ReadyPlanet.com


ซื้อรถกระบะวีโก้มาจากเต๊นท์รถค่ะ แต่ตอนนี้ตำรวจยึดไปค่ะ.....ทำไงดี


ซื้อรถกระบะวีโก้มาจากเต๊นท์รถค่ะ 350,000 บาท ซื้ออย่างถูกต้องเหมือนซื้อตามเต๊นท์รถทั่วไปค่ะ แต่พอซื้อมาได้ 7 วัน ก็มีตำรวจมาถึงบ้านเราก็งง ตำรวจบอกว่ารถคันนี้เข้าค่ายขโมยมา ก็เลยส่งหมายให้ทางเรา แล้วก็เอารถไปตรวจสอบที่ภาค 5 รอเรื่องประมาณ 3 เดือน ผลสรุปออกมาว่ารถคันนี้สวมซาก สวมทะเบียน ผิดกฎหมาย ก็เลยต้องยึด กลายเป็นว่า ณ วันนี้ รถก็ไม่ได้ เงินก็ไม่ได้คืน ไปคุยกะเจ้าของเต๊นท์รถแล้ว เจ้าของเต๊นท์รถบอกว่า หมดความรับผิดชอบไปแล้ว จะทำยังไงดีคะ เพราะว่า ตอนที่ตำรวจมาที่บ้านให้เราเซ็นต์ในฐานะ พยาน แล้วเจ้าของเต๊นท์รถเป็นผู้ต้องหา ค่ะ แต่งง ว่าทำไม ไม่เห็นมีใครที่จะทำให้เราได้รับความยุติธรรมเลย ค่ะ เหมือนเราซื้อของแล้วจู่ ๆ ของ ๆ เราโดนยึด ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย สคบ. จะช่วยได้มั้ยคะ หรือว่าฟ้องร้องกะเต๊นท์เลยดีมั้ยคะ ทำยังไงดีคะ อยากได้เงิน 350,000 บาท คืนค่ะ ไม่อยากเสียไปฟรี ๆ เพราะเต๊นท์รถเค้าพูดไม่ดีกะเราเลยแล้วก็พูดเหมือนไม่รับผิดชอบอะไรเลยค่ะ ตอบด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ นินาค่ะ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-10 15:30:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1960894)

มาตรา 475    หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ ในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือ ทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

หากผู้ซื้อไม่ทราบมาก่อนว่ารถยนต์คันนั้นมีปัญหากันอยู่ คือซื้อมาโดยสุจริตทั่วไป ผู้ขายก็ต้องรับผิดชอบคืนเงินครับ

แต่เขาคงไม่คืนเราง่าย ๆ ก็คงต้องฟ้องร้องเอาครับ


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-10 16:31:25


ความคิดเห็นที่ 2 (1960914)

มาตรา 479    ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมด หรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้น ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการ ใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 17:07:03


ความคิดเห็นที่ 3 (1960920)

ผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อผู้ซื้อที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถยนต์

 

ซื้อรถมาในราคา 300,000 บาท โดยไม่ทราบว่าเป็นรถยนต์ที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถเป็นเอกสารปลอมจึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากผู้ซื้อเพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง ผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อผู้ซื้อที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่ผู้ซื้อ

 

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 9จ-6478 กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ ในราคา 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อโอนทะเบียนรถให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในฐานะสามีของจำเลยที่ 2ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2530 เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถจากโจทก์เพื่อคืนให้เจ้าของที่แท้จริง เนื่องจากรถถูกโจรกรรมมาแล้วเปลี่ยนทะเบียนก่อนที่จะขายให้โจทก์ โจทก์ไม่อาจใช้รถได้ตามความประสงค์โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ราคารถที่ได้รับไปจากโจทก์แล้วจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530เป็นต้นไป ซึ่งขอคิดถึงวันฟ้องเพียง 10 เดือน เป็นเงิน18,750 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วก็เพิกเฉยจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน318,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ขายรถคันพิพาทให้โจทก์และไม่ได้รับเงินค่าราคารถจากโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่าการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อยินยอมให้โอนรถเป็นเหตุให้ต้องร่วมรับผิดอย่างไร ปรากฏภายหลังว่ารถถูกลักมา ดังนั้นการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ความยินยอมของจำเลยที่ 1 จึงใช้ไม่ได้ การซื้อขายรถมิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์ในราคา 300,000 บาท ตั้งแต่วันที่3 มิถุนายน 2529 และโจทก์ได้รับรถไปแล้วในวันดังกล่าวโจทก์ใช้ประโยชน์ในรถจนถึงวันที่ถูกยึดคืนเป็นเวลา323 วัน โดยอาจนำออกให้เช่าได้วันละ 1,500 บาทคิดเป็นเงินจำนวน 484,500 บาท คุ้มกับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 ซื้อรถมาจากนายธงชัย ศรีจั่นแก้วโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา ทั้งได้ตรวจสอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ทราบว่าเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ได้นำเอกสารหลักฐานปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานกองทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีขอจดทะเบียนรถและเพราะความประมาทเลินเล่อของพันตำรวจโทชัยวัฒน์ชำนาญพูด ร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียรและนายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนู ได้ออกใบคู่มือการจดทะเบียนรถให้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นการร่วมกันทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งกรมตำรวจต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายธงชัย ศรีจั่นแก้วนางสาววิไล เนื่องจำนงค์ พันตำรวจโทชัยวัฒน์ ชำนาญพูดร้อยตำรวจเอกโอภาส ยศปิยะเสถียร นายดาบตำรวจสุพจน์ วงศ์ธนูและกรมตำรวจเข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 2 ไม่เคยเป็นเจ้าของรถคันพิพาท และไม่เคยนำไปขายให้จำเลยที่ 1ใบคู่มือการจดทะเบียนเป็นของปลอมเหตุที่มีชื่อของจำเลยร่วมที่ 2 เนื่องจากมีบุคคลอื่นร่วมทำขึ้นหรือจำเลยร่วมที่ 1ร่วมกับบุคคลอื่นทำขึ้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลคดีผิดสัญญาซื้อขาย แต่จำเลยที่ 2ให้การว่าจำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กระทำโดยประมาทอันเป็นมูลคดีเรื่องละเมิดซึ่งต่างกัน จำเลยที่ 2จึงชอบที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้รับจดทะเบียนรถคันพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดกล่าวคือ สภาพของรถอยู่ในสภาพใหม่ ไม่มีร่องรอยเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือขูดลบดัดแปลงหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะเป็นเอกสารปลอมต่อมาจำเลยร่วมที่ 2ได้จดทะเบียนโอนรถให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 แล้ว จำเลยร่วมที่ 1ได้แจ้งย้ายรถไปใช้ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วมที่ 3 ตรวจสอบพบว่าเอกสารหลักฐานของจำเลยร่วมที่ 2 เป็นเอกสารปลอมและรถถูกลักมา จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยร่วมที่ 2ทั้งแจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบเพื่อให้ระงับการทำนิติกรรมและให้ยึดรถให้ยึดรถไว้ตรวจสอบโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานการซื้อขายรถและตามใบคู่มือการจดทะเบียนก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อโจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หากจำเลยที่ 2 นำใบคู่มือการจดทะเบียนไปตรวจสอบจริงก็ ย่อมจะต้องทราบว่ารถถูกลักมาหากจำเลยที่ 2ซื้อรถจากจำเลยร่วมที่ 1 แล้วก็ชอบที่จะนำรถไปจดทะเบียนโอนภายใน 15 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็จะต้องทราบว่ารถถูกลักมาการที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงเกิดความประมาทเลินเล่อ หากโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยตรวจดูใบคู่มือการจดทะเบียนเสียก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็จะทราบว่ารถถูกลักมา กรณีจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ราคาซื้อขายรถระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาทดังนั้นราคารถในขณะที่ถูกยึดย่อมมีราคาน้อยลงเนื่องจากใช้มานายย่อมเสื่อมสภาพลงจึงมีราคาไม่เกิน 50,000 บาทและโจทก์ใช้รถเพื่อประโยชน์มาตลอด จึงไม่มีค่าเสียหายจากการรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมที่ 6 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ใช้ความละเมิดรอบคอบระมัดระวังมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ทั้งปริมาณงานที่แผนกทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีมีมากในแต่ละวันเมื่อตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารก็ได้แจ้งให้นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครทราบแล้ว การซื้อขายรถนี้หากจำเลยทั้งสองหรือโจทก์ไปดำเนินการทางทะเบียนโอน จดทะเบียนโอนที่แผนกทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานคร ก็ย่อมจะทราบว่ารถคันพิพาทเป็นรถที่จำเลยที่ 2 ได้มาโดยไม่ชอบโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในรถแล้วเป็นเวลา 323 วันรถมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีเศษแล้ว ย่อมเสื่อมสภาพหากโจทก์ขายรถก็จะได้เงินไม่เกินจำนวน 80,000 บาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 6

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้ซื้อรถคันพิพาทไปจากจำเลยทั้งสองในราคา 300,000 บาทโดยไม่ทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและมีใบคู่มือการจดทะเบียนปลอมมาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนของรถคันพิพาทเป็นเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีการยึดรถคันพิพาทไปจากโจทก์เพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ราคารถคันพิพาทให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า"หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น" และมาตรา 479 บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี ฯลฯ ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ซื้อรถคันพิพาทถูกรอนสิทธิเพราะเจ้าของรถคันพิพาทมีสิทธิเหนือรถคันพิพาทในขณะที่มีการซื้อขาย ดังนั้นจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกรอนสิทธิโดยชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทจากโจทก์ด้วยนั้นเห็นว่า การที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถคันพิพาทนั้นมิใช่เป็นค่าหรือราคารถคันพิพาทที่จำเลยจะต้องส่งคืนดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับราคาของรถคันพิพาทได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าความเสียหายอันเกิดแต่การรอนสิทธินั้น โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นโจทก์จึงต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายกึ่งหนึ่งด้วยนั้น เห็นว่าในปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสองจะได้อุทธรณ์ในข้อนี้มาด้วยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 กระทำโดยประมาทเลินเล่อจึงต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยร่วมที่ 3เป็นนายทะเบียนยานพาหนะประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี จำเลยร่วมที่ 4 เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนและจำเลยร่วมที่ 5 ได้รับมอบหมายให้รวบรวมรายได้ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมของงานทะเบียนยานพาหนะจำเลยร่วมที่ 6 เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2529จำเลยร่วมที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีได้แจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานครว่าใบคู่มือการจดทะเบียนรถคันพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1เป็นเอกสารปลอม ให้ระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใด ๆ และให้อายัดรถคันพิพาทไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมายล.2 และ ล.3 ต่อมาปรากฏว่าวันที่ 3 มิถุนายน 2529จำเลยทั้งสองได้ตกลงขายรถคันพิพาทให้โจทก์ จากการนำสืบพยานหลักฐานของ จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ความว่าการจดทะเบียนและการออกใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ดังที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้และได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการทุกประการโดยเฉพาะได้กระทำไปโดยสุจริต หลังจากที่ทราบว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมแล้วก็รีบแจ้งต่อนายทะเบียนยานพาหนะที่เกี่ยวข้องทราบและอายัดรถคันพิพาททันที เกิดเหตุแล้วได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการที่สอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นต้องกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทะเบียนยานพาหนะจังหวัดชลบุรีที่เกี่ยวข้องทุกคนได้ดำเนินการไปโดยชอบและสุจริตแล้ว และมิได้กระทำไปโดยความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.31 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองนั้นคงนำสืบลอย ๆ ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างใดเห็นว่า พยานจำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 6มีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ กรณีเช่นนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและโจทก์ที่ควรจะต้องไปตรวจสอบพยานหลักฐานทางทะเบียนของรถคันพิพาทก่อนที่จะมีการซื้อขายกันตามวิสัยของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปพึงจะกระทำกันประการสำคัญโจทก์ได้ซื้อ รถคันพิพาท หลังจากที่ได้มีการแจ้งอายัดจากจำเลยร่วมที่ 3 แล้ว ซึ่งหากโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ไปจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายแล้วก็จะทราบทันทีว่าใบคู่มือการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองมากกว่า ดังนั้น จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5ตลอดจนจำเลยร่วมที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยร่วมที่ 3 ถึงที่ 5 สังกัดอยู่จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วยแต่ประการใด

พิพากษายืน

( ชัยนาท พันตาวงศ์ - สะสม สิริเจริญสุข - สมชัย สายเชื้อ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839/2538

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 17:14:54


ความคิดเห็นที่ 4 (1960931)

ห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือน

 

มาตรา 481 ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการ รอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิม ถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตาม บุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

 

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากจำเลยแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 892,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ได้ขายรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ในราคา 200,000 บาท จำเลยได้รับโอนรถยนต์พิพาทมาจากเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายทะเบียนยานพาหนะก็ได้ตรวจสอบและจดทะเบียนโอนให้จำเลยและโจทก์โดยชอบ โจทก์ยอมตามกองกำกับการตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรีเรียกร้องเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้ประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเวลา 3ปี 9 เดือน 17 วัน คิดเป็นเงินวันละ 800 บาท มากกว่าทุนที่โจทก์ซื้อรถยนต์ไปจากจำเลย โจทก์จึงไม่เสียหาย โจทก์ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องและนับตั้งแต่วันที่ยอมดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 4เดือน 15 วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่โจทก์ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะการรอนสิทธิหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาก่อน จำเลยตกลงขายให้โจทก์ โจทก์ได้ตรวจดูจนพอใจแล้วทั้งการตรวจสอบของเจ้าพนักงานจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสุพรรณบุรีก็ไม่ปรากฏว่ามีการขูดลบตัวเลขในส่วนต่างๆของรถยนต์พิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ในข้อนี้ร้อยตำรวจเอกกฤษณะสินธุเดชะพยานโจทก์เบิกความว่า พยานสอบสวนคนร้ายลักรถยนต์บรรทุกซึ่งรับสารภาพว่าได้ลักรถยนต์บรรทุกไปหลายคันรวมทั้งรถยนต์พิพาทด้วยจึงติดตามมายึดรถยนต์พิพาทได้จากโจทก์ เมื่อสอบสวนโจทก์ โจทก์อ้างว่าซื้อรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยพร้อมแสดงใบคู่มือการจดทะเบียน พยานจึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าตรงบริเวณหมายเลขคัสซีและหมายเลขเครื่องยนต์มีรอยแก้ไขตัวเลขโจทก์จึงยอมให้พยานยึดรถไป โดยได้ลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเดิมบางนางบวช กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจได้ตรวจสอบหมายเลขคัสซีและหมายเลขเครื่องยนต์แล้วทราบว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมาจากท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางมด โจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่เต็มใจให้ยึดรถแต่เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าถ้าไม่ยินยอมให้ยึดจะมีความผิด ดังนี้ย่อมเป็นการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะเจ้าของรถยนต์คนเดิมมีสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทอยู่ในเวลาที่ซื้อขายกัน ซึ่งจำเลยผู้ขายจะต้องรับผิด ในการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ถึงแม้จำเลยจะไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม เมื่อรถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปก็ถือได้ว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทไปทำให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของโจทก์สิ้นไป จำเลยผู้ขายย่อมต้องรับผิดชำระราคารถยนต์พิพาทคืนให้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 479 ส่วนค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถจำเลยก็ต้องรับผิดอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 475 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา481 นั้นเห็นว่าแม้ มาตรา 481 จะเป็นเพียงมาตราเดียวที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเกี่ยวกับการรอนสิทธิแต่ มาตรานี้ก็เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนเฉพาะกรณีที่ผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมประการหนึ่ง ผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกประการหนึ่งหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องประการหนึ่ง การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องนั้นจะต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจหาใช่เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทไปด้วยอำนาจของกฎหมาย ซึ่งโจทก์จำต้องยอมให้ยึดมิฉะนั้นโจทก์อาจต้องมีความผิดในทางอาญา ความรับผิดของจำเลยไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตาม มาตรา481 ดังกล่าวแต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความตาม มาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(ยรรยงปานุราช-ยงยุทธธารีสาร-นิวัตน์แก้วเกิดเคน)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2053/2538

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 17:36:31


ความคิดเห็นที่ 5 (1960944)

ซื้อขายรถยนต์ขณะที่ผู้ขายยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ

 

ผู้ขายเช่าซื้อรถยนต์มาจากผู้ให้เช่าซื้อ ขณะที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบได้นำรถนั้นไปขายให้กับผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาผู้ขายไม่ชำระค่าเช่าซื้อ เจ้าของรถได้มายึดเอารถยนต์ไป ถือว่าได้มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ทำให้ผู้ขายไม่สามารถจะส่งมอบและจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนี้ได้ ทั้งนี้เพราะความผิดของผู้ขายดังนี้ ผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475

เมื่อผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ ผู้ขายต้องรับผิดในการคืนราคารถยนต์ที่รับชำระไปจากผู้ซื้อ ส่วนเงินที่ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการใช้รถพิพาทและเงินที่ผู้ซื้อได้รับจากการขายรถนั้นให้บุคคลอื่นอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่เงินค่ารถยนต์ที่ผู้ขายมีหน้าที่จะต้องส่งคืน. จะนำมาคิดหักกับเงินที่ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการรอนสิทธิไม่ได้

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายรถยนต์ให้โจทก์ 1 คัน จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ชำระราคาในวันทำสัญญา 10,000 บาทที่เหลือจะผ่อนชำระเดือนละ 2,500 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระราคารถให้จำเลยไปแล้วยังไม่ครบ โจทก์ได้ขายรถยนต์คันนี้ให้กับนายมานิตย์อีกต่อหนึ่ง ได้ส่งมอบรถยนต์ให้นายมานิตย์ไปแล้ว ระหว่างที่นายมานิตย์ยังชำระราคาค่าซื้อรถให้โจทก์ไม่ครบ ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่งเซ่งฮวดได้ยึดรถยนต์คันนี้ไปจากนายมานิตย์โดยอ้างว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงทราบว่าจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนี้ และต่อมานายมานิตย์ได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าซื้อรถที่ชำระแล้วกับค่าเสียหาย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินราคารถที่รับไปแล้ว 45,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกระทั่งชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าซื้อรถคันนี้มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดย่งเซ่งฮวดแต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบ จึงขอคืนให้ผู้ให้เช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมรับคืน กลับอนุญาตให้จำเลยขายต่อได้ จำเลยจึงขายให้โจทก์เพื่อเอาเงินไปผ่อนชำระให้ผู้ให้เช่าซื้อต่อไปซึ่งโจทก์รู้ความข้อนี้ดีในเวลาตกลงซื้อขาย และสมัครใจรับซื้อโดยไม่อิดเอื้อน โจทก์ไม่สุจริตที่นำรถไปขายให้นายมานิตย์ โดยไม่ได้บอกกล่าวหรือได้รับความยินยอมจากจำเลย โจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถคันนี้ขณะที่ซื้อ ถ้าไม่รู้ก็เป็นความประมาทของโจทก์เองจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดไม่ได้ค่าเสียหายที่เรียกร้องมากเกินไปหากต้องเสียหายก็เป็นความผิดของโจทก์เอง

ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่งเซ่งฮวดซึ่งถูกศาลเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมให้การว่า จำเลยได้เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากจำเลยร่วมแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองคราวติดกันและผิดสัญญาข้ออื่น ๆ อีกจำเลยร่วมจึงไปยึดรถมาจากนายมานิตย์ซึ่งจำเลยร่วมทราบว่าเป็นผู้ซื้อมาจากจำเลย จำเลยร่วมไม่เคยอนุญาตให้จำเลยขายรถยนต์แก่บุคคลอื่น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเพราะเหตุการรอนสิทธิซึ่งโจทก์รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย แต่จำเลยต้องคืนเงินที่รับชำระไปแล้วแก่โจทก์ สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดย่งเซ่งฮวดจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 45,000 บาทให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้ครอบครองใช้รถพิพาทเป็นเวลา 126 วัน จึงควรนำค่าที่โจทก์ได้รับประโยชน์ในการใช้รถมาหักออกจากเงินค่าขายรถที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 32,500 บาทแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาพิจารณาแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าขณะทำสัญญาซื้อขายรถคันที่ตกลงซื้อขายยังอยู่ในระหว่างเช่าซื้อ ชำระราคายังไม่ครบถ้วนจำเลยยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มา แต่โจทก์พอใจรับซื้อไว้ทั้ง ๆ ที่รู้ความจริง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่รับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายรถรายพิพาทกันจริง โดยฝ่ายโจทก์รับมอบรถยนต์ไปและมีเงื่อนไขว่าผู้ซื้อจะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนเสียก่อนผู้ขายจึงจะโอนทะเบียนให้ ในการนี้ได้มีการรอนสิทธิ์เกิดขึ้นโดยจำเลยร่วมได้มายึดเอารถยนต์ไป จึงทำให้จำเลยไม่สามารถจะส่งมอบและจัดการให้โจทก์ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ทั้งนี้เพราะความผิดของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จะต้องหักเงินที่โจทก์ได้รับจากนายมานิตย์30,000 บาท ออกจากยอดเงินที่โจทก์จะได้รับคืนจากจำเลยด้วยนั้นเห็นว่าเมื่อโจทก์ถูกรอนสิทธิ จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายต้องรับผิดในการคืนราคารถยนต์ เงินค่ารถยนต์ที่จำเลยได้รับชำระไปจากโจทก์มีจำนวน 45,000 บาท ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถพิพาทและเงินที่โจทก์ได้รับจากนายมานิตย์ 30,000 บาทก็ดีไม่ใช่เงินค่ารถยนต์ที่จำเลยจะต้องส่งคืน ที่ศาลอุทธรณ์หักเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์ให้จำเลย นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว

พิพากษายืน

( ดวง ดีวาจิน - สุข หงสไกร - สุมิตร ฟักทองพรรณ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2516

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 18:12:15


ความคิดเห็นที่ 6 (1960947)

ผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คืนให้ผู้ซื้อ

 

การที่ผู้ซื้อจำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว รถยนต์ที่ซื้อขายจึงหลุดไปจากผู้ซื้อ ผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คืนให้ผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 479 และใช้ค่าเสียหายให้ซื้อตามมาตรา 475

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากจำเลยซึ่งประกอบกิจการขายรถยนต์เก่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถไปจากโจทก์อ้างว่าเป็นของกลางในคดีอาญาระหว่างอัยการโจทก์ นายเสรี ลิ้มสกุลจำเลย ศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถให้นายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง ผู้เสียหายไปจำเลยต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยใช้ราคารถยนต์และค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถ

จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเหนือรถพิพาทยิ่งกว่าบุคคลอื่น จำเลยมิได้กระทำการรอนสิทธิหรือรบกวนขัดสิทธิโจทก์

ชั้นชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าจำเลยประกอบการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วโดยเฉพาะโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยในราคา 46,000 บาท และรับรถไปแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้ยึดรถไปจากโจทก์อ้างว่าเป็นของกลางในคดีอาญาระหว่างอัยการ โจทก์ นายเสรี ลิ้มสกุล จำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญาขอให้สั่งคืนของกลางให้โจทก์ศาลอาญามีคำสั่งให้โจทก์ไปฟ้องทางแพ่ง แล้วศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้เสียหาย โจทก์เสียหายเพราะไม่ได้ใช้รถ 5,000 บาท

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 มีสิทธิเหนือรถยนต์ยิ่งกว่าคนอื่น ๆ แม้เจ้าของแท้จริงก็จะมาเรียกรถยนต์ไปจากโจทก์มิได้เว้นแต่จะชดใช้ราคา กรณีจึงมิใช่เรื่องที่มีบุคคลอื่นอ้างสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทดีกว่าโจทก์ จึงไม่เป็นรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1801/2500 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า "หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น" การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามมายึดเอารถยนต์คันนี้ไปจากโจทก์นั้น ก็พึงเข้าใจได้อย่างแน่นอนว่าเนื่องมาจากนายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง เจ้าของรถยนต์คันนี้แจ้งความขอให้ดำเนินคดีกับนายเสรี ลิ้มสกุล ผู้นำรถยนต์คันนี้มาขายให้จำเลยในข้อหาว่ายักยอกรถยนต์ และปลอมหลักฐานเกี่ยวกับการโอนรถยนต์คันนี้อันเป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่านายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อในอันจะใช้รถยนต์คันนี้โดยปกติสุข เพราะนายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง มีสิทธิเหนือรถยนต์คันนี้อยู่ในเวลาที่ซื้อขายกันถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ซื้อรถยนต์โดยสุจริตจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332ซึ่งมีสิทธิไม่จำต้องคืนรถยนต์ที่ซื้อขายให้แก่เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา แต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ในการซื้อรถยนต์ก็เพื่อจะได้รถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ หาใช่เพื่อรับชดใช้ราคาคืนไม่ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ก็มิได้บัญญัติว่าผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิ ดังนั้นเมื่อนายอู่ซั้ง แซ่ตั้ง เจ้าของที่แท้จริงมารบกวนขัดสิทธิโจทก์ผู้ซื้อ และโจทก์จำต้องคืนรถยนต์ให้ไปแล้วตามคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าโจทก์จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาหรือไม่ กรณีก็ต้องถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ ซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475

เมื่อฟังว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามที่เสียหายไปจริง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการรอนสิทธิมา 2 ประการ คือ ราคารถยนต์ที่โจทก์ชำระให้จำเลยไป 46,000 บาท กับค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์คันนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายรับกันว่า เป็นเงิน 5,000 บาท ปัญหามีว่า โจทก์จะเรียกร้องราคารถยนต์จากจำเลยได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้คืนแก่นายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง ไปแล้ว ย่อมเห็นได้ว่ารถยนต์คันนี้ได้หลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คันนี้คืนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า"ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี ฯลฯ ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ส่วนค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถนั้น จำเลยย่อมต้องรับผิดอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างมารูปคดีและประเด็นไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ราคารถยนต์ 46,000 บาท กับค่าเสียหาย5,000 บาท รวม 51,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

( ชวน พูนคำ - อุดม เพชรคุปต์ - กฤษณ์ โสภิตกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2292/2515

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 18:28:41


ความคิดเห็นที่ 7 (1960952)

ขายรถยนต์แล้วแต่โอนให้ผู้ซื้อไม่ได้ อายุความ 10 ปี

 

การที่จำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์เท่ากับว่าจำเลยผู้ขายได้รับรองโดยปริยายว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่นำมาขาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นให้ได้จึงเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ หาใช่การฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิอันมีอายุความ 3 เดือน ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายรถยนต์ให้โจทก์ทั้งสองในราคา224,000 บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้ว ในวันที่ 13 มิถุนายน 2539โจทก์ที่ 2 นำรถดังกล่าวไปขายให้นายศิวา สระตันติ์ ในราคา240,000 บาท และนายศิวานำไปขายต่อให้นายสว่าง วงศ์เทียนชัยในราคา 265,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนลงชื่อนายสว่างเป็นเจ้าของรถได้เนื่องจากผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถยนต์ที่ซื้อเป็นรถยนต์ที่ถูกยักยอกมาและได้ติดตามเอารถยนต์คืนไปแล้ว นายศิวาจึงได้ติดต่อกับโจทก์ทั้งสองเพื่อขอเงินคืน ในการนี้นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.เอส.พี.ซัพพลายแอนด์คอนสตรัคชั่น ในฐานะผู้เสียหายได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532ของศาลชั้นต้น และโจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินจำนวน 240,000 บาทให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 251,250 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ยอมคืนรถยนต์พิพาทแก่บุคคลภายนอก คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 224,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลย อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2529 จำเลยนำรถยนต์ซีตรอง รุ่น ปี 1980 หมายเลขทะเบียน9 ค-7825 กรุงเทพมหานคร มาขายให้โจทก์ในราคา 224,000 บาทได้มอบรถยนต์คันดังกล่าวและสมุดจดทะเบียนพร้อมหลักฐานการโอนให้แก่โจทก์ไว้และจำเลยได้รับเงินค่ารถยนต์จากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้วจากนั้นโจทก์ขายรถยนต์ดังกล่าวต่อให้นายศิวา สระตันติ์หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี.ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่น และนายศิวานำไปขายต่อให้นายสว่าง วงศ์เทียนชัย โดยมอบรถยนต์กับสมุดจดทะเบียนพร้อมหลักฐานการโอนไปให้และรับเงินค่ารถมาเรียบร้อยแล้วแต่ปรากฏว่านายสว่างไม่สามารถนำรถยนต์ไปจดทะเบียนใส่ชื่อตนเจ้าของได้เนื่องจากนายสมบูรณ์ พรหมเมศร์ เจ้าของรถคนเดิมแจ้งความดำเนินคดีแก่นายชัยยงค์ กังวาลชัย เรื่องที่ถูกนายชัยยงค์หลอกลวงเอารถยนต์ดังกล่าวไปขายโดยเจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งอายัดรถยนต์คันพิพาทไว้แล้ว นายศิวาคืนค่าซื้อรถยนต์ให้นายสว่างแล้ว นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี.ซัพพลายส์แอนด์ คอนสตรัคชั่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเรียกเงินค่าซื้อรถยนต์รถคืน โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินคืนให้นายศิวารับไปแล้วและโจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยชำระค่าซื้อรถยนต์คืน จำเลยไม่ชำระ

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 481แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถูกรอนสิทธิ แต่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ต่อไปจากโจทก์ทั้งสองถูกรอนสิทธิ โดยผู้ซื้อคนสุดท้ายคือนายสว่างวงศ์เทียนชัย ถูกบุคคลภายนอกรอนสิทธิซึ่งนายสว่างได้นำรถยนต์ไปคืนและขอรับเงินคืนจากนายศิวา สระตันติ์ ผู้ที่ซื้อรถยนต์ต่อไปจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงกับนายศิวาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว การตกลงดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ผูกพันกันเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจบังคับตามอายุความการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติว่า"ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเพื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุดหรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น" ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า นายสว่างผู้ซื้อคนสุดท้ายถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการอายัดรถยนต์คันดังกล่าวไว้เพราะมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกยักยอกและเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงก็ได้ติดตามเอารถยนต์คันดังกล่าวคืนไปแล้ว ต่อมานายศิวาผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี. ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่นในฐานะผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ให้แก่นายศิวากับพวกเรียบร้อยแล้วดังนี้ การที่จำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวมาขายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับว่าจำเลยผู้ขายได้รับรองโดยปริยายแก่โจทก์ทั้งสองว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่นำมาขาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จึงเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ทั้งสองต้องชำระเงินจำนวน240,000 บาท คืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ หาใช่การฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิอันมีอายุความ 3 เดือน ตามมาตรา 481 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ การฟ้องคดีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8579/2532 หมายเลขแดงที่ 22436/2532ของศาลชั้นต้น ยอมชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ภายใน 15 วันให้แก่นายศิวาและห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.พี. ซัพพลายส์แอนด์คอนสตรัคชั่นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( ยงยุทธ ธารีสาร - ยรรยง ปานุราช - นิวัตน์ แก้วเกิดเคน )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2539

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 18:50:14


ความคิดเห็นที่ 8 (1961497)
ใช้สิทธิเถอะครับฟ้องเรียกค่าทดแทนจากเต็นท์นั้นแหละ ไม่งั้นเสียตังค์ฟรี
ผู้แสดงความคิดเห็น รอยเปลื้อน วันที่ตอบ 2009-07-12 11:55:37


ความคิดเห็นที่ 9 (1961592)

อายุความเรียกเงินคืนจากการซื้อรถยนต์จากผู้ขาย

 

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ติดต่อขายรถยนต์ให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ร่วมสมรู้ด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานศุลกากรจับโจทก์พร้อมกับยึดรถยนต์ดังกล่าวโดยอ้างว่ายังไม่ได้เสียภาษีขาเข้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนรถยนต์มาเป็นของโจทก์ และไม่อาจใช้รถยนต์ดังกล่าว ขอศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 196,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ตรวจดูสภาพรถยนต์และหลักฐานทางทะเบียนเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงตกลงซื้อ รถยนต์ที่ซื้อขายเสียภาษีนำเข้าโดยชอบแล้ว ที่โจทก์ยอมให้เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถยนต์ไปนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 164,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่7 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าโคโรลล่าสีขาวหมายเลขทะเบียน 6 ข - 1890 คันพิพาทไปขายให้โจทก์ในราคา164,000 บาทได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุไว้ด้วยว่า หากมีผู้คัดค้านทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอน จำเลยต้องชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทพร้อมทะเบียนรถ ใบโอนทะเบียนรถให้โจทก์ โจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ชำระราคาให้จำเลย วันที่ 11 มกราคม 2526เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปดูรถพิพาทแล้วแจ้งต่อโจทก์ว่ารถยังไม่ได้เสียภาษี โจทก์นำทะเบียนและสัญญาซื้อขายให้ดูเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่เชื่อ และจับกุมโจทก์พร้อมทั้งยึดรถพิพาทไป โจทก์ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ารถพิพาทนำป้ายทะเบียนรถยนต์อื่นมาใช้ โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ตอบโจทก์จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2526 ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงประเด็นเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา481 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าตามต้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ใช้คำว่าHAS YIELDED HIS CLAIM คำว่า YIELDED แปลว่า ยอมให้ ยอมจำนน ยอมแพ้ยอมล่าถอย ไม่ใช่เป็นการยอมโดยความสมัครใจแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมหรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น"คำว่า ยอมตาม ในบทกฎหมายดังกล่าวเป็นคำภาษาไทย มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัว จึงจะนำต้นร่างที่เป็นภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทยใช้บังคับแก่คู่ความไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การยอมยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ตามมาตรา 481 ดังกล่าว มีความหมายชัดแจ้งว่า ต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจการที่เจ้าพนักงานศุลกากรยึดรถพิพาทไปจากโจทก์โดยอ้างอำนาจของกฎหมาย โจทก์จำต้องยอมให้ยึด มิฉะนั้นอาจจะต้องมีความผิดในทางอาญา จึงไม่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามมาตรา 481 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขายไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 164 ซึ่งมีอายุความ 10 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน.

( ดำริ ศุภพิโรจน์ - สหัส สิงหวิริยะ - ชวลิต นราลัย )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2531

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-12 18:24:56


ความคิดเห็นที่ 10 (1966325)
ขอบคุณนะคะสำหรับคำแนะนำทุกความคิดเห็นเลยค่ะขอบคุณมากๆเลยค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น นินาค่ะ วันที่ตอบ 2009-07-22 14:21:12



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล