ReadyPlanet.com


แม่สามีตัวร้าย


ขอถามหน่อ่ยค่ะว่าดิฉันตั้งท้องและคลอดบุตรโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนและได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสามีแม่สามีเป็นคนให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างมาเป็นเวลา4ปีพอดิฉันเลิกกับสามีแม่สามีบอกว่าจะฟ้องร้องเอาลูกดิฉันไม่ให้ดิฉันเป็นคนเลี้ยงซึ่งตลอดเวลาดิฉันดูแลลูกเองมาตลอดแม่สามีและสามีไม่เคยดูแลช่วย(แม่สามีได้แต่งงานกับฝรั่งและอยู่ที่ต่างประเทศ)ดิฉันอยากจะเปี่ยนนามสกุลของลูกให้เป็นนามสกุลเดียวกับดิฉันได้ไมค่ะและแม่สามีสามารถฟ้องร้องเอาลูกดิฉันไปได้รึเปล่าค่ะช่วยตอบด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ พลอย :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-28 08:05:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1920097)

ถ้าลูกยังอยู่กับคุณ-และคุณเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว แม่สามี หรือแม้แต่สามีไม่มีสิทธิฟ้องเรียกลูกจากคุณได้ครับ

การเปลี่ยนนามสกุล สามารถทำได้ แต่จำเป็นหรือไม่ต้องไตร่ตรองให้ดี เพราะขณะที่เขาใช้นามสกุลบิดาเขาอยู่ ต่อไปในอนาคตหากบิดาเขาร่ำรวยมีเงินทองมากมายเป็นเศรษฐีขึ้นมา เขาจะได้รับมรดกบิดาเขาได้โดยไม่ต้องมาพิสูจน์กันภายหลังว่าเขามีสิทธิรับมรดกเพราะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อสกุลของบิดา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-28 08:27:14


ความคิดเห็นที่ 2 (1920194)

บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521

 

เมื่อโจทก์จำเลยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเด็กชายโอภาสจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและอำนาจปกครองตกอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดา

 

บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียนถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 โจทก์จำเลยแต่งงานเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายโอภาส สิริจันทรดิลก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2517 จำเลยโกรธโจทก์ได้ออกจากบ้านไปอยู่บ้านบิดามารดาจำเลยและไม่กลับมาอยู่บ้านโจทก์อีกจำเลยไม่ยอมให้โจทก์จดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์มีความประสงค์ให้เด็กชายโอภาสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และประสงค์จะจดทะเบียนรับรองบุตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และใช้อำนาจปกครอง จำเลยไม่ยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กชายโอภาสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ให้จำเลยไปให้ความยินยอมการที่โจทก์จะจดทะเบียนว่าเด็กชายโอภาสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถ้าจำเลยไม่ไปให้ความยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแต่งงานอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายโอภาสจริงแต่โจทก์ไม่ได้เอาใจใส่เลี้ยงดูอุปการะจำเลยและเด็กชายโอภาส จำเลยทนต่อความโหดร้ายทารุณของโจทก์ไม่ไหวจึงตัดสินใจเลิกจากการเป็นสามีภรรยากับโจทก์ พาเด็กชายโอภาสไปอยู่บ้านมารดาจำเลย จำเลยมีความประสงค์จะได้เด็กชายโอภาสไว้ในความปกครองอุปการะแต่ผู้เดียว เมื่อวันที่14 เมษายน 2517 โจทก์กับนายสุทธิสารน้องโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปในบ้านมารดาจำเลยและชิงเอาเด็กชายโอภาสไป จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์มอบเด็กชายโอภาสคืนแก่จำเลย และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายโอภาสแต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ไปเอาเด็กชายโอภาสกลับมาจริงโดยประสงค์จะให้จำเลยมาอยู่ด้วย เพราะโจทก์ต้องการให้โจทก์จำเลยและเด็กชายโอภาสอยู่ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเด็กชายโอภาสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรชัยโจทก์ ส่วนอำนาจปกครองเด็กชายโอภาสให้ตกอยู่กับนางน้อยจำเลยให้โจทก์มอบเด็กชายโอภาสคืนให้กับจำเลยตามฟ้องแย้ง คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชน พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1527 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า "บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก เด็กหรือมารดาอาจคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ใช่บิดา ในกรณีเช่นนั้นการจดทะเบียนว่าเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" วรรคสองบัญญัติว่า "เมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดาถ้าไม่คัดค้านภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้แจ้งความนั้น ให้ถือว่าเด็กและมารดายินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายกำหนดเวลานั้นเป็นหกเดือน" และตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 19 ได้บัญญัติวิธีการที่นายทะเบียนจะจดทะเบียนในกรณีที่บิดาร้องขอรับรองบุตรไว้ว่า ในกรณีที่บุตรหรือมารดาคัดค้านการขอรับรองบุตร ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียน เว้นแต่ศาลมีคำสั่ง กับกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ได้กำหนดให้ที่ว่าการอำเภอและกิ่งอำเภอเป็นสำนักทะเบียน ให้นายอำเภอเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอฯ ตามกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิดก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียน เมื่อเด็กและมารดาเด็กยินยอม นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ แต่ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียน บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้ โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลยขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน ให้เด็กและมารดาเด็กไปให้ความยินยอมในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อนายทะเบียนเสียก่อนและถูกเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านแล้ว บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาล คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าโจทก์ประสงค์จะจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และใช้อำนาจปกครอง แต่จำเลยไม่ยินยอม ทั้งการนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนแล้วและเด็กชายโอภาสหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียน ดังนั้น ข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาขึ้นเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และเมื่อโจทก์จำเลยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเด็กชายโอภาสจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและอำนาจปกครองตกอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดา จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์มอบเด็กชายโอภาสคืนแก่จำเลยได้

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์มอบเด็กชายโอภาสคืนให้จำเลย

( ชลูตม์ สวัสดิทัต - สงวน สิทธิไชย - สุมิตร ฟักทองพรรณ์ )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-28 12:33:54


ความคิดเห็นที่ 3 (1920198)

ขอบคุณมากค่ะที่ให้คำปรึกษา

ผู้แสดงความคิดเห็น พลอย วันที่ตอบ 2009-03-28 12:44:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล