ReadyPlanet.com


ความผิดฐานแจ้งความเท็จ


ถูกฟ้องแจ้งความเท็จ โดยเรื่องมีอยู่ว่า เคยจดทะเบียนสมรสกับ สามีเก่า แต่ได้เลิกกันแล้ว และจดทะเบียนหย่ากันแล้ว ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับสามีใหม่ แต่ไม่อยากบอกสามีใหม่ว่าเคยจดทะเบียนสมรสมาแล้ว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า เคยมีสามีและบุตรแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน อย่างนี้จะโดนติดคุกหนักหรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ มะลิซ้อน :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-18 09:36:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1952098)

ถ้าการแจ้งความอันเป็นเท็จนั้นทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย หรือข้อความอันเป็นเท็จนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

แต่ขณะที่คุณจดทะเบียนสมรสใหม่กับสามีใหม่นั้น คุณไม่ได้สมรสในขณะที่มีคู่สมรสอยู่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-18 11:25:50


ความคิดเห็นที่ 2 (1952162)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2531 เวลากลางวันจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นางผกากรอง ศิริรมย์ เจ้าหน้าที่ปกครอง 3 และนายสุวิทย์ พุกกะเวส เจ้าพนักงานปกครอง 4อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รับจดทะเบียนสมรสว่า "พยาน (จำเลย) เคยผ่านการสมรสแล้วกับนายคำหล้าหรือสิทธิชัย ศิลาเกษ มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายวุฒิ ศิลาเกษ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน" ซึ่งความจริงแล้วจำเลยเคยจดทะเบียนสมรสกับนายคำหล้าหรือสิทธิชัย ศิลาเกษ มาแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม2514 ณ สำนักทะเบียนอำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเป็นเหตุให้นางผกากรอง ศิริรมย์ และนายสุวิทย์ พุกกะเวส หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้จดทะเบียนอันเป็นเท็จลงในบันทึกให้ถ้อยคำและทะเบียนสมรส (คร 4) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนายสาบุญจูง การกระทำของจำเลยดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุวิทย์ พุกกะเวส นางผกากรอง ศิริรมย์ นางนริสา ศรีวะรมย์ผู้อื่นและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางนริสา ศรีวะรมย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายคำหล้าหรือสิทธิชัย ศิลาเกษ และได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2515 ตามสำเนาทะเบียนหย่าเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 10สิงหาคม 2531 จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายสา บุญจูง โดยแจ้งต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายคำหล้าแต่ได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2515 นั้น เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งความเท็จนั้น อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ส่วนการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายสา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2531 นั้น จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะจดทะเบียนสมรส เพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับนายคำหล้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 การจดทะเบียนสมรสของจำเลยกับนายสาจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรส ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายสานั่นเอง การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนายสา โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สบโชค สุขารมณ์ - ชูชาติ ศรีแสง - ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2544

 

ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเองการที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-18 13:21:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล