ReadyPlanet.com


คนค้ำประกันรถเดือดร้อน


ประมาณ 4  ปีที่แล้วเคยไปค้ำประกันให้เพื่อนที่จะซื้อรถ (มีคนค้ำ 2 คน) แล้วไม่ได้ติดต่อกับคนซื้ออีกเลย ตอนนี้มีหมายศาลมาว่าจะเอาผิดกับผู้ค้ำประกัน อยากถามว่า คนค้ำต้องทำอย่างไรบ้างคะ (ได้ข่าวว่ารถขายเต๊นท์ไปนานแล้วตอนนี้ไม่รู้ว่ารถอยู่ที่ไหน) ทำไมไฟแนนซ์ไม่ไปเอาผิดจากผู้ซื้อก่อน แล้วอย่างนี้คนค้ำจะต้องเสียอะไรบ้างคะ (รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลย) 

 ถ้าในกรณีที่ต้องใช้หนี้แทน แล้วไม่มีเงินจ่าย คนค้ำต้องติดคุกไหมคะ หรือว่าโดนยึดทรัพย์ อย่างไร ขอรายลบะเอียดด้วยค่ะ

ตอนนี้ร้อนใจมาก เพราะเป็นข้าราชการ (เป็นคนค้ำที่ 2 ) คนค้ำคนแรกไม่มีงานทำ อย่างนี้ทั้ง 2 คนต้องรับผิดชอบอย่างไร ช่วยแนะนำด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ tangmo :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-30 21:16:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1944730)

ขอให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการค้ำประกันอ่านและเข้าใจเลยนะครับว่า การค้ำประกันก็คือการที่เราไปเป็นลูกหนี้เขานั่นเอง คือไปสัญญากับเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้เอง

1. คนค้ำต้องทำอย่างไรบ้าง

--คนค้ำประกันก็ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามสัญญาที่ทำกันไว้

2. ทำไมไฟแนนซ์ไม่ไปเอาผิดกับลูกหนี้ก่อน

--ตามปกติเขาก็เอาผิดกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน แต่ในชั้นการบังคดีนั้น เจ้าหนี้จะดูว่าถ้าบังคับเอากับใครได้สะดวกได้เงินแน่นอนก็บังคับเอากับคนนั้นครับ

3. รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลย

--การค้ำประกันเป็นการทำนิติกรรมโดยสมัครใจ เขาไม่ได้บังคับเราให้ไปค้ำประกัน ดังนั้นจึงต้องยอมรับผลอันนั้นจะมาอ้างไม่ยุติธรรมก็คงไม่ได้และไม่ยุติธรรมกับเจ้าหนี้เหมือนกันที่เขาก็ไม่ได้รับชำระหนี้

4. ต้องติดคุกไหม

--การค้ำประกันเป็นเรื่องสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีโทษจำคุก

5. หรือว่าโดนยึดทรัพย์อย่างไร

--หากมีทรัพย์สินเจ้าหนี้ก็จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดทรัพย์นำไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินนั้นมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครับ

6. อย่างนี้ทั้งสองคนต้องรับผิดชอบอย่างไร

--ถ้าในสัญญาไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ค้ำประกันก็จะต้องรับผิดเท่า ๆ กัน และหากผู้ค้ำประกันคนใดได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้วแทนผู้ค้ำประกันคนอื่นก็ฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำประกันคนอื่นตามส่วนของเขาได้ และสามารถฟ้องลูกหนี้ได้เต็มจำนวนที่เราจ่ายไปครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-31 07:55:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1944824)
ม.688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือ ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งหนใดในพระราชอาณาเขต
ผู้แสดงความคิดเห็น กั๊ก วันที่ตอบ 2009-05-31 15:28:17


ความคิดเห็นที่ 3 (1944867)

ขอบคุณทุกความคิดเห็นที่ช่วยให้ความกระจ่างค่ะ

แต่ขอถามเพิ่มอีกนิดนึงว่าถ้าเราให้เจ้าหนี้ เรียกลูกหนี้ชำระก่อน แต่เค้าอ้างว่าติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ อย่างนี้เราก็ต้องจำยอมจ่ายไหมคะ  ต้องขึ้นศาลใช่ไหมคะ  ถ้าจะขอให้คุณลีนนท์ช่วย  จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่คะ

 ทางเจ้าหนี้สามารถเช็คจากการแจ้งประกันสังคมได้ไหมคะว่าตอนนี้ลูกหนี้ทำงานที่ไหน จะได้อายัดเงินเดือนลูกหนี้

               ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนค้ำประกันที่เดือดร้อน วันที่ตอบ 2009-05-31 18:00:24


ความคิดเห็นที่ 4 (1944870)
อีกนิดนึงนะคะ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คดีมีผลการบังคับคดีภายในกี่ปี และเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ผู้แสดงความคิดเห็น คนค้ำประกันเดือดร้อน วันที่ตอบ 2009-05-31 18:05:02


ความคิดเห็นที่ 5 (1944897)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกว่าวไว้ในมาตรา 688ม มาตรา 689 และมาตรา 690

จากกฎหมายดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อร่างสัญญาให้รัดกุมโดยมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ดังนั้นข้อความดังกล่าวมีผลถึงผู้ค้ำประกันที่ไม่สามารถเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับลูกหนี้ก่อนได้ครับ

ตัวอย่าง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8143/2548

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-31 19:52:27


ความคิดเห็นที่ 6 (1944898)

สำหรับคำถามว่า อายุความกี่ปีนั้น ขอตอบว่าต้องดูที่คำฟ้องว่าเขาฟ้องเรื่องอะไรมา ถ้าฟ้องให้คืนรถที่เช่าซื้อย่อมไม่มีอายุความ เพราะเป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์ของเขาคืนครับ ถ้าเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมีอายุความ 2 ปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-31 19:54:52


ความคิดเห็นที่ 7 (1961070)

สิทธิของผู้ค้ำประกัน ตาม มาตรา 688

 

มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกัน จะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษา ให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดใน พระราชอาณาเขต

 

คดีนี้ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้ต่อศาล ซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐ เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลมิใช่ทำสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องค้ำประกันที่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจึงบังคับเอาแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันในภายหลังมาปรับใช้แก่กรณีของผู้ร้อง

 

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าซื้อสินค้าจำนวน 9,221,794.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งว่า "พิเคราะห์แล้ว ถ้าจำเลยที่ 1หาประกันสำหรับต้นเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี มาให้จนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง" ศาลชั้นต้นอนุญาตตามที่จำเลยที่ 1 เสนอหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 108363 และ 100425 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีนายอมรเนติพิพัฒน์ ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องได้ทำสัญญาค้ำประกันตามคำสั่งศาลไว้แล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มอีก 256,779 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งว่า "พิเคราะห์แล้วถ้าจำเลยที่ 1 หาประกันสำหรับจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถึงวันฟังคำสั่งนี้ให้จนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างฎีกามิฉะนั้นให้ยกคำร้อง" ศาลชั้นต้นนัดพิจารณาหลักประกัน จำเลยที่ 1ไม่มาศาลและไม่นำหลักประกันมาวางภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้ผู้ร้องได้เสนอหลักประกันต่อศาลเพื่อขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิ่มหลักประกัน มิฉะนั้นให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับชั้นฎีกา ผู้ร้องไม่สามารถหาหลักประกันได้จึงถือว่าศาลชั้นต้นยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี เมื่อผู้ร้องไม่สามารถหาหลักประกันมาเพิ่มได้ และศาลได้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับชั้นฎีกาแล้ว อีกทั้งผู้ร้องมิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ชั้นฎีกา ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลคืนหลักประกันของผู้ร้อง และขอให้เพิกถอนคำบังคับฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน2541 และให้โจทก์ไปบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยังคงต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ไม่มีเหตุต้องคืนหลักทรัพย์และเพิกถอนการบังคับคดีตามที่ขอ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ผู้ร้องยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นฎีกาแต่เมื่ออ่านฎีกาทั้งฉบับ รวมทั้งผู้ลงชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทั้งทนายจำเลยที่ 1 และทนายผู้ร้องในขณะเดียวกัน ก็พออนุโลมได้ว่าเป็นฎีกาของผู้ร้องโดยโต้แย้งว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลบังคับเฉพาะในชั้นอุทธรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 นำหลักประกันมาวางมิฉะนั้นให้ยกคำร้อง แต่จำเลยที่ 1 และผู้ร้องไม่สามารถหาหลักประกันมาวางได้ศาลชั้นต้นจึงสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับ แสดงว่าผู้ร้องมิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันในชั้นฎีกาแล้ว ความรับผิดของผู้ร้องย่อมหมดไป ผู้ร้องจึงควรหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ทำสัญญาค้ำประกันกับศาลนั้นเห็นว่า ข้อความตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า "ข้าพเจ้า นายอมร เนติพิพัฒน์ ผู้ค้ำประกันขอทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อศาลนี้ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ในคดีนี้แพ้คดีโจทก์ และคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระให้ตามคำพิพากษาเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด ข้าพเจ้ายอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่ข้าพเจ้าได้นำมาวางไว้เป็นประกันต่อศาลนี้" ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ แม้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา แต่ศาลฎีกาพิพากษายืน เช่นนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงยังต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอยู่ ความรับผิดของผู้ร้องในฐานะของผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับนี้จะสิ้นไป ก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาศาลใดศาลหนึ่งพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว

ที่ผู้ร้องฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1ก่อน เมื่อบังคับคดีไม่ได้หรือไม่เพียงพอแล้ว จึงบังคับเอากับผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ไว้ต่อศาล ซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐ เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลมิใช่ทำสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องค้ำประกันที่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจึงบังคับเอาแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันในภายหลังมาปรับใช้แก่กรณีของผู้ร้องโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ดังที่ผู้ร้องฎีกาโต้แย้ง"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2ชำระแก่โจทก์ ตามที่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 26มิถุนายน 2538 หักออกจากหนี้ตามคำพิพากษาที่ผู้ร้องจะต้องชำระตามสัญญาค้ำประกัน

( วิชา มหาคุณ - พูนศักดิ์ จงกลนี - ปัญญา สุทธิบดี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2543

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-11 09:48:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล