ReadyPlanet.com


ภริยาให้ความยินยอมในการซื้อและจำนอง โดนฟ้อง


ถ้าภริยาทำหนังสือให้ความยินยอมแก่สามีในการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาสามีผิดนัดไม่ชำระหนี้ การให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสดังกล่าวจะถือว่า ภริยาเป็นหนี้ร่วมกับสามีหรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ นิดา :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-10 10:45:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948928)

จำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ... มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามี หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1)
หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบ ครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและ การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2)
หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3)
หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4)
หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบัน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 13:36:25


ความคิดเห็นที่ 2 (1948929)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันจำนวน 800,016.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 649,926.91 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ดินโฉนดเลขที่ 3396, 3409 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินต้นจำนวน 649,926.91 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 ตุลาคม 2542) ต้องไม่เกิน 117,593.53 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3396, 3409 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1, ที่ 3 ถึงที่ 5 ออกขายทอดตลาดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1, ที่ 3 ถึงที่ 5 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1, ที่ 3 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16.25 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ (โจทก์) ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยกำหนดชำระเป็นรายเดือนภายในวันที่ 3 ของทุกๆ เดือน งวดแรกชำระวันที่ 3 พฤษภาคม 2541 และอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานี้เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งผู้กู้ตกลงและยิมยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สูงขึ้นหรือลดลงได้ตลอดเวลา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ส่วนสัญญาข้อ 11 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้เรียกร้องให้ผู้กู้ใช้เงินคืนให้แก่ผู้ให้กู้ ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา เมื่อไม่ปรากฏว่านับแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ถึงวันที่โจทก์บังคับจำนำ โจทก์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินตามสัญญาข้อ 2 แต่ประการใด การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 11 ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยส่วนที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16.25 ต่อปี ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์คิดเบี้ยปรับย้อนหลังแก่จำเลยที่ 1 ในขณะที่บังคับจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินย้อนหลังไปถึงวันทำสัญญาวันที่ 3 เมษายน 2541 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ จึงเป็นการบังคับชำระหนี้เกินไปกว่าความรับผิดที่จำเลย 1 จะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นเวลา 1 เดือน คิดเป็นเงินเบี้ยปรับส่วนเกินจำนวน 1,489.58 บาท จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ด้วย คงเหลือต้นเงินจำนวน 648,437.33 บาท ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอม โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ดังนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมรับรู้หนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 648,437.33 บาท แก่โจทก์ และหากยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ - ชาลี ทัพภวิมล - สมศักดิ์ จันทรา )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 13:37:27


ความคิดเห็นที่ 3 (1948930)

 

จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งได้ทำการจดทะเบียนสมรสในวันที่ 9 มีนาคม 2524 และต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินที่จำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.10อันเป็นการได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 3 ดังนั้นที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) และในเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยานำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490(2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2541

 

หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดและระบุด้วยว่าจำเลยผู้กู้และผู้จำนองตกลงให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุง อัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม โดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ และถือว่าจำเลยได้ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้ว และตามสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินระบุว่าหากภายหลังวันทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้จำเลยยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 ต่อปีเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ที่ศาลจะลดลงได้ตามมาตรา 383 การที่โจทก์ปรับดอกเบี้ยตามข้อตกลงขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งในการเรียกเอาชำระหนี้ทั้งหมดจากจำเลยเท่านั้นไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนเป็นเบี้ยปรับไปไม่ จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1สมรสกับจำเลยที่ 3 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) และเมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490(2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน232,779.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 196,818.42 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับตามฟ้องโจทก์สามารถยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 จะชำระส่วนที่ขาด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน196,818.42 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ระหว่างที่โจทก์ปรับปรุงดอกเบี้ยในอัตราใหม่กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.14 และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.15 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และได้รับเงินกู้ดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราที่โจทก์ปรับปรุงใหม่ตามที่เห็นสมควรโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ กำหนดชำระดอกเบี้ยและต้นเงินเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,500 บาท กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 180 เดือน แต่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ทั้งหมดก่อนกำหนดได้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.4 โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอมในการทำสัญญาของจำเลยที่ 1ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่โจทก์กำหนดตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 สัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.9 และสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.10 ภายหลังจากวันทำสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ 7,500 บาท แล้วผิดนัดชำระหนี้จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือนั้นแล้วแต่เพิกเฉย

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดดอกเบี้ยโจทก์จากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 18 ต่อปี หรือไม่ซึ่งข้อนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 และหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 1 ได้ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดและตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุด้วยว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบ และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้ว และตามสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 ระบุว่าหากภายหลังวันทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 ต่อปี เป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.14 และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.15 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ที่ศาลจะลดลงได้ตามมาตรา 383 การที่โจทก์ถือโอกาสปรับดอกเบี้ยดังกล่าวตอนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็เป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งในการเรียกเอาชำระหนี้ทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1อันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับ โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งได้ทำการจดทะเบียนสมรสในวันที่ 9 มีนาคม 2524 และต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินที่จำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.10อันเป็นการได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 3 ดังนั้นที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) และในเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยานำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490(2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน196,818.42 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอแก่การชำระหนี้โจทก์ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( ระพิณ บุญสิทธิ์ - สุชาติ ถาวรวงษ์ - สมศักดิ์ วงศ์ยืน )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 13:38:38


ความคิดเห็นที่ 4 (1949446)

**การที่ภรรยาได้ให้ความยินยอมในการที่สามีได้ก่อหนี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินส่วนตัวของสามีเอง หรือเป็นนี้ที่ ควรจะเป็นสินสมรสอย่างที่คุณเข้าใจ  ภรรยาอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมกันกับสามีครับ 

**อีกทั้งในกรณีของคุณ หากว่าคุณถูกฟ้องให้ร่วมชำระหน้กับสามี หากว่าบ้านพร้อมที่ดินที่ได้ซื้อและจำนองไว้ หากว่ามีการฟ้องบังคับชำระหนี้  หากว่าเจ้าหนี้ (ตามคำพิพากษา) ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน เมื่อมีการบังคดี ก็คือขายทอดตลาดบ้านพร้มที่ดินที่ได้จกจำนองอยู่นั้นแหละครับ

เจ้าหนี้ยังสามารถบังคับเอาจากทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวของคุณได้อีกน่ะครับ !!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-06-11 15:30:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล