ReadyPlanet.com


จะเอาผิดกับลูกหนี้ได้อย่างไร


ผมได้ให้เพื่อนสนิทกู้ยืมเงินไปจำนวน 800,000 บาท ตั้งแต่ปี 47 โดยมีการตกลงทำสัญญากู้เงินกัน คำถามคือ

1. ศาลตัดสินให้ผมเป็นฝ่ายชนะคดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือส่งคำบังคับไปให้ลูกหนี้ทราบ ในขณะเดียวกันทราบมาว่าลูกหนี้ได้ทำการโอน ย้าย เปลี่ยนชื่อ ย้ายทะเบียนบ้าน เพื่อหนีหนี้ (มีเจ้าหนี้หลายราย) ถ้าสืบทรัพย์แล้วไม่ปรากฎว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์ที่จะพึงยึดได้ก็ให้ฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ใช่หรือไม่

2. ถ้าศาลฟ้องลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายก็แล้ว โอกาสที่ผมจะได้เงินกลับมาคงไม่มีเลยใช่หรือปล่าวครับ ผมท้อใจมาก ถึงฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายก็เท่านั้น (ทราบว่าถ้าพ้น 5 ปีไปแล้วลูกหนี้ก็หลุดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย) 

3. จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะสามารถเอาผิดกับลูกหนี้ได้อีกหรือไม่ ไม่ทางแพ่งก็อาญาถ้าสืบทราบมาลูกหนี้พยายามโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเป็นชื่อผู้อื่นในระหว่างที่มีการฟ้องร้อง หรือสามารถจะยึดทรัพย์สินของบิดา แทนได้หรือไม่

ขอบคุณมากครับ


ผู้ตั้งกระทู้ ริชชี่ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-16 09:14:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1951546)

1. ในคดีล้มละลายนั้นลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาทครับ

2. ตามปกติ 3 ปีครับ หากเจ้าพนักงานไม่ขออนุญาตศาลให้ขยายเวลาออกไปอีกเป็น 5 ปี ถ้าผมเป็นเจ้าหนี้ผมก็จะรอให้ถึง 9 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาแล้วค่อยฟ้องล้มละลายอีกที ปรึกษาทนายความของคุณดู

3. ถ้าแน่ใจว่าเขายักย้าย ถ่ายเททรัพย์สินก็ฟ้องในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้แต่ต้องมีหลักฐานนะครับ สำหรับทรัพย์สินของบิดาเขาไม่ได้เป็นหนี้จะไปเอาของเขาไม่ได้ครับ

มาตรา350 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-17 09:53:34


ความคิดเห็นที่ 2 (1951559)

มาตรา 350 มีหลักองค์ประกอบบัญญัติความผิดไว้ดังนี้


1) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด คำพิพากษาศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวลูกหนี้เท่านั้นที่ต้องรับผิด ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 143/2517 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ร่วมโอนที่ดินของตนเองให้จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ โดยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันที่จะมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เช่นนี้แล้ว จำเลยที่ 3 ก็มิได้เป็นลูกหนี้โจทก์ก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้ เป็นต้น


2) แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้เจ้าหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ลูกหนี้ที่เป็นหนี้อยู่แล้วมีเจตนาจะโกงเจ้าหนี้ ทำสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นทำสัญญากู้เงินกับบุคคลอื่น ทำให้บุคคลที่ทำสัญญานั้น มีสิทธิในทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วยในฐานะเจ้าหนี้อีกคนทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง เช่นนี้ลูกหนี้ก็มีความผิดแล้ว ส่วนผู้ที่ร่วมรู้เห็นฐานะเจ้าหนี้ตามสัญญาที่ไม่มีการกู้กันจริง ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้เช่นกัน


3) เจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้ จะต้องเป็นมูลหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น เจ้าหนี้เป็นผู้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินและการกู้ยืมเงินนั้นมีการกู้เกินกว่า 2,000 บาท แต่เจ้าหนี้และลูกหนี้มิได้ทำสัญญากันไว้ โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะฟ้องคดีกันได้ เมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่ทำสัญญากู้ยืมเงินและมีลายมือชื่อลูกหนี้ จึงฟ้องคดีกันไม่ได้ เมื่อฟ้องคดีไม่ได้มูลหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงบังคับไม่ได้ตามกฎหมายและเจ้าหนี้ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ เช่นนี้ หากลูกหนี้มีเจตนาโกงเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็เอาผิดกับลูกหนี้ฐานโกงเจ้าหนี้ไม่ได้ เป็นไปตามแนวบรรทัดฐาน ซึ่งศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1406/2512 เป็นต้น


4) เจตนา ในคดีอาญาผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาจะต้องมีเจตนาที่จะกระทำผิด แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องมีเจตนาธรรมดาคือลูกหนี้ต้องมีเจตนาในการที่จะย้าย ซ่อนเร้น โอน หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ ส่วนหนึ่ง และจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ หากขาดเจตนาพิเศษ ก็ไม่เข้าความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เช่นลูกหนี้ขายทรัพย์สินหลังถูกศาลพิพากษาแล้ว แต่การขายทรัพย์สินนั้น ได้ขายตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา และขายในราคาปกติ ไม่ต่ำกว่าท้องตลาด และไม่ได้เกิดจากการสมยอมระหว่างลูกหนี้กับผู้ซื้อ จึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะขาดเจตนาพิเศษ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-17 10:07:21


ความคิดเห็นที่ 3 (1951575)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้ของนางหนุ่ยตามคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินบ้านของตนให้จำเลยที่ ๓โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันที่จะมิให้นางหนุ่ย เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ศาลอนุญาตให้นางหนุ่ยเข้าร่วมเป็นโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ จำคุกคนละ ๔ เดือน ปรับคนละ๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒พิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จำเลยที่ ๓เป็นผู้รับโอนไม่น่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ผู้โอน ถ้าฟังว่าจำเลยที่ ๓ เป็นตัวการในการโอนร่วมกับจำเลยที่ ๑ ผู้โอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการโอนให้แก่ผู้อื่นเพราะเป็นการโอนให้ตนเอง

โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดดังฟ้องพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐ จำคุก ๔ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ส่วนฎีกาของจำเลยที่ ๑ สั่งไม่รับ

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๑) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ จากสารบบความ

ข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินนางหนุ่ย อินทศเพชร โจทก์ร่วม แล้วผิดสัญญาไม่ใช้คืนโจทก์ร่วมจึงฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ศาลจังหวัดปัตตานีบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระต้นเงินกู้จำนวน ๑๗,๙๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้โจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ซึ่งทราบดีว่าโจทก์ร่วมได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลจนศาลพิพากษาดังกล่าวได้ร่วมกันทำนิติกรรมยกที่ดินบ้าน ๑ แปลงตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ไปให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๕๐ นี้ ประสงค์จะลงโทษเฉพาะการโอนทรัพย์ให้แก่ "ผู้อื่น" ไม่ใช่โอนทรัพย์ให้แก่ "ตนเอง" ก็จริงอยู่แต่คำว่า "ผู้อื่น" นี้หมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ คดีนี้จำเลยที่ ๑เท่านั้นที่เป็นตัวลูกหนี้ จำเลยที่ ๓ หาใช่ลูกหนี้ของโจทก์ร่วมแต่ประการใดไม่จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็น "ผู้อื่น" ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๕๐ นั้นแล้วศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ ชอบแล้ว

พิพากษายืน

( พิสัณห์ ลีตเวทย์ - เฉลิม กรพุกกะณะ - ชลอ จามรมาน )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143/2517

 

คำว่า "ผู้อื่น" ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นหมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1โอนที่ดินของจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 3 ผู้มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้อื่น ตามความหมายแห่งมาตรา 350 นั้นแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-17 10:28:47


ความคิดเห็นที่ 4 (1951585)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยตกลงให้ค่าจ้างแก่โจทก์ 1,200,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2536 แต่ไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 หลบหน้า ต่อมาโจทก์จึงรู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 54817 ตำบลบ้านปึก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 9 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 761 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 200,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการโอนโดยเจตนาทุจริตประสงค์มิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งที่ตระหนักดีว่าอย่างไรเสียโจทก์ก็ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน นอกจากที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1ไม่มีทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ด้วยการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงซึ่งเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83, 91

ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83, 91 จำเลยที่ 1 มีความผิดสามกระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดสองกระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรกว่าฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หรือไม่ เห็นว่าการโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1ตกลงให้ค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ 1,200,000 บาท ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 หลบหน้า ต่อมาโจทก์จึงรู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 และขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 3 ในราคาที่ต่ำมาก โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการโอนโดยเจตนาทุจริต ประสงค์มิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งที่ตระหนักดีว่าอย่างไรเสียโจทก์ก็ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอนนอกจากที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์นั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำทั้งที่ตระหนักดีว่าอย่างไรเสียโจทก์ก็ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน เป็นการบรรยายว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายว่าโจทก์ต้องฟ้องร้องบังคับคดี ส่วนตัวโจทก์เองจะฟ้องร้องหรือไม่โจทก์ไม่ได้กล่าวถึงจึงถือไม่ได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ด้วยการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงซึ่งเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เป็นการบรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์บรรยายมาข้างต้นต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อย่างไรมิอาจใช้ประกอบความข้างต้นให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ขึ้นได้เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( อำนวย เต้พันธ์ - อร่าม หุตางกูร - สุนทร สิทธิเวชวิจิตร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2541

 

การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าจ้าง ว่าความแก่โจทก์ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 หลบหน้า ต่อมาโจทก์จึงรู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 และขายที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการโอนโดยเจตนาทุจริต ประสงค์มิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งที่ตะหนักดีว่าโจทก์ ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มี ทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่ มิได้ระบุว่าโจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำ ทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอนเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายว่าโจทก์ ฟ้องบังคับคดี ส่วนตัวโจทก์เองจะฟ้องร้องหรือไม่โจทก์ ไม่ได้กล่าวถึง คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญ ไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-17 10:37:26


ความคิดเห็นที่ 5 (1951597)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยืมเงินนายกวางมุ้ย แซ่ลิ้ม ไปจำนวน10,000 บาท และจำเลยยอมตกลงให้นายกวางมุ้ยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินที่จำเลยยืมไปโดยให้นายกวางมุ้ยตวงข้าวเปลือกของจำเลยแทนเงินยืมจนครบจำนวนที่จำเลยยืม แต่แล้วจำเลยโอนข้าวเปลือกที่ตกลงชำระหนี้นั้นให้แก่ผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 และคืนหรือใช้เงิน 10,000 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินนายกวางมุ้ย

ศาลชั้นต้นฟังว่า เป็นการผิดสัญญาซึ่งเป็นมูลกรณีทางแพ่งพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อความตามคำบรรยายฟ้องเห็นว่า เป็นการทำสัญญากู้และสัญญาชำระเงินคืน มิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังโจทก์ฎีกาเมื่อจำเลยมิได้ทำหนังสือหลักฐานแห่งการกู้ยืมให้ไว้ จึงเป็นการยืมเงินเกิน 50 บาท โดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นายกวางมุ้ยจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้ตามความหมายแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

พิพากษายืน

( เสลา หัมพานนท์ - ศริ มลิลา - เฉลิม ทัตภิรมย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2512

 

ผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมเงิน 10,000 บาท โดยจำเลยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้เป็นหนังสือให้ไว้นั้น เป็นการยืมเงินเกิน 50 บาท โดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

ฉะนั้น ผู้เสียหายจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลกับจำเลยได้ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-17 10:49:37



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล