ReadyPlanet.com


สิทธิในมรดก


สามีเอาเงินสินสมรสไปซื้อบ้าน และทำพินัยกรรมให้ลูกภรรยาน้อย เมื่อสามีตาย ถามว่า ลูกภรรยาน้อยมีสิทธิรับมรดกที่สามีทำไว้หรือไม่ และภรรยาหลวงที่จดทะเบียนจะเรียกร้องส่วนใดบ้างจากบ้านหลังนี้ อย่างไร


ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-06 20:07:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1910850)

ลูกเมียน้องก็เป็นลูกที่มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ครับ

เมียหลวงจะเรียกทรัพย์ในฐานะเป็นสินสมรสก็มีหน้าที่สืบว่าสามีเอาเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อจริงหรือไม่ เพราะเมียน้อยอาจต่อสู้ว่าสามีไม่เกี่ยวเขาเป็นคนส่งเองและบางส่วนได้รับการให้โดยเสน่หาครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-06 21:31:43


ความคิดเห็นที่ 2 (1910908)

คุณแม่เสียมากว่า 10 ปี คุณพ่อเสียประมาณ 3 ปีที่แล้ว และพี่คนโตเป็นคนร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก บอกว่าจะแบ่งให้ทุกคน มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน แต่ผู้จัดการมรดกจะขายโดยไม่ยอมแบ่ง บอกว่าเป็นสิทธิโดยชอบทำ เพราะขอเป็นผู้จัดการมรดกมาเกิน 3ปี ไม่มีใครคัดค้าน จะทำอย่างไรดีคะ พี่เขามีสิทธิขายโดยไม่แบ่งก่อนจริงหรือคะ หนูอยู่อเมริกา ไม่ลำบาก แต่พี่คนอื่นๆอยู่เมืองไทยลำบากน่าสงสาร หนูจะทำอย่างไรดีคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Emily (emily_ratree-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-03-07 06:42:56


ความคิดเห็นที่ 3 (1910983)

ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์มรดกก็ตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย ผู้จัดการมรดกนำทรัพย์สินออกขายแล้วเบียดบังเอาทรัพย์มรดก อาจมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกของทายาทอื่นมีโทษจำคุกด้วยครับ

การฟ้องร้องผู้จัดการมรดกให้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกมีอายุความ 5 ปี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1733  วรรคสอง  "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง"

 

ลองอ่านคำพิพากษาฎีกานี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2541

 

คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองส่วนคดีมรดกมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้กองมรดกจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิ เรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการ จัดการมรดกไปได้ คดีที่ผู้จัดการมรดกถูกฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัด การมรดกอายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง คดีนี้จำเลยมิใช่ผู้จัดการมรดกหากเป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาท เมื่อถูกฟ้องขอให้แบ่งมรดกย่อมเป็นคดีมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1754 เมื่อคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดก ขอให้กำจัดมิให้รับมรดกด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกจริง จำเลยก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก และถือว่าจำเลยมิใช่ทายาท อันจะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก คดีของโจทก์สำหรับจำเลย ก็ขาดอายุความไปแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัย ว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่เสียก่อน แต่กลับ ไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยไม่ขาดอายุความจึงเป็นการข้ามขั้นตอน ศาลฎีกาชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็น เรื่องอายุความเสียใหม่

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางประยงค์ มลุลี กับนายฮาเรนหรือฮาโรน มัสอิ๊ดนางประยงค์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางเมาะกับนายซันหรือรังสรรค์ มลุลี นางเมาะได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 นางเมาะมีทรัพย์มรดกที่ดิน 2 แปลงโฉนดเลขที่ 616 โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่น และโฉนดเลขที่ 2550นางเมาะไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดทรัพย์มรดกจึงตกแก่บุตรทุกคนของนางเมาะโดยเฉพาะมรดกส่วนที่จะตกแก่นางประยงค์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนนางเมาะย่อมตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งศาลจังหวัดมีนบุรีตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางเมาะ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2536 โจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 616 ให้แก่ผู้อื่นโจทก์ทั้งสองตรวจสอบโฉนดที่ดินพบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงไว้ในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2527 และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2532จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านางเมาะมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียง 6 คน โดยไม่มีโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางประยงค์จำนวน 1 ใน 7 ส่วนของทรัพย์มรดกเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก โดยจำเลยที่ 1และที่ 3 ปิดบังทรัพย์มรดกเกินส่วนที่ควรจะได้รับจึงต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเลย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าที่ควรจะได้รับจึงต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ปิดบัง ที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดถูกกำจัดจึงตกแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษากำจัดจำเลยทั้งเจ็ดไม่ให้รับมรดกของนางเมาะ และบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดก กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 616, 11334, 11336, 11337,11338, 11339, 15535 ถึง 15540 และ 2550 ให้แก่โจทก์ทั้งสองหากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองและนางชูจิตรไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดก เมื่อปี 2527 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งที่ดินมรดกมอบแก่จำเลยทั้งเจ็ดเข้าครอบครองตามส่วนสัดเป็นต้นมา จึงถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 2 จัดการมรดกด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเปิดเผย ไม่เคยปิดบังอำพรางซ่อนเร้นหรือยักยอกทรัพย์มรดกฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกและการเรียกเอาทรัพย์มรดกเพราะมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดตั้งแต่ปี 2527 การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงและนางเมาะได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2519โจทก์ทั้งสองไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี และ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์ทั้งสองขายสิทธิที่จะได้รับมรดกของนางเมาะทั้งหมดแล้วโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางเมาะและทรัพย์มรดกได้แบ่งปันแก่ทายาทแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะหลังจากนางเมาะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 และนายรังษีสามีของจำเลยที่ 7 ได้ครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนที่ได้แบ่งกันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี และนับตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 จำเลยที่ 7และนายรังษีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกจำเลยที่ 7 รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 7 ไม่ได้ปิดบังหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ปิดบังทรัพย์มรดกจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านางเมาะ ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 616 และ 2550โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเมาะแทนที่นางประยงค์บุตรของนางเมาะ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเมาะที่ดินโฉนดเลขที่ 616 จำเลยที่ 2 ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกโฉนดที่ดินใหม่ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 จำเลยที่ 2ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 และจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกโฉนดที่ดินใหม่ โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2536

จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการแบ่งปันมรดกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 โดยถือเอาวันที่จำเลยที่ 2 โอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 แล้วนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาปรับแก่คดีว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสองฟ้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมรดกในคดีนี้ไม่มีการแบ่งปันให้ทายาทเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วตั้งแต่ปี 2527จึงถือได้ว่าการจัดการมรดกในคดีนี้ได้แล้วเสร็จตั้งแต่ได้มีการแบ่งมรดกและจำเลยทั้งเจ็ดได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่งมิใช่นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นว่า ตามคำขอโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ของจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกที่ได้ยื่นคำขอโอนมรดกข้อ 1. ระบุไว้ว่า"ผู้จัดการมรดกมีความประสงค์ที่จะโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเจ้ามรดกและรับมรดกไม่มีพินัยกรรมไม่มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เสร็จสิ้นหน้าที่จากการเป็นผู้จัดการมรดก" แสดงว่าการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2527 ตามที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การแบ่งปันมรดกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 โดยถือเอาวันที่ผู้จัดการมรดกโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 จึงชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเฉพาะผู้จัดการมรดกให้รับผิดเพียงผู้เดียว แต่ได้ฟ้องทายาทอื่นให้โอนคืนมรดกที่รับไปแล้วให้แก่โจทก์เท่ากับเป็นการฟ้องเอาทรัพย์มรดกที่ได้แบ่งปันกันแล้ว อายุความจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มิใช่มาตรา 1733 วรรคสอง กรณีต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือภายใน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย เห็นว่า คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกจะมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้กองมรดกนั้นจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิเรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถูกฟ้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5มิใช่ผู้จัดการมรดกหากเป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทเมื่อถูกโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นคดีมรดก อายุความจึงอยู่ในบังคับมาตรา 1754 ดังนั้นเมื่อคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7ร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดกขอให้กำจัดมิให้รับมรดกด้วย ซึ่งหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ปิดบังทรัพย์มรดกจริงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเมื่อถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมถือว่ามิใช่ทายาทอันจะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ แต่ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกคดีของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 7 ก็ขาดอายุความ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่เสียก่อน แต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่ขาดอายุความจึงเป็นการข้ามขั้นตอน อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วนในผล

พิพากษายืน แต่ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 เสียใหม่

( สมคิด ไตรโสรัส - เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - อัธยา ดิษยบุตร )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-07 13:09:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล