ReadyPlanet.com


เจ้าของอสังหาโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างที่มีคนครอบครองปรปักษ์อยู่


ถ้าเจ้าของอสังหาโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาดังกล่าว ในระหว่างที่มีคนมาครอบครองปรปักษ์อยู่ อายุความปรปักษ์นับยังไงคะ

1. เริ่มนับใหม่
2. นับต่อได้เลย

อยากได้ฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยอ่ะค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ =) :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-06 05:13:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1923370)

ขอฏีกาเยอะๆ หน่อยนะคะ

ขอบคุณค่า
: )

ผู้แสดงความคิดเห็น =) วันที่ตอบ 2009-04-06 05:15:48


ความคิดเห็นที่ 2 (1923487)

อ่านคำพิพากษาฎีกานี้อาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นครับ

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2535

 

ผู้ร้องทั้งสองได้กล่าวไว้ในคำร้องขอให้แสดงสิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จึงมีความหมายว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททั้งโฉนด โดยไม่จำต้องระบุถึงเนื้อที่ดิน ความกว้างยาวหรืออาณาเขต หรือแนบสำเนาโฉนดมาในท้ายคำร้องขอ และที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวว่าได้ครอบครองเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ก็มีความหมายว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเกินกว่าสิบปี เป็นการเริ่มครอบครองเมื่อก่อนสิบปีเป็นคำร้องขอที่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 แล้ว ไม่เคลือบคลุม ตามคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองได้กล่าวว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับรองกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองอันเป็นการจะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ร้องทั้งสองไม่ได้กล่าวว่ามีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสองอันจะต้องทำเป็นคำฟ้องบุคคลผู้โต้แย้งสิทธิการทำเป็นคำร้องขอจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 แล้ว ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของ ป. ต่อมามีการจดทะเบียนโอนขายกันหลายทอด จนเมื่อปี 2504 ด. ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงนี้แก่ ผ. ปี 2509 จึงได้ไถ่ถอนจำนอง แล้วจดทะเบียนขายฝากแก่ จ. ในปีเดียวกัน จนปี 2511 จึงจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากแล้วจดทะเบียนขายฝากให้แก่ ส. กับพวก อีกทีหนึ่งโดยมิได้ไถ่ถอนการขายฝาก ปี 2512 ส. กับพวกได้จดทะเบียนโอนขายคืนให้แก่ ด.ในปีเดียวกันด. ได้จดทะเบียนขายฝากแก่ ล.โดยไม่มีการไถ่ถอนการขายฝากปี 2514 ล. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ช.ปี2519ช. ได้จดทะเบียนแบ่งขายบางส่วนของที่ดินพิพาทให้แก่กรมทางหลวงเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะ ปี 2522 ช. ได้จดทะเบียนโอนขายส่วนที่เหลือให้แก่ ม. และปีเดียวกันนั้น ม. ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้คัดค้านอีกต่อหนึ่ง การที่มีการจดทะเบียนเกี่ยวสิทธิในที่ดินตลอดมาเกือบทุกปีนับแต่ที่ฝ่าย ผู้ร้องอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท การอ้างว่าได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงถูกกระทบสิทธิมาตลอด ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมาจนถึงวันยื่นคำร้องก็ยังไม่ครบสิบปี แม้ฝ่ายผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ผู้ร้องทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่าผู้คัดค้านว่าโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ และผู้รับโอนคนก่อน ๆต่อจากผู้คัดค้านรับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่

 

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการขุดบ่อเลี้ยงปลาและปลูกต้นไม้ริมบ่อ โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลานานเกินกว่าสิบปีแล้ว ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่เคยครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ผู้คัดค้านรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้มาจากผู้อื่นโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้คัดค้านครอบครองตรวจตราที่ดินเป็นเวลาเจ็ดปีไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้ง คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าครอบครองตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และครอบครองที่ดินส่วนไหน เนื้อที่เท่าไหร่ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเพราะไม่เคยบอกกล่าวผู้คัดค้านให้ไปทำการโอน ผู้คัดค้านมีตัวตนมีที่อยู่แน่นอน ชอบที่จะทำเป็นคำฟ้อง มิใช่คำร้องขอ ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่าคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ในคำร้องขอให้แสดงสิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทนี้ ผู้ร้องทั้งสองได้กล่าวแล้วว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ย่อมมีความหมายว่าผู้ร้องทั้งสองได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททั้งโฉนด โดยไม่จำต้องระบุถึงเนื้อที่ดินความกว้างยาว หรืออาณาเขต หรือแนบสำเนาโฉนดมาในท้ายคำร้อง ขอดังที่ผู้คัดค้านฎีกา และที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวว่าได้ครอบครองเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ก็มีความหมายว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเกินกว่าสิบปี เป็นการเริ่มครอบครองเมื่อก่อนสิบปีเป็นคำร้องขอที่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 แล้ว หาเคลือบคลุมดังที่ผู้คัดค้านฎีกาไม่

ปัญหาต่อไป คดีนี้ต้องยื่นเป็นคำร้องขอหรือคำฟ้องดังที่ผู้คัดค้านฎีกา เห็นว่า ตามคำร้องขอได้กล่าวว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับรองกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองอันเป็นการจะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ร้องทั้งสองหาได้กล่าวว่ามีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสองอันจะต้องทำเป็นคำฟ้องบุคคลผู้โต้แย้งสิทธิไม่ คดีนี้ทำเป็นคำร้องขอชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 แล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปมีว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ โดยผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า เดิมนายเจิม ขุนทอง มีที่ดิน 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4105 และเลขที่ 1745 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่2645 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 (ตรงกับโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย ล.4) คั่นกลาง เดิมผู้ร้องทั้งสองมาเป็นลูกจ้างของนายเจิมช่วยทำนาในที่ดินทั้งสองแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยทำอยู่ประมาณสิบปี ผู้ร้องทั้งสองต่างก็ได้บุตรสาวของนายเจิมเป็นภรรยา จนเมื่อปี 2509 นายเจิมจึงยกที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องทั้งสอง ต่อมาการทำนาไม่ได้ผลผู้ร้องทั้งสองจึงได้เปลี่ยนเป็นขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวโดยได้ปลูกมะพร้าว ต้นกล้วย อ้อย และมะม่วงไว้ด้วย ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทนับรวมกับนายเจิมได้ประมาณ 30 ปีแล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง

ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทจากนายมนู แซ่โง้ว ก่อนทำสัญญานายมนูได้พาผู้คัดค้านไปดูที่ดินพิพาทเห็นมีต้นกล้วย มะม่วงและมะพร้าวปลูกอยู่ สอบถามชาวบ้านแล้วไม่มีใครเข้าไปครอบครองตรวจดูหลักเขตก็ถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจากนายมนู เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2522ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ผู้คัดค้านผ่อนชำระราคางวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2522 และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์มาในวันเดียวกัน ผู้คัดค้านไปดูที่ดินพิพาททุกปี ไม่มีใครบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 ผู้คัดค้านไปดูที่ดินพิพาทอีกพบว่าที่ดินพิพาทถูกขุดเป็นบ่อจึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของนับแต่ได้รับการยกให้จากนายเจิม เมื่อปี 2509 ตลอดมา และเมื่อนับรวมจากที่นายเจิมครอบครองมาจนถึงขณะที่ผู้ร้องทั้งสองนำสืบในคดีนี้เมื่อ 2530เป็นเวลาประมาณ 30 ปี นั้น ปรากฏจากสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.4 ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายปลั่ง สุขแจ่ม ต่อมามีการจดทะเบียนโอนขายกันหลายทอด จนเมื่อปี2504 นายแดง แจ้งสว่าง ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงนี้แก่นายแผ้ว กันเปี่ยมแจ่ม ปี 2509 จึงได้ไถ่ถอนจำนอง แล้วจดทะเบียนขายฝากแก่นายจรัญ ไมตรียานนท์ในปีเดียวกัน จนปี 2511 จึงจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก แล้วจดทะเบียนขายฝากให้แก่นางส้วน เจริญพงษ์นาวิน กับพวก อีกทีหนึ่งโดยมิได้ไถ่ถอนการขายฝาก ปี 2512 นางส้วนกับพวกได้จดทะเบียนขายคืนให้แก่นายแดงในปีเดียวกัน นายแดงได้จดทะเบียนขายฝากแก่เรือโทเล็ก เหลืองตระกูล โดยไม่มีการไถ่ถอนการขายฝาก ปี 2519เรือโทเล็กได้จดทะเบียนขายให้แก่นายประชุม ธรรมสุวรรณ ปี 2519นายประชุมได้จดทะเบียนแบ่งขายบางส่วนของที่ดินพิพาทให้แก่กรมทางหลวงเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะวันที่ 23 มีนาคม 2522 นายประชุมได้จดทะเบียนโอนขายส่วนที่เหลือให้แก่นายมนู แซ่โง้ว และวันที่6 กันยายน 2522 นายมนูจึงได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้คัดค้านอีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้ว่าที่ดินพิพาทแปลงนี้มีการจดทะเบียนเกี่ยวสิทธิในที่ดินตลอดมาเกือบทุกปีนับแต่ที่ฝ่ายผู้ร้องอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท การอ้างว่าได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงถูกกระทบสิทธิมาตลอด ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมาจนถึงวันยื่นคำร้องก็ยังไม่ครบสิบปี แม้จะฟังว่าฝ่ายผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาโดยตลอดผู้ร้องทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ และผู้รับโอนคนก่อน ๆ ต่อจากผู้คัดค้านรับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่ตามฎีกาของผู้คัดค้านในข้อต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของศาลล่างทั้งสอง"

พิพากษายืน

( เพ็ง เพ็งนิติ - เจริญ นิลเอสงฆ์ - บุญธรรม อยู่พุก )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-06 14:42:08


ความคิดเห็นที่ 3 (1923493)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8079/2542

 

จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดิน จึงไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แม้จำเลยได้เข้าครอบครองที่พิพาทในช่วงเวลานับแต่ปี 2510 ถึงปี 2530 ที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทมาจากเจ้าของเดิม กรณีก็ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ทั้งการครอบครองที่พิพาทหลังจากโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องหรือวันที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งก็ยังไม่ครบสิบปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

จำเลยฎีกาอ้างข้อเท็จจริงมาไม่ตรงกับความเป็นจริงตามคำฟ้องและที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาทปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 11,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 โดยการครอบครองปรปักษ์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านพร้อมขนย้ายทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6272 ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวแล้วเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยมาขออาศัยในที่พิพาทและปลูกบ้านอยู่อาศัย การอยู่ในที่พิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จำเลยยังไม่มีสิทธิครอบครองด้วยเหตุนี้ที่จำเลยอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่พิพาทในช่วงเวลานับแต่ปี 2510 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2530 ที่โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงมานั้น กรณีไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การครอบครองที่พิพาทหลังจากโจทก์ทั้งสองจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงมาจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 หรือวันที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 ก็ยังไม่ครบสิบปี แม้จะฟังว่าจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยตลอด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท เกินไปจากที่โจทก์ทั้งสองขอและนำสืบเพราะโจทก์ทั้งสองขอและนำสืบค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท ในปัญหาที่ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท เกินไปจากที่โจทก์ทั้งสองขอนั้น ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 11,000 บาท และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงเดือนละ 2,000 บาทเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงมาไม่ตรงกับความเป็นจริง ฎีกาของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ส่วนฎีกาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ว่าโจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาทนั้น ปัญหาดังกล่าวเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมิได้ยกข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

( จำรูญ แสนภักดี - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-06 14:57:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล