ReadyPlanet.com


บอกเลิกสัญญาให้ระหว่างสามีภริยา


ระหว่างสมรส สามีให้ที่ดินสินส่วนตัวแก่ภริยา โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว ต่อมาเห็นความประพฤติของภริยาแล้ว อยากจะเรียกคืนที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถทำได้หรือไม่ หากไม่เข้าเหตุประพฤติเนรคุณตาม มาตรา 535

 



ผู้ตั้งกระทู้ เพลินตา :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-21 07:43:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1953193)

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกัน ในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใด ที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระบทกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต


ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สิน นั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ

การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของสามีแก่ภริยา เป็นสัญญาระหว่างสมรสใช้บังคับกันได้ แต่สามีก็มีสิทธิที่จะบอกล้างการให้นั้นได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน หรือหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

ดังนั้นสามี มีสิทธิบอกล้างข้อตกลงดังกล่าวและเรียกคืนที่ดินได้ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องคำนึงถึงเหตุถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณตาม มาตรา 531

มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติ เนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้าย แรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลา ที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้


การบอกล้างสัญญาดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่

เช่น สามียกที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวให้ภริยาโดยเสน่หา  แล้วภริยานำที่ดินนั้นไปยกให้หลาน หลานรับไว้โดยสุจริต ต่อมาสามีบอกล้างสัญญา  การบอกล้างย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของหลานในที่ดิน  หลานย่อมได้กรรมสิทธิ์  ในที่ดินกังกล่าว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-21 10:48:01


ความคิดเห็นที่ 2 (1953202)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20มกราคม 2540 ระหว่างสมรสโจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลยจำนวน 7 แปลง และมอบหมายให้จำเลยเก็บรายได้อันเป็นผลจากดอกผลสินส่วนตัวของโจทก์คือ ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคาร ค่าเช่าที่ดิน เป็นรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า60,000 บาท เพื่อให้นำส่งมอบให้แก่โจทก์และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่จำเลยประพฤติตัวไม่เหมาะสม โจทก์ไม่ประสงค์จะยกที่ดินทั้ง 7 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่โจทก์ยกที่ดินทั้ง7 แปลง ให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16034, 16026,16027, 16028, 16029 และสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 16023 และ16024 ตำบลบางลำภูล่าง (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง)กรุงเทพมหานคร ระหว่างโจทก์กับจำเลย และแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์ดังเดิม ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งมอบคืนขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและขอให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยชำระค่าออกโฉนดที่ดินใหม่ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมภาษีตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเมื่อวันที่ 20มกราคม 2540 จำเลยยอมรับว่าระหว่างสมรสโจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลยทั้ง 7 แปลง ตามฟ้องจริง แต่ในการยกให้นั้นโจทก์ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ให้แก่โจทก์ทุกแปลง โดยจำเลยเป็นผู้เก็บรายได้อันเป็นผลประโยชน์ในที่ดินโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว จำเลยไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่นและไม่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาให้ที่ดินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16034, 16026, 16027, 16028,16029 และสัญญาให้ที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 16023 และ 16024 ตำบลบางลำภูล่าง(บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ระหว่างโจทก์กับจำเลย ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวจากชื่อจำเลยเป็นของโจทก์ดังเดิมหากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 ในระหว่างสมรสโจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามฟ้องรวม 7 แปลง แก่จำเลย ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลย จึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินรวม 7 แปลงดังกล่าวต่อจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้ว คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยและให้รอฟังคำพิพากษานั้น เป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 182(4) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า สัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลย 7 แปลง ตามฟ้องนั้น ในการเพิกถอนการให้จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535 หรือมาตรา 1469 มาใช้บังคับ เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดิน 7 แปลง ตามฟ้องแก่จำเลยระหว่างสมรส นิติกรรมการให้จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามาใช้บังคับ หาใช่จะต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 535 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป มาใช้บังคับตามที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สมชัย เกษชุมพล - อำนวย เต้พันธ์ - วสันต์ ตรีสุวรรณ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2546

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-21 11:27:32


ความคิดเห็นที่ 3 (1953224)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...

ข้อสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เพราะสิทธิการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสย่อมตกแก่จำเลยเป็นผู้บอกล้างและสิทธินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดแก่ทายาทนั้นเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรส โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ ซึ่งการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสนี้โจทก์มีสำเนาหนังสือบอกล้าง และใบตอบรับไปรษณีย์มาอ้างอิงเป็นพยานหลักฐาน โดยจำเลยไม่นำสืบคัดค้านข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบดังกล่าวก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วกรณีจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้

พิพากษายืน

( สุทธิ นิชโรจน์ - ปรีชา นาคพันธุ์ - ระพินทร บรรจงศิลป )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2537

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-21 12:50:08


ความคิดเห็นที่ 4 (1953256)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อประมาณต้นปี 2531 จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริงและขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน เมื่อโจทก์กลับเข้ามาอยู่ในบ้าน จำเลยด่าว่าโจทก์อย่างเสียหายและไม่ยอมให้โจทก์ร่วมประเวณีด้วย โจทก์กับจำเลยจึงแยกกันอยู่ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย โจทก์ให้จำเลยจดทะเบียนหย่าและคืนทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดที่ 5841โต๊ะหมู่บูชาใหญ่ 1 ชุด พระพุทธรูปบูชาขนาดต่าง ๆ รวม 5 องค์เตียงนอนไม้สักขนาดใหญ่ 1 เตียง ครกและสากหิน 1 ชุดเงินสด 50,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยหย่าขาดจากโจทก์และคืนทรัพย์สินส่วนตัวให้โจทก์ ให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2527 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5841ตำบลไทรใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้จำเลยจดทะเบียนคืนที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2527 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5841ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรีให้จำเลยจดทะเบียนคืนที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบอกล้างการยกที่ดินพิพาทแก่จำเลยได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.6 ในระหว่างสมรสมีผลทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้กรณีมิใช่การยกให้ซึ่งจะถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531 ดังที่จำเลยอ้าง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกล้างโดยชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่บ้านเลขที่ 31หมู่ 5 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ (บึงกุ่ม) กรุงเทพมหานครตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าบ้านซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับว่ามีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจริงยังไม่ได้แจ้งย้ายชื่อออกไป ดังนี้ถือว่าจำเลยทราบคำบอกล้างของโจทก์โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สมคิด ไตรโสรัส - พรชัย สมรรถเวช - สถิตย์ ไพเราะ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2539

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-21 15:12:52


ความคิดเห็นที่ 5 (1953312)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน ที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 และ 21345 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย แต่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง เดิมโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์และจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดการร่วมกันในการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,000,000 บาท ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งและให้ถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวที่โจทก์และจำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะสินสมรสอีกต่อไปไม่ได้ หากฝ่ายใดไม่ไปจดทะเบียนขายให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์เลือกให้แก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความของโจทก์จำเลยฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว ยังมีผลบังคับหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันว่าโจทก์และจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดการร่วมกันในการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,000,000 บาท ภายในกำหนด 1 เดือน เพื่อนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข ซึ่งต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ว่า โจทก์จำเลยไม่สามารถหาผู้ซื้อที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ได้ ฉะนั้นเงื่อนไขตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว จึงไม่สำเร็จผล อันมีผลให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้เป็นอันตกไป ไม่มีผลบังคับแต่ในวันเดียวกันนั้นโจทก์จำเลยได้ทำข้อตกลงกันใหม่เป็นว่า จำเลยจะเป็นผู้หาผู้ซื้อรายใหม่มาซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท หรือหากจำเลยหาเงินได้ 1,000,000 บาท ก็จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้จำเลยยินยอมแบ่งที่ดินให้โจทก์ 1 แปลง โดยตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้เลือก ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงเกิดเป็นสัญญาขึ้นใหม่มีผลผูกพันโจทก์จำเลยแทนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 แม้ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2539 ทนายจำเลยจะได้แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ดังกล่าวว่า จำเลยหาผู้ซื้อไม่ได้ และจำเลยไม่มีเงินที่จะซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ได้ จำเลยพร้อมยอมแบ่งที่ดินที่พิพาท 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แต่ให้โจทก์ช่วยจ่ายเงินค่าก่อสร้างจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อเดิม อันเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ เมื่อโจทก์ไม่ตกลง ข้อเสนอของจำเลยในวันที่ 17 มิถุนายน 2539 จึงยังไม่เกิดเป็นสัญญา เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 โจทก์จึงต้องดำเนินการฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวเป็นคดีใหม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและข้อตกลงที่ต่อเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าจำเลยสละสิทธิในการเลือกที่ดิน จึงให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือกที่ดินเป็นคำสั่งที่นอกเหนือข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นสัญญาระหว่างสมรสดังที่จำเลยอ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการตกลงกันระหว่างโจทก์จำเลยเพื่อจัดการทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรส คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อจำเลยได้ทำการบอกล้างข้อตกลงดังกล่าวแล้วตามคำร้องฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2540 สัญญาระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงเป็นอันสิ้นผลไปเพราะถูกบอกล้างแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ดังกล่าวอีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

( สุรพล เจียมจูไร - พินิจ เพชรรุ่ง - ประชา ประสงค์จรรยา )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2543

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-21 20:48:50


ความคิดเห็นที่ 6 (1953742)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายถิระวัฒน์ตาลสกุล อายุ 4 ปีเศษและเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุล อายุ 3 ปีเศษเมื่อต้นปี 2537 โจทก์และจำเลยมีปากเสียงกัน จำเลยได้ออกจากบ้านไปโจทก์พาบุตรไปตามหาจำเลยที่จังหวัดเชียงรายเพื่อขอคืนดี แต่จำเลยกลับหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์และแย่งเด็กชายถิระวัฒน์หนีไปแล้วไม่กลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกเลย ต่อมาวันที่ 15มีนาคม 2537 โจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว โดยตกลงที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาจำเลยยินยอมแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์เป็นเงิน 600,000 บาทตกลงชำระให้โจทก์เป็นงวด ๆ งวดละ 100,000 บาท ทุกวันที่ 15ของเดือน เป็นเวลา 6 เดือน งวดแรกชำระในวันทำบันทึกข้อตกลงส่วนบุตรทั้งสองให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง กล่าวคือ จำเลยไม่ได้ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 500,000บาท ให้โจทก์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 จำเลยทุบตีโจทก์อย่างรุนแรงแล้วเอาบุตรทั้งสองคนไปจากโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของจำเลย โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยชำระเงินสินสมรสจำนวน 500,000 บาท ตามที่จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท จนกระทั่งเด็กชายอภิวัฒน์ตาลสกุล มีอายุ 10 ปี และในอัตราเดือนละ 12,000 บาท จนกระทั่งเด็กชายอภิวัฒน์บรรลุนิติภาวะ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อต้นปี 2537 โจทก์ทะเลาะกับจำเลยแล้วโจทก์พาบุตรทั้งสองไปด้วยเพื่อต่อรองกับจำเลยแต่ในที่สุดโจทก์ได้นำบุตรทั้งสองมาคืนให้จำเลยเลี้ยงดู เนื่องจากโจทก์ไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้ได้รับความสุขเท่าที่จำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์เป็นฝ่ายขอแยกทางจากจำเลยเอง จำเลยขอเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรแต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์เรียกร้องขอเงินจากจำเลยจำนวน 600,000 บาทอ้างว่าจะนำไปเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยยินยอมทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2537 และมอบเงินให้แก่โจทก์จำนวน100,000 บาท แต่ภายหลังโจทก์กลับเอาบุตรมาคืนในสภาพที่เจ็บป่วย ซูบผอม เนื่องจากขาดอาหาร จำเลยรับบุตรทั้งสองไปรักษาจนหายจากอาการเจ็บป่วยและได้อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาด้วยตนเองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงได้บอกเลิกข้อตกลงที่ได้ทำกับโจทก์นับแต่วันที่โจทก์นำบุตรมาคืน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงิน 500,000 บาท จากจำเลยสาเหตุที่จำเลยเคยทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ด่าว่าจำเลยด้วยถ้อยคำที่หยาบคายและด่าว่าบรรพบุรุษของจำเลย ทำให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะ จำเลยไม่เคยใช้ความรุนแรงในการอบรมบุตรทั้งสองและจำเลยไม่เคยสั่งสอนอบรมบุตรทั้งสองว่าโจทก์และบิดามารดาของโจทก์เป็นคนไม่ดี โจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เนื่องจากโจทก์ไม่มีความห่วงใยบุตร นอกจากนี้โจทก์มีอาชีพขายของ ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน มีรายได้เดือนละไม่กี่พันบาท ส่วนจำเลยเป็นผู้มีอาชีพที่แน่นอน มีบ้านเป็นของตนเองสมควรที่จะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรทั้งสอง โจทก์เป็นฝ่ายทิ้งร้างจำเลยเกินกว่า 1 ปี แล้วนับแต่เดือนมีนาคม 2537 นอกจากนี้โจทก์ยังทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับจำเลย โดยโจทก์มีนิสัยชอบทะเลาะด่าว่าจำเลยและหมิ่นประมาทเหยียดหยามบิดามารดาจำเลยซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องและให้พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของโจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว กับให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแก่จำเลยเดือนละ 6,000 บาท ไปจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้ทิ้งร้างโจทก์และครอบครัวไปเมื่อปี 2537 โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวเมื่อโจทก์ไปพบจำเลยเพื่อขอให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยก็พาลหาเรื่องด่าทอโจทก์ ทุบตีทำร้ายร่างกายโจทก์ และสั่งให้คนงานในโรงงานของจำเลยช่วยกันจับโจทก์และพรากเอาบุตรทั้งสองคนไปจากโจทก์ จำเลยกีดกันโจทก์และบุตรทั้งสองไม่ให้พบหน้ากันมาเป็นเวลาสองปีเศษแล้ว จำเลยปกปิดที่อยู่ของบุตรทั้งสองและทำร้ายโจทก์ทุกครั้งที่โจทก์ไปพบกับจำเลยเพื่อขอพบบุตรทั้งสอง เด็กชายถิระวัฒน์ ตาลสกุล มีโรคประจำตัวคือมีความผิดปกติของเม็ดโลหิตขาวทำให้ร่างกายและสุขภาพไม่แข็งแรงมักจะเป็นแผลผุพองที่ผิวหนัง โจทก์เป็นผู้พาบุตรทั้งสองไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาด้วยตัวของโจทก์เอง หากจำเลยไม่ผิดสัญญาโดยชำระเงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วนตามสัญญาโจทก์ก็สามารถจะนำมาเป็นทุนการศึกษาวิชาชีพช่างเสริมสวยเพิ่มเติมและเปิดร้านเสริมสวยที่บ้านของโจทก์ เพื่อเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้มีความสุขได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างการพิจารณา โจทก์และจำเลยตกลงกันได้ในประเด็นหย่าโดยยินยอมหย่าขาดจากกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 กันยายน 2540

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายถิระวัฒน์ ตาลสกุล และเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุล บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ของโจทก์และจำเลยให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายถิระวัฒน์ตาลสกุล เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 และเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุลเกิดวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์และจำเลยตกลงที่จะหย่ากันโดยให้ร้อยตำรวจเอกขวัญชัย กองศักดิ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวทำบันทึกข้อตกลงไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาเพราะตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่ได้ให้สิทธิไว้จำเลยก็ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ว่า จำเลยยกเลิกสัญญาแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนเห็นว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แม้จะมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ดังนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้...ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เมื่อจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ได้บอกเลิกข้อตกลงแล้ว โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่าไม่มีการบอกล้าง จึงถือว่าโจทก์ยอมรับตามที่จำเลยให้การและฟ้องแย้ง นอกจากนี้คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอหย่า การที่จำเลยยื่นคำให้การและอ้างว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้วย่อมถือได้ว่าคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัวและเป็นการบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าว จำเลยได้มีการบอกล้างแล้วจึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ได้ หากโจทก์มีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวแก่กันตามสิทธิต่อไปฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นที่เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 อีกต่อไป"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระเงินจำนวน 500,000บาท แก่โจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไปฟ้องแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยาเป็นคดีใหม่ ภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( วสันต์ ตรีสุวรรณ - ชวลิต ศรีสง่า - สมชัย เกษชุมพล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2544

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 17:16:25


ความคิดเห็นที่ 7 (1953977)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์อย่างร้ายแรงขนาดเดือดร้อนเกินควร และจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี ก่อนฟ้องคดีโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า บอกล้างนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทุกประเภทและให้คืนสินส่วนตัวให้โจทก์ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยคืนสินส่วนตัวสมุดบัญชีเงินฝากประจำและเงินฝากประจำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน บัญชีเลขที่ 047 ? 2 ? 121778 จำนวนเงิน 17,695,351.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากถึงวันที่ส่งเงินคืนแก่โจทก์ โดยไปถอนการอายัดและลงชื่อถอนเงินให้โจทก์ตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารร่วมกับโจทก์ หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาขอออกสมุดเงินฝากประจำเล่มใหม่และแสดงเจตนาถอนเงินแทนจำเลย หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยคืนสินส่วนตัว สร้อยคอทองคำสุโขทัยหนัก 6 บาท ประเมินราคา 50,000 บาท พระเครื่องสมเด็จวัดปากน้ำรุ่น 7 เลี่ยมทองสามชั้นหนัก 1 บาท ประเมินราคา 100,000 บาท พระผงสุพรรณเลี่ยมทองหนัก 1 บาท ประเมินราคา 400,000 บาท พระสมเด็จวัดระฆังรุ่นใหม่เลี่ยมทองหนัก 2 บาท ประเมินราคา 20,000 บาท สร้อยข้อมือทองคำสลักชื่อโจทก์หนัก 2 บาท ประเมินราคา 10,000 บาท นาฬิกาข้อมือยี่ห้อเซนิด 2 เรือน ประเมินราคา 60,000 บาท หากรายการใดจำเลยไม่คืนให้ชดใช้เงินตามราคาประเมินราคาทรัพย์สินแต่ละรายการแก่โจทก์ ให้จำเลยแบ่งสินสมรสโฉนดที่ดินเลขที่ 137137 พร้อมทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น 1 คูหา เลขที่ 99/81 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยก่อน ถ้าหากโจทก์หรือจำเลยไม่สามารถประมูลได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาดนำเงินแบ่งแก่โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง

จำเลยให้การว่า โจทก์ยกเงินฝากประจำให้แก่จำเลย ส่วนพระเครื่อง พระผงสุพรรณและสร้อยคอทองคำเป็นสินสมรส สร้อยข้อมือจำเลยไม่ได้เก็บรักษาไว้ จำเลยเก็บเพียงนาฬิกาของโจทก์ นอกนั้นเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา โจทก์เรียกคืนได้เฉพาะนาฬิกาและโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนสินส่วนตัว สมุดบัญชีเงินฝากประจำและเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน บัญชีเลขที่ 047 ? 2 ? 121778 จำนวนเงิน 15,561,205.48 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยไปถอนการอายัดและลงชื่อถอนเงินให้โจทก์ตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารร่วมกับโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาขอออกสมุดบัญชีเงินฝากประจำเล่มใหม่และแสดงเจตนาถอนเงินแทนจำเลยและให้จำเลยคืนนาฬิกาข้อมือยี่ห้อเซนิท 2 เรือน ให้แก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 โดยไม่มีบุตรด้วยกัน ก่อนจดทะเบียนสมรส โจทก์ได้รับมรดกที่ดินจากบิดามารดา ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินมรดกแล้วนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047 ? 2 ? 121778 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน ซึ่งเปิดบัญชีร่วมระหว่างโจทก์และจำเลยตามคำขอเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 เอกสารหมาย จ.2 โดยเงินฝากในบัญชีดังกล่าวมียอดต้นเงินฝากสุทธิ 15,561,205.48 บาท อันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2543 คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์ให้เงินสินส่วนตัวดังกล่าวแก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 7,500,000 บาท และโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินจำนวนนี้ต่อจำเลยแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้เงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นผู้ทิ้งร้างจำเลย การใช้สิทธิบอกล้างดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้ทรัพย์สินต่อจำเลย เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047 ? 2 ? 121778 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน ซึ่งยื่นคำขอเปิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 ระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรสกันอยู่ โดยโจทก์แถลงรับว่าโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000 บาท ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 บัญญัติให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ภายในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่การบอกล้างดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันต่อมาว่า โจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินจำนวน 7,500,000 บาท ต่อจำเลยแล้ว ซึ่งการบอกล้างดังกล่าวเป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกันอยู่ การบอกล้างดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม โดยเหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สดศรี สัตยธรรม - วิรัช ลิ้มวิชัย - วสันต์ ตรีสุวรรณ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-23 09:43:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล