ReadyPlanet.com


ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่บุพการีตามความเป็นจริง


1. ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้มีอำนาจปกครองหรือผู้ปกครองหรือไม่

2. ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

3. เมื่อเป็นผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่ ตาม ป.วิอาญา.มาตรา 3 และ 5 6



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้เดือดร้อน :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-29 20:04:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1931881)

1.   มาตรา 1598/28 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตร ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

- ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแทนบิดามารดาโดยกำเนิด

2. เมื่อเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ย่อมเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมด้วย

3. 

มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่ง ได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิด อาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะ จัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

มาตรา 6 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดย ชอบธรรมหรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตาม หน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์ เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตาม ที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน
ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี

- เมื่อเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจตามมาตรา 5 (1)  แต่บุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดาน และ ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้บุพการี

 สำหรับ มาตรา 6 เป็นเรื่องผู้แทนเฉพาะคดี ซึ่งคงไม่เกี่ยวกับคำถามใช่ไหมครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2517

ขณะที่ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงตาย ผู้ตายเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ที่ 2 และผู้ตายยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์ที่ 2 ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และนางปราณีภรรยา เป็นบิดามารดาของนายวิวัฒน์ ช่วยเชษฐ์ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับนายวิวัฒน์ไว้เป็นบุตรบุญธรรม โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นายวิวัฒน์จึงใช้นามสกุลตามโจทก์ที่ 2 ว่า โภคสุพัฒน์ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ ส.บ. 01727 ซึ่งนายวิวัฒน์ โภคสุพัฒน์ เป็นผู้ขับขี่ นายวิวัฒน์ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 224,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้ปกครอง โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จริง แต่มิได้กระทำการในทางการที่จ้างและนอกหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาท โจทก์มิได้เสียหายมากมายดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 70,900 บาทแก่โจทก์ โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจำนวนเงิน 10,900 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดไร้อุปการะเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นเงิน 50,000 บาทให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิจะรับมรดกหรือได้รับประโยชน์จากผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 2 มิได้ฟ้องเรียกมรดกหรือประโยชน์อันใดของผู้ตาย ทั้งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวเท่านั้น และจำเลยก็ยอมรับในคดีแพ่งนี้แล้วว่า โจทก์ทั้งสองเสียหายแน่ อันเป็นการรับว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วย นอกจากนั้นขณะที่ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงตาย ผู้ตายยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์ที่ 2 ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในข้ออื่น โดยเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ แล้วพิพากษายืน

( สรรเสริญ ไกรจิตติ - เพรียบ หุตางกูร - รื่น วิไลชนม์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2509

(บุตรบุญธรรมลักทรัพย์ของผู้รับบุตรบุญธรรม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ใช่ บุพการี ตามความเป็นจริงของบุตรบุญธรรม ดังนั้นจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71  วรรคสอง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ที่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีนั้นให้เป็นความผิดอันยอมความได้ มาใช้บังคับแก่กรณีบุตรบุญธรรมลักทรัพย์ของผู้รับบุตรบุญธรรมได้)

คำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587,1627 แสดงว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586,1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ตีความคำว่าผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 71 วรรคสอง ไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2509)

โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของนางโกศลผู้เสียหาย โดยจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงอาญาแก่จำเลยไว้ และว่าไม่ติดใจจะเอาความแก่จำเลยแต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมอันชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายยื่นคำร้องไม่ติดใจเอาความ คดีเป็นอันยอมความกันได้ตามมาตรา 71 วรรค 2 สิทธิของโจทก์จึงระงับไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรค 2 หมายถึงผู้สืบสันดานตามธรรมชาติ จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการียอมความไม่ได้ พิพากษากลับว่าจำเลยผิดมาตรา 334 ลดรับสารภาพจำคุก 6 เดือน

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586 และ1627 บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมนั้นย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่มาตรา 1586 และ 1587 ยังบัญญัติไว้ด้วยว่าบุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และการรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม แสดงว่าบุตรบุญธรรมยังมีฐานะแตกต่างกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586, 1587 จึงเป็นบทบัญญัติพิเศษเพื่อให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นจะต้องใช้โดยเคร่งครัดเฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดอีก จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ในการตีความ คำว่าผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 71 วรรค 2 ไม่ ที่ประชุมใหญ่เห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการียอมความไม่ได้ ชอบแล้ว พิพากษายืน

( โพยม เลขยานนท์ - สวัสดิ์ พานิชอัตรา - อรุณ ตินทุกะสิริ )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-30 18:18:37


ความคิดเห็นที่ 2 (1933623)

เรื่องราวเป็นอย่างไรเล่าให้ฟังพอเป็นสังเขปบ้างสิครับ เผื่อว่าจะมีอะไรช่วยกันคิดเพิ่มเติมได้ครับพี่น้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น รอยเปลื้อน วันที่ตอบ 2009-05-05 21:50:42



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล