ReadyPlanet.com


เกี่ยวกับการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย


ขอสอบถามหน่อยครับ มีนาย ก และ ข ลอยคออยู่กลางทะเล มีห่วงยางอยู่ 1 อัน ซึ่งนาย ก เกาะอยู่ นาย ข เข้ามาแย่ง นาย ก ทำร้ายนาย ข จนตาย นาย ก มีความผิดหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ อยากรู้ครับ :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-16 15:39:48


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1914781)

มีความผิดเพราะเกินสมควรแก่เหตุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-16 21:18:29


ความคิดเห็นที่ 2 (1916350)

พอจะบอกฎีกาเทียบเคียงที่จะเข้าไปดูได้ไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนอยากรู้ วันที่ตอบ 2009-03-19 15:01:20


ความคิดเห็นที่ 3 (1916597)

นาย ข  เพียงแต่เข้ามาแย่งของ แต่นาย ก. กลับทำร้ายนาย ข.ถึงตาย  ก็เกินสมควรแก่เหตุอยู่แล้วครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2549

ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง 220 โวลท์ ที่สามารถดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา 69

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2545 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยมิได้มีเจตนาฆ่าได้ทำร้ายเด็กชายคณิตหรือบอม เพิ่มขึ้น ซึ่งเข้าไปลักแตงโมในไร่แตงโมของจำเลย โดยจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักของจำเลยตรงผ่านรั้วลวดหนาม ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าล้อมรอบไร่แตงโมของจำเลยให้เด็กชายคณิตหรือบอมไปสัมผัสรั้วลวดหนามและถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านลวดหนามดังกล่าว และเนื่องจากกระแสไฟฟ้าดังกล่าวมีแรงเคลื่อนสูง 220 โวลท์ จึงเป็นเหตุให้เด็กชายคณิตหรือบอมถึงแก่ความตายเนื่องจากกระแสไฟฟ้าดังกล่าวทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลย ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 12 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พงักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 42 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษให้จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นเห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่าเด็กชายคณิตหรือบอม เพิ่มขึ้น เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชายคณิตซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไไฟ้าดูดจนถึงแก่ความตายและจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ การที่ผู้ตายกระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง 220 โวลท์ ที่สามารทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมาก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ร้ายแรงทั้งที่จำเลยสามารถใช้วิธีการอื่นในการปกป้องพืชผลของตนได้โดยไม่จำต้องใช้วิธีรุนแรงเช่นนั้น แม้จำเลยจะได้พยายามเยียวยาความเสียหายให้แก่บิดาของผู้ตายโดยชดใช้เงินบางส่วนก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

( ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ - บุญส่ง น้อยโสภณ )


ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-19 23:05:59


ความคิดเห็นที่ 4 (1916598)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2548

แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดดังกล่าวดูดถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ป.อ. มาตรา 69

โจทก์ฟ้องว่า เวลากลางวันจำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ไปตามสายไฟฟ้าที่ต่อกับเส้นลวดสื่อไฟฟ้า โดยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่น เป็นเหตุให้เด็กชายนรินทร์ถูกเส้นลวดดังกล่าวกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 290

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การในชั้นจับกุมชั้นสอบสวนและเบิกความรับข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัดซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากเท่าใดนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ติดป้ายเตือนว่าได้เดินกระแสไฟฟ้าโดยติดไว้ที่ปากทางเข้าบ้านตามภาพถ่ายนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของเด็กชายโพยมผู้พบศพผู้ตายเป็นคนแรก สิบตำรวจโทเปี่ยมศักดิ์ผู้จับกุมจำเลยและพันตำรวจตรีสัญญาพนักงานสอบสวนซึ่งได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุว่าในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีป้ายเตือนแต่อย่างไร ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การว่า ญาติของจำเลยเพิ่งจะนำป้ายมาติดภายหลังเกิดเหตุแล้วตามคำให้การของผู้ต้องหา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ติดป้ายเตือนไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 69 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( พลรัตน์ ประทุมทาน - ทวีวัฒน์ แดงทองดี - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )

ศาลจังหวัดชุมพร - นางสาวอุษณีย์ วิลาศชัยยันต์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายสิทธิชัย พรหมศร

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-19 23:10:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล