ReadyPlanet.com


โดยนายจ้างเปลี่ยนตำแหน่งงาน และลดเงินเดือน ควรทำอย่างไรดีคับ


เรื่องมีอยู่ว่า ผมทำงานที่นี่เป็นที่แรกตั้งแต่เรียนจบ เป็นบริษัทเล็กๆ ผมกะว่าจะเติบโตกับที่นี่เลยก็ว่าได้ แต่แล้ว ... ตอนแรกผมเป็นหัวหน้าของแผนกออกแบบ ทำงานมาได้ประมาณ 4 ปี นายคุยกับผมและลูกจ้างร่วมรุ่นอีก 3 คน ให้จำลองการทำงานแบบเป็นเจ้าของเอง ทำไปซักพัก คนที่ผมไว้ใจได้ที่สุดลาออกไป ผมเลยคิดว่าเหนื่อยแน่ๆ พอดีเพื่อนอึกคนชวนไปทำหนังสือแจกฟรี ผมเลยไปคุยกับนายว่าสนใจไหม น่าทำไหม ผมกับเืพื่อนจะเป็นคนริเริ่มเอง จะหาทุกอย่างเองทั้งหมด ให้นายจ้างเปงนานทุนให้ เค้าก้โอเค ผมเลยต้องออกมาจากหัวหน้าแผนก (ตอนนั้นทั้งแผนกมีอยู่ 11 คน) ออกมาทำงานอีกด้านกับเืพื่อนอีกคนที่ร่วมรุ่น พอทำได้ 6 เดือน ประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจไม่ดี ภาวะการเงินก้ไม่ค่อยดี เค้าเลยมาคุยกับเราว่าให้หยุดโปรเจคนี้ไว้ก่อน เราเองก้พูดไรไม่ได้ ก็เออออไป ตอนนั้นก้ยังสงสัยว่าแล้วจะให้ผมกับเพื่อนทำอะไร เพราะเราออกมาจากตำแหน่งหัวหน้าแล้ว จะกลับไปคงไม่ได้แน่นอน แล้ววันนั้นก้มาถึงอย่างรวดเร็ว เค้าเรียกเราเข้าไปคุยบอกว่าต้องไปทำอย่างอื่น เค้าก้ให้เราไปเป็นเซล (ใจเราตอนนั้นก้คิดว่ามันคงเหมาะกับเราที่สุดแล้วล่ะ ถึงจะไม่เคยทำ แต่เราก้ช่วยที่บ้านช่วยของมาก่อน แล้วก่อนหน้านี้ เวลาไปพบลูกค้า ลูกค้าก้มักจะชอบพอเราอยู่เสมอ) เราก้อื้ม ได้คับ ตอนนั้นยังไม่คิดอะไรเลย เพราะเราเองก้นั่งเฉยๆ ไม่ได้ทำงานไรเลยมาร่วมอาทิตย์ก่าๆ ก็รุ้สึกไม่ดีเหมือนกัน พอเค้าบอกให้ทำไร เราก้ทำ ถือว่าช่วยๆ กัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น คนในบริษํทโดนเชิญออกไป 6 คน (จากเดิมมีประมาณเกือบ 40 คน) แล้วเค้าก้แจ้งว่าต้องลดเงินเดือนพนักงานทกุคน 10% เำืพื่อช่วยกัน ตอนแรกก้ไม่พอใจหรอก แต่ก้เห็นว่าช่วยกัน แล้วก้โดนกันหมดก็ไม่เป็นไร แต่หลังจากนั้นอีก เราโดนเรียกเข้าไปคุย บอกว่าเป็นเซล จะเอาค่าคอมรึป่าว ถ้าเอาต้องลดเงินเดือนไปอีก 30% แต่ถ้าไม่เอาค่าคอมก้ลดอีก 10% สรุปคือ เงินเดือนลดจากเดิม20% และไม่ได้ค่าคอม หรือ เงินเดือนลดจากเดิม40% แต่ได้ค่าคอม หลายคนอาจไม่เห็นภาพ ผมเอง เงินเดือน 25000 สรุปคือ แบบที่ 1 เหลือเงินเดือน 20000 แบบที่ 2 เหลือเงินเดือน 15000+com เป็นคุณจะเลือกแบบไหน แล้วจะยอมรึป่าวคับ สุดท้าย ผมขอถามหน่อยว่า - นายจ้างมีสิทธิ์ย้ายงาน+ลดเงินเดือนเราได้หรือไม่ - ถ้าไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น แล้วต้องทำยังไงบ้าง - ถ้าผมขอเค้าเงินเดือนเท่าเดิม (บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเซลเงินเดือน 25000 มันเยอะไป แต่ผมต้องเลี้ยงพ่อแม่ และครอบครัวผมเองด้วยนะคับ ผมโดนลดเงินไม่ได้จริงๆ) หรือขอลด 10%แล้วได้ค่าคอมด้วย จะน่าเกลียดรึป่าวคับ เค้าคงไม่ยอมเชิญผมออกแน่ๆ เพราะ 1.ผมเองก็ทำงานดีมาตลอด อยู่กับเค้ามาตั้งแต่มีพนักงาน 2คน (รวมผมด้วย) 2.เค้าเหมือนเป็นคนฆ่าผมทางอ้อม เพราะบอกว่าจะให้ทำงานหนังสือ ผมเลยต้องออกจากหัวหน้างาน แต่จู่ๆ ก็มาระงับ แล้วย้ายงานเรา 3.เงินชดเชยผมเองก้คงประมาณ 25000*6 เค้าคงไม่ยอมจ่ายแน่ๆ เพราะขนาดคนอื่นที่ออกไป ยังได้เงินไม่ค่อยจะครบ หรือก็ตอ้งโดนผ่อนหลายงวด หมาย เหตุ เหตุเกิดปัจจุบัน ผมเพิ่งโดนลดเงินเดือนไป 20% ในเดือนพค.ที่ผ่านมา โดย10% ทางบ.ได้แจ้งล่วงหน้าแล้ว แต่อีก10% หลังเพิ่งแจ้งก่อนเงินเดือนออกแค่ 3 วันเท่านั้น เค้าก็หักเงินผมเดือนนั้นเลย


ผู้ตั้งกระทู้ โจ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-08 21:39:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948206)

เพื่อความเหมาะสม นายจ้างอาจเปลี่ยนหน้าที่งานที่ทำได้ แต่จะลดค่าจ้างไม่ได้ครับ ถ้าลูกจ้างเลือกที่จะเล่นไม้แข็งกับนายจ้างก็ต้องมีงานสำรองไว้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น นายจ้างอาจยอมโดนลูกจ้างฟ้องแล้วไปตายเอาดาบหน้าก็ได้ ส่วนลูกจ้างหากหางานทำไม่ได้ง่าย ๆ ก็อาจเดือดร้อนหนักขึ้นไปอีกหรือไม่ ต้องไตร่ตรองให้ดี ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องคิดให้หนัก ๆ เข้าไว้ หากยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็มีงานทำต่อไปครับ

หากตัดสินใจใช้ไม้แข็งก็ปรึกษาสำนักงานตรวจแรงงานหรือที่ศาลแรงงาน แต่จะได้คุ้มเสียหรือไม่ต้องชั่งน้ำหนักเอาเองครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 22:22:11


ความคิดเห็นที่ 2 (1948221)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545

 

การตกลงกำหนดค่าจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ การที่จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่ปี 2536 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 38,000 บาท โจทก์ลาออก เมื่อวันที่ 17พฤษภาคม 2542 จำเลยจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์เท่านั้น แต่ไม่จ่ายเงินสมทบจำนวน 66,413 บาทให้โจทก์ด้วย และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนเมษายน2542 จำเลยจงใจจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบ นอกจากนี้จำเลยยังจงใจจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์ให้โจทก์ไม่ครบถ้วนรวมเป็นต้นเงิน เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 4,386,803 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,386,803 บาทพร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 628,363 บาท ทุกเจ็ดวันและนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามลำดับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่เดือนมกราคม 2537อัตราเงินเดือน 35,000 บาท โดยไม่มีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นอีก ตั้งแต่ปลายปี 2539เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องลดจำนวนพนักงานหรือเลิกจ้างพนักงาน จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือพนักงานระดับผู้บริหารกับหัวหน้าหน่วยงานทั้งหมดต่างเห็นชอบร่วมกันให้ลดเงินเดือนพนักงานทุกคนตามอัตราที่กำหนด หากพนักงานคนใดไม่เห็นชอบด้วยให้ลาออกโดยจำเลยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและมิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงได้มีการกำหนดอัตราเงินเดือนตามตำแหน่งที่จะลดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป จำเลยได้จ่ายเงินค่าผลประโยชน์จากการขายรถยนต์ให้โจทก์ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน 491,473 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 422,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์ที่ขาดจำนวน 140,492 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 139,700บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยลดค่าจ้างของโจทก์ชอบหรือไม่ และค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การตกลงกำหนดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างของลูกจ้าง อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ ข้อเท็จจริงเฉพาะคดีนี้ปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจึงลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่นรวม 2 ครั้งในช่วง นับแต่เดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 19,000 บาท และในช่วงนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงเดือนเมษายน 2542 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 18,050 บาท ในการลดค่าจ้างดังกล่าว จำเลยได้เรียกประชุมผู้จัดการฝ่ายทุกคนรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือนพนักงาน แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายแต่ละฝ่ายไปแจ้งให้พนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป หลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานทุกคนโดยโจทก์และพนักงานอื่นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างของโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องแก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า เอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารแผ่นที่สองของเอกสารหมาย จ.10 มีข้อความว่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรองประธานบริษัทจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมไว้ล่วงหน้าให้มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายเป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายให้โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์และดอกเบี้ยตามฟ้องนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายรถเล็ก เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 จำเลยได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์แก่ผู้จัดการฝ่ายขาย กล่าวคือ ถ้าขายได้คันที่ 1 ถึงคันที่ 5 จะได้รับคันละ 1,000 บาท คันที่ 6 ถึงคันที่ 10 จะได้รับคันละ 1,500 บาท และตั้งแต่คันที่ 11เป็นต้นไป จะได้รับคันละ 2,000 บาท จำเลยได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวให้โจทก์ในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2541 แล้ว แต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 จำเลยจ่ายให้โจทก์ไม่ครบ โดยจำเลยไม่อาจจะอ้างว่าผลประโยชน์ตอบแทนการขายรถยนต์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรองประธานและจำเลยได้เปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ได้ เพราะผลประโยชน์ตอบแทนการขายรถยนต์ดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยนายจ้างกำหนดให้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนการขายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ เห็นว่าเอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารเกี่ยวกับเงินเดือนและผลประโยชน์ของพนักงานรถใหญ่ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายรถเล็ก และอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งอ้างข้อความในเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวข้างต้นก็เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ตกลงยินยอมในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้เป็นการล่วงหน้ากรณีไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์แก่พนักงานขายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์นี้อีก จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวน 491,473 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 23:33:53


ความคิดเห็นที่ 3 (1948226)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238 - 7239/2544

 

การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งโจทก์ทำงานอยู่และมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงิน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ละทิ้งหน้าที่

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 42,500 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการไปเป็นพนักงานขายและขอลดเงินเดือนคนละเดือนละ 7,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมและทำหนังสือโต้แย้งขอให้จำเลยชี้แจงคำสั่งแต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง และวันรุ่งขึ้นจำเลยมีคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานพร้อมกับเก็บบัตรบันทึกเวลาไปด้วย อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในวันดังกล่าวโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 52,392 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน แต่จำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานในวันหยุดดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 รวม 24 วันคิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 32,070 บาท และโจทก์ที่ 2 ทำงานในวันหยุดดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2541 รวม 19 วัน คิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 26,240 บาทโจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะโจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีการศึกษามีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อลงมือทำงานแล้วจึงพบว่าโจทก์ทั้งสองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวและจำเลยต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการบังคับบัญชาเสียใหม่จึงยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ขายและส่งเสริมการขาย คงมีโจทก์ทั้งสองที่ไม่พอใจ ที่อ้างว่าถูกลดเงินเดือนลงคนละ 7,000 บาทนั้น โจทก์ทั้งสองก็จะได้รับชดเชยเป็นค่าตอบแทนการขายตามผลงานไม่ต่ำกว่า 7,000บาทต่อเดือน จำเลยพยายามหาตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมให้โจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือให้ข้อมูลทางการศึกษาและประวัติการทำงานจึงไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ได้นอกจากหน้าที่การขายที่โจทก์เคยทำอยู่ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำหน้าที่ดังกล่าวตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งที่จำเลยชี้แจงและตักเตือนแล้ว โจทก์ทั้งสองจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 โจทก์ทั้งสองจึงรับเงินค่าจ้างเกินไปคนละ 7 วัน เป็นเงินคนละ 9,912 บาท หากจำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ก็ต้องหักเงินดังกล่าวออกก่อน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีเพราะจำเลยให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุด การที่โจทก์ทั้งสองทำงานในวันหยุดตามประเพณีบางวันก็เพื่อทดแทนวันที่โจทก์ทั้งสองหยุดงานไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 42,480บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอยให้แก่ชาวต่างประเทศ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ตามลำดับครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายมีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ 150คน และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2542 เป็นต้นไปและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน และในวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสองไปเป็นพนักงานขายและลดเงินเดือนลงคนละ7,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 24กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและละทิ้งหน้าที่การงานตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 25 กรกฎาคม2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนละ 7,000 บาท นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง กล่าวคือเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งที่มีอำนาจบังคับบัญชาให้คำแนะนำแก่พนักงานขายคนอื่นมาเป็นเพียงพนักงานขายทั่ว ๆ ไปอีกทั้งลดเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้ประจำที่มีจำนวนแน่นอนลงอีกด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( ปัญญา สุทธิบดี - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 23:46:48


ความคิดเห็นที่ 4 (1948234)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6589/2544

 

วันที่ 9 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำเป็นต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานเกือบ 2 เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งที่ให้งดสืบพยานซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้างผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ เฉพาะของโจทก์ลดลงไปเดือนละ 2,022 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 รวม 26 เดือน เป็นเงิน 52,572 บาท การลดเงินเดือนและไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้าง โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2540 จึงขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี เมื่อจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบทบัญญัติข้างต้น มิใช่เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา และผู้จัดการฝ่ายบริหาร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 40,440 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน2540 จำเลยได้มีประกาศลดอัตราเงินเดือนของพนักงานระดับผู้บริหารการลดอัตราเงินเดือนดังกล่าว โจทก์มิได้ยินยอมด้วย จำเลยลดเงินเดือนโจทก์จาก 40,440 บาท เหลือ 38,418 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2540 ถึงเดือนธันวาคม 2542 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างโจทก์อีกเดือนละ2,022 บาท จำนวน 26 เดือน เป็นเงิน 52,572 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้าง 52,572 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยโดยคณะกรรมการบริหารและผู้บริหารระดับผู้จัดการแผนกได้ประชุมลดอัตราเงินเดือนพนักงานระดับผู้บริหาร และให้ผู้บริหารทุกคนนำมติไปแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หากไม่ตกลงยินยอมด้วยให้ทำหนังสือคัดค้านภายใน 15 วันนับแต่วันที่ออกประกาศ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 จำเลยได้ประกาศมติดังกล่าวและถือปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 ต่อมาจำเลยได้ขยายเวลาตามมติออกไปตามประกาศฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2541 โจทก์มีส่วนร่วมทั้งในการประชุมและในการลงมติโจทก์ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงกันให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า จำเลยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอลดค่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่มีการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์จำเลย จำเลยลดค่าจ้างโจทก์โดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้างพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 52,572 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 5 มกราคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 บัญญัติว่า "ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใดให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้..."บทบัญญัติดังกล่าวต้องนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมในคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ว่าในวันที่ 9 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความและคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีไม่มีความจำเป็นจะต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยกับพยานโจทก์และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยเกือบ 2 เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อมาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี...(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป..." ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้างผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ เฉพาะของโจทก์ลดลงไปเดือนละ 2,022 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 รวม 26 เดือน เป็นเงิน 52,572 บาท การลดเงินเดือนโจทก์ดังกล่าวและไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์เป็นการที่จำเลยนายจ้างกระทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้างโจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2540 รวมเป็นเงิน 4,044 บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยจึงขาดอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติข้างต้น ฟ้องโจทก์หาได้ขาดอายุความไปเสียทั้งหมดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าจ้างที่จะต้องชำระแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง...ไม่จ่ายค่าจ้าง...ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70... ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี" เมื่อจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบทบัญญัติข้างต้น หาใช่เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 48,528 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

( วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 23:56:27


ความคิดเห็นที่ 5 (1948240)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2541

 

โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเดือน เมื่อไม่มีข้อตกลงหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สิทธิแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่มาทำงานหรือขาดงานโดยโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วยได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขาดงานและทำงานไม่ครบเวลาในเดือนมีนาคมและเมษายน 2540 ก็ตาม ก็มิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 และ 421จำเลยย่อมไม่มีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ขาดงานโดยมิชอบนั้นได้

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งรังสีแพทย์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 80,000 บาท จำเลยค้างค่าจ้างของเดือนมีนาคมและเมษายน 2540 จำนวน 160,000 บาทโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 160,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานกลางนัดให้มาศาล และศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับ

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 151,500 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการขาดงานกับละทิ้งหน้าที่และผิดสัญญาจ้างแรงงานไปพร้อมกันและสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ดังนั้น เมื่อโจทก์ขาดงานและละทิ้งหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนในวันที่ขาดงานและละทิ้งหน้าที่ แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ให้สิทธิแก่จำเลยโดยตรงในการปรับลดค่าจ้าง หรือโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมให้ลดเงินเดือนด้วยก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ท่านว่าบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต และมาตรา 421 บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในเดือนมีนาคมและเมษายน 2540 โจทก์ขาดงานบางช่วงกับละทิ้งหน้าที่และผิดสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวแล้ว จำเลยย่อมเกิดสิทธิที่จะหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ขาดงานโดยมิชอบได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเดือน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สิทธิแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่มาทำงานหรือขาดงานโดยโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วยได้ ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ขาดงานและทำงานไม่ครบเวลาในเดือนมีนาคมและเมษายน 2540ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิลดเงินเดือนของโจทก์

พิพากษายืน

( กมล เพียรพิทักษ์ - พรชัย สมรรถเวช - อร่าม หุตางกูร )

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 00:05:54


ความคิดเห็นที่ 6 (1948352)

แล้วถ้าเราจะส่งเอกสารไม่ยินยอมนี่ (คงไม่ยินยอมในส่วนหลังน่ะคับ เพราะส่วนแรกถือว่ารับผิดชอบร่วมกันทั้งบริษํท) เราสามารถส่งเป็น e-mail ได้รึป่าวคับ หรือว่าต้องเป็น hardfile เท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น จขกท. วันที่ตอบ 2009-06-09 10:18:30


ความคิดเห็นที่ 7 (1948563)

ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวคัดค้านก็น่าจะได้นะครับ ถ้าเขายอมลงชื่อรับสำเนาก็ใช้ได้ ถ้าไม่ยอมรับก็น่าจะต้องส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เพื่อแสดงให้นายจ้างทราบว่าลูกจ้างไม่ยินยอมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-09 17:13:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล