุธ และที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจพบอาวุธปืนของกลางโดยกระสุนปืนของกลางไม่อยู่ในรังเพลิง ไม่สามารถใช้อาวุธปืนของกลางได้ทันที จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 บัญญัติว่า “ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร...ต้องระวางโทษ...” โดยมิได้กำหนดองค์ประกอบในการกระทำความผิดว่าอาวุธปืนหรืออาวุธที่พาไปต้องเป็นอาวุธปืนหรืออาวุธที่สามารถใช้ได้ทันที ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะพาอาวุธปืนของกลางไปโดยมีกระสุนปืนอยู่ในรังเพลิงหรือไม่ก็ตามก็ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แล้ว สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยเกี่ยวกับการกระทำความผิดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยให้ พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีและพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง ทั้งหากจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวก่อเหตุใด ๆ ขึ้น ย่อมยากแก่การตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวก็ยังไม่เป็นเหตุอันควรให้ความปรานีแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษายืน


( ชัช ชลวร - วีระศักดิ์ เสรีเศวตรัตน์ - บวร กุลทนันทน์ )

  

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-17 11:51:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล