ReadyPlanet.com


ให้ยืมเงิน......ครับแล้วถูกเบี้ยว.... ทำไงครับตามกฎหมาย ???


ผมใจดีให้ญาติยืมเงิน แต่ให้เซ็นสัญญากู้ยืม และ รับสภาพหนี้  แต่เมื่อถึงเวลานัดชำระ ถูกปฏิเสธ ว่ายังไม่มี ไม่พร้อม ขอเวลาอีก ไปเรื่อย ๆ  จนเกือบ 1 ปี  สอบถามดังนี้ครับ

1. สัญญาขาดอายุความหรือไม่ครับ

2. ถ้าเขา ไม่หนี , ไม่มี , ไม่จ่าย เราจะบังคับ หรือใช้กฎหมายอะไร บังคับ เขาได้ครับ จะฟ้องว่าโกง เป็นคดีอาญาได้หรือไม่ ??

3.ผมได้ได้มีหลักทรัพย์ ใด ใด เป็นหลักประกัน  จะบังคับยึดอะไรจากเขาได้ครับ เพื่อชำระหนี้ ???

4.ผมจะจ้างวาน ผู้เชียวชาญในการทวงหนี้ บังคับเขาได้หรือไม่ครับ (  ผิดกฎหมายหรือไม่ )



ผู้ตั้งกระทู้ MSU. :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-07 10:06:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959739)

1. สัญญากู้ยืมเงินมีอายุความ 10 ปี

2.  การกู้ยืมเงินเป็นความผิดทางแพ่ง เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว สามารถบังคดียึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ไม่สามารถเอาผิดทางอาญาได้ครับ

3. การบังคับคดี ก็ต้องบังคับเอากับทรัพย์สินของเขา จะบังคับเอากับเนื้อตัวเขาไม่ได้ หากพ้นกำหนดตาม มาตรา 271 เจ้าหนี้หมดสิทธิบังคับคดี เงินที่ให้กู้ก็เป็นอันสูญ หรือเหลือเป็นศูนย์(0) เพราะคุณใจดีให้กู้โดยไม่มีหลักทรัพย์เหมือนธนาคาร ก็คงต้องอดทนทำความดีต่อไปครับ

4. ได้ครับ แต่หากเขาไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายในฐานตัวแทนของคุณ คุณก็อาจมีความผิดด้วยในฐานะตัวการผู้ใช้ จ้างวาน ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไปครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-08 08:07:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1959740)

อายุความตามสัญญากู้ยืมเงิน

 

การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 60,000 บาท ยินยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าว หลังจากการทำสัญญาแล้วไม่มีการชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อต้นปี 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยรับว่าเป็นหนี้เงินยืมจำนวน 60,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 ต้องอยู่ในข้อบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 60,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 เช่นนี้ หนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเอง เพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าต้องอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 นั้น เป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วจึงใช้อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/35 บังคับ ซึ่งรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - เรวัตร อิศราภรณ์ - ศิริชัย จิระบุญศรี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 08:20:54


ความคิดเห็นที่ 3 (1959746)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว แต่ไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดครั้งแรกเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยในสัญญากู้ยืมนั้น ได้มีข้อตกลงผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ปรากฏว่าให้ผ่อนชำระกันเป็นระยะเวลาเท่าใด หรือกี่งวด ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักฐานฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนั้นได้มีข้อตกลงในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจึงถือได้ว่า เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงิน เพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปีตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) (มาตรา 166 เดิม) แล้ว หาใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สิริรัตน์ จันทรา - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - ณรงค์พล ทองจีน )

 

 

หมายเหตุ

 

สัญญากู้ยืมเงินก่อให้เกิดหนี้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่จะต้องคืนเงินต้นที่กู้ยืมไปแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ถ้าตกลงให้คืนเงินต้นทั้งหมดในคราวเดียวโดยมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอนจะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2660/2545) ถ้าตกลงให้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ โดยกำหนดจำนวนงวดไว้หรือกำหนดเวลาชำระเสร็จไว้ หรือไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1887/2541)

ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระไม่ว่ากรณีใดมีอายุความ 5 ปี เสมอตามมาตรา 193/33 (1) มิใช่กรณีตาม 193/33 (2) ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยรวมกันไปกับการชำระเงินต้นซึ่งเป็นเงินทุน เพราะดอกเบี้ยมิใช่เงินทุนแต่อย่างใด

ไพโรจน์ วายุภาพ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 08:43:42


ความคิดเห็นที่ 4 (1959764)

อายุความสัญญากู้ยืมเงิน

 

สัญญากู้เงินมีข้อตกลงว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญานี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง มิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้ไว้ให้ปรากฏจึงต้องฟังว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีหลังจากที่ทำสัญญากู้เงิน กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2523 นางรัตนา สิงห์ปัน กู้เงินโจทก์ไป13,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนและจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับนางรัตนา นางรัตนาชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 มิถุนายน 2531 เป็นเงิน 600 บาทยังคงค้างชำระต้นเงิน 10,216.34 บาท ดอกเบี้ย 2,233.03 บาท แล้วไม่ได้ชำระหนี้อีกโจทก์มีหนังสือทวงถามให้นางรัตนา จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้ตามสัญญาต่อมาเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์ทราบว่านางรัตนาถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 2 กันยายน2532 จำเลยที่ 1 เป็นสามีและผู้ปกครองทรัพย์มรดกและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางรัตนา โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,840.16 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 31,056.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน10,216.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นสามีนางรัตนา สิงห์ปัน ต่อจดทะเบียนหย่ากันเมื่อปี 2524 จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ แต่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนางรัตนากู้เงินโจทก์วันที่ 12 มิถุนายน 2523 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงเลยเวลาก่อน 17 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของนางรัตนาผู้ตาย จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 กับนางรัตนา สิงห์ปัน เมื่อนางรัตนาถึงแก่ความตายไม่มีทรัพย์มรดกใด ๆ ตกทอดแก่จำเลยที่ 2 โจทก์รับชำระหนี้จากนางรัตนาทุกเดือนย่อมทราบว่านางรัตนาถึงแก่ความตายแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน2532 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ว่ารับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด และสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่า สำเนาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4พร้อมอุทธรณ์ หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มิได้คัดค้านคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่า รวมสำนวนส่งศาลฎีกาโดยเร็วเห็นว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแต่กรณีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่คัดค้านคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2523 นางรัตนา สิงห์ปัน กู้เงินไปจากโจทก์ สาขาเชียงราย จำนวน 13,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 นางรัตนา ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 มิถุนายน 2531 จำนวน 600 บาท และยังคงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2532 นางรัตนาถึงแก่ความตาย โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เห็นว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 4 มีข้อตกลงว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญานี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง มิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้ไว้ให้ปรากฏจึงต้องฟังว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีหลังจากที่ทำสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 13 มิถุนายน 2523 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง และมาตรา 193/12 และกฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นางรัตนาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2523เมื่อนางรัตนานำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2531 การกระทำดังกล่าวจึงฟังได้ว่า นางรัตนาได้ยอมรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ในวันถัดจากวันที่ได้มีการชำระหนี้คือ วันที่ 2 มิถุนายน2531 และจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง มาตรา 193/5 วรรคสอง และมาตรา 193/15 วรรคสอง อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่านางรัตนาถึงแก่ความตายวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์จะยังคงอ้างอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวอีกต่อไปหาได้ไม่ เนื่องจากโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้นางรัตนาจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนางรัตนา ทั้งนี้มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่นางรัตนาถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของนางรัตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/23 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ทั้งนี้เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่นางรัตนาถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่นางรัตนาถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่กรณีนี้อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่นางรัตนาจะถึงแก่ความตายจะครบกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นอันเป็นระยะเวลาเกินกำหนด 1 ปี ภายหลังจากที่นางรัตนาถึงแก่ความตายแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย หรือไม่เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเสียก่อนว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องนางรัตนาถึงแก่ความตายตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แต่อย่างใด ทั้งคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมีเพียง 31,056.50 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงใด ๆ ของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นำสืบก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247

อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวฟังขึ้นก็ตามศาลฎีกาก็ยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์ได้ เนื่องจากมีประเด็นข้อพิพาทอีกหลายข้อที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้น อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มา387.50 บาท เกินไป 187.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาล 187.50 บาท ให้แก่โจทก์"

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นมี 187.50 บาท ให้แก่โจทก์

( อัธยา ดิษยบุตร - ปรีดี รุ่งวิสัย - สมศักดิ์ เนตรมัย )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 09:42:44


ความคิดเห็นที่ 5 (1959773)

อายุความสัญญากู้เงิน

 

หนังสือสัญญากู้เงินให้ แบ่งชำระรวม 60 เดือนเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆมีอายุความ 5 ปี

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 6,993,482.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้หลายปีและมิได้ย้ายภูมิลำเนากลับมาในประเทศไทยอีก ส่วนจำเลยที่ 2มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งแต่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งตามสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ข้อ 17 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการและให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,934,975.55บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวเพียงจำนวน4,851,975.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2536 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญารับทุนการศึกษาจากโจทก์ไปศึกษาชั้นปริญญาโทและต่อมาทำสัญญารับทุนการศึกษาจากโจทก์ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือไม่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการการเสนอคำฟ้องจึงต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แต่คดีนี้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตอำนาจศาล โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่ง ที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้ตามมาตรา 5 การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงชอบแล้ว ส่วนที่สัญญาได้ระบุให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ในขณะทำสัญญาอยู่ระหว่างการใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 เดิมที่บัญญัติยอมให้คู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาลที่คู่ความระบุไว้ในสัญญาได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการชอบแล้ว

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1สมรสตลอดระยะเวลาการศึกษาชั้นปริญญาเอกขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทำให้หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แต่ข้อกำหนดดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับข้ออื่นเพียงแต่เป็นข้อกำหนดข้อหนึ่งในสัญญาที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญา โจทก์เรียกเงินประเภทต่าง ๆที่ผู้รับทุนไปเพื่อการศึกษาคืนเป็นจำนวน 4 เท่าในทันที แต่โจทก์ก็มิได้ใช้สิทธิตามสัญญาข้อนั้น จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกข้อกำหนดในสัญญาข้อนี้ออกจากข้อสัญญาอื่น ๆ เป็นการแยกส่วนที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่สมบูรณ์ออกจากส่วนสมบูรณ์ ดังนั้น หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาข้ออื่น ๆ นอกจากข้อห้ามในข้อ 12 จึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ

ปัญหาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วนหรือไม่เพียงใดตามหนังสือสัญญาการกลับมาทำงาน ข้อ 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1ทำงานชดใช้ทุนการศึกษาชั้นปริญญาโทที่ได้รับจากโจทก์เป็นเวลา3 เท่า และตามหนังสือการรับทุนไปศึกษา ข้อ 15 และข้อ 16.1การรับทุนการศึกษาชั้นปริญญาเอก เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือการศึกษายุติด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยที่ 1 ต้องทำงานชดใช้ทุนการศึกษานับเป็นเวลา 4 เท่าของเวลาที่ใช้ไปในการศึกษาแต่หากไม่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนการศึกษาที่ได้รับก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวม 4 เท่าตามลำดับ และข้อ 16.2 ในกรณีที่ปฏิบัติชดใช้ทุนการศึกษาไปบ้างแล้วแต่ไม่ครบกำหนดเวลาให้ลดเงินลงตามส่วนจากจำนวนเต็ม ย่อมหมายความว่าให้เทียบสัดส่วนเต็มของเวลากับเวลาที่ยังเหลืออยู่ ในกรณีทำงานไม่ครบกับสัดส่วนของค่าเสียหายที่ต้องชำระเต็มกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้เป็นเงินลดลงตามส่วนเสมอนับเวลาที่ยังคงเหลืออยู่ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวก็เพื่อเป็นบทบังคับตามสัญญาไว้ว่า เมื่อโจทก์ต้องลงทุนเพื่อสนับสนุนบุคลากรผู้รับทุนไปทำการศึกษาต่างประเทศโจทก์ย่อมจะมีความมั่นใจในชั้นต้นว่า ผู้รับทุนจะกลับมาทำงานด้วยส่วนที่ตามสัญญาระบุระยะเวลาชดใช้ทุนต่างกันไป โดยให้ชดใช้ทุนชั้นปริญญาโท 3 เท่า แต่ชดใช้ทุนชั้นปริญญาเอก 4 เท่าก็เนื่องจากโอกาสในการได้รับงานสถานที่อื่นหรือในต่างประเทศนั้นผู้สำเร็จปริญญาเอกจะมีโอกาสมากกว่าผู้สำเร็จชั้นปริญญาโททำให้โอกาสในการผิดสัญญาของผู้รับทุนไปศึกษาชั้นปริญญาเอกมีมากขึ้นด้วย คู่สัญญาจะกำหนดระยะเวลาชดใช้ทุนมากขึ้นจากระยะเวลาชดใช้ทุนในชั้นปริญญาโทจึงมีเหตุผล การที่คู่สัญญาจะกำหนดความเสียหายไว้ล่างหน้าดังกล่าวจึงกระทำได้แต่ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่างหน้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาโทเพียง 1 เท่า และร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาเอกเพียง 2 เท่า จึงเหมาะสมแล้ว

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่าระหว่างเวลาที่ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกนั้น ถือว่าเป็นการทำงานให้แก่โจทก์เพื่อชดใช้ทุนสำหรับการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาการกลับมาทำงาน ข้อ 8 ได้ระบุชัดเจนว่า ระยะเวลาการชดใช้ทุน คือเวลากลับเข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยกรุงเทพ(ซึ่งหมายถึงโจทก์) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่า กรณีจึงไม่อาจแปลไปได้ว่า ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกเป็นการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของโจทก์ด้วย ส่วนการที่สัญญาการรับทุนไปศึกษาตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 13 จะระบุว่าให้นับระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเป็นอายุการทำงานของผู้รับทุนก็เป็นเรื่องการนับอายุงานซึ่งเป็นเรื่องอื่นไม่อาจหมายความได้ว่าให้หมายถึงเป็นการชดใช้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทไปได้แต่ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับส่วนนี้ลงโดยให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียง 145,678 บาท นั้นชอบแล้วและวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทุนการศึกษาที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ในระหว่างการศึกษาชั้นปริญญาเอกตามผลการรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวน 1,614,882 บาท จึงต้องหักเงินจำนวน46,116 บาท ออกไปคงเหลือจำนวน 1,568,766 บาท จำเลยที่ 1ต้องชำระเป็น 2 เท่า เป็นเงินจำนวน 3,137,532 บาทแต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียง 3,137,531.92บาท ศาลฎีกาจึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ดุจเดียวกับจำเลยที่ 1

ประเด็นสุดท้ายมีว่า เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 82,999.67 บาทนั้น ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามหลักฐานแห่งหนี้หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.22โจทก์ไม่เรียกดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระรวม 60 เดือนเริ่มแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) (มาตรา 166 เดิม) จำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่ปี 2528 โจทก์ฟ้องเรียกเงินในปี 2536 คดีขาดอายุความ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.22 ได้แบ่งยอดชำระหนี้ด้วยการหักเงินเดือนออกเป็นงวด ๆ รวม 60 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไป จึงเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)(มาตรา 166 เดิม) แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์โดยนายธนูและนายเสงี่ยมเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกไม่ได้รับเงินเดือนโจทก์จึงผ่อนผันไม่หักเงินเดือนชำระหนี้ในระหว่างนั้นให้ ดังนี้ ถือได้ว่าพฤติการณ์ของคู่ความต่างไม่ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาเรื่องระยะเวลาชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในขณะนั้น เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้วแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ชำระหนี้ในช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจำเลยที่ 1 จะสำเร็จการศึกษาหรือกลับมาทำงานกับโจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/12 (มาตรา 169 เดิม) ให้เริ่มนับอายุความแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษามาแล้ว และไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องภายใน 5 ปี ได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

( พิธี อุปปาติก - ไพศาล รางชางกูร - ผล อนุวัตรนิติการ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2541

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 10:03:46


ความคิดเห็นที่ 6 (1959796)

การบังคับคดีเอาแก่จำเลยภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า "ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น" ดังนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แม้ผู้ร้องจะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยการประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องก็ได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ ผู้ร้องจึงตกอยู่ในบังคับที่จะต้องบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมตามบทกฎหมายข้างต้นด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิในวันที่ 14 กันยายน 2547 ยังไม่เกินกำหนด 10 ปี แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2547 และศาลฎีกาได้รับวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ได้ล่วงเลยกำหนดเวลา 10 ปี แล้ว แม้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาต ผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองต่อไปได้ ประกอบกับการอนุญาตให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองเพราะเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5842/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 10:38:30


ความคิดเห็นที่ 7 (1959803)

การบังคับคดีเอาแก่จำเลยภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

 

คดีนี้โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินอยู่ระหว่างประกาศขายทอด เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดสิบปีแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่ยึดไว้ให้เสร็จได้แม้จะเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คดีนี้โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4876 ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาดตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารอันดับที่ 23 ในสำนวน เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดสิบปีแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่ยึดไว้ให้เสร็จได้แม้จะเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้จากการขายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากเป็นความจริงผู้ร้องย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้รายนี้แทนโจทก์ และกรณีมีความจำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อบังคับคดีต่อไปให้เสร็จสิ้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น?

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่.

( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2549

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 10:59:03


ความคิดเห็นที่ 8 (1959823)

การบังคับคดีเอาแก่จำเลยภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

 

การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาชำระหนี้ในเวลาที่ล่วงเลย 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยภายหลังลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาชำระ จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดี

 

 

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระหนี้แก่โจทก์ 19,181.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,967.72 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นสุดของเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 700 บาท ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เริ่มชำระงวดแรกเดือนตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 17 กันยายน 2534 คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2535 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี

ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าโจทก์ไม่ขอให้บังคับคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงไม่เกิน 10 ปี ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้ดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

โจกท์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลชั้นต้นมัคำสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ของโจทก์โดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 141 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สมชาย จุลนิติ์ - มานะ ศุภวิริยกุล - ชาลี ทัพภวิมล )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-08 11:36:04


ความคิดเห็นที่ 9 (1960293)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษในคดีแพ่งเป็นเงิน1,270,186.50 บาท โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่โจทก์เพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้ว โจทก์ตีราคาหลักประกัน 600,000 บาทซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เงินยังขาดอยู่อีก 670,186.50บาท นอกจากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันดังกล่าวแล้วไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การ

ระหว่างพิจารณาบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีเป็นเหตุให้จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพิ่มมากขึ้นถือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่าการบังคับคดีเป็นสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังนั้นโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีเมื่อใดภายในกำหนด 10 ปี จึงเป็นสิทธิที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาแก่โจทก์ หาใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีในทันทีจึงมิใช่เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

( พีรพล จันทร์สว่าง - ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน - วัฒนชัย โชติชูตระกูล )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 14:13:25


ความคิดเห็นที่ 10 (1960889)

การกู้ยืมเงินที่จะเข้าลักษณะความผิดอาญาฐานฉ้อโกง

ผู้กู้ยืมต้องแสดงเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้ให้กู้ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและได้ไปซึ่งเงินจากผู้ให้กู้โดยมีเจตนาหลอกลวงและจะไม่ใช้คืนให้ตั้งแต่แรก

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน และนำโฉนดที่ดินเลขที่ 21572 ซึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันอันเป็นความเท็จ ความจริงขณะนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าว และโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวถูกเพิกถอนยกเลิกไปแล้วการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินจำนวน 750,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341 และให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 750,000 บาทแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 750,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุกคนละ1 ปี ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 750,000บาท แก่โจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องคดีในส่วนแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป กับให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีพยานที่รู้เห็นการกระทำผิดได้แก่ตัวโจทก์เบิกความถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า จำเลยทั้งสองขอกู้ยืมเงิน 800,000 บาท ใช้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้ยึดถือเป็นประกัน โจทก์ให้กู้ 750,000 บาททำสัญญากู้โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานเหตุการณ์ตอนนี้มีพยานยืนยันคนแรกคือนายจรัสสอนมา คนติดต่อและพาไปกู้ยืมเงินโจทก์ คนต่อมาคือนางสาวเมตตาภาติยะศิขัณฑ์ นอกจากนี้โจทก์มีโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ที่โจทก์มีสำเนาหนังสือสัญญากู้ เป็นหลักฐานพยานบุคคลและพยานเอกสารน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองขอกู้ยืมเงินโจทก์โดยใช้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1ซึ่งถูกเพิกถอนแล้วให้ยึดถือเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสองปกปิดข้อเท็จจริงนี้ไว้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดจำเลยทั้งสองเสนอใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวชำระแทนเงินกู้ โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนจำเลยที่ 2 ทำหนังสือให้ความยินยอม ทั้งที่โฉนดที่ดินนั้นถูกเพิกถอนเพราะที่ดินตามโฉนดที่ดินถูกขายทอดตลาดเจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แล้ว เป็นเหตุให้โจทก์คืนหนังสือสัญญากู้ให้แก่จำเลย ทั้งที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินถูกเพิกถอน ที่ดินตกเป็นของผู้อื่นแต่จำเลยทั้งสองปกปิดข้อเท็จจริงนี้ไว้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยไม่มีข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงจนโจทก์หลงเชื่อและได้เงินจากโจทก์750,000 บาท พยานหลักฐานฝ่ายจำเลย จำเลยทั้งสองอ้างว่า กู้ยืมเงินห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาชัยเรืองสิน 300,000 บาท ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินคืนทางห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาชัยเรืองสินยังหาไม่พบ ส่วนหนังสือมอบอำนาจและหนังสือให้ความยินยอมก็เป็นเอกสารทำไว้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหาชัยเรืองสิน เป็นข้ออ้างที่ไม่มีหลักฐานไม่มีเหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงยินยอมให้เอกสารสำคัญเหล่านั้นอยู่กับโจทก์ ทั้งที่ชำระหนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ดังศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและไม่ได้กระทำการใดเป็นเหตุอันควรปราณี ตามพฤติการณ์ไม่สมควรรอการลงโทษ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สายันต์ สุรสมภพ - พิชิต คำแฝง - สุพัฒน์ บุญยุบล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2544

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 16:24:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล