ReadyPlanet.com


แรงงาน


   เรียนสอบถามค่ะว่าในกรณีที่นายจ้างเลื่อนกำหนดการจ่าเงินเดือนของลุกจ้างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าถือว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่คะยกตัวอย่างเช่น  กำหนดจ่ายวันที่30  แต่เงินก็ยังไม่เข้าต้องให้ทวงถึงดอนเข้าให้อย่างเร็วสุดก็ภายในวันที่5 ช้าสุดวันที่12ก็ยังไม่ได้อย่างนี้เราเอผิดกับนายจ้างได้ไหมคะ


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้ใช้แรงงาน :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-14 14:41:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1937550)

มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

------คงคิดเอาดอกเบี้ยได้ตามกฎหมายครับ แต่ถ้าเขาไม่จ่ายก็คงต้องฟ้องเอา ถ้าถึงต้องฟ้องเอาก็คงต้องหางานอื่นได้ก่อนนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-14 17:46:42


ความคิดเห็นที่ 2 (1938551)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466 - 5467/2545

 

 

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองได้ก็จะต้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองทราบดีถึงหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้าง จำนวนเงินแน่นอนที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้าง กำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้าง บุคคลที่จะได้รับค่าจ้าง ทั้งจำเลยทั้งสองมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างนั้นได้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โดยไม่มีเหตุผลอันควร เมื่อเงินค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าค้างชำระนั้นเป็นเงินส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องปรับเพิ่มให้เดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาจ้างแต่จำเลยทั้งสองยังโต้แย้งว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องจ่ายหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองยังไม่จ่ายให้จึงมีเหตุอ้าง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 314,838.71บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,498,741.94 บาท

สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างค้างจ่าย348,839.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 314,839.71 บาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "...ในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเอกสารนั้น ศาลแรงงานกลางได้สอบโจทก์แล้วได้ความว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นเข้าสู่สำนวนนั้นมีข้อมูลครบถ้วน ไม่มีข้อมูลอื่นที่จะต้องสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารส่วนที่เป็นสำเนามีต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสองไม่อาจนำมาได้ และได้สอบทนายจำเลยทั้งสองแล้วยอมรับเอกสารทุกฉบับในส่วนที่เป็นต้นฉบับเท่านั้น ส่วนที่เป็นสำเนาไม่ขอรับเนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีอยู่ที่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพราะทนายจำเลยทั้งสองไม่ได้เห็นต้นฉบับ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเนื่องจากต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ทำการตรวจสอบคงปฏิเสธว่าไม่ทราบว่ามีอยู่ที่จำเลยทั้งสองหรือไม่ จึงรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารนั้น ดังนี้ การรับฟังสำเนาพยานเอกสารของศาลแรงงานกลางเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นกล่าวคือต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ไม่ทำการตรวจสอบหรือทักท้วงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลแรงงานกลางย่อมอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบและรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้โดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านายจ้างมีสิทธิที่จะขยายระยะเวลาทดลองงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนนั้นเห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์พ้นระยะเวลาทดลองงานแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

จำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 1 มิได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์ตกลงเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จล.1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2541 กลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล โดยจำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่ยังรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ครั้นเดือนพฤษภาคม 2542 จึงไปรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2ในการจ้างโจทก์นายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในนามกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล และในการเลิกจ้างโจทก์ นายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ ก็เป็นผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างโดยอ้างถึงสัญญาจ้างดังกล่าว ดังนี้การจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างเพื่อให้ทำงานในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผลซึ่งมีบริษัทจำเลยทั้งสองรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ส่วนระยะเวลาใดโจทก์จะรับค่าจ้างจากจำเลยคนใดนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างแก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์ทำงานในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล และเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินที่โจทก์เรียกร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันเริ่มจ้างจนถึงวันเลิกจ้าง และตามข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและพยานเอกสารต่าง ๆ แสดงว่าโจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยทั้งสองหลายครั้ง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองหรือไม่จักต้องพิจารณาจากมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคแรกโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน" ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองได้ก็จะต้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองทราบดีถึงหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้าง จำนวนเงินแน่นอนที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้าง กำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้าง บุคคลที่จะได้รับค่าจ้าง ทั้งจำเลยทั้งสองมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างนั้นได้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โดยไม่มีเหตุผลอันควร คดีนี้ปรากฏตามพฤติการณ์แห่งคดีว่าเงินค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าค้างชำระนั้นเป็นเงินส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องปรับเพิ่มให้เดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาจ้าง ซึ่งเงินส่วนนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน จำเลยที่ 1 จึงให้โอกาสแก่โจทก์ในการทำงานใหม่ที่เหมาะสมแทนการบอกเลิกจ้างด้วยการให้ไปช่วยงานจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน โจทก์ตกลงแล้วจึงได้โอนย้ายโจทก์ให้ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท ค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าต้องปรับเพิ่มจึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องจ่ายหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองยังไม่จ่ายให้จึงมีเหตุอ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( เกษมสันต์ วิลาวรรณ - วีรพจน์ เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-16 12:50:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1938553)

เงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4573 - 5228/2544

เงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานเท่านั้น มิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง เงินโบนัสจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 เมื่อเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง การที่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างจึงมิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างและต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 9 วรรคสอง

ข้อบังคับของธนาคารจำเลยที่ระบุว่า จำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสให้ปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด นั้นแม้จำเลยจะจ่ายโบนัสครั้งแรกพร้อมเงินเดือนในเดือนมิถุนายนโดยตลอดก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นกำหนดเวลาจ่ายเงินโบนัสครั้งแรก หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดชำระ จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามก่อน

จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมแล้ว การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน ธ. และต่อมาได้มีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับเงินโบนัสขึ้นใหม่ ภายหลังที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามอัตราเดิม

 

คดีทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้ากับคดีอื่นอีกหนึ่งสำนวน ซึ่งโจทก์ได้ขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 222 และโจทก์ที่ 224 ถึงที่ 656 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ในระหว่างการทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องเงินโบนัสว่า จำเลยจะจ่ายโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้ง และพนักงานที่มีสิทธิได้รับโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชี และได้กำหนดอัตราการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างตามขั้นของตำแหน่งงานของลูกจ้างแต่ละคนและวันสิ้นงวดบัญชีงวดที่ 1 คือวันที่ 30 มิถุนายน และงวดที่ 2คือวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ดังนี้สำหรับปี 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินโบนัสงวดที่ 1 ในวันที่ 28 มิถุนายน 2541 โจทก์ทุกคนอยู่ปฏิบัติงานถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จึงมีสิทธิได้รับโบนัสงวดที่ 1 คนละประมาณ 3 เดือน ซึ่งจำเลยต้องจ่ายในวันที่ 28มิถุนายน 2541 แต่ถึงวันดังกล่าวจำเลยไม่ยอมจ่ายจนกระทั่งวันที่ 10 และ 28 สิงหาคม 2541 จึงจ่ายให้โจทก์ทุกคนในอัตราเพียงคนละหนึ่งเท่าของเงินเดือนคงค้างจ่ายอยู่ประมาณคนละสองเท่าของเงินเดือน ถือว่าจำเลยผิดนัดจ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานหรือเงินโบนัสงวดที่ 1 แก่โจทก์ทุกคนโดยจงใจและไม่มีเหตุผลอันสมควรและโจทก์ทุกคนไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยจำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินโบนัสที่ค้างจ่ายทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2541 คิดถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสและเงินเพิ่มตามฟ้องและจ่ายเงินเพิ่มต่อไป นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทุกคน

จำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทุกคนไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเพราะในปี 2541 จำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสว่าให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสเพียง 1 งวด โดยแบ่งจ่ายในอัตรา 1 เท่าของเงินเดือนในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 และให้จ่ายส่วนที่เหลือตามอัตราที่พนักงานแต่ละลำดับชั้นพึงได้รับต่อ 1 งวดหรือครึ่งหนึ่งตามข้อตกลงร่วมข้อ 1 ปี 2536 ให้แก่พนักงานที่มีสภาพพนักงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 โดยจำเลยตกลงจ่ายภายในเดือนธันวาคม 2541 โจทก์ที่เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเพราะพนักงานเหล่านั้นและจำเลยไม่เคยทำข้อตกลงใด ๆกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสไว้เลย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยและสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยไม่เคยผิดนัดในการจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทุกคน เพราะไม่เคยมีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินดังกล่าวในวันใด สำหรับปี 2541 มีปัญหาเรื่องผลประกอบการที่จำเลยต้องพิจารณาประกอบในการจ่ายเงินโบนัสและได้เจรจากับฝ่ายลูกจ้างมาโดยตลอดจนถึงใกล้สิ้นปีจึงสามารถตกลงกันได้ กรณีไม่ใช่การจงใจผิดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควรทั้งเงินโบนัสก็ไม่ใช่ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือเงินประกันซึ่งลูกจ้างจะเรียกเงินเพิ่มได้ในกรณีที่นายจ้างผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลง โจทก์ที่ 223ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โจทก์ทุกคนเคยเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์บางรายเป็นลูกจ้างระดับพนักงานบางรายเป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา ในเรื่องเงินโบนัสจำเลยและสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพได้ทำข้อตกลงร่วมกันตลอดมาตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2536 ตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.ล.1ต่อมามีข้อตกลงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และข้อตกลงฉบับล่าสุดระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม ถึงวันที่ 25ธันวาคม 2541 ตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.ล.2 และ จ.ล.3ตามลำดับ โดยก่อนทำข้อตกลงฉบับหลังโจทก์ทุกคนพ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้วตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.4 ก็ระบุเรื่องเงินโบนัสไว้ในข้อ 6.1 จำเลยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพมีข้อตกลงร่วมตามเอกสารหมาย จ.ล.5 โจทก์ทุกคนทำงานกับจำเลยจนพ้นเดือนมิถุนายน 2541 โดยทยอยออกจากงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมสิงหาคม กันยายนและพฤศจิกายน 2541 และจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทุกคน คนละ 1 เดือน เมื่อวันที่ 10 และ 28 สิงหาคม2541 แล้ววินิจฉัยว่า ตามข้อลงร่วมฉบับใหม่เอกสารหมาย จ.ล.3ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2541 เป็นต้นไป ซึ่งขณะทำข้อตกลงโจทก์ทุกคนพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ข้อตกลงนั้นจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ดังกล่าว ซึ่งต้องมีสิทธิตามข้อตกลงเดิม ส่วนโจทก์ทุกคนมีสิทธิเรียกเงินโบนัสพร้อมเงินเพิ่มตามฟ้องหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าอัตราเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทุกคนมาโดยตลอดเป็นอัตราแน่นอนตั้งแต่ปี 2537 นั้นเกิดจากข้อตกลงแม้ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสจำเลยมีสิทธินำผลการปฏิบัติงานมาพิจารณาประกอบได้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบไม่ปรากฏว่ามีลูกจ้างรายใดมีผลการปฏิบัติงานไม่น่าพอใจ และต้องคิดเงินโบนัสจากอัตราที่กำหนดแน่นอนไว้แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามอัตราที่ฟ้องและที่คู่ความทำบัญชีร่วมเสนอต่อศาล ส่วนในข้อที่มีการกำหนดวันจ่ายเงินโบนัสไว้ชัดเจนหรือไม่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า มีการกำหนดวันจ่ายเงินโบนัสไว้แน่นอนมีเพียงระเบียบข้อบังคับในการทำงานตามเอกสารหมาย จ.ล.4กำหนดเพียงว่าจ่ายภายหลังวันปิดบัญชีประจำงวดสำหรับคดีนี้หมายถึงจ่ายภายหลังวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันปิดงวดบัญชีงวดแรก ส่วนที่โจทก์ทุกคนนำสืบว่า จำเลยจ่ายพร้อมเงินเดือนในเดือนมิถุนายนมาโดยตลอด ก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติกรณีถือไม่ได้ว่าเป็นกำหนดจ่ายเงินโบนัส หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่กำหนดชำระ จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์ทุกคนไม่ได้นำสืบให้ชัดว่าทวงถามแล้วเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดต้องจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันใดก่อนวันฟ้อง คงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้อง ส่วนที่โจทก์ทุกคนเรียกเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 28มิถุนายน 2541 ซึ่งอ้างว่าเป็นวันผิดนัด เนื่องจากเงินโบนัสมิใช่ค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินประกันหรือค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 โจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่ม เนื่องจากโบนัสเป็นหนี้เงินค้างชำระ เห็นสมควรกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกคนร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินโบนัสนับแต่วันฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 52 พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบหกคน (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าคน)รายละเอียดจำนวนเงินโบนัสของโจทก์แต่ละคนอยู่ในช่องโบนัสที่เรียกเพิ่มตามบัญชีท้ายคำพิพากษา

โจทก์และจำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า ตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.ล.4 กำหนดจ่ายเงินโบนัสภายหลังวันปิดบัญชีประจำงวด ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จ่ายภายหลังสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ทุกคนเห็นว่าเงินโบนัสเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระหรือกำหนดจ่ายที่แน่นอนจำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทุกคนภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2541เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 หรือหากเห็นว่าจะต้องชำระตามข้องบังคับเอกสารหมาย จ.ล.4 ก็ต้องจ่ายไม่เกินวันที่ 7 กรกฎาคม2541 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9วรรคสอง เพราะเงินโบนัสถือว่าเป็นค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการชำระเงินไว้เพียง 7 วัน มิใช่จนกว่าโจทก์ทุกคนจะทวงถาม เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2541 และที่โจทก์ทุกคนอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่าโจทก์ทุกคนมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันทั้งเงินโบนัสเป็นสภาพการจ้าง เป็นค่าจ้างและเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 5 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2540มาตรา 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อไปพร้อมกัน เห็นว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้คำนิยามคำว่า "สภาพการจ้าง"หมายความว่า "เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้างหรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน" กับมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้คำนิยามคำว่า"ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง..." และมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง...ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด... ค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" และตามมาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างจงใจ... ไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนด... จ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นั้นเห็นได้ว่าเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานเท่านั้น มิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง เงินโบนัสจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2540 และมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในคำนิยามของคำว่า สภาพการจ้างเช่นนี้ เมื่อเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้างแล้วการที่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้าง จึงมิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างและต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ดังที่โจทก์ทุกคนอ้างมาในอุทธรณ์ ทั้งกรณีที่จะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินโบนัสวันใดนั้น โจทก์ทุกคนอ้างว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2541 หรือหากจะถือข้อบังคับตามเอกสารหมายจ.ล.4 ก็คือในวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง เพราะเงินโบนัสเป็นค่าจ้างนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 9 วรรคสอง ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่าย คดีนี้คู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า ตามเอกสารหมาย จ.2 บทที่ 4 เรื่องค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่น ๆ ข้อ 2 โบนัส ในข้อ 2.1 ธนาคารจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานปีละ 2 ครั้ง และข้อ 2.2 พนักงานมีสิทธิได้รับโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชี และตามข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมายจ.ล.4 ข้อ 6 เรื่องผลประโยชน์อื่นนอกเหนือเงินเดือนในข้อ 6.1 โบนัสธนาคารจำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสให้ปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด คดีนี้โจทก์ทั้งหมดทำงานกับจำเลยมาก่อนวันที่ 1มกราคม 2541 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อันถือว่าเป็นวันสิ้นสุดในการปิดบัญชีประจำงวดที่หนึ่ง เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.2ประกอบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล.4 ข้อ 6.1แล้วข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดจ่ายเงินโบนัสไว้แน่นอนวันใดที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.ล.4 กำหนดเพียงว่าการจ่ายเงินโบนัสให้จ่ายภายหลังวันปิดบัญชีประจำงวด คดีนี้ หมายถึงจ่ายภายหลังวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันปิดงวดบัญชีงวดแรก ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยจ่ายพร้อมเงินเดือนในเดือนมิถุนายนโดยตลอดเป็นเพียงวิธีปฏิบัติกรณีถือไม่ได้ว่าเป็นกำหนดจ่ายเงินโบนัส หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดชำระ จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถาม ซึ่งข้อเท็จจริงโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าทวงถามเมื่อใด ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดต้องจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันใดก่อนฟ้อง คงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันฟ้องนั้นชอบแล้ว ส่วนในข้อที่โจทก์ทุกคนอุทธรณ์เรียกเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันนั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าเงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มตามบทบัญญัติมาตรา 9 ดังกล่าว

ส่วนในข้อที่จำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.ล.2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งจำเลยได้จัดทำกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ย่อมมีผลผูกพันและก่อให้เกิดสิทธิแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าว หากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ลูกจ้างก็ไม่อาจอ้างสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นได้ คดีนี้ภายหลังจำเลยปิดบัญชีงวดแรกปี 2541 จำเลยมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล.4 ข้อ 6.1 นับตั้งแต่วันปิดงวดบัญชีคือวันที่ 30มิถุนายน 2541 ซึ่งนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2541อันเป็นวันที่จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ในเรื่องเงินโบนัสของปี 2541 ตามเอกสารหมาย จ.ล.3 จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดการจ่ายเงินโบนัสจำเลยยังสามารถอาศัยขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในส่วนของเงินโบนัสตามที่จำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องในเรื่องเงินโบนัสต่อสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ได้ในวันที่โจทก์ทุกคนออกจากงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โจทก์ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสงวดแรกของปี 2541 เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาและเจรจาต่อรองตามกฎหมาย โจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสงวดแรกปี 2541 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.3 ทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องเงินโบนัสเดิมสิ้นผลไป จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดตกลงกันไว้เดิมนั้น เห็นว่า ตามคู่มือการบริหารงานบุคคลเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า ธนาคารจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้ง พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชีงวดแรกคือวันที่ 30 มิถุนายน2541 ปรากฏว่าโจทก์ทุกคนทำงานกับจำเลยมาก่อนวันที่ 1 มกราคม2541 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดบัญชีแรกของจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมายจ.ล.4 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.2เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นการที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 และต่อมาได้มีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นภายหลังที่โจทก์ทุกคนพ้นสภาพการเป็นนักงานของจำเลยแล้ว ดังนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 25ธันวาคม 2541 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2541จึงหามีผลผูกพันโจทก์ทุกคนไม่ โจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.2 เดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งหกร้อยห้าสิบห้าสำนวนทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( กมล เพียรพิทักษ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - จรัส พวงมณี )

หมายเหตุ

 

หนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องเตือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคสอง ส่วนหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้หรือมีกำหนดเวลาชำระหนี้แต่ไม่ใช่ตามวันแห่งปฏิทิน ลูกหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้เตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คดีนี้ตามข้อบังคับของธนาคารจำเลยระบุว่า ธนาคารจำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสให้ปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวดกรณีเช่นนี้น่าจะถือว่า มีการกำหนดเวลาจ่ายโบนัสไว้แล้วว่าจะจ่ายภายหลังการปิดบัญชีประจำงวดจึงถือว่าเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ที่แน่นอน ซึ่งเจ้าหนี้หรือลูกจ้างจะเรียกร้องให้จ่ายโบนัสก่อนการปิดบัญชีประจำงวดแต่ละครั้งไม่ได้ แต่กำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าวมิใช่วันแห่งปฏิทิน ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องเตือนก่อนลูกหนี้จึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง

ไพโรจน์ วายุภาพ

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-16 12:58:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล