ReadyPlanet.com


ผู้จัดการมรดกผิดหน้าที่


พ่อมีที่ดิน น.ส. 3 อยู่ 1 แปลง มีลูก 2 คน คือตัวเรา และ พี่ ตอนที่พ่อมีชีวิตได้ดำเนินการแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วนยกให้ลูกคนละส่วนโดยไม่ได้ไปจดทะเบียนแบ่งแยกทางเอกสาร แต่ได้เข้าครอบครองเป็นสัดส่วนของใครของแต่ละคนแล้ว ต่อมาพ่อตาย พี่ชายร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลตั้งให้พี่ชายเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว

ปัญหาก็คือพี่ชายในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินทั้งแปลงให้กับบุคคลภายนอกไปแล้ว อย่างนี้จะเรียกคืนที่ดินได้หรือไม่

ปล. ที่ดินยังอยู่ในความครอบครองของเราอยู่

 



ผู้ตั้งกระทู้ แหวง :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-24 16:48:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1955967)

ระหว่างที่บิดามีชีวิตยกที่ดินให้กับบุตรแล้ว และได้ส่งมอบการครอบครองไปแล้ว ดังนั้นที่ดิน ที่มีเพียง น.ส. 3 เป็นเอกสารแสดงการครอบครอง จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อยกให้และส่งมอบการครอบครองแล้ว ลูกทั้งสองคนจึงได้สิทธิครอบครอง การที่พี่ชายขายที่ดินไปในฐานะผู้จัดการมรดกนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันคุณ เพราะที่ดินดังกล่าวไม่ใช่มรดกของบิดาของคุณอีกต่อไป ดังนั้นคุณฟ้องเรียกให้จดเบียนชื่อคุณในเอกสาร น.ส. 3 ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-27 20:25:31


ความคิดเห็นที่ 2 (1956156)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นได้โอนขายที่ดินมรดกของนายมีตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตไม่ได้แจ้งและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนายมี ถือว่าจำเลยที่ 1 ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และปกปิดการโอนขายทรัพย์มรดกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกของเจ้ามรดก กับเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมีตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมีได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 150,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมี บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่จากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่าในระหว่างมีชีวิตอยู่ นายมีเจ้ามรดกได้ยกที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 ตั้งอยู่ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่ง หลังจากที่ได้รับการยกให้แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสองส่วนมีคันนาเป็นแนวแบ่งเขตโจทก์ครอบครองที่ดินทางด้านทิศใต้ ส่วนจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทางด้านทิศเหนือ เห็นว่า ที่พิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) นายมีเจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้ามรดกจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่งและต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้รับการยกให้เป็นการที่เจ้ามรดกโอนไปซึ่งการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่ได้รับโอนการครอบครองจากเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อนายมีถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายมีที่จะตกทอดแก่ทายาท การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของนายมี โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของนายมีฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกได้ คดีนี้โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สบโชค สุขารมณ์ - เรวัตร อิศราภรณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7706/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:08:32



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล