ReadyPlanet.com


รับมรดกตามพินัยกรรม


พินัยกรรม เขียนด้วยลายมือของตน มีวันเดือนปีที่เขียน ไม่มีรอยขีด ลบ ลงชื่อของตนระบุว่าถ้าเสียชีวิตจะยกที่สวนเงาะ สวนมัง  คุด  บ้าน     สวนยางเนื่อที่ดิน 13 ไร่เขียนเมื่อปี 2543  (ไม่ระบุเลขโฉนดที่..)ต่อมาเสียชีวิต ปี2552 มีบ้านมีสวนยางและที่ดินไม่ถึง 13 ไร่ คือมีเหลือน้อยกว่า  อย่างนี้จะขอรับมรดกตามพินัยกรรมได้หรือไม่ และทำอย่างไรได้บ้าง

หากรับได้จะดำเนินการอย่างไร กรุณาช่วยแนะนำด้วย ขอขอบคุณ



ผู้ตั้งกระทู้ จารึก :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-25 12:39:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1919123)

พินัยกรรม (อ่านต่อคลิ๊ก)

อ่านจากกระทู้ก่อนหน้าครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-25 21:43:13


ความคิดเห็นที่ 2 (1920201)

ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมขาดหายไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5358/2533

ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำแม้คู่ความไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์และโจทก์ไม่ได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกให้แก่จำเลยคดีนี้จำนวน 2 ไร่ 2 งาน คดีถึงที่สุด ปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่เท่าใดจึงเป็นประเด็นแห่งคดีในคดีก่อน ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายบังคับคดีและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเฉลี่ยลดเนื้อที่ลงตามส่วนเพราะเนื้อที่ดินมรดกขาดไป 239 ตารางวาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นบังคับคดีในคดีก่อนแล้ว กลับนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยมีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ จำนวน 2 ไร่ 2 งานเต็มตามคำพิพากษาในคดีก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อนของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกที่ดิน โฉนดที่ 76 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา ตามพินัยกรรมของนางสุดใจ นาคถาวร โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับที่ดินตอนกลางเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน โจทก์ที่ 2 ได้รับที่ดินทางทิศตะวันออกเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา จำเลยได้รับที่ดินด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน หลังจากนางสุดใจถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยขอให้แบ่งแยกที่ดินให้ตามพินัยกรรม ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยตามส่วนเฉลี่ยในพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมขอแบ่งแยกที่ดิน โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันว่าการแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมหากเนื้อที่มีมากหรือน้อยให้เฉลี่ยไปตามส่วน เมื่อมีการรังวัดที่ดินรอบแปลงแล้วปรากฏว่าที่ดินตามพินัยกรรมขาดหายไป 9 ตารางวา นอกจากนี้ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาว่า ที่ดินตามพินัยกรรมเนื้อที่ 230 ตารางวา เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตโฉนดของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อหักที่ดินตามพินัยกรรมส่วนที่ขาดหายไป 9ตารางวากับที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 230 ตารางวาแล้วจะเหลือที่ดินตามพินัยกรรม 6 ไร่ 73 ตารางวา เมื่อเฉลี่ยตามส่วนในพินัยกรรมแล้ว ที่ดินส่วนที่ขาดหายไปจะตกเป็นส่วนของจำเลย89 ตารางวา ราคาประมาณ 100,000 บาท จำเลยได้ขอหมายบังคับคดีแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมแล้วรังวัดเอาที่ดินด้านทิศตะวันตกเป็นของตน เนื้อที่ 2 ไร่2 งาน โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคัดค้านในคดีนั้นและได้ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิที่จะบังคับแบ่งที่ดินตามพินัยกรรมให้ได้เต็ม 2 ไร่ 2 งาน และจะต้องเฉลี่ยส่วนที่ขาดไปกับบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงใหม่ ขอให้ศาลสั่งกันที่ดิน 89 ตารางวาไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด วินิจฉัยว่าที่พิพาท 230ตารางวาอยู่ในโฉนดตามพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วจึงจะคืนให้จำเลยไปทั้งหมดหรือเฉลี่ยคืนให้จำเลยไปแล้วแต่กรณีถ้าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษานี้แสดงเจตนาแทนจำเลย

จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2525 ของศาลจังหวัดนครปฐม ศาลจังหวัดนครปฐมได้มีคำบังคับให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามคำบังคับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2525 โจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านและยินยอมให้จำเลยทำการรังวัดได้เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน การที่ที่ดินขาดหายไปเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 จะต้องรับผิดแต่ผู้เดียว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2525 ของศาลจังหวัดนครปฐม โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้แถลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 553/2526 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2527 ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา เอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.1 โดยโจทก์ทั้งสองมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับที่ดินตามโฉนดที่ 76 เนื้อที่ 2 ไร่2 งาน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะขอเฉลี่ยที่ดินในส่วนที่ขาดจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดที่ 76 ตำบลสระน้ำจัน อำเภอพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตามพินัยกรรมของนางสุดใจ นาคถาวรต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2525 จำเลยได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐม ศาลจังหวัดนครปฐมได้มีคำพิพากษาในคดีนั้นให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ร่วมที่ดินโฉนดที่ 76 แก่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นเป็นเนื้อที่ 2 ไร่2 งาน ให้ส่วนของจำเลยอยู่ทางทิศตะวันตกติดถนนราชวิถี ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 196/2525 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์2525 โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ทำบันทึกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมกันว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินคนละ 2 ไร่ 2 งาน โจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งที่ดิน 1 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา หากเนื้อที่มากหรือน้อยให้เฉลี่ยไปตามส่วน ต่อมาพนักงานรังวัดได้ไปรังวัดที่ดินและพบว่า ที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดจำนวน 9ตารางวา นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คัดค้านว่าการรังวัดได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 230 ตารางวา ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ยื่นฟ้องจำเลยและโจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดนครปฐมได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมขาดหายไปรวมจำนวน 239 ตารางวา ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้แถลงรับว่า ที่ดินมรดกตามพินัยกรรม จำเลยและโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ได้เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานส่วนที่เหลือเป็นของโจทก์ที่ 2 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้ถอนฟ้องจำเลยและศาลอนุญาตหลังจากนั้น จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 196/2525 ได้บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีและพนักงานรังวัดไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานมีเนื้อที่ด้านทิศตะวันตกติดถนนกว้าง32 เมตร โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่196/2525 ขอให้ศาลแก้ไขหมายบังคับคดีและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเฉลี่ยลดเนื้อที่ลงตามส่วนที่ขาดไป 239 ตารางวา เมื่อลดแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 2 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยคดีนั้นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ต่อมาข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่196/2525 ของศาลจังหวัดนครปฐมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1901/2525 แล้วมีปัญหาว่า คดีนี้ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2525 ของศาลจังหวัดนครปฐมหรือไม่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำคู่ความไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์และโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ฎีกาปัญหานี้ขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 196/2525 ของศาลจังหวัดนครปฐมคือจำเลยคดีนี้และจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวคือโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ จึงเป็นคู่ความเดียวกันทั้งสองคดี ประเด็นแห่งคดีนั่นก็เป็นเรื่องที่จำเลยคดีนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยในคดีนี้เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานศาลจังหวัดนครปฐมก็ได้พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกตามโฉนดที่ 76 ให้แก่จำเลยคดีนี้จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน คดีถึงที่สุดตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.3 ปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่เท่าใดจึงเป็นประเด็นแห่งคดีในคดีหมายเลขแดงที่196/2525 ส่วนโจทก์ในคดีนั้นจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์จำนวน2 ไร่ 2 งาน เต็มตามคำพิพากษาหรือไม่เป็นรายละเอียดที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นคู่ความก็ชอบที่จะต้องดำเนินการในคดีหมายเลขแดงที่ 196/2525 หากศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีประการใดคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไป การที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่196/2525 ซึ่งถึงที่สุดแล้วกลับนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยมีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 2 ไร่ 2 งานเต็มตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 196/2530หรือไม่ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 196/2530ของศาลจังหวัดนครปฐมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องเสีย ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยคดีของโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและให้ยกฟ้องโดยไม่วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีตามฟ้อง

( ประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล - สวิน อักขรายุธ - เธียร ยูงทอง )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-28 12:52:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล