ReadyPlanet.com


สัญญากู้ยืมเงินที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตรา


กู้ยืมเงินกันโดยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ในต้นเงิน 300,000 บาท ผู้กู้ค้างจ่ายดอกเบี้ย 60,000 บาท เจ้าหนี้ผู้ให้กู้จึงให้ทำสัญญากู้ใหม่เป็นต้นเงิน 360,000 บาท ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ฟ้องให้ชำระเงินตามสัญญากู้  ในกรณีอย่างนี้ สัญญากู้เป็นโมฆะทั้งฉบับหรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ เจ้าหนี้ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-09 21:38:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948661)

การที่โจทก์นำดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาทที่กู้ยืม แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยกการกู้เงินออกเป็นสองส่วน เฉพาะนิติกรรมการกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท เท่านั้น ที่ตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนจำนวน 300,000 บาท ยังคงสมบูรณ์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์ จำเลยในเงินส่วนนี้จึงเป็นหนี้สมบูรณ์ เมื่อจำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน360,000 บาท สัญญาจำนองดังกล่าว จึงมีผลใช้บังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2545

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 360,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยได้นำที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 642 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้ต่อโจทก์ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน421,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 360,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน300,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์บ้างแล้ว ต่อมาโจทก์ได้นำดอกเบี้ยค้างชำระตามสัญญากู้ฉบับดังกล่าวจำนวน 60,000 บาท ซึ่งเป็นโมฆะมารวมกับต้นเงินกู้ 300,000 บาท เป็นเงิน360,000 บาท แล้วทำสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2541 ขึ้นใหม่และนำมาฟ้องจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในส่วนต้นเงิน 60,000 บาทและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 642 ตำบลเขาย้อยอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 4/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาย้อยอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยไม่ต้องรับผิดส่วนที่ขาดจำนวนต่อโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2541จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 360,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยโจทก์นำดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 60,000 บาท ซึ่งเกินอัตรากฎหมายกำหนดรวมเป็นต้นเงินดังกล่าวด้วย จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 300,000 บาท ในวันทำสัญญากู้ยืมจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 642 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นประกันในวงเงิน 360,000 บาท เมื่อครบสัญญาจำนอง จำเลยไม่ไถ่ถอนจำนอง โจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วพิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อสัญญากู้ยืมซึ่งเป็นสัญญาประธานเป็นโมฆะ สัญญาจำนองซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์แห่งการกู้ยืมจึงไม่สมบูรณ์ เพราะสัญญาจำนองมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น และแม้จะฟังว่าหนี้เงินกู้จำนวน 300,000 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท จะแบ่งแยกกันได้ แต่ขณะทำสัญญาจำนอง โจทก์มิได้มีเจตนาแบ่งแยกหนี้ที่สมบูรณ์กับหนี้ที่เป็นโมฆะออกจากกัน ทั้งสัญญาจำนองไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดออกเป็นส่วน ๆ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 642หน้าสำรวจ 74 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี นั้น เห็นว่า การที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ2 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาท ที่กู้ยืมนั้น แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยกการกู้เงินออกเป็นสองส่วนส่วนที่หนึ่งคือกู้เงินจำนวน 300,000 บาท อีกส่วนหนึ่งคือ 60,000บาท เฉพาะนิติกรรมการกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท เท่านั้น ที่ตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนจำนวน 300,000 บาทยังคงสมบูรณ์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยในเงินส่วนนี้จึงเป็นหนี้สมบูรณ์ เมื่อจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 642 หน้าสำรวจ 74 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน 360,000 บาท สัญญาจำนองประกันหนี้ดังกล่าว จึงมีผลใช้บังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์ คือ จำนวน 300,000 บาท เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองในหนี้ส่วนนี้ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว"

พิพากษายืน

( ปรีดี รุ่งวิสัย - อัธยา ดิษยบุตร - สมศักดิ์ เนตรมัย )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 21:42:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล