ReadyPlanet.com


สัญญาสละสิทธิ์ไม่รับค่าชดเชยจากนายจ้าง


นายจ้างให้ทำสัญญาว่า สละสิทธิ ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชย ไม่ว่ากรณีใด ๆ จะมีผลบังคับได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นายเชย :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-01 21:31:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1945434)

การจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างมีความผิดฐานอาญา ถือว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ฉะนั้น การที่ลูกจ้างทำหนังสือสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจึงไม่ทำให้สิทธของลูกจ้างที่จะได้รับค่าชดเชยระงับไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2527

 

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ติดต่อกันรวม 9 ครั้ง ครั้งละ3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ครั้งสุดท้ายมีกำหนด 1 เดือน ทั้งนี้เพราะมีความจำเป็นตามฤดูกาลทางเกษตรกรรม ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะหมดเมื่อใดจึงเป็นการจ้างที่มิได้ ถือเอาระยะเวลาเป็นสำคัญ หากแต่ถือเอาความจำเป็นของจำเลยเป็นเหตุในการเลิกจ้าง ฉะนั้น กำหนดระยะเวลาการจ้างย่อมไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริงเพราะจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้หากความจำเป็นหมดไป จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนอันจำเลยได้รับยกเว้น ไม่จ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดนั้น การจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากฝ่าฝืนเป็นความผิดทางอาญาถือว่าเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น การที่ลูกจ้างทำหนังสือสละสิทธิไม่เรียกร้องค่าชดเชยจึงหาทำให้สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าชดเชยระงับไปไม่

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยทำสัญญาจ้างเป็นคราว ๆ หลายครั้งติดต่อกัน ระบุในสัญญาแต่ละครั้งว่าโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว โจทก์ทำงานติดต่อกันเกิน 120 วัน มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวต่อเนื่องกันโดยทำสัญญาเป็นคราว ๆ เพราะมีความจำเป็นเนื่องจากหน้าที่ธุรการเป็นงานตามฤดูกาลทางเกษตรกรรมการจ้างครั้งสุดท้ายงานตามฤดูกาลดังกล่าวได้หมดลงตามสัญญาจึงถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างตามสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้นแล้วทั้งโจทก์ได้บันทึกตกลงที่จะไม่เรียกร้องใด ๆรวมทั้งค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์จำเลยจะทำข้อตกลงว่าจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หาได้ไม่ จำเลยได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างมีกำหนด 3 เดือน และได้ทำสัญญาจ้างติดต่อกันมารวม 9 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ครั้งสุดท้ายมีกำหนด 1 เดือน การจ้างติดต่อกันดังกล่าวเพราะมีความจำเป็นตามฤดูกาลทางเกษตรกรรม ซึ่งฤดูกาลดังกล่าวไม่เป็นการแน่นอนว่าจะหมดเมื่อใด หากยังมีอยู่ต่อไปจำเลยก็จ้างโจทก์ต่อไปอีกและหากหมดฤดูกาลทางเกษตรก่อน จำเลยก็เลิกจ้างก่อนกำหนดสัญญาได้ จึงเห็นได้ว่าการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ถือเอาระยะเวลาการจ้างเป็นสำคัญ หากแต่ถือเอาความจำเป็นของจำเลยเป็นเหตุในการเลิกจ้างตามสัญญา ฉะนั้น กำหนดระยะเวลาการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งได้ทำสัญญาติดต่อกันมา จนกระทั่งสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง ย่อมไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริง เพราะก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวตามสัญญาจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เสียเมื่อใดก็ได้ หากความจำเป็นของจำเลยหมดไป จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนอันจำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดนั้น

การจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานการฝ่าฝืนเป็นความผิดทางอาญา ถือว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนการที่โจทก์ทำหนังสือสละสิทธิไม่เรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย จึงหาทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลยระงับไปไม่

พิพากษายืน

( ดุสิต วราโห - ขจร หะวานนท์ - วรา ไวยหงษ์ )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-01 21:43:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล