ReadyPlanet.com


ฟ้องผู้หญิง


สามีไปคบกับผู้หญิงอื่นและผู้หญิงรู้ว่าแต่งงานมีลูกมีภรรายาอยู่แล้วสามารถฟ้องร้องเอาผิดกับผู้หญิงหรือป่าว


ผู้ตั้งกระทู้ ภรรยาแรก :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-25 18:17:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1955994)

หากคุณเป็นสามีภริยากันถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถฟ้องได้ครับ

มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทน จากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่น หรือชู้ แล้วแต่กรณี

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตาม มาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะ เรียกค่าทดแทนไม่ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-27 21:20:40


ความคิดเห็นที่ 2 (1956219)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรีทงพานธ์ ศรีอักษร จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับพลตรีทงพานธ์ สามีโจทก์ ในทำนองชู้สาวโดยเข้าไปพักอาศัยอยู่กินอย่างสามีภริยาและเปิดเผยในบ้านหลังเดียวกันกับสามีโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อน ขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว จำเลยไม่เคยพักอาศัยในบ้านเดียวกันกับสามีโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ภริยาที่จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะต้องเป็นภริยาที่อยู่ร่วมกับสามีฉันสามีภริยาและอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน แต่คดีนี้โจทก์กับสามีนอกจากจะมิได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว ยังมีคดีฟ้องหย่ากันก่อนที่จะเกิดเหตุตามฟ้อง และปัจจุบันศาลได้พิพากษาให้โจทก์กับสามีหย่ากันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้แม้โจทก์กับสามีจะมีพฤติการณ์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.

( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - วิรัช ลิ้มวิชัย - วสันต์ ตรีสุวรรณ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 18:03:26


ความคิดเห็นที่ 3 (1956224)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุม มรรคผล โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2530 มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ต้องจ่ายเงิน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุม และไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิบตำรวจเอกประชุมต่อไป แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2538 จำเลยกลับแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุมอีก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทน 200,000 บาท และอีกเดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม

จำเลยให้การว่า เมื่อปลายปี 2538 จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุม โดยถูกสิบตำรวจเอกประชุมหลอกลวงว่ายังไม่มีภริยา และต่อมาโจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมยกย่องจำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอกประชุม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และสิบตำรวจเอกประชุม มรรคผล เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 มีบุตรด้วยกัน 1 คนปลายปี 2538 จำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่ถนนพระยาตรังอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายพิธิวัตณ์ มรรคผล คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าอย่างเงียบ ๆ ไม่มีใครทราบและไม่เคยออกงานสังคมกับสิบตำรวจเอกประชุมจำเลยจึงมิได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับสิบตำรวจเอกประชุมพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชนโดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุลของสิบตำรวจเอกประชุมด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับสิบตำรวจเอกประชุมด้วยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปคือ โจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และพันตำรวจตรีพาชื่น พาณุพินธุ มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยโจทก์เคยไปหาจำเลยขอร้องให้ยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับสิบตำรวจเอกประชุมแต่จำเลยไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ดังกล่าว โจทก์ยังเคยไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอกประชุมเกี่ยวกับเรื่องที่สิบตำรวจเอกประชุมมาได้จำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จนสิบตำรวจเอกประชุมถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนและรับว่าจะปฏิบัติตามคำตักเตือน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมาเบิกความเป็นพยานว่าหลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยและสิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุมอีกคนหนึ่ง โดยตกลงกันว่าให้อยู่กันคนละบ้านและอยู่กันคนละวันสลับกัน เห็นว่า ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหนสิบตำรวจเอกประชุมผู้เป็นสามีถึงกับต้องย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับสิบตำรวจเอกประชุมที่จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสิบตำรวจเอกประชุมให้ว่ากล่าวตักเตือนสิบตำรวจเอกประชุมให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใด ที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของสิบตำรวจเอกประชุทอีกคนหนึ่ง จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า เมื่อต้นปี2539 สิบตำรวจเอกประชุมถูกย้ายไปอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อนเพื่อไปอยู่กับโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้วิ่งเต้นให้ย้ายไป แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้สิบตำรวจเอกประชุมยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอกประชุมมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกประชุมในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายคือ ค่าทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า สิบตำรวจเอกประชุมมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่ามีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากสิบตำรวจเอกประชุม 1 คน ทั้งมีรายได้เพียงจากการขายสลากกินแบ่งเท่านั้น ค่าทดแทนที่กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้จำนวน 100,000 บาท จึงสูงเกินไป ขอให้ลดลงเหลือเพียง20,000 บาท นั้น เห็นว่า ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับสิบตำรวจเอกประชุมสมรสกันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คนสถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"

พิพากษายืน

( ประสพสุข บุญเดช - อธิราช มณีภาค - สุเมธ ตังคจิวางกูร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6558/2542

 

หมายเหตุ

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505 บรรพเดิม บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันโดยภริยามีชู้สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากภริยาและชู้ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเดิมกฎหมายให้สิทธิสามีซึ่งศาลพิพากษาให้หย่าโดยภริยามีชู้เท่านั้นเรียกค่าทดแทนจากภริยาหรือชู้ส่วนภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากสามีหรือหญิงอื่นที่สามีไปยกย่องไม่ได้ ภายหลังมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพใหม่ซึ่งบัญญัติให้ภริยามีสิทธิเท่าเทียมสามี ทั้งเป็นการสอดคล้องกับมาตรา 1516(1) อันเป็นเหตุหย่าโดยสามียกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุฉบับนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิของโจทก์ใน ฐานะภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง และวรรคสาม ศาลฎีกาวินิจฉัยพฤติการณ์จำเลยว่าการที่ จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับสามีโจทก์ในท้องที่ย่านชุมชน มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กันจนมีบุตรด้วยกันโดยให้บุตรใช้นามสกุลของสามีโจทก์ เป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวแล้ว ผู้บันทึก จึงเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เนื่องจากการเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีสัมพันธ์กับสามีในทางชู้สาวต้องอาศัยพฤติการณ์ การกระทำของหญิงอื่นมาเป็นหลักวินิจฉัยทั้งการแสดงออกโดยเปิดเผยน่าจะต้อง มองในภาพกว้าง ๆ ว่าพฤติการณ์ของหญิงอื่นนั้นทำให้บุคคลอื่นทั่วไปรู้ได้ว่า มีความสัมพันธ์กับสามีโดยไม่น่าจะจำกัดสิทธิแต่เพียงการออกสังคมด้วยกันจนกระทั่งถึงการแนะนำตัวให้คนในสังคมรับรู้ว่ามีสัมพันธ์กับสามี ดังนี้ การที่ศาลฎีกา ใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยน่าจะเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างกว้าง ทั้งยัง เป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะหากมีบุคคลอื่นมีความสัมพันธ์ระหว่าง สามีภริยาย่อมทำให้สถาบันครอบครัวกระทบกระเทือนและเกิดปัญหาสังคมตามมา

ภัชดาเหลืองวิลัย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 18:12:40


ความคิดเห็นที่ 4 (1956225)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีที่ดินเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โดยไปพักแรมต่างจังหวัดด้วยกันเป็นประจำและยังพักหลับนอนค้างคืนร่วมกันที่ห้องนอนของโจทก์บ่อยครั้ง และจำเลยที่ 1 กระทำการเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันกับโจทก์อย่างร้ายแรง จึงขอหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 และขอเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะสมรสใหม่ ขอให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง และขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติปฎิบัติเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงกับโจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้มีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาวที่ดินตามฟ้องมิใช่เป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่ว่า ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ทั้งมาตราย่อมต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 นี้ กฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้ จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลยที่ 1 สามีโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้

พิพากษายืน

( สมคิด ไตรโสรัส - อากาศ บำรุงชีพ - สถิตย์ ไพเราะ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2539

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 18:16:51


ความคิดเห็นที่ 5 (1956226)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2517 โจทก์กับนายวารินทร์ ภัททิยกุลเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คนเมื่อประมาณกลางปี 2529 จนถึงปัจจุบันจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ทั้งที่จำเลยทราบดีว่าสามีโจทก์มีบุตรและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยกระทำการนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า เสื่อมเสียชื่อเสียง ครอบครัวของโจทก์ต้องประสบกับความร้าวฉานจนอาจถึงขั้นแตกแยก เป็นการทรมานจิตใจของโจทก์ และบุตรทั้งสองคนของโจทก์อย่างร้ายแรงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเป็นค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาทและค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 25,000 บาท ทุกเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับสามีโจทก์แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยกับสามีโจทก์มิได้มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวโจทก์ทราบเหตุการกระทำของจำเลยที่โจทก์ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และเป็นข้ออ้างฟ้องคดีนี้เมื่อประมาณกลางปี 2529 โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 60,000 บาทให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และนายวารินทร์ ภัททิยกุล เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตั้งแต่กลางปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำการกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้น เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง"

พิพากษายืน

( ประสิทธิ์ แสนศิริ - ชลอ ทองแย้ม - ทวิช กำเนิดเพ็ชร์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 18:21:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล