ReadyPlanet.com


นายจ้างขอปรับลดตำแหน่ง


นายจ้างจะรับคนใหม่เข้ามาทำงานในตำแหน่งผม และขอให้ผมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่า (จาก senior เป็น junior) โดยอ้างว่าผมไม่มีความสามารถพอที่จะทำงานในตำแหน่งเดิม ซึ่งผมทำงานในตำแหน่งนี้มาประมาณปีครึ่งแล้ว ถ้าผมไม่ยินยอมรับตำแหน่งใหม่ เราสามารถเรียกร้องค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และ ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ครับ และเราต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง นายจ้างเรียกไปแจ้งด้วยวาจา คนใหม่จะมาในอีกประมาณเดือนครึ่ง ถ้าวันนี้ผมไม่ไปทำงานแล้วจะเรียกว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้หรือไม่(เกรงว่านายจ้างจะถือเป็นการขาดงานติดกันเกินสามวันแล้วเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย) หรืออาจปฏิเสธว่าไม่เคยแจ้งลดตำแหน่งผม แต่ถ้ายังไปอยู่จะเป็นการรับสภาพการจ้างใหม่ไปโดยปริยายหรือไม่ รบกวนขอคำปรึกษาด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ


ผู้ตั้งกระทู้ Phone :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-31 13:13:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1895618)

การที่นายจ้างให้ไปทำในตำแหน่งใหม่แต่ในอัตราค่าจ้างเท่าเดิม สวัสดิการเท่าเดิม คงไม่อาจอ้างได้ว่านายจ้างย้ายให้ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่า นายจ้างอาจอ้างว่าเพื่อความเหมาะสมและเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าขององค์กรก็ได้

การที่ลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยอ้างว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคงไม่ได้เพราะ นายจ้างยังไม่ได้เลิกจ้างครับ

เมื่อลูกจ้างขาดงานติดต่อกันเกินสามวัน นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ครับ

ส่วนลูกจ้างจะมองว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก็สามารถร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานโดยยังคงไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ได้ครับ (ความเห็น)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-01 06:42:56


ความคิดเห็นที่ 2 (1895619)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2549

บริษัทจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ มีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มี 26 สาขา และต้องการเพิ่มอีก 5 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงาน โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์อาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 54,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2547 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างเดือนสุดท้าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวม 13,617,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขัดต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารการปฏิบัติการบริการโดยได้แจ้งโจทก์ว่าหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงและกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย 416,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ มิถุนายน 2547 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดในประเทศไทย จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม เอ แอน ดับบลิว โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือนเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการตามเอกสารหมาย ล.2 พร้อมคำแปล ซึ่งงานในตำแหน่งใหม่ดังกล่าวมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนรวบรวมข้อมูลและเอกสารซึ่งเป็นงานเดิมที่โจทก์ทำอยู่แล้ว แต่แบ่งงานออกมาเป็นอีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น ปริมาณงานจึงลดลงตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพงานคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ สภาพการจ้างเหมือนเดิมแต่ปริมาณงานลดลงซึ่งโจทก์ว่าขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์คิดทบทวนเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวก่อน และจะมาให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้งถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ โดยจะทำงานในตำแหน่งเดิม จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามเอกสารหมาย ล.3 พร้อมคำแปล แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจาว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งและไม่ยอมสละตำแหน่งเดิม ในวันเดียวกันในตอนบ่าย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.5 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า มีสิทธิได้รับจำนวน 416,000 บาท และ 52,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งงานในตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าวิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 2 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงานตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.1 การที่จำเลยที่ 1 จัดองค์กรและโยกย้ายพนักงานในองค์กรให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ จำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารงานองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันเพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จำเลยทั้งสองจึงได้ปรับปรุงหน่วยงานและจัดบุคคลากรให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามหน่วยงานที่ปรับปรุงใหม่นั้น หากบุคลากรไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว การดำเนินงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและบุคลากรทั้งหมดในองค์กรนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.3 แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว กรณีดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดจ่ายค่าชดเชยเพียงใดอีกต่อไป"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด.

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/searchlist.jsp

 

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538633401&Ntype=13

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-01 06:49:40


ความคิดเห็นที่ 3 (1895710)
สอบถามเพิ่มเติมนะคับ จากที่อ่านคำตอบและคำพิพากษาที่คุณลีนนท์ ให้ความกรุณาตอบคำถามให้ งานในตำแหน่งใหม่ที่โจทก์ต้องไปทำตามคำพิพากษาด้านบน เป็นตำแหน่งที่เกิดจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่และงานที่ต้องทำก็ยังคงเหมือนเดิมเพียงแต่ลดปริมาณงานลง แต่งานในตำแหน่งใหม่ที่ผมต้องไปทำไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างฯ ครับ คือ ปัจจุบันผมอยู่ในตำแหน่ง senior financial officer นายจ้างปรับให้เป็น junior financial officer และรับ senior ใหม่เข้ามา งานผมเปลี่ยนไป อำนาจหน้าที่รับผิดชอบน้อยลง (ปฏิบัติงานตาม Job Description ของ Junior) แต่งานเดิมในตำแหน่งเดิมมันก็ยังคงมีอยู่เพียงแต่ให้คนใหม่มาทำแทน ลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นการบริหารเพื่อการเหมาะสมด้วยหรือเปล่าครับ เคยลองค้นหาข้อมูลเห็นมีบอกว่านายจ้างไม่มีสิทธิ์ปรับลดเงินเดือนหรือสภาพการจ้างหากลูกจ้างไม่ยินยอม รบกวนอีกครั้งนะครับ...ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น Phone วันที่ตอบ 2009-02-01 12:49:17


ความคิดเห็นที่ 4 (1897385)

คุณเข้าใจถูกต้องครับคือ นายจ้างไม่มีสิทธิ์ปรับลดเงินเดือนหรือสภาพการจ้างหากลูกจ้างไม่ยินยอม ในกรณีของคุณมีการปรับลดเงินเดือนด้วยหรือครับ

ส่วนการปรับตำแหน่ง เห็นว่าไม่น่าจะเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างนะครับ สภาพการจ้างน่าจะเป็นข้อบังคับในการทำงานที่มีผลบังคับกับพนักงานทุกคน แต่การปรับตำแหน่งมีผลต่อปัจเจกบุคคล ดังนั้นไม่น่าจะเป็นการปรับสภาพการจ้าง (ความเห็น)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-04 20:00:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล