ReadyPlanet.com


ศพ เป็นทรัพย์ หรือเป็นทรัพย์สิน หรือไม่


ศพ ถือว่าเป็นทรัพย์ หรือทรัพย์สินหรือไม่ และ อวัยวะเป็นทรัพย์สินหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-07 11:43:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1947580)

ปัญหาว่าศพมนุษย์เป็นทรัพย์หรือไม่เคยมีคดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเรื่องหนึ่งคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2508 แต่ฎีกานี้ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นทรพย์หรือ ทรัพย์สินปัญหาก็ยังไม่เป็นที่ยุติ นักกฎหมายหลายท่านพยายามจะวิเคราะห์ว่าจะเอาแนวอะไรมาพิจารณาว่า ศพ เป็นทรัพย์หรือไม่ ในบางลักษณะนั้น ศพอาจจะเป็นทรัพย์ก็ได้ หรือไม่เป็นทรัพย์ก็ได้ ยกตัวอย่างบรรดาอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์ทั้งหลายคือปกตินักศึกษาแพทย์จะมีอาจารย์ใหญ่ก็คือศพนั่นเอง สำหรับศพนั้นทางโรงเรียนแพทย์จัดหาให้นักศึกษาไปศึกษา ไปผ่าไปชำแหละเพื่อศึกษาในเรื่องสรีระวิทยาว่าอวัยวะส่วนไหนมีความสำคัญอย่างไร ชื่ออะไร อยู่ตรงไหน ประสาท กล้ามเนื้อ เส้นโลหิตต่าง ๆ เชื่อมต่อกันอย่างไร กระดูกชิ้นไหนอยู่ส่วน ตรงไหน เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาผู้ป่วยจริง ๆ ถ้ามีการซื้อศพมาศึกษา เช่นนี้ ศพ ก็เป็นทรัพย์เพราะมีราคาและอาจถือเอาได้

ส่วนอวัยวะของคนจะเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินหรือไม่ อวัยวะของคนในขณะที่ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์คงไม่ใช่ทรัพย์สิน เพราะไม่อาจจะถือเอาได้ เราไปต่อยเขาฟันหัก ไปขับรถชนเขาทำให้เขาแขนหักขาหักไม่ใช่เป็นการทำให้เสียทรัพย์ แต่อย่าไรก็ตามอาจจะมีการแยกอวัยวะออกมาได้เป็นส่วน ๆ เช่นสุภาพสตรีที่มีผมยาวสวยอาจจะไปตัดขายเพื่อทำเป็นวิก ทำเป็นผมมวยปลอมให้คนอื่นประดับตกแต่งได้ กรณีนี้เป็นที่ยอมรับกันได้ว่า ส่วนที่ตัดออกไปนั้นอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ก็น่าจะเป็นทรัพย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้านั้น การขายอวัยวะ เช่น ไต หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ เพื่อการปลูกถ่ายในคนที่เจ็บป่วยหรืออวัยวะพิการ การซื้อขายกันเช่นนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีกฎหมายห้ามก็ทำไม่ได้ เช่นในอเมริกา ก็เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย อวัยวะเป็นเรื่องของทรพัย์นอกพาณิชย์ไม่สามารถที่จะโอนกันได้

สรุปแล้ว ร่างกายของมนุษย์ ถ้ารวมอยู่ในส่วนของร่างกายไม่ใช่ทรัพย์ เพียงแต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ถ้าขาดออกมาหรือหลุดออกมาแล้วก็อาจจะเป็นทรัพย์ได้

(คำบรรยาย เนติฯ ภาคหนึ่งสมัย 61 เล่ม 2 หน้า 101ถึง 103)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2508

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 นอกจากผู้ตายจะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแล้วยังแสดงเจตนาในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ คำว่าการต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ก็สุดแต่ผู้ตายจะได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในการต่างๆ ไว้ หากชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ก็มีผลบังคับได้ตามพินัยกรรมเมื่อตนตายแล้ว และการต่างๆนั้นมิใช่จะต้องมีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นการใดบ้าง

ผู้ตายได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับศพของผู้ตายโดยอุทิศศพของผู้ตายให้แก่กรมมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์โดยทำถูกต้องตามแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 พินัยกรรมของผู้ตายนั้นย่อมสมบูรณ์

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยคืนศพบิดาโจทก์ให้แก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะศพบิดาโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์และบิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมอุทิศศพของตนเองให้แก่จำเลยแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งบุคคลใดโดยเฉพาะให้จัดการศพของผู้ตายได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ตายได้แสดงเจตนาอุทิศศพของผู้ตายให้แก่จำเลย หาใช่เพียงแต่ให้ศพไปทำการผ่าตัดให้นักศึกษาหาความรู้เท่านั้นไม่

ที่โจทก์ฎีกาว่า ศพของผู้ตายไม่ใช่ทรัพย์สิน เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกศพของผู้ตายให้แก่จำเลย จึงไม่เกิดผลตามกฎหมายเพราะไม่มีตัวทรัพย์สินที่กำหนดเผื่อตายเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 นอกจากผู้ตายจะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแล้ว ยังแสดงเจตนาในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ คำว่า "การต่าง ๆ" ตามที่กฎหมายบัญญัตินั้นก็สุดแต่ผู้ตายจะได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในการต่าง ๆ ไว้ หากชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ก็มีผลบังคับได้ตามพินัยกรรมเมื่อตนตายแล้ว และการต่าง ๆ นั้นมิใช่จะต้องมีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นการใดบ้าง ผู้ตายได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับศพของผู้ตาย โดยอุทิศศพของผู้ตายให้แก่จำเลย และได้ทำถูกต้องตามแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 พินัยกรรมของผู้ตายจึงสมบูรณ์หาเป็นโมฆะไม่

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

( ชิต บุณยประภัศร - โพยม เลขยานนท์ - บุศย์ ขันธวิทย์ )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-06-07 12:23:35


ความคิดเห็นที่ 2 (2194224)

เมื่อว่ามีข่าวแย่งศพพระ มีการขโมย มีการอ้างสิทธิ เรื่องนี้วินิจฉัยแบบธรรมดา ว่า ศพพระเป็นทรัพย์เพราะมีราคาและถือเอาได้ วัดที่ครอบครองมากว่าสิบปี น่าจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  และพระลูกชายศพที่อ้างสิทธิทายา น่าจะผิดฐานลักทรัพย์ คิดว่าทนายน้องใหม่วินิจฉัยไม่ผิดแต่อาจมีมากกว่านี้ สอนด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายน้องใหม่ วันที่ตอบ 2011-07-09 09:40:51


ความคิดเห็นที่ 3 (2261790)

 คือผมอยากถามว่าศพจัดอยู่ในประเภทไหนครับ  รบกวนผู้รู้ช่วยตอบทีครับ

และอยากทราบเรื่องที่สัปเหร่อข่มขืนศพว่าเป็นยังไงครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น บอล วันที่ตอบ 2012-03-21 07:59:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล