ReadyPlanet.com


ปลอมสัญญาจะซื้อจะขาย


ได้ทำการปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยเราเป็นผู้ซื้อแต่ปลอมลายเซ็นผู้ขาย เนื่องจากต้องเอาไปเป็นเอกสารในการโอนเงินจากต่างประเทศซึ่งแฟนส่งเงินมา  แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเก็บไว้โดยไม่ใดอกเบี้ย 1 ปี จึงจะปล่อยเงินมาให้ แต่การซื้อขายได้เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีผู้ใดเสียหาย   ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพนักงานอัยการแผนกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย  และทางพนักงานก็ได้ใหเซ็นใบขอคำแนะนำ มีเรื่องราวประกอบ   อยากทราบว่าถ้าผู้ที่ถูกปลอมลายเซ็นไม่ฟ้อง พนักงานอัยการจะฟ้องผมได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ steve :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-01 16:48:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1932411)

 

การฟ้องคดีของพนักงานอัยการนั้น จะเริ่มได้ต้องมีการสอบสวนมาก่อน ดังนั้นในกรณีของคุณ ก็ขึ้นอยู่ที่ใครจะเป็นแม่งานที่จะเริ่มคดี ในเมื่อผู้เสียหายเขาไม่ติดใจเอาความตามที่คุณบอก แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความก็ตาม แต่เมื่อพนักงานสอบสวนคดีเรื่องนี้แล้วส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้เสียหายจะติดใจเอาความหรือไม่เพราะคดีปลอมเอกสารเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดินครับ

 

 

มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดย มิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

 

มาตรา 122 พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณี ต่อไปนี้ก็ได้
(1) เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตาม ระเบียบ
(2) เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
(3) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าว
โทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2547

 

เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินเจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ เมื่อการดำเนินคดีนี้มิใช่การดำเนินคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว จึงมิต้องมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนี้แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์คดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็หามีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกา (ย่อยาว)

 

ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ศาลจังหวัดมุกดาหารดำเนินการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ตามคำขอของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 47 วรรคสอง เมื่อศาลจังหวัดมุกดาหารเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสืบพยานเพิ่มเติมตามมาตรา 26 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 45

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 23 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตออกประกาศเพื่อกำหนดราคายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตเพื่อใช้เป็นมูลค่าในการคำนวณค่าแสตมป์ยาสูบ ตามมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้บังคับให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้ แม้ประกาศกรมสรรพสามิตจะมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็มีผลใช้บังคับในการนำไปคำนวณค่าปรับได้

 

โจทก์ฟ้องว่า โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหายเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า สลากซองบุหรี่กรองทิพย์ เป็นใบสลากประกอบด้วยอักษรไทยคำว่า "รยส" อยู่ในกรอบรูปวงกลม อักษรโรมันคำว่า "KRONGTHIP" "FILTER" อักษรไทยคำว่า "กรองทิพย์""บุหรี่ก้นกรอง" "คำเตือนการสูบบุหรี่" เลขไทย "90" เลขอาระบิก "90" และ "20" ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วในราชอาณาจักรในจำพวกสินค้าที่ 45 ประเภทบุหรี่ซิกาแรต เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายและเสนอจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งสินค้าประเภทบุหรี่ซิกาแรต ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวจำนวน 619 ซอง โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ได้มีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตตรากรองทิพย์ 90 จำนวน 619 ซอง อันเป็นยาสูบตามกฎหมาย น้ำหนักรวม 12,380 กรัม อันเป็นการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบเกินกว่า500 กรัม คิดเป็นราคา 12,380 บาท โดยยาสูบดังกล่าวมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ซึ่งจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2540) ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ. 2509 กำหนดให้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นจำนวนรวม 8,666 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4,108, 110, 115 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบบุหรี่ซิกาแรตของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต และนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 493/2542ของศาลจังหวัดมุกดาหารด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19, 24, 44, 49 และ 50การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 150,000 บาท กระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 นั้น การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 24 ฐานมีไว้เพื่อขายยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับ129,990 บาท อีกกระทงหนึ่ง รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 2 ปี และปรับ279,990 บาทพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไปโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบบุหรี่ซิกาแรตของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 493/2542 ของศาลจังหวัดมุกดาหารนั้น ไม่ปรากฏว่าศาลจังหวัดมุกดาหารได้มีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์เสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในคำฟ้อง นายนิยม ดีดวงพันธ์ เจ้าพนักงานสรรพสามิต 4 จ่าสิบตำรวจพิภพ พิมพ์สมแดง กับพวกร่วมกันจับจำเลยพร้อมกับยึดได้บุหรี่ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังจำนวน 619 ซองและเป็นบุหรี่ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ส่วนของเครื่องหมายการค้าปลอมที่แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของโรงงานยาสูบมีรายละเอียดดังนี้ ข้อความบนซองของคำว่า "รยส"จะมีเส้นทึบกว่า คำเตือนข้างซองของโรงงานยาสูบจะมีประมาณ 10 แบบ ไม่ใช่แบบเดียวตามข้างซองบุหรี่ของกลาง สายคาดสีแดงที่ซองบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะมีลายน้ำ กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ตามมาตรฐานไม่ใช่ตามแบบบุหรี่ของกลาง ข้อความที่ซองบุหรี่ว่า "ชำระค่าอากรแสตมป์ยาสูบแล้ว" และเครื่องหมายนกวายุภักดิ์ที่อยู่ด้านบนข้อความดังกล่าวของโรงงานยาสูบ ชัดเจนกว่าซองบุหรี่ของกลางด้านข้างซองบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะเขียนว่า "THAILAND TOBACCO MONOPOLY" แต่ซองบุหรี่ของกลางเขียนว่า "THAILAND TOBACCO MONOPOLY" เลข "20" และคำว่า "FILTER" ข้างซองบุหรี่ของโรงงานยาสูบ จะเป็นตัวหนากว่าของปลอม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกมีว่า จำเลยมีเจตนากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่... ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สองมีว่า หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.26 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์คดีนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินเจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ เมื่อการดำเนินคดีนี้มิใช่การดำเนินคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว จึงมิต้องมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนี้แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์คดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็หามีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สามมีว่า การที่ศาลจังหวัดมุกดาหารอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสืบพยานเพิ่มเติมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลจังหวัดมุกดาหารดำเนินการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ตามคำขอของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 47 วรรคสอง เมื่อศาลจังหวัดมุกดาหารเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสืบพยานเพิ่มเติม ตามมาตรา 26 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 45 อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สี่มีว่า ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง การกำหนดราคายาสูบเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าปรับ ไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะนำมาใช้คำนวณค่าปรับได้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าวเป็นการประกาศของอธิบดีกรมสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 23 เพื่อกำหนดราคายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตเพื่อใช้เป็นมูลค่าในการคำนวณค่าแสตมป์ยาสูบตามมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 23 ดังกล่าวมิได้บังคับให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้ แม้ประกาศกรมสรรพสามิตนี้จะมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็มีผลใช้บังคับในการนำไปคำนวณค่าปรับได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 ให้วางโทษจำเลยจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อรวมโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 แล้ว เป็นจำคุก6 เดือน และปรับ 179,990 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 4 เดือน 15 วันและปรับ 134,992.50 บาท โทษจำคุกคงให้รอการลงโทษไว้ตามกำหนดเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

 

( ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ - เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - ประชา ประสงค์จรรยา )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-02 10:30:01



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล