ReadyPlanet.com


ไม่ได้เจตนารับซื้อของโจร


มีหญิงวัยกลางคนได้นำผ้าไหม มาขายให้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดเพียงเล็กน้อย (ไม่ได้ตั้งใจเอามาขายให้คุณแม่คนเดียว แต่เอามาเพื่อที่จะขายให้คนที่มีกำลังซื้อ) คุณแม่ได้รับซื้อไว้ในราคา 1850 บาท และเดือนต่อมา ได้มีชายคนหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของผ้าไหมที่แม่ได้ซื้อเอาไว้ และต้องการเอาผ้าไหมคืน (มีคนบอกว่า ลูกสะใภ้ของผู้ชายคนนี้ได้ขโมยผ้าไหมมาขายให้) คุณแม่ยังไม่คืนให้เพราะเหตุผลหลายอย่าง เขาโกธรที่แม่ไม่เชื่อเขา เลยไปเอาหมายเรียกจาก ตำรวจมา

เราไม่ได้มีเจตนารับซื้อของโจร จะมีความผิดแบบไหนค่ะ

และ คนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของผ้าไหมต้องการผ้าไหมคืน แบบฟรีๆ เราจะทำอย่างไรค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ แอ๋ม :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-22 19:52:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1953864)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 บัญญัติว่า "บุคคลผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริต ในท้องตลาด ไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

การที่คุณแม่คุณรับซื้อผ้าไหมไว้จากผู้ที่นำมาขายซึ่งการซื้อผ้าไหมดังกล่าวนั้นไม่ได้ซื้อจากร้านค้าในท้องตลาดที่มีการซื้อขายผ้าไหมกันจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากมาตรา 1332 ข้างต้น และเมื่อปรากฏในภายหลังว่า ผ้าไหมที่รับซื้อไว้นั้นเป็นของบุคคลอื่นซึ่งผู้ขายลักมานั้น คุณแม่คุณจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในผ้าไหมที่รับซื้อไว้ แม้จะโดยสุจริตก็ตาม เพราะผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในผ้าไหมหรือไม่มีสิทธินำมาขาย เข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

เมื่อไม่ได้ความคุ้มครองจากกฎหมาย แม้จะซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คุณแม่ ก็ต้องคืนผ้าไหมให้แก่เจ้าของที่แท้จริง

สำหรับความผิดฐานรับของโจรนั้น เมื่อไม่มีเจตนา จึงไม่มีความผิด ส่วนจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ก็ต้องไปต่อสู้คดีกันในชั้นศาลต่อไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 23:24:19


ความคิดเห็นที่ 2 (1953868)

ขอบคุณ คุณลีนนท์ สำหรับคำชี้แจงค่ะ

จาก กขกท

ผู้แสดงความคิดเห็น แอ๋ม วันที่ตอบ 2009-06-22 23:40:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1953870)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475

บัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

ในกรณีที่แม่ของคุณถูกเจ้าของที่แท้จริงมารบกวนสิทธิในการครองทรัพย์สิน (ผ้าไหม) ที่รับซื้อมา เพราะเจ้าของมีสิทธิเหนือผ้าไหมที่ได้รับซื้อไว้ในเวลาซื้อขายกันและเป็นเพราะความผิดของผู้ขาย ดังนั้นผู้ขายจึงต้องรับผิดในเงินที่คุณแม่คุณชำระราคาไปแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 23:52:06


ความคิดเห็นที่ 4 (1953872)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน7ค-0733 กรุงเทพมหานคร จำเลยกับนายสมชายหรือจำรัส วงศ์สุชินร่วมกันฉ้อโกงเอารถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์ การที่จำเลยครอบครองรถยนต์ของโจทก์โดยอ้างว่าซื้อจากนายสมชายซึ่งไม่ใช่เจ้าของย่อมไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้ราคารถยนต์ 120,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถใช้รถยนต์และค่าเสื่อมสภาพรถยนต์นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 เดือน 28 วัน เป็นเงิน23,466 บาท และต่อไปเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์และชำระค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์

จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้วที่ตลาดนัดเสนา ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับนายสมชายฉ้อโกงโจทก์เป็นความเท็จ โจทก์กับพวกรวม 2 คน นำรถยนต์พิพาทมาเสนอขายแก่จำเลย ณ สถานที่ประกอบการค้าของจำเลยในราคา 100,000 บาท จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์กับพวกมีสิทธิในรถยนต์โดยชอบ จำเลยได้รถยนต์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยได้ขายรถยนต์ดังกล่าวในตลาดนัดรถยนต์ตามทางการค้าของจำเลยให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่ารถยนต์พิพาทคือรถยนต์แลนเซอร์ หมายเลขทะเบียน 7ค-0733กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นของบริษัทนอร์ตัน (ประเทศไทย) จำกัดต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2529 บริษัทดังกล่าวได้ขายแก่นายนาวินเตียวรัตนกุล ในราคา 110,000 บาท แต่ไม่ได้โอนใส่ชื่อผู้ซื้อในคู่มือการจดทะเบียนรถ เพียงแต่ได้มอบเอกสารชุดโอนลอยให้ไว้ตามแบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ของกรมตำรวจ ครั้นต้นเดือนมีนาคม 2529 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายนาวิน ในราคา 120,000 บาท และรับคู่มือการจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารชุดโอนลอยมาด้วย

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกรถยนต์พิพาท และค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีหมายเลขแดงที่ 10229/2529ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายจำรัสหรือสมชายธรรมยศ กับพวก จำเลย ซึ่งโจทก์ฟ้องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรว่าร่วมกันกับพวกฉ้อโกงรถยนต์พิพาทของโจทก์นายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะจัดการขายรถให้โจทก์ จนโจทก์หลงเชื่อ ยอมมอบรถยนต์พิพาทให้ไปพร้อมทะเบียนรถและเอกสารชุดโอนศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำคุกนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศร คนละ1 ปี 6 เดือน เช่นนี้ แสดงว่าโจทก์มิได้ร่วมกับนายสมชายหรือจำรัสและนายดินหรืออดิศรขายรถยนต์พิพาทแก่จำเลยจริงแต่เป็นเรื่องนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทจากโจทก์ไปขายแก่จำเลย เมื่อจำเลยรับซื้อเอารถยนต์พิพาทจากบุคคลดังกล่าวซึ่งฉ้อโกงรถยนต์พิพาท จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท เพราะผู้ขายรถยนต์พิพาทไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น เข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สำหรับข้อที่จำเลยแก้ฎีกาว่าซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยซื้อบริเวณตลาดนัดรถยนต์ จึงไม่ต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์พิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดว่า "บุคคลผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริต ในท้องตลาด ไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา" เห็นว่าการที่จำเลยซื้อรถจากนายสมชายหรือจำรัสกับนายดินหรืออดิศรที่ฉ้อโกงเอารถยนต์พิพาทของโจทก์มาขายที่ร้านค้าของจำเลยในบริเวณชุมนุมการค้ารถยนต์ไม่ใช่ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมนุมการค้ารถยนต์นั้น จึงไม่ใช่เป็นการซื้อในท้องตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ดังนั้น จำเลยจะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ได้จำเลยจึงต้องใช้ราคารถแก่โจทก์ 120,000 บาท ตามราคาที่โจทก์ซื้อมาพร้อมด้วยค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถ และค่าเสื่อมสภาพรถคันพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทไป จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สมมาตร พรหมานุกูล - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ - สมศักดิ์ วิธุรัติ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2535

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 23:57:06


ความคิดเห็นที่ 5 (1953873)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคา 112,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและชำระภาษีบำรุงท้องที่ทุกปีโจทก์ทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและบำรุงสภาพที่ดินเป็นเงินปีละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ต่อมานายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเผื่อเป็นจำเลยที่ 1 จำเลยเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 175/2535 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 6556/2539 ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลย และนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสอง อันเป็นผลให้โจทก์ทั้งสองเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปโดยการรอนสิทธิ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองเสียหายคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 83,859.04 บาท และต้องเสียค่าขาดประโยชน์จากราคาที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปรับปรุงที่ดินพิพาทไร่ละ 5,000 บาท เป็นเงิน 139,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 338,159.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิ คดีจึงขาดอายุความ จำเลยซื้อฝากที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและรับผลตอบแทนเกินกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลย ค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องเป็นค่าเสียหายในกรณีพิเศษซึ่งจำเลยไม่อาจคาดหมายได้ อีกทั้งมิใช่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมิต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2531 เนื่องจากขาดอายุความ เพราะกฎหมายกำหนดให้เรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ผิดนัดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 112,000 บาท นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2541) ต้องไม่เกิน 83,859.04 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะเป็นการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น” การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อันมีผลให้โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้ซื้อไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปกติสุขเฉพาะนายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อทั้งนี้เพราะนายเฉลือยมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเวลาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยซื้อขายกัน แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับซื้อฝากเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่คดีได้ความว่าโจทก์ทั้งสองก็รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 มีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่านายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมารบกวนสิทธิโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อและโจทก์ทั้งสองจำต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองจึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 เมื่อที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ...ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวน 112,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองเสียหายไปจริง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเรียกร้องค่าเสียหายอ้างว่าการที่ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปจนไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกได้ โดยเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ไร่ละ 5,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองจะขายที่ดินพิพาทได้ราคาดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเองเท่านั้น ค่าเสียหายส่วนนี้จึงหาใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียหายไปตามความจริงไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และนอกจากนี้เมื่อจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 112,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยที่โจทก์ทั้งสองได้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวเอาจากจำเลยนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2539 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยจะต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองในฐานลาภมิควรได้แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น ความข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะขาดอายุความฟ้องร้องเรื่องการรอนสิทธิเท่านั้น การกล่าวอ้างเรื่องขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - คมวุฒ บุรีธนวัต - มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-23 00:02:39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล