ReadyPlanet.com


ยักยอกทรัพย์มรดก


ขอเรียนถามเรื่องทรัพย์มรดกค่ะ

 

คุณพ่อสามี เป็นผู้จัดการมรดกของสามี แต่หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551 ท่านก็ยังไม่ได้จัดการอะไรให้ดิฉันเลยสักอย่างเดียว(ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กันด้วยกันคือ รถยนต์วอลโว่ รถกระบะโตโยต้า รถจักรยานยนต์ 3 คัน และอื่น ๆ )

ต่อมาเมื่อเดือน เมษายน 2552 ดิฉันทราบว่าคุณพ่อได้โอนรถยนต์วอลโว่ ซึ่งเป็นของสามีดิฉันให้กับ น้องสาว และได้ขายรถกระบะโตโยต้า ให้ผู้อื่น  โดยไม่ได้มาบอกให้ดิฉันทราบดิฉันเป็นภรรยาถูกต้องตามกฏหมาย มีทะเบียนสมรส แต่ได้แยกกันอยู่กับสามี 5 ปีเศษ ก่อนที่สามีจะเสียชีวิต แต่ค่ารักษาพยาบาลสามีเมื่อเจ็บป่วย ดิฉันก็นำมาเบิกสวัสดิการของหน่วยงานที่ดิฉันทำงานจะเขาเสียชีวิต

ขอถามว่า ดิฉันมีทางที่จะได้รถยนต์ทั้ง 2 คัน ของสามีคืนมาหรือไม่และจะต้องทำอย่างไรบ้าง



ผู้ตั้งกระทู้ แตน :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-14 15:36:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1937954)

เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของผู้ตายตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คุณเป็นคู่สมรสของผู้ตาย ทร้พย์สินตามคำถามเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างคุณกับผู้ตายคนละกึ่งหนึ่ง ส่วนสินสมรสอีกกึ่งหนึ่งนั้นเป็นมรดกของผู้ตาย (สามี) และตกได้แก่ทายาท

ตามข้อเท็จจริงมีเพียงคุณและบิดาสามี ไม่มีบุตร ดังนั้นคุณในฐานะคู่สมรสจึงเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 1635 (2) 

รถยนต์วอลโว่ และรถยนต์กระบะโตโยต้า เป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้จึงต้องตีราคาเป็นเงิน แล้วประมูลกันเองระหว่างทายาทก็ได้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน

ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้จัดการมรดกได้จัดการทรัพย์มรดกแล้ว ไม่แบ่งให้คุณในฐานะคู่สมรสและทายาทโดยธรรม จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ชอบ คุณจึงมีสิทธิ

1. ฟ้องเรียกทรัพย์คืน (สินสมรส)

2. ฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ภายในอายุความ

สำหรับการแยกกันอยู่โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่านั้น ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ฐานะคู่สมรสระหว่างคุณกับสามีสิ้นสุดลงเพราะความตายของคู่สมรสอีกฝ่าบหนึ่ง คุณจึงมีสิทธิตามกฎหมายทุกประการ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-15 11:31:31


ความคิดเห็นที่ 2 (1937958)

เพิ่มเติม

ถ้าตรวจสอบแล้วได้ความว่า ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้ผู้อื่นที่ไม่มีสิทธิ ก็ฟ้องฐานยักยอกทรัพย์มรดกได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-15 11:33:50


ความคิดเห็นที่ 3 (1938449)

ข้อมูลเพิ่มเติม

ดิฉันแต่งงานปี 2538 และแยกบ้านกันอยู่กับสามีเมื่อปี 2543 แต่ยังไปมาหาสู่กันฉันสามีภรรยา (ที่ต้องแยกบ้านเพราะที่บ้านมีเพียงบิดา สามี และดิฉัน ซึ่งสามีไม่ค่อยจะกลับบ้านเพราะมีเด็ก ๆ เยอะ ทำให้ดิฉันไม่พอใจที่จะอยู่บ้านหลังนี้ เลยออกมาอยู่บ้านของแม่ดิฉัน)เราทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยา

ส่วนรถยนต์กะบะ ซื้อเมื่อปี 2542  รถวอลโว่ ซื้อเมื่อปี 2549 ค่ะ

ดิฉันพอจะมีสิทธิ์ได้คืนในรถยนต์ทั้งสองคันไหมคะ

และถ้าจะฟ้องผู้จัดการมรดกฐานยักยอกทรัพย์ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ช่วยบอกด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น แตน วันที่ตอบ 2009-05-16 07:35:05


ความคิดเห็นที่ 4 (1938473)

เนื่องจากคุณออกจากบ้านที่เคยอยู่มานานตั้งแต่ปี 2543 คุณอาจไม่ทราบเรื่องราวภายในเท่าที่ควร เช่นอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า รถยนต์คันดังกล่าว สามีคุณได้ ขาย, ยกให้, บิดาสามีหรือใช้ชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ หรือซื้อแทนบิดา ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็เป็นข้อต่อสู้คดีได้เมื่อเขาถูกฟ้อง แต่ถ้ามองตามสิทธิของคุณในฐานะคู่สมรสก็น่าจะมีสิทธิในทรัพย์สินที่สามีได้มาระหว่าสมรสกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายสันนิษฐานให้เป็นสินสมรส และอีกส่วนหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรม

แต่การฟ้องเรียกทรัพย์มรดกต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย

การฟ้องผู้จัดการมรดกต้องฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้น

การฟ้องคดียักยอกอาจดำเนินการโดยผ่านทางพนักงานอัยการ ซึ่งเบื้องต้นก็ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่มูลคดีเกิด (ยักยอก)

การฟ้องคดียักยอกต้องฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2541

คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองส่วนคดีมรดกมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้กองมรดกจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิ เรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการ จัดการมรดกไปได้ คดีที่ผู้จัดการมรดกถูกฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัด การมรดกอายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง คดีนี้จำเลยมิใช่ผู้จัดการมรดกหากเป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาท เมื่อถูกฟ้องขอให้แบ่งมรดกย่อมเป็นคดีมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1754 เมื่อคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดก ขอให้กำจัดมิให้รับมรดกด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกจริง จำเลยก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก และถือว่าจำเลยมิใช่ทายาท อันจะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก คดีของโจทก์สำหรับจำเลย ก็ขาดอายุความไปแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัย ว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่เสียก่อน แต่กลับ ไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยไม่ขาดอายุความจึงเป็นการข้ามขั้นตอน ศาลฎีกาชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็น เรื่องอายุความเสียใหม่

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางประยงค์ มลุลี กับนายฮาเรนหรือฮาโรน มัสอิ๊ดนางประยงค์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางเมาะกับนายซันหรือรังสรรค์ มลุลี นางเมาะได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 นางเมาะมีทรัพย์มรดกที่ดิน 2 แปลงโฉนดเลขที่ 616 โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่น และโฉนดเลขที่ 2550นางเมาะไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดทรัพย์มรดกจึงตกแก่บุตรทุกคนของนางเมาะโดยเฉพาะมรดกส่วนที่จะตกแก่นางประยงค์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนนางเมาะย่อมตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งศาลจังหวัดมีนบุรีตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางเมาะ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2536 โจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 616 ให้แก่ผู้อื่นโจทก์ทั้งสองตรวจสอบโฉนดที่ดินพบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงไว้ในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2527 และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2532จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านางเมาะมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียง 6 คน โดยไม่มีโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางประยงค์จำนวน 1 ใน 7 ส่วนของทรัพย์มรดกเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก โดยจำเลยที่ 1และที่ 3 ปิดบังทรัพย์มรดกเกินส่วนที่ควรจะได้รับจึงต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเลย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าที่ควรจะได้รับจึงต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ปิดบัง ที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดถูกกำจัดจึงตกแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษากำจัดจำเลยทั้งเจ็ดไม่ให้รับมรดกของนางเมาะ และบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดก กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 616, 11334, 11336, 11337,11338, 11339, 15535 ถึง 15540 และ 2550 ให้แก่โจทก์ทั้งสองหากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองและนางชูจิตรไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดก เมื่อปี 2527 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งที่ดินมรดกมอบแก่จำเลยทั้งเจ็ดเข้าครอบครองตามส่วนสัดเป็นต้นมา จึงถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 2 จัดการมรดกด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเปิดเผย ไม่เคยปิดบังอำพรางซ่อนเร้นหรือยักยอกทรัพย์มรดกฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกและการเรียกเอาทรัพย์มรดกเพราะมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดตั้งแต่ปี 2527 การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงและนางเมาะได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2519โจทก์ทั้งสองไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี และ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์ทั้งสองขายสิทธิที่จะได้รับมรดกของนางเมาะทั้งหมดแล้วโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางเมาะและทรัพย์มรดกได้แบ่งปันแก่ทายาทแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะหลังจากนางเมาะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 และนายรังษีสามีของจำเลยที่ 7 ได้ครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนที่ได้แบ่งกันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี และนับตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 จำเลยที่ 7และนายรังษีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกจำเลยที่ 7 รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 7 ไม่ได้ปิดบังหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ปิดบังทรัพย์มรดกจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านางเมาะ ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 616 และ 2550โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเมาะแทนที่นางประยงค์บุตรของนางเมาะ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเมาะที่ดินโฉนดเลขที่ 616 จำเลยที่ 2 ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกโฉนดที่ดินใหม่ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 จำเลยที่ 2ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 และจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกโฉนดที่ดินใหม่ โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2536

จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการแบ่งปันมรดกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 โดยถือเอาวันที่จำเลยที่ 2 โอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 แล้วนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาปรับแก่คดีว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสองฟ้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมรดกในคดีนี้ไม่มีการแบ่งปันให้ทายาทเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วตั้งแต่ปี 2527จึงถือได้ว่าการจัดการมรดกในคดีนี้ได้แล้วเสร็จตั้งแต่ได้มีการแบ่งมรดกและจำเลยทั้งเจ็ดได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่งมิใช่นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นว่า ตามคำขอโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ของจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกที่ได้ยื่นคำขอโอนมรดกข้อ 1. ระบุไว้ว่า"ผู้จัดการมรดกมีความประสงค์ที่จะโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเจ้ามรดกและรับมรดกไม่มีพินัยกรรมไม่มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เสร็จสิ้นหน้าที่จากการเป็นผู้จัดการมรดก" แสดงว่าการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2527 ตามที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การแบ่งปันมรดกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 โดยถือเอาวันที่ผู้จัดการมรดกโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2550 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 จึงชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเฉพาะผู้จัดการมรดกให้รับผิดเพียงผู้เดียว แต่ได้ฟ้องทายาทอื่นให้โอนคืนมรดกที่รับไปแล้วให้แก่โจทก์เท่ากับเป็นการฟ้องเอาทรัพย์มรดกที่ได้แบ่งปันกันแล้ว อายุความจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มิใช่มาตรา 1733 วรรคสอง กรณีต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือภายใน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย เห็นว่า คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกจะมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้กองมรดกนั้นจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิเรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถูกฟ้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5มิใช่ผู้จัดการมรดกหากเป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทเมื่อถูกโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นคดีมรดก อายุความจึงอยู่ในบังคับมาตรา 1754 ดังนั้นเมื่อคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7ร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดกขอให้กำจัดมิให้รับมรดกด้วย ซึ่งหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ปิดบังทรัพย์มรดกจริงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเมื่อถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมถือว่ามิใช่ทายาทอันจะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ แต่ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกคดีของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 7 ก็ขาดอายุความ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่เสียก่อน แต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่ขาดอายุความจึงเป็นการข้ามขั้นตอน อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วนในผล

พิพากษายืน แต่ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 เสียใหม่

( สมคิด ไตรโสรัส - เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - อัธยา ดิษยบุตร )

 

มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่า ส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อม ประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลยแต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตน จะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้าย หรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิดหรือข้อตกลง อื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ ใน มาตรา 1732 นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่ง มอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อย กว่าสิบวันก่อนแล้ว

คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

มาตรา 1755 อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคล ซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-16 09:33:53


ความคิดเห็นที่ 5 (1939195)

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น แตน วันที่ตอบ 2009-05-18 12:18:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล