ReadyPlanet.com


ฎีกาคำพิพากษา


เรียน คุณ ลีนนท์ ที่นับถือ ขอถามว่า วิธีที่จะหาฎีกาคำพิพากษาที่ 1883/2551 ต้องทำอย่างไร ขอขอบคุณ


ผู้ตั้งกระทู้ ต้นไม้ :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-30 13:36:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1931890)
คงต้องตรวจสอบจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกาครับ ปัจจุบันยังไม่ได้ตีพิมพ์ คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1883/2551 ครับ คงต้องรออีกสักระบะหนึ่ง คือในหนังสือคำพิพากษาฎีกาของสำนักงานศาลยุติธรรมเล่ม 4 น่าจะออกจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-30 18:36:39


ความคิดเห็นที่ 2 (2156743)

ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน แต่ทางฝ่ายผู้กู้ยืม อ้างว่า จำนวนเงินในสัญญากู้ยืมไม่ถูกต้องเพราะมีการกู้ยืมกันเพียง 50,000 บาทคิดดอกเบี้ยกันร้อยละ 5 ต่อเดือนรวมดอกรวมต้นแล้วเป็นเงิน 100,000 บาท ผู้กู้จึงชำระหนี้ให้ 20,000 บาท เหลือ 90,000 บาท ผู้ให้กู้ยืมให้ ผู้กู้ยืมลงชื่อในแบบสัญญากู้โดยกรอกจำนวนเงินเป็น 90,000 บาท ส่วนข้อความอย่างอื่นไม่ได้กรอก สัญญากู้ไม่มีผลผูกพันนำมาฟ้องไม่ได้

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยรับว่าปี 2539 เคยยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และจำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้เงินซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมาปี 2541 จำเลยนำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระแก่โจทก์และโจทก์แจ้งว่าจำเลยต้องชำระหนี้จำนวน 100,000 บาทเศษ หักเงินจำนวน 20,000 บาท ออกแล้วคงค้างชำระจำนวน 90,000 บาทเศษ และได้มีการกรอกจำนวนเงิน 90,250 บาท ลงในแบบฟอร์มสัญญากู้เงินที่มีลายมือชื่อจำเลยโดยไม่ได้มีการกรอกข้อความอยางอื่นอีก การที่โจทก์นำสัญญากู้เงินมีการเติมข้อความลงโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยมาฟ้องคดี จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย เมื่อต้นปี 2542 จำเลยนำเงินจำนวน 6,000 บาท ไปชำระหนี้โจทก์ จึงเหลือหนี้ที่จะต้องรับผิดจำนวน 24,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1883/2551
 
          ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้

          ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 จำนวนกู้เงินโจทก์จำนวน 90,250 บาท และได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2540 เมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 123,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 90,250 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยรับว่าปี 2539 เคยยืมเงินโจทก์ 50,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และจำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้เงินซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมาปี 2541 จำเลยนำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระแก่โจทก์และโจทก์แจ้งว่าจำเลยต้องชำระหนี้จำนวน 100,000 บาทเศษ หักเงินจำนวน 20,000 บาท ออกแล้วคงค้างชำระจำนวน 90,000 บาทเศษ และได้มีการกรอกจำนวนเงิน 90,250 บาท ลงในแบบฟอร์มสัญญากู้เงินที่มีลายมือชื่อจำเลยโดยไม่ได้มีการกรอกข้อความอยางอื่นอีก การที่โจทก์นำสัญญากู้เงินมีการเติมข้อความลงโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยมาฟ้องคดี จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย เมื่อต้นปี 2542 จำเลยนำเงินจำนวน 6,000 บาท ไปชำระหนี้โจทก์ จึงเหลือหนี้ที่จะต้องรับผิดจำนวน 24,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 90,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2542) ต้องไม่เกิน 33,280 บาท ตามที่โจทก์ขอกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยมิได้บังคับว่าต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้ เมื่อจำเลยเบิกความยอมรับว่า โจทก์จำเลยตกลงยอดหนี้ที่ต้องชำระเป็นเงิน 90,250 บาท แล้ว โจทก์จึงได้ตามนายยุรชัยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งโจทก์เป็นลูกบ้านมาเขียนสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 อีกทั้งหลังทำสัญญาประมาณ 2 ถึง 3 เดือน จำเลยยังได้ขอยืมสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ไปถ่ายเอกสารเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอกู้ยืมเงินจากทางราชการ ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจำเลยอ้างว่าถ่ายสำเนาจากต้นฉบับเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุชัดเจนถึงสถานที่ทำสัญญา เป็นบ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ชื่อโจทก์และที่อยู่ของโจทก์ และข้อ 1 ของสัญญามีข้อความว่า ข้าพเจ้านายสมหมายได้กู้เงินจากนางทองสาเป็นจำนวนเงิน 90,250 บาท และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของเงิน (ผู้ให้กู้) นายหาญ นายซุ้นลงลายมือชื่อในช่องพยาน และนายยุรชัยลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนและพยาน ซึ่งจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าลายมือชื่อของบุคคลที่ลงในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ถูกต้อง แสดงว่าในวันทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 นายยุรชัยได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ 90,250 บาท ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงย่อมนำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 มาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ ดังที่จำเลยอ้างแม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลยก็ตาม ก็หามีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไปไม่ สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่เอกสารปลอม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 48,000 บาท แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่เดือนกันยายน 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน 62,400 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 110,400 บาท เมื่อนำเงินที่จำเลยชำระคืนโจทก์ 20,000 บาท และเงินที่สามีโจทก์ยืมจำเลย 150 บาท ไปหักจากเงิน 110,500 บาท จึงเหลือยอดเงิน 90,250 บาท ดังนี้ ยอดเงินกู้ตามสัญญาจึงไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า จำเลยคงมีจำเลยเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งการนำสืบอ้างว่าได้ชำระต้นเงินคืนโจทก์ 6,000 บาทแล้ว จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือได้มีการแทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างนายอนันต์นักการภารโรงโรงเรียนบ้านพรหมจันทร์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เคยให้พยานกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน เพื่อให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติกรรมให้ผู้อื่นกู้โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่นายอนันต์เพียงเบิกความลอยๆ โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเช่นกัน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนพยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความประกอบสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ยืนยันว่า จำเลยกู้และรับเงินจากโจทก์ไป 90,250 บาท และโจทก์มีนางดารา นายหาญ นายซุ้นและนายยุรชัยเบิกความสนับสนุน โดยพยานดังกล่าวไม่มีส่วนได้เสียในคดีและรู้เห็นการมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย ซึ่งแม้จะเบิกความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความจึงไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด จำเลยรับราชการเป็นครู มีการศึกษาสูงกว่าโจทก์ซึ่งจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ จึงน่าจะต้องทราบว่าการลงลายมือชื่อในสัญญากู้มีผลให้ตนต้องผูกพันที่จะต้องชำระหนี้เงินคืนให้แก่ผู้ให้กู้ หากจำเลยมิได้กู้และรับเงินจากโจทก์ไป 90,250 บาท แต่เป็นเรื่องที่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนมารวมเป็นต้นเงิน ก็นาเชื่อว่าจำเลยคงไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญา และควรแจ้งให้นายยุรชัยซึ่งมาช่วยเขียนสัญญาได้ทราบถึงพฤติกรรมของโจทก์ แต่จำเลยหาได้แจ้งไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ขู่เข็ญบังคับจำเลยให้ลงลายมือชื่อ ส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีการกรอกข้อความครบถ้วนรวมทั้งกำหนดเวลาชำระหนี้และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันทำสัญญานั้น เห็นว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 มีการเขียนข้อความด้วยปากกา 2 ด้าม โดยข้อความที่เกี่ยวกับสถานที่ทำสัญญา ชื่อและที่อยู่ของโจทก์ ชื่อจำเลยซึ่งระบุว่ากู้เงินจากโจทก์จำนวนเงินที่กู้ และลายมือชื่อนายยุรชัยผู้เขียนและพยานนั้นสีหมึกที่เขียนเป็นสีน้ำเงินเข้ม สีหมึกสม่ำเสมอ จึงน่าเชื่อว่านายยุรชัยจะเขียนด้วยปากกาด้ามเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน ส่วนข้อความนอกจากที่กล่าวข้างต้นสีหมึกจะจางกว่า น่าเชื่อว่าเป็นการเขียนขึ้นภายหลังด้วยปากกาอีกด้ามหนึ่ง แต่เมื่อข้อความทั้งหมดเขียนโดยนายยุรชัยซึ่งเขียนตามที่โจทก์จำเลยตกลงกัน แม้หากจะมีการเขียนกำหนดเวลาชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ยภายหลังก็ไม่ทำให้สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมดังได้วินิจฉัยไปแล้ว ฉะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้และรับเงินจากโจทก์ไป 90,250 บาท และเมื่อได้ความว่า ขณะทำสัญญาไม่ได้ระบุกำหนดเวลาชำระหนี้คืนและอัตราดอกเบี้ยกันไว้ โดยคงปรากฏตามสัญญาว่าจำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 90,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( อัปษร หิรัญบูรณะ - ฐานันท์ วรรณโกวิท - ชัยยันต์ ศุขโชติ ) 
     

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-27 12:33:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล