ReadyPlanet.com


ที่ดิน


อยากทราบว่าถ้าเราปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของคนอื่นเกินกว่า60 ปีไปแล้ว แล้วเค้าจะมาท้วงที่คืนแล้วไม่คืนให้เค้าได้ไหมพอจะมีวิธีไหนบ้าง


ผู้ตั้งกระทู้ ืืืืnn :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-22 13:24:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1953827)

การที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ต้องได้ความว่าได้ครอบครองที่ดินนั้นโดยสงบ เปิดเผย ด้ยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้วจึงจะได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

แต่ตามข้อเท็จจริงตามคำถามนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้เข้าไปอยู่ในที่ดินของคนอื่นดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิใด หากคุณได้รับอนุญาตจากเจ้าของเดิมให้อยู่อาศัยด้วยความเมตตา ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินแทนเจ้าของเดิม  แม้จะได้ครอบครองเป็นเวลา 60 ปี ดังที่บอกมา ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์  เว้นแต่จะปรากฏว่าทางคุณได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินเป็นการครอบครองเพื่อตนเองและได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ทราบและเริ่มนับอายุความครอบครองแต่นั้นมา หากเกิน 10 ปี คุณก็ได้กรรมสิทธิ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 21:25:26


ความคิดเห็นที่ 2 (1953828)

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1363 โจทก์ที่ 1 กู้เงินจากนายอินปันใสรังกา สามีจำเลย โดยนำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมอบให้จำเลยและนายอินปันสามีจำเลยยึดถือไว้เป็นประกันและยอมให้จำเลยและสามีจำเลยเข้าทำประโยชน์โดยปลูกพืชล้มลุกในที่ดินได้ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนที่ดินเป็นชื่อของจำเลยโดยโจทก์ทั้งห้าไม่ทราบ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1363 แล้วใส่ชื่อโจทก์แทน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งห้าและนายมา วงศ์สกุล โดยไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 26 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนรั้วดังกล่าว

โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1363 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิคำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ขับไล่โจทก์ที่ 1ที่ 2 พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินพิพาท

โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3และนายมาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในปี 2510 จริง แต่เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.6 แล้วสัญญาซื้อขายมีข้อความระบุว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย เหตุที่ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนทันทีเนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 5 ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะโอนทันที ข้อความในสัญญาดังกล่าวจึงแสดงว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้นเพราะยังมีข้อตกลงกันว่าจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันต่อไป อันแสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยทางทะเบียนตราบใดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันตามข้อตกลงในสัญญา กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ถึงจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งห้า แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เว้นแต่จำเลยจะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งห้าว่าไม่เจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งห้าอีกต่อไป ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จึงเริ่มต้นนับแต่นั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองเพื่อตนเองและได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าทราบ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตามก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันกับโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้ายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น"

พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( อัธยา ดิษยบุตร - ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ - อภิชาต สุขัคคานนท์ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2541

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 21:28:28


ความคิดเห็นที่ 3 (1953839)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2508 ต่อมาเมื่อปี 2514ได้จดทะเบียนสมรส มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน คือบ้านเลขที่ 17 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2301 เนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน รวมราคา280,000 บาท ครั้นปี 2529 จำเลยดูหมิ่นเหยียดหยามทำร้ายร่างกายด่าว่าขับไล่โจทก์กับบุตรโจทก์ซึ่งเกิดจากสามีคนเดิมออกจากบ้านและฟ้องหย่าโจทก์ด้วย ศาลพิพากษาให้หย่ากันแล้ว ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 140,000 บาทหากแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์

จำเลยให้การว่า บ้านและที่ดินที่โจทก์เรียกร้องเป็นของจำเลยมาตั้งแต่เดิมสำหรับที่ดินนั้นจำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์ร่วมด้วยโดยหลงผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2301 ตำบลโนนศิลา อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลขายในระหว่างกันเอง และหากตกลงไม่ได้อีกให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในชั้นนี้เพียงว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเอาที่ดินพิพาทจากจำเลยได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบไม่โต้เถียงกันว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2301 ตำบลโนนศิลา อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน มีชื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ ที่จำเลยเบิกความว่า ตามบันทึกการสอบสวนเพื่อออก น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาท จำเลยไม่เคยแสดงเจตนาให้เจ้าพนักงานที่ดินระบุว่า ยอมให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อได้รับ น.ส.3 ก. ดังกล่าว ซึ่งมีชื่อโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่ง จำเลยก็ไม่คัดค้าน เพราะขณะนั้นจำเลยกับโจทก์ยังอยู่กินด้วยกัน แต่ตามแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 ได้ระบุชัดเจนว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย เช่นนี้ต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนาให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง จำเลยจะเถียงว่าความจริงจำเลยไม่มีเจตนาจะให้โจทก์ได้ที่ดินพิพาทหาได้ไม่ แม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่านับแต่ปี 2529 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาสละการครอบครองดังจำเลยอ้าง เพราะกรณีต้องด้วยลักษณะเจ้าของรวม ซึ่งมีผลในทางกฎหมายว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยยังมิได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไปสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ย่อมไม่สิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกเอาที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ครึ่งหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สุวัตร์ สุขเกษม - สะสม สิริเจริญสุข - ชวลิต ธรรมฤาชุ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2541

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-22 21:54:06


ความคิดเห็นที่ 4 (1954529)

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 บริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และ 19631 ให้แก่นางบุหงา วัชโรทัยหรือลิ่มสกุล โดยบริษัทตกลงจะสร้างบ้านในที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้ด้วย ครั้นบริษัทสร้างบ้านเสร็จได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้แก่นางบุหงาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 บริษัทยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เนื่องจากที่ดินดังกล่าวติดจำนองอยู่กับบริษัทภัทรธนกิจจำกัด หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด แต่บริษัทข้างต้นได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่นางบุหงาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 เป็นต้นมา และสัญญาว่าหากไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ นางบุหงาจึงครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 โดยความสงบเรียบร้อยและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่นั้นตลอดมา ต่อมาวันที่18 มกราคม 2533 นางบุหงาขายบ้านและที่ดินดังกล่าวที่นางบุหงาครอบครองอยู่ให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดและได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้แก่ผู้ร้องส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 ยังจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องไม่ได้เพราะที่ดินดังกล่าวยังมีชื่อบริษัทข้างต้นถือกรรมสิทธิ์และถูกกรมสรรพากรยึดไว้นางบุหงาจึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้ร้องในวันทำสัญญา ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา5 ปี 10 เดือนเศษ และเมื่อนับรวมระยะเวลาที่นางบุหงาได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาก่อนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2521 จนถึงวันที่โอนการครอบครองให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2533เป็นเวลา 11 ปี 11 เดือนเศษ จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวรวมเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 ดังกล่าวตามกฎหมายและให้เจ้าพนักงานที่ดินหรือผู้เกี่ยวข้องจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน บริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัดยื่นคำคัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นไม่รับคำคัดค้านเพราะยื่นเกินกำหนด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด อยู่ นางบุหงามิได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อศาลหรือระบุในสัญญาจะซื้อจะขายเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินในปี 2533 จนบัดนี้ยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเดิมบริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และ 19631 แขวงวัดอรุณ(บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 นางบุหงา วัชโรทัยหรือลิ่มสกุลได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 จากบริษัทศิลาลัยเคหะ จำกัด โดยมีข้อตกลงว่าบริษัทผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นางบุหงาผู้จะซื้อในวันที่นางบุหงาชำระเงินงวดสุดท้าย และมีข้อตกลงว่านางบุหงาจะต้องจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวาคิดเป็นเงินประมาณ 64,000 บาท อีกด้วย ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย ร.6 ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2530 นางบุหงาได้ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนเป็นเงิน 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าเงินส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายหลังที่ดินส่วนที่เป็นถนนได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 19631ซึ่งนางบุหงาว่าจ้างให้บริษัทปลูกสร้างบ้านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และก่อสร้างรั้วล้อมรอบที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าววันที่ 19 ธันวาคม 2521 บริษัทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้แก่นางบุหงาส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 ติดจำนองอยู่กับบริษัทภัทรกิจ จำกัด จึงยังจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นางบุหงาไม่ได้ แต่นางบุหงาได้เข้าครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา จนกระทั่งวันที่18 มกราคม 2533 นางบุหงาได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องได้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 เท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19631ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำไว้ในราคา64,000 บาท โดยผู้ร้องได้ชำระเงินมัดจำไว้แก่นางบุหงา10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระกันเมื่อนางบุหงาได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากบริษัทศิลาลัยเคหะ จำกัด แล้วจะแจ้งกำหนดรับโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันปัจจุบันยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ได้

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19631 จนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่านางบุหงาได้เข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างบริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด กับนางบุหงา ส่วนผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำระหว่างนางบุหงากับผู้ร้อง โดยสัญญาแต่ละฉบับดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้ขายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อด้วย แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีเจตนาที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน ฉะนั้น การครอบครองที่ดินรายนี้ของนางบุหงาจึงเป็นการครอบครองแทนบริษัทศิวาลัยเคหะจำกัดและผู้ร้องก็เข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของนางบุหงา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิดีกว่านางบุหงา เมื่อไม่ปรากฏว่านางบุหงาได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 กรรมสิทธิ์ยังเป็นของบริษัทศิวาลัยเคหะ จำกัด แม้นางบุหงาจะครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวนานเพียงใดนางบุหงาก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ผู้ร้องครอบครองต่อจากนางบุหงาและโดยอาศัยสิทธิของนางบุหงาจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ด้วย

พิพากษายืน

( ผล อนุวัตรนิติการ - สมปอง เสนเนียม - จรัญ หัตถกรรม )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394/2540

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-24 10:21:19


ความคิดเห็นที่ 5 (1956155)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินในโฉนดเลขที่ 718 เนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวาโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ฝ่ายละ 3 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวาเมื่อปี 2534 โจทก์และจำเลยทั้งสองไปขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นส่วนสัดตามที่แต่ละคนครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดินแต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินเป็นเนื้อที่เพียง2 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นของจำเลยทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินร่วมกับโจทก์เพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 718 ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายละครึ่งของเนื้อที่ทั้งหมดให้โจทก์ได้ที่ดินส่วนด้านทิศตะวันตกซึ่งโจทก์ครอบครองและให้จำเลยทั้งสองได้ที่ดินส่วนทิศตะวันออกซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 718เป็นของนายวัง เชิดชู บิดาโจทก์และนายประยงค์ เชิดชูซึ่งเป็นบิดาจำเลยทั้งสอง นายวังได้แบ่งที่ดินดังกล่าวให้นายประยงค์กับโจทก์ครอบครองเป็นส่วนสัด นายประยงค์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนทางทิศตะวันออก และบางส่วนของที่ดินทางทิศตะวันตกรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวาไม่ได้ครอบครองฝ่ายละครึ่งของเนื้อที่ทั้งหมด จำเลยทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากนายประยงค์โดยการรับมรดกไว้ด้วยความสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า10 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 718 เฉพาะส่วนภายในเส้นประตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 3 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ และห้ามมิให้โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลยทั้งสอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายวังยกที่ดินให้กับโจทก์และนายประยงค์คนละครึ่ง โดยโจทก์ได้ครอบครองที่ดินส่วนตะวันตกนายประยงค์ครอบครองที่ดินส่วนทิศตะวันตก ซึ่งมีถนนสาธารณประโยชน์คั่นระหว่างที่ดินทั้งสองส่วน นายประยงค์และจำเลยทั้งสองไม่ได้ครอบครองที่พิพาทส่วนทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ตามที่อ้างแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน63 ตารางวา (หมายเลข 1 ในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ล.9) โฉนดเลขที่ 718 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง ห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้อง และให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินร่วมกับโจทก์เพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 718 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งโดยให้โจทก์ได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันตก ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และนายประยงค์ เชิดชู เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนายประยงค์ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 718 นายวัง เชิดชู บิดาของโจทก์และนายประยงค์ได้จดทะเบียนให้โจทก์และนายประยงค์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 ต่อมานายประยงค์ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินส่วนของนายประยงค์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองได้ที่ดินภายใต้เส้นสีเขียวและเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาท (หมายเลข 1 ในเอกสารหมาย ล.9)โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อในสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินแปลงพิพาทระบุว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งก็ต้องหมายความว่ามีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งใกล้เคียงกับเจตนาของคู่กรณี และนายวังไม่ได้ยกที่ดินให้แก่นายประยงค์เมื่อปี 2503 ทั้งนายประยงค์ก็ยินยอมไปทำนิติกรรมโดยไม่คัดค้าน ยิ่งกว่านั้นเมื่อนายประยงค์ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสองไปขอรับโอนมรดก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532ก็ระบุว่ารับมรดกเฉพาะส่วนของนายประยงค์เท่านั้น ส่วนของคนอื่นคงเดิม เป็นการยืนยันว่าส่วนของโจทก์ยังมีอยู่ครึ่งหนึ่งจำเลยทั้งสองหาได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ นายประยงค์และจำเลยทั้งสองไม่เคยบอกกล่าวโจทก์ว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่ามิได้ครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่านายประยงค์หรือจำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ที่ดินภายใต้เส้นสีเขียวและเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อจำเลยทั้งสองสืบสิทธิของนายประยงค์บิดาซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันเท่ากับโจทก์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 718 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

( ชวลิต ศรีสง่า - ไพโรจน์ คำอ่อน - วิเทพ ศิริพากย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2540

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:04:13



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล