ReadyPlanet.com


งงในการฟ้องร้องคดีพิพาทศาลปกครองค่ะ


คือหนูไม่เข้าใจขั้นตอนของการที่จะฟ้องร้องในเรื่องคำสั่งทางปกครองน่ะค่ะไม่ทราบว่าเราจะต้องร้องเรียนคำสั่งดังกล่าวก่อนหรือว่าจะฟ้องต่อศาลปกครองได้เลยรึเปล่าค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ Vcut :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-12 14:02:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1925748)

การดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายขั้นต้นหรือตามกฎหมายกำหนด

 

ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว ในกรณีดังต่อไปนี้ ถ้าผู้มีสิทธิฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับการกระทำในเรื่องใดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องดำเนินการโต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำในเรื่องนั้น ต่อเจ้าหน้าที่หรือ คณะกรรมการผู้พิจารณาอุทธรณ์ของฝ่ายบริหารให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้

(1) ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการโต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำของหน่วยงาน ทางปกครองหรือเจ้าที่ของรัฐไว้โดยเฉพาะ เช่น

- พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 กำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ออก ใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ผู้ขอใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออก ใบอนุญาตหรือไม่ต่อใบอนุญาตนั้น
- พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กำหนดว่า ข้าราชการพลเรือน ที่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือนภายในเวลาที่กำหนดเสียก่อน - พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดว่า เมื่อบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารของ ราชการจากหน่วยงานใดแล้วหน่วยงานนั้นปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ บุคคลนั้นจะต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ข้อมูลข่าวสารของราชการเสียก่อน จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้

(2) ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะมิได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการโต้แย้งคัดค้านการกระทำของหน่วยงาน ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้โดยเฉพาะ ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งไม่อนุญาต คำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเป็นคำสั่งที่มิได้ออกโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรี ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งดังกล่าวจะต้องยื่น อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งนั้นเสียก่อน แต่ถ้าเป็นการฟ้องคดีดังต่อไปนี้ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง

(2.1) เป็นกรณีที่กฎหมายเฉพาะมิได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการโต้แย้งหรือคัดค้านไว้โดยเฉพาะ และการกระทำที่จะนำมาฟ้องคดีต่อศาลเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรี ไม่ต้องอุทธรณ์ ไปยังองค์กรอื่นใดอีกแล้ว สามารถนำมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง

(2.2) เป็นการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนกฎ ซึ่งหมายถึงพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ สามารถนำมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง

(2.3) เป็นการฟ้องคดีว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร สามารถนำมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง

(2.4) เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง สามารถนำมาฟ้องคดีต่อ ศาลปกครองได้โดยตรง

มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
(๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
(๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
(๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-14 18:20:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล