ReadyPlanet.com


ปลูกบ้านบนที่ดินของแม่สามี


ที่ดิน 51 ตร.วา ปลูกเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งแต่ปี 2503 เป็นของคุณย่า

ประมาณปี 2526-2527 คุณแม่ ได้ต่อเติมบ้าน โดยรื้อบ้านไม้เก่าบางส่วนของย่าออกแล้วต่อเติมเป็นบ้านปูน 2 ชั้น โดยปลูกชิดติดกัน แล้วใช้พื้นที่ร่วมกันระว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่

พอมาปี 2552 คุณพ่อเสียชีวิต คุณย่าของดิฉัน ก็ทำพินัยกรรมเมือง ที่เขตวัฒนา โดยมอบให้เป็นผู้จัดการมรดกของย่าทั้งหมด ในปี 2553

แล้วเกิดเหตุคุณย่าล้ม ต้องผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ปี 2555 เลยต้องอยู่รพ.เป็นเวลาหลายเดือน พอออกจากรพ.ต้องไปฝากสถานพักฟื้นดูแล เพื่อทำกายภาพบำบัดต่ออีก 3 เดือน แล้วก็กลับมาอยู่บ้านของดิฉัน (สวนผัก) พอมาช่วงปลายปี 2555 จะฝากน้องชายดูแลย่า ก็มีกรณีพิพาทเรื่องบ้าน เนื่องจากแม่แจ้งว่าบ้านหลังนี้เค้าเป็นคนก่อสร้างมันต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของเค้า แต่ย่าก็เข้าใจว่าอนุญาตให้ปลูกบ้านบนที่ดินของย่าเอง แต่แม่ก็อ้างโน้น อ้างนี่ มาตลอด ก็คอยหาเรื่องต้องให้ร้อนใจอยู่บ้านไม่ได้ จึงต้องไปรับย่ากลับมาอยู่บ้านของดิฉัน

คำถาม

1. ย่าสามารถฟ้องขับไล่แม่ ได้หรือไม่

2. พินัยกรรมที่ทำ ถ้าย่าอยากจะเปลี่ยนเป็นโอนให้ดิฉันเลย ทำเป็นซื้อขาย ต้องทำก่อนฟ้องขับไล่ หรือไม่ คุณย่าปัจจุบันอายุ 91 ปี ยังพูดรู้เรื่อง โดยท่านเกรงว่าจะเสียชีวิตก่อน กลัวมีปัญหาภายหลัง เลยจะโอนบ้านก่อนคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ เอ :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-09 13:18:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2395528)

1. ย่าสามารถฟ้องขับไล่แม่ ได้หรือไม่

ตอบ- กรณีที่คุณแม่เข้าไปปลูกสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของย่าในลักษณะดังกล่าวเป็นกรณีที่แม่ได้รับอนุญาตจากย่าให้ปลูกสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของย่าจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่น(ย่า)และใช้สิทธินั้นปลูกสร้างบ้านดังกล่าวจึงเข้าข้อยกเว้นที่สิ่งปลูกสร้างนั้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินของย่า เมื่อย่าในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่มีความประสงค์จะอนุญาตให้อยู่ในที่ดินของย่าแล้วจึงมีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้คุณแม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของย่าได้ สรุปย่าฟ้องขับไล่าคุณแม่ได้แต่แม่ก็สามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนออกไปได้เช่นกัน

มาตรา 146 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

2. พินัยกรรมที่ทำ ถ้าย่าอยากจะเปลี่ยนเป็นโอนให้ดิฉันเลย ทำเป็นซื้อขาย ต้องทำก่อนฟ้องขับไล่ หรือไม่ คุณย่าปัจจุบันอายุ 91 ปี ยังพูดรู้เรื่อง โดยท่านเกรงว่าจะเสียชีวิตก่อน กลัวมีปัญหาภายหลัง เลยจะโอนบ้านก่อนคะ

ตอบ -  การทำพินัยกรรมเป็นการกำหนดคำสั่งครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเจตนาอย่างอื่นของตน เมื่อย่าได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับผู้ใดย่อมมีสิทธิยกเลิกเพิกถอนพินัยกรรมนั้นได้ หรือเมื่อทรัพย์สินซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้รับพินัยกรรมไปแล้วได้โอนไปให้ผู้อื่นแล้วย่อมทำให้พินัยกรรมดังกล่าว มีผลเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 1696 ดังนั้นตามคำถาม หากย่ามีความประสงค์ที่จะโอนทรัพย์สินตามพินัยกรรมให้กับคุณ(ผู้ถาม) ระหว่างมีชีวิตไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ และในเวลากใด ๆ ก็ได้ ย่อมเป็นผลให้กรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้นตกเป็นของคุณ เมื่อกรรมสิทธิ์ตกเป็นของคุณ ๆ จึงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะฟ้องขับไล่ได้ภายในบังคับแห่งกฎหมาย มาตรา 1562 ด้วย จะโอนก่อนหรือหลังฟ้องขับไล่ย่อมทำได้เสมอ แต่โดยคำนึงว่าขณะฟ้องขับไล่กรรมสิทธิ์เป็นของผู้ใด อำนาจฟ้องย่อมตกอยู่กับผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครับ

มาตรา 1647  การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม

มาตรา 1693  ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้

มาตรา 1696  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป
วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ

มาตรา 1562  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-03 08:37:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล