ReadyPlanet.com


แนวโน้มการครอบครองปรปักษ์


 

พ่อแบ่งที่ดินทั้งหมด  ออกเป็นแปลงย่อยให้ลูก  คนละเท่าๆกัน แต่ว่าที่ดินแปลงที่ปลูกบ้าน  พ่อให้ลูกคนสุดท้าย  ซึ่งมีสะไภ้/หลานพักรวมอยู่ด้วยกันในบ้านบนที่ดินแปลงนี้  ตัวบ้านปัจจุบันพ่อยังไม่ยกให้ใคร  แต่พ่อก็สงสารที่เห็นหลาน  เกิดมาไม่สมประกอบ แนวโน้มว่าพ่ออาจจะยกบ้านให้ลูกคนเล็ก   ซึ่งถ้าจะเป็นเช่นนั้นลูกคนอื่นก็คงไม่ขัด  ในส่วนของที่ดิน   มีความเห็นว่าลูกคนสุดท้าย  ถ้าจะได้ทั้งบ้านทั้งที่ดิน  ก็เห็นว่าได้มากกว่าใคร  และเจ้าตัวยังเปรยว่า  ถ้าได้น้อยกว่าจะไม่ยอม  สุดท้ายจึงยุติลงที่ว่า ขนาดที่ดินทุกแปลงแบ่งให้เท่าๆกัน   ปัญหาที่จะรบกวนถามคือ
1.  ที่ดินหลังจากที่แบ่งเป็นแปลงย่อยแล้ว   มีแปลงที่ดินที่ติดกับตัวบ้านปัจจุบัน  มีอัตราส่วนของเนื้อที่เกินเข้าไปในตัวบ้าน  (จากเหตุผลการแบ่งเท่ากัน)  และสุดท้าย หากพ่อยกบ้านนี้ให้น้องคนเล็ก (เพราะบ้านอยู่บนที่ดินนี้) ปัญหาที่จะตามมาในภายหน้าจะเป็นอย่างไร

2. ที่ดินบริเวณส่วนที่ถูกตัวบ้านทับ  และมีมาตั้งแต่ก่อนแบ่ง  จะเกิดปัญหาอย่างไร  บ้านนี้สร้างมา 20 ปีแล้ว การแบ่งที่ดินลักษณะนี้  กับปัญหาการครองปรปักษ์  ควรดำเนิน ป้องกันแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่างไร


3. ถ้าการครอบครองปรปักษ์ เกิดขึ้นโดยอายุความ 10 ปีผ่านไป  การที่บุคคลที่เพิ่งรับมรดกที่ดินลักษณะนี้   จะถือเป็นการนับเริ่มต้นอายุความในปัจจุบันใช่หรือไม่ครับ

4. สมมุติว่าจะทำเป็นหนังสือสัญญาให้เช่าที่ดินปีละ 1 บาท อย่างที่ได้เคยอ่านมา ระหว่างคู่สัญญา  แต่จริงๆไม่คิดเอาเลยสักบาท  เพราะอย่างไรก็พี่น้องกัน  เพียงอยากได้ความสบายใจเท่านั้น   จะทำได้ใหมครับ

5. แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสร้างบ้านใหม่  แล้วให้อยู่ในขอบเขตที่ดินของตน  คิดว่าปัญหาน่าจะคงยุติได้  แต่ก็คิดว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปได้  รบกวนขอคำแนะนำจากท่านทนายด้วยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ รองบ๊วย :: วันที่ลงประกาศ 2013-09-06 23:27:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2414667)

1.  ที่ดินหลังจากที่แบ่งเป็นแปลงย่อยแล้ว   มีแปลงที่ดินที่ติดกับตัวบ้านปัจจุบัน  มีอัตราส่วนของเนื้อที่เกินเข้าไปในตัวบ้าน  (จากเหตุผลการแบ่งเท่ากัน)  และสุดท้าย หากพ่อยกบ้านนี้ให้น้องคนเล็ก (เพราะบ้านอยู่บนที่ดินนี้) ปัญหาที่จะตามมาในภายหน้าจะเป็นอย่างไร
ตอบ - เมื่อมีข้อตกลงให้ตัวสิ่งปลูกสร้างกับที่ดินเป็นคนละเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างย่อมมีหน้าที่จะต้องรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครับ หากไม่รื้อถอนเจ้าของที่ดิน(ที่ได้รับยกให้-โอนให้) ก็มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ได้ครับ

2. ที่ดินบริเวณส่วนที่ถูกตัวบ้านทับ  และมีมาตั้งแต่ก่อนแบ่ง  จะเกิดปัญหาอย่างไร  บ้านนี้สร้างมา 20 ปีแล้ว การแบ่งที่ดินลักษณะนี้  กับปัญหาการครองปรปักษ์  ควรดำเนิน ป้องกันแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่างไร
ตอบ - การจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้นั้นจะต้องได้ความว่าได้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ แต่ในกรณีผู้ถามเล่ามานั้นหากจะอ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้อื่นได้ก็คงต้องมีหนังสือบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน มิฉะนั้นจะยังไม่สามารถอ้างครอบครองปรปักษ์ได้ครับ


3. ถ้าการครอบครองปรปักษ์ เกิดขึ้นโดยอายุความ 10 ปีผ่านไป  การที่บุคคลที่เพิ่งรับมรดกที่ดินลักษณะนี้   จะถือเป็นการนับเริ่มต้นอายุความในปัจจุบันใช่หรือไม่ครับ
ตอบ - หากดูคำตอบจากข้อ 1  และ ข้อ 2 น่าจะตอบคำถามข้อนี้ได้ครับ คือโดยสรุปว่า เริ่มต้นครอบครองที่ดินโดยอาศัยสิทธิใด จากข้อเท็จจริงที่ได้จากคำถาม ผู้ครอบครองล้วนเป็นพี่น้องกันครอบครองที่ดินและบ้านโดยอาศัยสิทธิของบิดา ต่อมาบิดาแบ่งที่ดินเป็นส่วน ๆ ให้คนละส่วนเท่ากัน ปัญหามีเพียงว่า สิ่งปลูกสร้างหรือบ้านที่ปลูกไว้เดิมมีส่วนหนึ่งล้ำเข้าไปในที่ดินที่ถูกแบ่งแยกของพี่น้องคนอื่น ดังนั้นจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ 10 ปีได้ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเพื่อตนเสียก่อน มิฉะนั้นยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนพี่น้องคนอื่นที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามส่วนแบ่งอยู่

4. สมมุติว่าจะทำเป็นหนังสือสัญญาให้เช่าที่ดินปีละ 1 บาท อย่างที่ได้เคยอ่านมา ระหว่างคู่สัญญา  แต่จริงๆไม่คิดเอาเลยสักบาท  เพราะอย่างไรก็พี่น้องกัน  เพียงอยากได้ความสบายใจเท่านั้น   จะทำได้ใหมครับ
ตอบ - สามารถทำได้ครับ ถือว่าเป็นการแสดงเจตนายอมรับสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ว่าการครอบครองที่ดินดังกล่าวครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าส่วนผู้ให้เช่าจะติดใจเรียกร้องค่าเช่าหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นสิทธิของผู้ให้เช่าตามสัญญาซึ่งเขาจะสละสิทธิ์ดังกล่าวก็ได้ แต่ไม่ทำให้การครอบครองตามสัญญาเปลี่ยนแปลงไปเป็นการครอบครองเพื่อตนเพราะเหตุผู้ให้เช่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเช่าครับ


5. แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสร้างบ้านใหม่  แล้วให้อยู่ในขอบเขตที่ดินของตน  คิดว่าปัญหาน่าจะคงยุติได้  แต่ก็คิดว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปได้  รบกวนขอคำแนะนำจากท่านทนายด้วยครับ
ตอบ - ฟ้องให้รื้อถอนออกจากที่ดินของตนได้ครับ
 

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่อง การครอบครอง


                  
 
มาตรา 1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
 
มาตรา 1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
 
มาตรา 1369  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
 
มาตรา 1370  ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย
 
มาตรา 1371  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราวท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา
 
มาตรา 1372  สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
 
มาตรา 1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
 
มาตรา 1374  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน
 
มาตรา 1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
 
มาตรา 1376  ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่บุคคลผู้มีสิทธิเอาคืนไซร้ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 1377  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง
 
มาตรา 1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง
 
มาตรา 1379  ถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนยึดถือทรัพย์สินอยู่แล้ว ท่านว่าการโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำเพียงแสดงเจตนาก็ได้
 
มาตรา 1380  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน
ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่ การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้
 
มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
 
มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
 
มาตรา 1383  ทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ท่านว่าผู้กระทำผิดหรือผู้รับโอนไม่สุจริตจะได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความก็แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความอาญา หรือพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในมาตราก่อน ถ้ากำหนดไหนยาวกว่า ท่านให้ใช้กำหนดนั้น
 
มาตรา 1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัครและได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง
 
มาตรา 1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้
 
มาตรา 1386  บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-09-18 13:07:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล