ReadyPlanet.com


ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน


ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง โดยนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย  สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และสิทธิอื่น ๆ มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้ดำเนินการให้ หรือจะฟ้องศาลแรงงานได้เลย และแตกต่างกันอย่างไร

 



ผู้ตั้งกระทู้ อนุ :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-22 17:49:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1953879)

ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123

มาตรา 123 ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยว กับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้าง ทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราช บัญญัตินี้ ถ้าลูกจ้างถึงแก่ความตายให้ทายาทโดยธรรมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้

เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานเพื่อให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125

มาตรา 124 เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้อง

ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตาม วรรคหนึ่งได้ ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนด ตามวรรคหนึ่ง

เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฎว่าลูกจ้าง มีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรม ของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง

ให้นายจ้างจ่ายเงินตามวรรคสามให้แก่ลูกจ้างหรือทายาท โดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ทำงาน ของลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้าง ซึ่งถึงแก่ความตายร้องขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจ สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าว ณ สำนักงานของพนักงาน ตรวจแรงงานหรือสถานที่อื่นตามที่นายจ้างและลูกจ้างหรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตกลงกัน

ในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึง แก่ความตายไม่มารับเงินดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วัน ที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง ให้พนักงานตรวจแรงงาน นำส่งเงินนั้นเพื่อเก็บรักษาในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดย ฝากไว้กับธนาคาร ในการนี้ ถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใด เกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงิน ให้ตกเป็นสิทธิแก่ลูกจ้าง หรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายซึ่งมีสิทธิได้ รับเงินนั้น

ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างหรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้ รับเงินตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง และแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างหรือทายาทโดย ธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายทราบ

มาตรา 125 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตาม มาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมขอ ลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง

ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้าง ซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้น เป็นที่สุด

ในกรณที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวาง เงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้อ คดีได้

เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใด ให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตา ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้างหรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายได้

 

บทบัญญัติตามมาตรา 123 ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือ จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่แล้ว ก็ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติในระหว่างนั้น

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-23 00:12:37


ความคิดเห็นที่ 2 (1954538)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโส ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ80,300 บาท จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทควีซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านระบบคุณภาพเช่นเดียวกับกิจการของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่สอบสวนความผิดก่อนจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงไม่สามารถหางานใหม่ทำได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน149,893.33 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 8,030 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 10,706.67 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน481,800 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 963,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินดังกล่าวทุกรายการนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยทุกระยะ 7 วันด้วย

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ได้ดำเนินการเป็นคู่แข่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โดยได้จัดตั้งบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัดซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจการในด้านการให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล การจัดฝึกอบรมการตรวจประเมินระบบคุณภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกิจการของจำเลยที่เป็นนายจ้างและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดร้ายแรง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องสอบสวนจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์จดทะเบียนตั้งบริษัทคิวซีดีแมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัทดังกล่าวยื่นประมูลงานแข่งกับจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย แต่เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างและไม่ถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 481,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันเลิกจ้างจนถึงวันชำระเสร็จ ค่าจ้างเป็นเงิน 50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 10,706.67บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่าภายหลังจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2543 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 โจทก์ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้เพื่อขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์อีก รวมทั้งเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่โจทก์นำมูลกรณีที่ถูกจำเลยเลิกจ้างไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ขณะอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์นำมูลกรณีเดียวกันนี้ไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 123 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน..." แสดงว่าเมื่อเข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานเพื่อให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125 บทบัญญัติตามมาตรา 123 ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือ จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่แล้ว ก็ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติในระหว่างนั้น ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ขอให้บังคับบริษัทแอลวีเอ็ม(เอเชีย) จำกัด จำเลยคดีนี้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นเงินตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อจำเลยคดีนี้ด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุดเมื่อปรากฏว่าต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 ระหว่างพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันไปยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้อีกเพื่อขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์เช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไว้ ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้ให้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการฟ้องเรียกตามสิทธิในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิใช่ฟ้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนนี้ได้"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( ปัญญา สุทธิบดี - กมล เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-24 10:29:23


ความคิดเห็นที่ 3 (1956153)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 สั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างพร้อมเงินเพิ่มให้แก่นายณรงค์ อินทนิน ลูกจ้างของโจทก์ รวม 1,536,000 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เนื่องจากเดิมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์ลูกจ้างได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร ว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 อยู่ 10,000 บาท ขณะเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 ขอให้ศาลบังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท และในคดีดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างหลายครั้ง โดยมียอดเงินอัตราค่าจ้างไม่เหมือนเดิมและเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง นายณรงค์จึงถอนฟ้องไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2542 นายณรงค์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 โดยบรรยายฟ้องว่าได้รับค่าจ้างเดือนละ 43,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2542 ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล นายณรงค์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ค้างชำระค่าจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงปัจจุบัน การที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยคำร้องดังกล่าวและออกคำสั่งที่ 35/2542 จึงเป็นการขัดต่อขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึง 125 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวอีก ทั้งการที่โจทก์และนายณรงค์ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างกันอยู่ ทำให้โจทก์ไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์โดยปราศจากเหตุอันสมควร คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายณรงค์ อินทรนิน เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 35,000 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ลดค่าจ้างของนายณรงค์เหลือ 25,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายณรงค์และจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์เพียงจำนวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์มาร้องเรียนโจทก์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน เรื่องค่าจ้างสำหรับเดือนพฤศจิกายน 2541 ที่ขาดอยู่จำนวน 10,000 บาท และค่าจ้างเดือนธันวาคม 2541 จำนวน 35,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2542 จำเลยที่ 2 เรียกโจทก์มาไกล่เกลี่ยโจทก์ยอมรับว่าในวันที่ 29 มกราคม 2542 จะนำเงินค่าจ้างจำนวน 45,000 บาท มาชำระให้แก่นายณรงค์ แต่ถึงวันนัดกลับนำเงินมาชำระเพียง 10,000 บาท ซึ่งนายณรงค์ไม่ยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวและได้ขอถอนคำร้องเพื่อนำคดีไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานกลาง ข้อเรียกร้องของนายณรงค์จึงระงับไปตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2542 และโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน 10,000 บาท คืนไปแล้ว ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2542 นายณรงค์มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2541 ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ตามคำร้องของนายณรงค์ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2542 มิใช่ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 และตามคำร้องทั้งสองฉบับ มีประเด็นเรื่องค่าจ้างซ้ำกันเพียงเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2541 เท่านั้น ส่วนค่าจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ตลอดมา ไม่มีประเด็นในคำร้องเดิม และไม่ใช่ประเด็นที่โจทก์และนายณรงค์เป็นคู่ความกันอยู่ในศาลแรงงานกลาง ทั้งการคำนวณเงินเพิ่มก็ไม่ได้คำนวณจากค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2541 อีกทั้งโจทก์เคยจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ในอัตราเดือนละ 35,000 บาท ดังนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่ายังไม่ทราบว่าค่าจ้างของนายณรงค์เป็นจำนวนเท่าใดเพราะยังไม่มีคำพิพากษาฟังไม่ขึ้น โจทก์มีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 กับทั้งตามคำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และข้อเรียกร้องของนายณรงค์ตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 กับคำร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแตกต่างกัน ข้อเรียกร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานส่วนใหญ่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นภายหลังจากนายณรงค์ยื่นฟ้องแล้ว ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดห้ามลูกจ้างที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วมิให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีก การที่นายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 พนักงานตรวจแรงงาน จึงมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ โจทก์รู้อยู่แล้วว่า นายณรงค์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 35,000 บาท การที่โจทก์ยกเอาการยื่นคำร้องและการฟ้องคดีต่อศาลของนายณรงค์มาเป็นข้ออ้างว่ายังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างและยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่านายณรงค์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละเท่าใด เพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้นายณรงค์จึงฟังไม่ขึ้น คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 จึงชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายณรงค์ อินทนิน เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้ควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2531 ต่อมาเดือนมกราคม จนถึงเดือนตุลาคม 2541 โจทก์ได้ลดค่าจ้างของนายณรงค์เหลืออัตราเดือนละ 35,000 บาท โดยนายณรงค์ยอมรับค่าจ้างอัตรานี้ตลอดมา จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์เพียง 25,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักรว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 อยู่ 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2542 โจทก์โดยนายจรูญสุวรรณฉัตรชัย กรรมการผู้จัดการได้ไปพบพนักงานตรวจแรงงาน และยอมรับที่จะนำเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่จำนวน 10,000 บาท และค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม 2541 จำนวน 35,000บาท รวม 45,000 บาท มาชำระให้แก่นายณรงค์ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร ภายในวันที่ 29 มกราคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหลังวันที่ 22 มกราคม 2542 แต่ก่อนวันที่ 29 มกราคม 2542 โจทก์นำเงินไปวางต่อพนักงานตรวจแรงงานเพียง 10,000 บาท ซึ่งนายณรงค์ไม่ยอมรับและขอถอนคำร้องไป โจทก์ได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 ในคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 นายณรงค์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 28 มกราคม 2541 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นการแก้ไขอัตราค่าจ้างรวมทั้งค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2541 ด้วย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และศาลเห็นว่าคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องทั้ง 2 ครั้ง ของนายณรงค์ยอดเงินไม่เคยเหมือนกันและเพิ่มขึ้นทุกครั้ง จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง นายณรงค์ได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 3257/2542 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอีกครั้งตามคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างบางส่วนของเดือนมกราคม 2541 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 และค่าจ้างของเดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 พร้อมดอกเบี้ยแก่นายณรงค์ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนายณรงค์ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้โจทก์จ่ายค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนกันยายน 2542 พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่นายณรงค์คือคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในคดีนี้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในคดีนี้แล้ว นายณรงค์จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลาง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 16635/2542 อัตราค่าจ้างของนายณรงค์คือเดือนละ 35,000 บาท ถูกต้องตามที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัย และโจทก์ได้ค้างจ่ายแก่นายณรงค์ซึ่งเป็นค่าจ้างบางส่วนของเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าจ้างของเดือนธันวาคม 2541 จนถึงเดือนกันยายน 2542 อีก 10 เดือนรวมเป็นเงิน 360,000 บาท ตามที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยจริง เหตุที่โจทก์ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากระหว่างนั้นมีการนำเรื่องไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีมาฟ้องศาล ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าอัตราค่าจ้างของนายณรงค์เป็นจำนวนเท่าใด และนายณรงค์ได้เคยติดต่อขอรับค่าจ้างจากโจทก์เรื่อยมา แต่เนื่องจากข้อโต้แย้งยังไม่ยุติเกี่ยวกับจำนวนเงิน ค่าจ้าง โจทก์จึงยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้ ในชั้นพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีความเห็นให้โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 360,000 บาท ให้นายณรงค์ และนายณรงค์เคยทำหนังสือขอรับค่าจ้างจากโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 5 เมษายน 2542 มีใจความว่า ขอให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่นายณรงค์ตามที่ได้เคยเจรจากันที่ศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 แต่โจทก์ในฐานะนายจ้างไม่เคยจ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่นายณรงค์จนกระทั่งนายณรงค์ได้ไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 27 กันยายน 2542 และโจทก์ได้ชำระค่าจ้างค้างจำนวน 360,000 บาท ให้แก่นายณรงค์แล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 โดยให้นายณรงค์รับไปจากเงินที่โจทก์นำมาวางต่อศาลพร้อมฟ้องคดีนี้

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่นายณรงค์ยื่นฟ้องโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 แล้ว ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณานายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์หรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน" แสดงว่า เมื่อเข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 123 นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเสียก่อน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่ง จึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 123 ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันที่เดียวทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่ไปแล้วอยู่ในตัว ดังนั้น การที่นายณรงค์ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย จึงถือว่านายณรงค์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อโจทก์ด้วยการฟ้องต่อศาลแรงงานกลางจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 แล้ว เมื่อปรากฏว่าต่อมานายณรงค์ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน อีกในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงาน เพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างค้างจ่ายที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ แม้ต่อมานายณรงค์จะได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปจากศาลก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์อยู่เดิมกลับมีอำนาจพิจารณาคำร้องนั้นขึ้นมาอีก คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานคือจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542

( หัสดี ไกรทองสุก - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - จรัส พวงมณี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2544

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:00:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล