ReadyPlanet.com


การใช้สิทธิเกินส่วน


การใช้สิทธิเกินส่วน หมายความว่าอย่างไร และมีที่มาจากกฎหมายอะไร


ผู้ตั้งกระทู้ แมงมุม :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-07 10:14:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959922)
คำว่าใช้สิทธิส่วนเกิน ไม่น่าที่จะมีกฎหมายอะไรกำหนดไว้ แต่น่าจะหมายถึงการใช้สิทธิที่ตนมีอยู่ แต่ไปกระทบกับสิทธิของชาวบ้านชาวช่องเขา โดยที่เขาก็มีสิทธิอยู่เช่นกัน เช่นการมีกรรมสิทธิรวมเป็นต้น ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิรวมอื่นด้วย แต่การใช้สิทธิ(ที่มีสิทธิ)ที่มีแต่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็เป็นละเมิดสิทธิของผู้อื่นเช่นเดียวกันน่ะครับพี่น้อง
ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-07-08 15:03:23


ความคิดเห็นที่ 2 (1960273)

"การใช้สิทธิเกินส่วน"  เป็นภาษาที่นักกฎหมายใช้พูดกันเองโดยไม่มีบัญญัติเป็นคำในตัวบทกฎหมาย ซึ่งมีสาระโดยรวมดังที่ ความเห็นที่ 1 ว่าไว้ครับ

บทความอ้างอิง

http://saving.egat.co.th/news/member-news/0150/0150-16.pdf

 

มีกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และ มาตรา 1337

มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ และเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อน นั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-09 13:04:10


ความคิดเห็นที่ 3 (1960275)

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาแผ่นเหล็กเจาะรูเล็ก ๆ ปิดกั้นท่อระบายน้ำโสโครกด้านหลังตึกแถวของจำเลย ทำให้น้ำล้นท่วมตึกแถวของโจทก์ขอให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ทำให้ทางระบายน้ำอุดตันเอง และฟ้องแย้งว่าโจทก์ให้คนงานรือถอนซี่เหล็กของจำเลยเป็นเหตุให้ทางระบายน้ำอุดตันทำให้น้ำล้นท่วมห้องแถวของจำเลย ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์มิได้กลั่นแกล้งเอาขยะใส่ทางระบายน้ำและให้รือถอนสิ่งปิดกั้นโดยสุจริตตามคำสั่งศาล

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์จำเลยมีเรื่องพิพาทกันมาก่อน แล้วจำเลยนำแผ่นเหล็กเจาะรูเล็ก ๆ มาปิดกั้นทางระบายน้ำที่จะระบายมาจากบ้านโจทก์ จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านโจทก์ เป็นการกระทำที่จงใจจะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ถึงแม้จะกระทำในที่ดินของตนเองก็เป็นการทำโดยละเมิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ที่ว่า "การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสหียหายแก่บุคคลอื่นนั้นท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย" จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับจำนวนค่าเสียหายจำเลยมิได้สืบหักล้างให้ฟังได้เป็นอย่างอื่นจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เห็นว่า การที่โจทก์เอาแผ่นเหล็กเจาะรูที่จำเลยนำไปปิดกั้นออกก็โดยได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งศาลอันชอบด้วยกฎหมายถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ชวลิต นราลัย - เสนอ ศรนิยม - พจน์ บุญเลี้ยง )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2529

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 13:06:25


ความคิดเห็นที่ 4 (1960512)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2525 บริษัทมิตรโยธิน จำกัดได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 เป็นแปลงย่อยประมาณ 42 แปลงและจัดให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7052 ที่เหลืออยู่เป็นทางเข้าออกของที่ดินแปลงอื่นสู่ทางสาธารณะ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 119275และเป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 119276 พร้อมอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นเลขที่ 1418/10 และเลขที่ 1418/9 โดยซื้อมาจากบริษัทมิตรโยธิน จำกัดโจทก์ประกอบอาชีพขายรถจักรยานยนต์ เมื่อประมาณปี 2533 ถึงปี 2534จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนได้ย้ายเข้ามาอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/6 ถึงเลขที่ 1418/8 เพื่อประกอบธุรกิจ และอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 4 มีสิทธิใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเท่าเทียมกันแต่จำเลยที่ 4 ใช้พื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์ของจำเลยเป็นที่จอดรถเต็มพื้นที่โจทก์ขอร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลายครั้งว่า อย่านำรถยนต์มาจอดขวางทางเข้าออกจนมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ร่วมกันเชิดจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้บงการออกคำสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4นำกระถางต้นไม้มาวางขวางปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์ที่จะลงสู่ถนนพหลโยธินและจอดรถยนต์ปิดกั้นมิให้โจทก์และลูกค้านำรถยนต์เข้าออกสู่ร้านของโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 4 เว้นที่ว่างให้มีความกว้าง 2.50 เมตร ขนานกับทางเท้าที่ติดกับถนนพหลโยธินเพื่อให้โจทก์และลูกค้าโจทก์มีทางเข้าออกได้ แต่จำเลยทั้งห้ายังคงเพิกเฉย นอกจากนั้นบริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จัดทำถนนซอยหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์และส่วนที่โจทก์ครอบครองกับหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4 ยาวประมาณ 18.50 เมตร กว้างประมาณ 4.50 เมตรเพื่อประโยชน์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 ใช้ร่วมกัน หลังจากโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยใช้ถนนซอยหลังอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 4เป็นที่จอดรถของจำเลยบริวาร ลูกค้าหรือผู้มาติดต่อจนแน่น โจทก์ไม่อาจใช้ถนนซอยดังกล่าวเข้าออกได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 เว้นช่องทางถาวรขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ขนานและติดกับทางเท้าถนนพหลโยธินยกระดับตลอดความยาวหน้าที่ดินของจำเลยที่ 4 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4บริวารและลูกค้า หรือผู้มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จอดรถหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกอาคารพาณิชย์ของโจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 4 จะหาที่จอดรถให้พนักงานและลูกค้ารวมทั้งบริวารจนเป็นเหตุให้ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และจนกว่าจำเลยทั้งห้าขนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากทางที่วางขวางทางเข้าออกโจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมิใช่เจ้าของที่ดินที่พิพาท ที่พิพาทเป็นพื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์และจำเลยที่ 4 ที่บริษัทมิตรโยธิน จำกัด เว้นไว้ในขณะปลูกสร้างตามกำหนดระยะร่นจากถนนพหลโยธิน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อให้เจ้าของอาคารพาณิชย์ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หน้าอาคารเฉพาะของตนเองและทางพิพาทดังกล่าวบริษัทมิตรโยธิน จำกัด มิได้ยกให้เป็นทางสาธารณะหรือเป็นทางเข้าออกแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์และที่ดินตามที่โจทก์อ้าง เจ้าของอาคารพาณิชย์ทุกรายรวมทั้งโจทก์สามารถใช้ตะแกรงเหล็กวางที่ขอบถนนพหลโยธินนำรถแล่นผ่านทางหน้าอาคารขึ้นลงสู่ถนนพหลโยธินทางหน้าตึกแถวของตนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาทเข้าออก นอกจากนี้โจทก์ยังใช้พื้นที่ว่างหน้าอาคารพาณิชย์เป็นที่จอดรถเต็มพื้นที่ และเจ้าของอาคารพาณิชย์ข้างเคียงโจทก์ก็นำกระถางต้นไม้วางกั้นอาณาเขตหน้าอาคารพาณิชย์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ไม่เคยสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4 นำกระถางต้นไม้ไปวางขวางทางเข้าออกตึกแถวของโจทก์ที่จะออกสู่ถนนพหลโยธิน หรือสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4 จอดรถยนต์ปิดกั้นโจทก์และลูกค้ามิให้นำรถยนต์เข้าออกสู่ร้านของโจทก์ หรือถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เชิดให้ทำเช่นว่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ห้ามจำเลยที่ 4 และบริวาร ลูกค้า หรือผู้ที่มาติดต่อกับจำเลยจอดหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกของโจทก์ และห้ามจำเลยที่ 4 กระทำซ้ำซึ่งการกระทำละเมิดดังกล่าว และให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนวันละ 2,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 4 จะหาที่จอดรถให้พนักงานและลูกค้า รวมทั้งบริวารจนเป็นเหตุให้ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และจนกว่าจำเลยที่ 4 ขนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากทางที่วางขวางทางเข้าออกของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 เว้นช่องทางถาวรขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ขนานและติดกับทางเท้าริมถนนพหลโยธินตลอดหน้าที่ดินของจำเลยที่ 4 ห้ามจำเลยที่ 4 และบริวารลูกค้าหรือผู้มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จอดรถหรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าออกช่องทางถาวรดังกล่าวของโจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหายเป็นรายวัน วันละ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทมิตรโยธิน จำกัด เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7052ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ4 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา และได้นำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรเป็นแปลงย่อย44 แปลง ก่อสร้างบ้านพักอาศัยแบบทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นออกขายแก่บุคคลทั่วไปและที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 81 ตารางวาบริษัทมิตรโยธิน จำกัด จัดสร้างเป็นทางคอนกรีตผ่านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงมีทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยผ่านด้านข้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 119279 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกจากโฉนดเลขที่ 7052 ส่วนพื้นที่ว่างด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 119275 ถึงเลขที่ 119279 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร บริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จัดสร้างเป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ 9 เมตร ทางเท้าริมถนนพหลโยธินกว้างประมาณ 1 เมตรและสูงกว่าพื้นถนนพหลโยธิน 10 นิ้ว และเชื่อมกับทางออกสู่ถนนพหลโยธินด้านข้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 119279 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่119275 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/9 และผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 119276 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/10 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โจทก์ใช้พื้นที่วางด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 119277 ถึงเลขที่ 119279 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินและเมื่อปี 2531 บริษัทมิตรโยธิน จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีเสร็จ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 7052 ยังเป็นชื่อของบริษัทมิตรโยธินจำกัด ต่อมาเมื่อปี 2533 จำเลยที่ 4 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 119277 ถึงเลขที่ 119279 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 1418/6 ถึงเลขที่ 1418/8ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ จำเลยที่ 4 ใช้พื้นที่ว่างด้านหลังอาคารจำเลยที่ 4 เป็นที่จอดรถของพนักงานและลูกค้าที่มาติดต่อจนเต็มพื้นที่และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารระหว่างอาคารของโจทก์กับจำเลยที่ 4 ออกไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธิน

ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาข้อต่อไปว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องของการเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมาจากความไม่สะดวกสบายของโจทก์เป็นการชั่วคราว ไม่ใช่ถาวรตลอดไป การที่จะถือว่าเป็นละเมิดจะต้องเป็นเรื่องถาวรตลอดไป บริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของจำเลยที่ 4ที่พิพาท โจทก์มีสิทธิใช้สอยได้ แต่โจทก์และลูกค้าที่มาติดต่อโจทก์ไม่ใช้สอยบริเวณที่พิพาท กลับจะใช้เป็นทางเข้าออกอย่างเดียว จึงไม่ถือว่าเป็นการเดือดร้อนรำคาญถึงกับเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 บัญญัติว่า "การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย" และมาตรา 1337 บัญญัติว่า "บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน" ข้อเท็จจริงคดีนี้ตามที่กล่าวมาข้างต้นและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 4มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปรากฏว่า พื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เดิมบริษัทมิตรโยธิน จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน ได้จัดสร้างเป็นพื้นคอนกรีตเชื่อมกับทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โจทก์ใช้พื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของจำเลยที่ 4 หรืออีกนัยหนึ่งพื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่พิพาทไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินและใช้พื้นที่พิพาทเป็นที่จอดรถของพนักงานของจำเลยที่ 4และลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 จนเต็มพื้นที่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธิน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า การที่บริษัทมิตรโยธิน จำกัด จัดสรรพื้นคอนกรีตบนพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลยที่ 4 รวมตลอดถึงผ่านด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงก็เพื่อให้บุคคลที่ได้ซื้อบ้านพักอาศัยแบบทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ที่บริษัทดังกล่าวได้จัดสรร ใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะได้ การที่ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวหรือพื้นที่พิพาทโดยให้พนักงานของจำเลยที่ 4 และลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยที่ 4 ใช้จนเต็มพื้นที่พิพาทและนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่พิพาทไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่พิพาทเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะเช่นนี้ แม้โจทก์จะไม่สะดวกสบายเป็นการชั่วคราวตามที่จำเลยที่ 4 อ้างในฎีกาก็ตาม ก็น่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดความสะดวก หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้พื้นที่พิพาทของโจทก์เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แล้ว ยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้"

พิพากษายืน

( จำรูญ แสนภักดี - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - วสันต์ ตรีสุวรรณ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2544

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 21:22:49


ความคิดเห็นที่ 5 (1960975)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้บ้านและสิ่งก่อสร้างของจำเลยทั้งสองจะปลูกสร้างรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ยังสามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ภายนอกได้ แม้โจทก์จะไม่ได้รับความสะดวกเพราะทางบางช่วงแคบก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทตามฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้โดยสะดวก การที่จำเลยทั้งสองใช้สิทธิของตนปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกีดขวางการเข้าออกที่ดินของโจทก์แม้โจทก์จะเข้าออกได้ แต่โจทก์ก็ขาดความสะดวกในการใช้ทางพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิของตนอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421, 1337 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทตามฟ้องได้นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ไม่ฟังข้อเท็จจริงที่ควรจะฟัง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น และเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์อันเป็นการกีดขวางการเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร และได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คดีมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอยู่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรอย่างไร มากน้อยเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้นยังไม่ปรากฏจากคำฟ้องและการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองหลังจากสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียวแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐานเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นเสียได้ แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอเช่นนั้นในอุทธรณ์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247”

พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2549

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 20:55:23


ความคิดเห็นที่ 6 (1961587)

มีสิทธิฟ้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่เช่าหรือไม่

 

การที่จำเลยติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่าทำให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้โดยสะดวก เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าที่ดินดังกล่าวก็เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้

 

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามต่อเติมหลังคาตึกแถวดังกล่าวยื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของเทศบาลเมืองโพธาราม ที่โจทก์เช่า มีความยาว 8 เมตร กว้าง 3 เมตร อันเป็นการรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าไม่ได้เต็มเนื้อที่ทำให้โจทก์ขาดรายได้เดือนละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนหลังคากันสาดที่ต่อเติมออกมาจากตึกแถวเลขที่ 70 และเลขที่ 72 ถนนทรงพล ตำบลโพธารามจังหวัดราชบุรี ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15887 และเลขที่ 15888 ตำบลโพธารามอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ออกไปให้พ้นที่ดินโฉนดเลขที่ 15917 ตำบลโพธารามอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนหลังคาออกไป

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามติดตั้งหลังคาด้านหลังของตึกแถวใช้ประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2527 ก่อนที่โจทก์จะเช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธาราม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทราบว่าถูกแย่งการครอบครองตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2536โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกจากตึกแถวเลขที่ 70 และเลขที่ 72 ถนนทรงพล ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15887 และเลขที่ 15888 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี ให้ออกไปให้พ้นที่ดินโฉนดเลขที่ 15917 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อปี 2531 โจทก์เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 15917 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 87.5 ตารางวา จากเทศบาลเมืองโพธาราม มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15887 และเลขที่ 15888 ตำบลโพธาราม อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี และตึกแถวเลขที่ 70 และเลขที่ 72 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสามได้ติดตั้งหลังคากันสาดด้านหลังตึกแถวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่าไว้ โจทก์ต้องการใช้ที่ดินที่เช่าจากเทศบาลเมืองโพธารามบริเวณด้านหลังตึกแถวของจำเลยทั้งสามเป็นที่จอดรถของผู้มาพักโรงแรมของโจทก์ จึงขอให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนกันสาดดังกล่าวออกไป แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่าจากเทศบาลเมืองโพธารามหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับเทศบาลเมืองโพธาราม ข้อ 3 ระบุให้โจทก์ใช้ที่ดินที่เช่าดังกล่าวเป็นสถานที่จอดรถสำหรับกิจการโรงแรมแสนสุขโฮเต็ลของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่าใช้ในกิจการโรงแรมของโจทก์เช่นนี้ทำให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้โดยสะดวก เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินดังกล่าวแม้โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธาราม แต่การเช่าที่ดินดังกล่าวก็เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการโรงแรมของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 ทั้งนี้ แม้ว่าจำเลยทั้งสามติดตั้งหลังคาตึกแถวก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากเทศบาลเมืองโพธารามก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งสามให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกมาจากตึกแถวเลขที่ 70 และเลขที่ 72 ของจำเลยทั้งสามซึ่งกีดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินโฉนดเลขที่ 15917 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สดศรี สัตยธรรม - วิรัช ลิ้มวิชัย - มานะ ศุภวิริยกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2546

 

 

หมายเหตุ

 

กรณีละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เป็นการที่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายใช้สิทธิของเขา สิทธิที่เขาใช้อาจเป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิใช้สอยสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือสิทธิอื่น ๆ รวมทั้งสิทธิที่อยู่ในขอบเขตเสรีภาพ เช่นการส่งเสียงดัง เป็นต้น ส่วนสิทธิของผู้ได้รับความเสียหายเป็นกรรมสิทธิ์อันเป็นทรัพยสิทธิที่ใช้ยันบุคคลได้ทั่วไป ปัญหาว่า การที่โจทก์เจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้เช่าที่ดินของเทศบาลที่อยู่ติดกับที่ตั้งโรงแรมเพื่อเป็นที่จอดรถของแขกอาศัย และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวติดกับที่เช่าได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่เช่า การกระทำของจำเลยจะเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของโรงแรมเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 1337 หรือไม่ ข้อนี้จะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิใด ๆของตนเลย แต่เป็นการรุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของเทศบาลอย่างตรงไปตรงมามาตรา 1336 บัญญัติถึงอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินว่ามีอำนาจอย่างไรบ้างเช่น ใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผล ติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินนั้น เป็นต้น ส่วนมาตรา 1337เป็นบทขยายอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิ์ออกไป ให้มีอำนาจที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป แม้ผู้ก่อความเสียหายกระทำโดยใช้สิทธิ บทขยายอำนาจนี้จึงควรจำกัดอยู่เฉพาะตัวทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิ์นั่นเอง โดยเฉพาะสิทธิของโจทก์ในทรัพย์ที่เช่าเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันได้เฉพาะต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น ไม่ชอบที่จะนำมาขยายให้อำนาจที่ใช้ยันบุคคลได้ทั่วไปนั้นกว้างไกลออกไปอีก อนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่แล้ว ๆ มาเป็นเรื่องผู้ก่อความเสียหายปลูกสร้างอาคาร กำแพงในที่ดินของตนบดบังแสงสว่างหรือปิดทางเข้าตลาดในที่ดินแปลงอื่น ประกอบกิจการโรงสี โรงงานของตนทำให้แกลบเถ้าถ่านน้ำสกปรกสารพิษปลิวหรือไหลเข้าไปทำความเสียหายเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของบ้านเรือนใกล้เคียง และใช้สิทธิปลูกเรือน จอดแพในที่ชายตลิ่ง ในลำน้ำสาธารณะ กีดขวางสิทธิใช้ทางน้ำสาธารณะของเจ้าของที่ดินริมตลิ่ง เป็นต้น ล้วนเป็นการใช้สิทธิของผู้ก่อความเสียหาย และทำให้เสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันใดอันหนึ่งตรง ๆ หาได้อาศัยอสังหาริมทรัพย์อื่นมาขยายอีกไม่ด้วยเหตุนี้ผู้หมายเหตุจึงเห็นด้วยความเคารพว่า กรณีนี้น่าจะไม่ใช่การใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337

เมื่อการติดตั้งหลังคากันสาดตึกแถวได้กระทำลงก่อนเจ้าของโรงแรมเช่าที่ดินแปลงจอดรถ การรุกล้ำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่อผู้ให้เช่า มิได้กระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองของผู้เช่าขึ้นอีก เจ้าของโรงแรมจึงมิใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ หามีอำนาจฟ้องไม่

หมายเหตุ

สิทธิในการนำคดีแพ่งมาฟ้องหรืออำนาจฟ้อง บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่จะนำคดีมาฟ้องศาลได้จะต้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ ซึ่งสิทธิและหน้าที่นี้จะเป็นสิทธิและหน้าที่โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ อย่างไรก็ตามต้องเป็นสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่ในขณะถูกโต้แย้ง จึงจะมีอำนาจฟ้องได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าบุคคลใดถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่หรือไม่ ต้องพิจารณาค่อนข้างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการค้าความหรือขายความกัน เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2515 สัญญาที่ผู้ไม่มีส่วนได้เสียทำกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยจะให้เงินจำนวนหนึ่งแก่คู่ความ ถ้าคู่ความนั้นโอนสิทธิในการเป็นความทั้งหมดให้เป็นการตอบแทน ดังนี้ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ คู่ความฟ้องเรียกเงินตามสัญญานั้นไม่ได้และผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

เมื่อถูกโต้แย้งแล้วแม้ภายหลังเจ้าของจะได้โอนทรัพย์สินอันเป็นต้นเหตุแห่งการถูกโต้แย้งไปแล้วอำนาจฟ้องก็ยังมีอยู่ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2493 มีผู้ทำละเมิดให้เสียหายแก่อสังหาริมทรัพย์ในขณะเจ้าของเดิมยังเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นอยู่ แม้ภายหลังจะได้โอนทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว เจ้าของเดิมก็ยังมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ทำละเมิด

สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยทั้งสามติดตั้งหลังคากันสาดด้านหลังตึกแถวล่วงล้ำเข้าไปในที่ดินของเทศบาลเมืองโพธารามอยู่ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากเทศบาลเมืองโพธาราม จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามได้โต้แย้งสิทธิของเทศบาลเมืองโพธารามอยู่ก่อนที่โจทก์จะเช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธารามแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจฟ้องในกรณีนี้ก็คือเทศบาลเมืองโพธาราม โจทก์ไม่น่าจะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้ เทียบได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2510 ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์เช่าที่ดินทั้งแปลงแต่บางส่วนในที่ดินที่โจทก์เช่านั้นจำเลยได้ปลูกบ้านอาศัยอยู่ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าของที่ดินและจำเลยได้อาศัยอยู่เรื่อยมา เมื่อโจทก์ยังไม่เคยครอบครองที่ดินที่จำเลยใช้ปลูกบ้านนั้น จำเลยคงมีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของที่ดินเดิมเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยโจทก์ในฐานะผู้เช่าจะฟ้องจำเลยทั้งสามได้จะต้องเรียกเจ้าของที่ดินคือเทศบาลเมืองโพธารามเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2518 โจทก์เป็นผู้เช่าช่วงที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์จากผู้เช่าเดิมโดยเจ้าของที่ดินยินยอม เมื่อจำเลยอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินอันเป็นการละเมิด แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยลำพังโจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ศาลเรียกเจ้าของที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดี เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมเป็นคดีเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และมาตรา 549 ซึ่งทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์บริบูรณ์ขึ้นได้

คดีที่หมายเหตุนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่าเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และมาตรา 1337 นั้น มีแง่คิดอีกกรณีหนึ่งว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ได้ติดตั้งหลังคากันสาดลุกล้ำเข้ามาในที่ดินของเทศบาลเมืองโพธารามนั้น เป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หาใช่มาตรา 421 ไม่และไม่เป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายตามมาตรา 1337 แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะกรณีจะเป็นการกระทำตามมาตรา 1337 นั้น บุคคลผู้กระทำจะต้องกระทำในอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง หรือที่สาธารณประโยชน์ที่อยู่ติดกับที่ดินของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่นสร้างบ้านในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปิดหน้าที่ดินของบุคคลอื่นจนบุคคลนั้นไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยสะดวก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9671-9675/2544) เป็นต้น

สมบูรณ์ บุญภินนท์,ศิริชัย วัฒนโยธิน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-12 18:08:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล