ReadyPlanet.com


การเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า


ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้าง กับลูกจ้างโดยไม่มีการเเจ้งล่วงหน้า ซึ่งในสัญญาจ้างไม่ได้บอกระยัเวลาเลิกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องค่าทดเเทนอื่นๆ(ค่าตกใจ)ได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ PM :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-30 20:34:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1895401)

สามารถฟ้องนายจ้างได้ถ้าในกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น

-ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

-ค่าชดเชย ตามที่กฎหมายกำหนด

-ค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

-อื่น ๆ ถ้าหากมี เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย, ค่าล่วงเวลา, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด, เงินผลประโยชน์เนื่องในการจ้าง, วันหยุดพักผ่อนประจำปี

 

สำหรับค่าชดเชย

มาตรา ๑๑๘ ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(๑) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๒) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๓) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๔) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๕) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

 

แต่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง

มาตรา ๑๑๙ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (๖) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-31 10:51:20


ความคิดเห็นที่ 2 (1895403)

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคืออะไร?

 

อยากทราบคำตอบติดตามอ่านที่นี่

 

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538635076&Ntype=13

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-31 10:54:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1895407)

สำหรับค่าตกใจ ไม่ใช่นิยามในภาษากฎหมาย แต่เป็นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

การเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538633549&Ntype=13

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-31 10:57:42


ความคิดเห็นที่ 4 (1895678)

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2545

 

สัญญาจ้างระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส. ที่ระบุว่า ในระยะเวลา 120 วันนับจากวันเริ่มปฏิบัติงานให้ถือว่าเป็นระยะเวลาทดลองงาน บริษัทชอบที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหลังจาก 120 วันหากผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจก็จะบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานประจำนั้น หมายความว่า นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่ข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์เลิกจ้าง ส. เมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ ส. ทราบล่วงหน้านั้น ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 เมื่อโจทก์เลิกจ้าง ส. โดยไม่เข้าเหตุตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้ายโจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้ ส. ทราบเมื่อถึงหรือจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์บอกเลิกจ้าง ส. โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง การบอกเลิกจ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าโจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ส. เป็นเวลา 35 วัน

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่บึงกุ่ม เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 โจทก์ทำสัญญาจ้างนางสาวสมใจ พรเลิศนภาลัย เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโดยตกลงให้มีกำหนดเวลาทดลองงาน120 วัน ในระหว่างทดลองงานโจทก์มีสิทธิที่จะเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องแจ้งเหตุให้ทราบล่วงหน้า ต่อมานางสาวสมใจไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีคำสั่งเลิกจ้างเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 รวมเวลาทำงานทั้งสิ้น 10 วัน และจ่ายค่าจ้างให้แก่นางสาวสมใจเป็นเงิน 7,670 บาท แล้ว นางสาวสมใจได้ร้องทุกข์ต่อจำเลยว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 โจทก์เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยทำการสอบสวนและมีคำสั่งที่ 17/2544 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 26,833.33 บาทแก่นางสาวสมใจ พรเลิศนภาลัย ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 17/2544 ดังกล่าว

จำเลยให้การว่า หนังสือจ้างงานมีข้อตกลงระบุว่า ในระยะเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงานให้ถือว่าเป็นระยะเวลาทดลองงาน โจทก์ในฐานะนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสองเมื่อโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาในวันที่ 26 เมษายน 2544 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างระหว่างวันที่ 27เมษายนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 เป็นเงิน 26,833.33 บาท ให้แก่ลูกจ้าง และเหตุผลแห่งการเลิกจ้างที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างทำความเสียหายใช้คำพูดและปฎิบัติตัวไม่เหมาะสมสร้างความไม่พึงพอใจแก่ลูกค้าไม่ใช่เหตุร้ายแรงหรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ลุล่วงหรือกระทำการทุจริต ขัดคำสั่งหรือละเลยไม่นำพาปฏิบัติต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ หรือละทิ้งการงานไปเสียไม่เข้าลักษณะการกระทำผิดของลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 นางสาวสมใจพรเลิศนภาลัย เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลสินค้าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 23,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนมีกำหนดทดลองงาน 120 วัน ตามหนังสือจ้างงานเอกสารหมาย จล.6 แผ่นที่ 15 โดยระบุว่าในระยะเวลา120 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงานให้ถือว่าเป็นระยะทดลองงานบริษัทโจทก์สงวนสิทธิที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ต่อมาบริษัทโจทก์เลิกจ้างนางสาวสมใจเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544โดยจ่ายค่าจ้างให้จำนวน 10 วัน เป็นเงิน 7,670 บาท ภายหลังนางสาวสมใจไปร้องต่อจำเลย จำเลยทำการสอบสวนตามเอกสารการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับข้อวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่บึงกุ่ม และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่บึงกุ่มที่ 17/2544 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 และจำเลยได้มีคำสั่งที่ 17/2544 ตามเอกสารหมาย จล.3 บริษัทโจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จล.4 ในการเข้าทำงานมีบันทึกการปฐมนิเทศไว้ตามเอกสารหมาย จล.5 แล้ววินิจฉัยว่าตามหนังสือจ้างงานเอกสารหมาย จล.6 แผ่นที่ 15 ที่นางสาวสมใจทำกับโจทก์มีข้อความระบุว่าให้มีระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน และกำหนดให้สิทธิโจทก์ที่จะเลิกจ้างลูกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาทดลองงานได้กรณีการจ้างงานระหว่างโจทก์กับนางสาวสมใจ จึงเป็นการจ้างลูกจ้างที่มีเงื่อนไขการทดลองงาน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน" และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในกรณีสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา หากนายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างจะต้องบอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ต้องเกินกว่าสามเดือน แต่การจ้างลูกจ้างทดลองงานมีกำหนดเวลาทดลองงาน 120 วัน นายจ้างและลูกจ้างย่อมทราบดีว่าหากลูกจ้างทำงานไม่มีผลงานเป็นที่น่าพอใจอาจถูกเลิกจ้างภายในเวลาที่ทดลองงานเมื่อใดก็ได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน ดังนั้น การเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงานเนื่องจากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจนายจ้างจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 26,833.33 บาท แก่นางสาวสมใจ พรเลิศนภาลัย ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีเหตุให้เพิกถอนได้ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 17/2544ของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สัญญาจ้างที่กำหนดให้มีการทดลองงานระหว่างโจทก์กับนางสาวสมใจพรเลิศนภาลัย เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ และเมื่อโจทก์เลิกจ้างนางสาวสมใจจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสมใจหรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาวสมใจตามเอกสารหมาย จล.6 แผ่นที่ 15 ระบุว่าในระยะเวลา 120 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงานให้ถือว่าเป็นระยะเวลาทดลองงาน บริษัทสงวนสิทธิที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า หลังจาก 120 วันหากผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเป็นที่น่าพอใจบริษัทจะทำการบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานประจำ นั้น หมายความว่า นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อโจทก์เลิกจ้างนางสาวสมใจจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสมใจหรือไม่เพียงใด เห็นว่าแต่เดิมการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างนั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 แต่ปัจจุบันได้นำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มาตรา 17 วรรคสอง ด้วย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนคู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเลิกสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่นได้การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 ดังนั้น แม้โจทก์จะมีข้อตกลงกับนางสาวสมใจว่าให้โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างนางสาวสมใจเมื่อใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้นางสาวสมใจทราบล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวก็ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 17 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงไม่มีผลใช้บังคับและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ได้บัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ 3 กรณี คือ กรณีแรกสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีที่สองและกรณีที่สามเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 17วรรคท้าย คือนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 119 และนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ดังกล่าวมิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าการเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างนางสาวสมใจลูกจ้างโดยไม่เข้าเหตุกรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้นางสาวสมใจซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า โจทก์กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์บอกเลิกจ้างนางสาวสมใจโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30 เมษายน 2544 อันเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง การบอกเลิกจ้างของโจทก์ดังกล่าวจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า โจทก์จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาวสมใจจำนวน 35 วัน เป็นเงิน 26,833.33 บาท คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - วีรพจน์ เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-01 11:38:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล