ReadyPlanet.com


โอนเงินมัดจำไปเพื่อซื้อของ แต่คนรับมัดจำหาย...ตัว ตามไม่พบ ครับ


ผมได้ติดต่อซื้อโน๊ตบุ๊คทาง อินเตอร์เนต โอนเงินไปมัดจำ ( ไม่เคยเห็นหน้าตา )  พอจะไปรับของ ถูกปิดเครื่องใส ตามตัวไม่พบ  เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนได้หรือไม่ หรือต้องรวมตัวกับผู้เสียหายอื่น ๆ (ลงขัน)จับมาดำเนินคดีครับ


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้วางมัดจำ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-07 09:58:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959628)

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวใน มาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

การประกาศขายสินค้าทางอินเตอร์เนต นั้น หากมีเจตนาหลอกลวงมาแต่แรก ก็เป็นฉ้อโกงประชาชนครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-07 19:25:51


ความคิดเห็นที่ 2 (1959632)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341, 343 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 296,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งแปด

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 ให้จำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 296,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 11,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 34,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 และจำนวน 10,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 รวมเป็นเงิน 286,600 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน วันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยทำอุบายทำพิธีกรรมนำโอ่งทำน้ำมนต์มาตั้งพร้อมจัดทำธูปเทียน สายสิญจน์ และหนังสือคัมภีร์อัลกุรอ่านมาวางไว้ ทำพิธีสวดมนต์ภาษาอิสลามทำน้ำมนต์แล้วนำมาพรมบนศีรษะให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดและพูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่าจะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดเกิดความร่ำรวยได้ ด้วยการหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นประชาชน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งแปดตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละรายได้เสียให้แก่จำเลยไปตามที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องแล้ว และจำเลยได้นำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายทั้งแปดไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด การกระทำที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดโดยทุจริตและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคน จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนใดเมื่อวันเดือนปีใดและหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนกี่ครั้ง หรือได้เงินจากผู้เสียหายแต่ละรายครั้งละเท่าใด เงินที่ได้จากการหลอกลวงนำไปใช้เป็นค่าซื้อแพะที่ตัว เป็นเงินเท่าใด เงินที่มิได้นำไปซื้อแพะมีเท่าใด หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับจากผู้เสียหายแต่ละรายเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 6 ถึงที่ 8 ต่างไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน เพิ่งรู้จักจำเลยก็เนื่องจากต้องการให้จำเลยประกอบพิธีกรรมให้ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายแต่ละคนมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในอันที่จะเบิกความให้ผิดไปจากความจริงเพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษทางอาญา ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าผู้เสียหายเหล่านั้นมีศรัทธาและเชื่อตามที่จำเลยบอกและยืนยัน การที่จำเลยแสดงความสามารถในการดูดวงและคุยโอ้อวดยืนยันต่อผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถทำพิธีเพื่อให้รวย หมดเคราะห์หมดหนี้ หรือทำให้ขายที่ดินหรือตึกได้ ทั้งที่จำเลยไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย และแม้ในส่วนของผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 จะได้ความว่าเป็นผู้ไปขอให้จำเลยช่วยรักษาโรคให้ แต่จำเลยก็มิได้ปฏิเสธว่าไม่สามารถรักษาโรคได้ กลับทำการสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 โดยบอกผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ในทำนองว่าต้องทำพิธีดังกล่าวจึงจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งยังได้ประกอบพิธีทำน้ำมนต์และนำไปอาบให้แก่ผู้เสียหายที่ 7 และที่ 8 และจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่บ้านของผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมบ่อยครั้ง ซึ่งพันตำรวจโทบุญยิ่งพนักงานสอบสวนได้ถ่ายรูปไว้ ตามภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพแสดงหนังสือสวดมนต์อิสลาม ธูปเทียน สายสิญจน์ และโอ่งน้ำมนต์ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายและบุคคลอื่นนั่นเอง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดและบุคคลอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งแปดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีอาชีพเป็นหมอดูสะเดาะเคราะห์ และรักษาโรค ในการตรวจดวงจำเลยคิดค่าตรวจดวงคนละ 40 บาท จำเลยทำพิธีกรรมเพื่อเป็นการขอพรจากพระอัลเลาะห์หรือพระเป็นเจ้าให้ประสบผลสำเร็จต่าง ๆ ไม่ได้ยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จตามที่ผู้เสียหายต้องการนั้น เป็นการเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าจะถูกฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงเงินของผู้เสียหายแต่ละคนไปเท่าใดนั้น จึงไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องจำนวนเงินมาแต่แรกนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และความเสียหายที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้รับโดยละเอียดแล้ว การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปด นายสมศักดิ์รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่บ้านของนางมาเรียม บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว

แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่พูดหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดว่า จะต้องใช้เงินไปซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์และจะทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวย ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายทั้งแปดร่ำรวยได้ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ความว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ว่าจะต้องใช้เงินซื้อแพะนำมาบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 หายจากเจ็บป่วยได้ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( จิระวรรณ ศิริบุตร - เกษม เวชศิลป์ - ไพโรจน์ วายุภาพ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 19:49:17


ความคิดเห็นที่ 3 (1959635)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารที่ประเทศมาเลเซีย โดยผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้จ่ายเงินคนละ 5,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองและจ่ายอีกคนละ 12,000 บาท ให้แก่นายฝาง แต่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดก็ไม่ได้งานทำตามที่จำเลยทั้งสองอ้างและถูกส่งกลับประเทศไทย ภายหลังจำเลยทั้งสองได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและยอมชดใช้เงินให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและผู้เสียหายอื่นอีกรวม 35 คน คนละ 5,142.85 บาท รวมเป็นเงิน 180,000 บาท ผู้เสียหายทั้งหมดดังกล่าวพอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสอง สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาขึ้นมา ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า พยานหลักฐานในคดีนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งไว้โดยละเอียดในอุทธรณ์แล้ว ขอให้ศาลฎีกาหยิบยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองขึ้นพิจารณาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษามาแล้วหากจำเลยทั้งสองประสงค์จะฎีกาก็จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ชัดเจนว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ถูกต้องโดยมีเหตุผลข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ที่จำเลยทั้งสองขอให้ถือเอาอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของฎีกา ย่อมเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า ไม่ถูกต้องโดยมีเหตุผลอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยทั้งสองชักชวนผู้เสียหายหลายคน แต่ก็เป็นการชักชวนโดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายๆ ไป มิได้ป่าวประกาศแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดหรือบอกให้ผู้เสียหายแต่ละคนไปชักชวนให้ผู้อื่นหลงเชื่ออีก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา มิใช่ฐานฉ้อโกงประชาชน เมื่อผู้เสียหายแต่ละคนถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้นั้น เห็นว่า การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงเป็นเพียงข้อที่นำมาพิจารณาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ก็ปรากฏตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งว่า มีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองตามบันทึกดังกล่าวถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนเหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ หากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกัน โดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว หาใช่เป็นความผิดเพียงฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ไม่ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้คืนเงินบางส่วนที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนละ 5,142.85 บาท แล้ว และตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งก็ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้ไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี จึงเป็นโทษที่หนักเกินไป สมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น

อนึ่ง คดีนี้มีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันหลายคน ทั้งคำขอของโจทก์ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก โดยมิได้ระบุ มาตรา 83 ด้วยจึงยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

( พิทยา บุญชู - วัฒนชัย โชติชูตระกูล - อุดมศักดิ์ นิติมนตรี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645 - 6646/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 20:02:43


ความคิดเห็นที่ 4 (1959658)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ มีตำแหน่งงานให้ทำหลายตำแหน่ง รายได้ดี สวัสดิการดี ใครต้องการไปทำงานให้สมัครได้ที่จำเลยกับพวกโดยต้องจ่ายค่าสมัคร ค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่จำเลยกับพวก แล้วจำเลยกับพวกจะจัดส่งผู้สมัครไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวตามความประสงค์ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยหาได้มีความสามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวให้มีรายได้ดี สวัสดิการดีแต่อย่างใดไม่ ด้วยการหลอกลวงตามวิธีการดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวน 116 คน ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้อง หลงเชื่อมาสมัครงานและจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกตามรายการที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้จ่ายไปท้ายฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,187,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหมดท้ายฟ้องซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91, 83, 343 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 5,187,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคน และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุก 4 ปี ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 5,187,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคนในส่วนที่แต่ละคนได้รับความเสียหาย และให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 หมายเลขแดงที่ 1312/2544 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศเป็น 2 คดี ด้วยกันคือ คดีหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีนี้โดยขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ มีตำแหน่งงานให้ทำหลายตำแหน่ง รายได้ดี สวัสดิการดี ใครต้องการไปทำงานให้ไปสมัครได้ที่จำเลยกับพวกโดยต้องจ่ายค่าสมัคร ค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่จำเลยกับพวก แล้วจำเลยกับพวกจะจัดส่งผู้สมัครไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวซึ่งเป็นเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกหาได้มีความสามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวให้มีรายได้ดี สวัสดิการดีแต่อย่างใดไม่ ด้วยการหลอกลวงตามวิธีการดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวน 343 คน ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้องหลงเชื่อไปสมัครงานและจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกตามรายการที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้จ่ายไปท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน 16,185,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต และจำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหมดท้ายฟ้องซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91, 83, 343 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2538 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 16,185,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีดังกล่าวเหมือนกันแทบทุกประการ เป็นการฟ้องในฐานความผิดเดียวกัน โดยวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดทั้ง 2 คดี เป็นช่วงเวลาเดียวกัน แสดงว่าการประกาศโฆษณาให้ประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 2 คดีนี้หลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกเป็นการประกาศโฆษณาครั้งเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุทั้ง 2 คดี ก็เป็นสถานที่เดียวกัน จะแตกต่างกันก็เฉพาะผู้เสียหายในคดีนี้กับในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น ทั้งทางนำสืบของโจทก์ในคดีนี้และคดีดังกล่าวก็ปรากฏว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 คดี จำเลยกระทำความผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรีท็อป โดยจำเลยเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยอีกหลายคนเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์นำการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิดอันเป็นการกระทำเดียวกันมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี โดยแยกผู้เสียหายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละคดีเท่านั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในการกระทำของจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ได้ฟ้องไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 472/2539 และหมายเลขแดงที่ 1312/2544 ของศาลชั้นต้นไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้ย่อมระงับไปแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) จึงต้องยกฟ้องของโจทก์คดีนี้เสีย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และคำขออื่นของโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

( พิทยา บุญชู - วัฒนชัย โชติชูตระกูล - อุดมศักดิ์ นิติมนตรี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5940/2548

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 21:30:02


ความคิดเห็นที่ 5 (1959668)

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมาจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนต่อประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปว่า บริษัทดาต้า จำกัด ซึ่งจำเลยกับพวกได้ร่วมกันก่อตั้งมีความต้องการรับสมัครพนักงานหลายตำแหน่งเพื่อร่วมประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับตลาดในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฟิลิปปินส์โดยชักชวนให้ผู้สมัครงานหรือผู้สนใจลงทุนนำเงินมาลงทุนหรือหาลูกค้านำเงินมาลงทุนจะได้รับกำไรดี ซึ่งความจริงแล้วบริษัทดาต้า จำกัด ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้ากับตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ดังที่จำเลยกับพวกร่วมกันกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่เจตนาทุจริตหลอกลวงให้ประชาชนมาร่วมลงทุนหรือมาสมัครงานเพื่อฉ้อโกงเงินเป็นเหตุให้นางสาวรวิวรรณ อำพันทอง ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 960,000 บาท นายสุทธิชัย เอื้ออารีย์พิชิต ผู้เสียหายที่ 2 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 746,500 บาท นางสาวแก้วตา ลักษณะ ผู้เสียหายที่ 3 ถูกหลอกลวงไปเป็นเงิน 500,000 บาท นางสาววิจิตรา หรีดอุไร ผู้เสียหายที่ 4 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 920,000 บาท นางสาวศิริพร สุจริต ผู้เสียหายที่ 5 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 200,000 บาท นางสาวอังคณา สุเมธาคุณ ผู้เสียหายที่ 6 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 122,000 บาท และนางสาวนิภา ลี้ปิยะสกุลชัย ผู้เสียหายที่ 7 ถูกหลอกลวงเงินไปจำนวน 800,000 บาท รวมแล้วเป็นเงินที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดถูกหลอกลวงเงินไปทั้งสิ้น4,248,500 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 4,248,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด และนับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีดังกล่าว

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 434วรรคแรก (ที่ถูก 343 วรรคแรก) ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี แต่โทษจำคุกแต่ละกระทงอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 91 คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 844,620 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 746,500 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 498,600 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 920,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 122,000 บาท และให้แก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 800,000 บาท กับให้นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9161/2543 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343 (ที่ถูก 343 วรรคแรก), 83 ฐานฉ้อโกงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง ฐานฉ้อโกงประชาชนจำคุก 5 ปี รวมแล้วคงจำคุก20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยและนายโสภณ จ่างผล กับพวก กระทำหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อตั้งบริษัทดาต้า จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2537 มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 21/7 อาคาร ที อาร์ เอส หมู่ที่ 14 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม2537 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน บริษัทดาต้า จำกัด ได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัทดาต้า จำกัดเป็นบริษัทที่มั่นคง ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน การบัญชี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หน้าที่อื่น ๆ และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง เมื่อมีผู้สนใจมาลงทุนหรือสมัครงาน จำเลยกับพวกจะรับไว้แล้วจัดอบรมวิธีการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยบอกว่า บริษัทประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับตลาดโตเกียวในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฟิลิปปินส์ กับชักชวนให้ผู้สมัครงานหรือผู้สนใจลงทุนนำเงินทุนมาลงทุนหรือหาลูกค้านำเงินมาลงทุนกับบริษัทหากผู้สมัครสามารถหาลูกค้ามาเปิดบัญชีลงทุนกับบริษัทจะได้รับค่านายหน้าหรือค่าคอมมิชชันยูนิตละ 300 บาท ในการลงทุนจะต้องเปิดบัญชีไว้อย่างน้อย 5 ยูนิต เป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อมีการสั่งซื้อสั่งขายสินค้า ทางบริษัทจะส่งคำสั่งซื้อหรือสั่งขายไปที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ หากได้รับผลกำไรบริษัทจะนำเงินเข้าบัญชีให้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัทดาต้า จำกัด ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์จากการหลอกลวงทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้แก่บริษัทดาต้า จำกัด มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่าจำเลยได้ร่วมกระทำผิดกับนายโสภณกับพวกต่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 7 และนางสาวดรัลพร อมรโมฬี เบิกความว่า จำเลยร่วมกับนายโสภณและพวกของจำเลยได้อบรมบุคคลที่สมัครงาน โดยเฉพาะจำเลยเป็นผู้โทรศัพท์ชักชวนผู้เสียหายที่ 6 ให้ร่วมลงทุนถึง 3 ครั้ง เมื่อผู้เสียหายที่ 6 มาลงทุนตามคำชักชวนของจำเลย จำเลยเป็นผู้รับเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้จากผู้เสียหายที่ 6 และยังเป็นผู้แนะนำผู้เสียหายที่ 5 ให้สั่งซื้อสินค้าเกษตรบางรายการด้วย ส่วนจำเลยนำสืบโดยเบิกความเป็นพยานตนเองว่า จำเลยเป็นพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด เท่านั้น จำเลยทำงานได้ประมาณ4 เดือน ก็ลาออกไปเปิดบริษัทใหม่ ซึ่งทำธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทดาต้า จำกัด เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะนางสาวดรัลพรก็เป็นพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด มิใช่ผู้เสียหายคำเบิกความของพยานดังกล่าวเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดาต้า จำกัด โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดาต้า จำกัด ที่มีนายโสภณเป็นกรรมการ การที่จำเลยเข้าไปร่วมทำงานโดยอบรมพนักงานของบริษัท ชักชวนให้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทเพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่บริษัทดาต้าจำกัด มิได้ดำเนินกิจการดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยร่วมกับนายโสภณกับพวกตั้งบริษัทดาต้า จำกัด เพื่อฉ้อโกงบุคคลอื่น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายร่วมกับนายโสภณกับพวกด้วย ข้ออ้างจำเลยที่ว่าเป็นเพียงพนักงานของบริษัทดาต้า จำกัด ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้นถือเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเป็นความเท็จ โดยทุจริตของบริษัทดาต้า จำกัด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อจึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกันเป็นความผิดหลายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิใช่ความผิดกรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกา จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา เห็นว่า คดีส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 2ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย"

พิพากษายืน

( มานะ ศุภวิริยกุล - สมชาย จุลนิติ์ - ชาลี ทัพภวิมล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 21:49:13


ความคิดเห็นที่ 6 (1959673)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายกอบพล แก่นทอง กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ประกาศโฆษณาเผยแพร่ข่าวแก่ประชาชนว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ โดยต้องเสียค่าสมัครและค่าบริการต่าง ๆซึ่งเป็นเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่มีความสามารถที่จะจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวได้ ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นายแก้วมูล วงศ์ขัติย์นายมืด งามจิต นายศิริชัย กาเมืองลือ นายอัครพล เผ่าดี และนายศรีจันทร์ ขัติยะผู้เสียหายทั้งห้าหลงเชื่อไปสมัครงานกับจำเลยและพวก และเป็นเหตุให้บุคคลที่สามเสียเงินแทนผู้เสียหายทั้งห้าให้แก่จำเลยกับพวกและจำเลยยังกระทำความผิดเนื่องจากมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายได้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเรียกและรับค่าบริการจากคนหางานดังกล่าวข้างต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นางแสงไรวงศ์ขัติย์ จำนวน 170,000 บาท นายอนันต์หรือน้อย วงศ์ขัติย์ จำนวน 80,000 บาทนายมูล ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายศรี ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายใจ ใฝ่ใจจำนวน 50,000 บาท นายบุญมา กาเมืองลือ จำนวน 40,000 บาท นางจันทร์แก้วนามจิต จำนวน 40,000 บาท นายเลิศหรือเดิน เผ่าดี จำนวน 250,000 บาท นายหน้อยหรือน้อย ขัติยะ จำนวน 130,000 บาท นายศรี ขัติยะ จำนวน 50,000 บาท และนางบุญทา เผ่าดี จำนวน 100,000 บาท ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่สามได้รับความเสียหายเนื่องจากได้ชำระเงินแทนผู้เสียหายทั้งห้าไปตามฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้จำคุก 1 ปี คำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นางแสงไร วงศ์ขัติย์ จำนวน170,000 บาท นายอนันต์หรือน้อย วงศ์ขัติย์ จำนวน 80,000 บาท นายมูล ใฝ่ใจ จำนวน100,000 บาท นายศรี ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายใจ ใฝ่ใจ จำนวน 50,000บาท นายบุญมา กาเมืองลือ จำนวน 40,000 บาท นางจันทร์แก้ว นามจิต จำนวน40,000 บาท นายเลิศหรือเดิน เผ่าดี จำนวน 250,000 บาท นายหน้อยหรือน้อย ขัติยะจำนวน 130,000 บาท นายศรี ขัติยะ จำนวน 50,000 บาท และนางบุญทา เผ่าดีจำนวน 100,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 นั้น ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นยุติว่า เมื่อนายกอบพล แก่นทอง และจำเลยไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งห้ากับคนหางานอื่น ๆ เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ตามที่ตกลงไว้ ผู้เสียหายทั้งห้าจึงเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดพะเยาและรออยู่จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2536 จึงทราบว่านายกอบพลหลบหนีไป การที่ผู้เสียหายทั้งห้าถูกนายกอบพลหลอกลวงนั้นเกิดจากมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยด้วยต่อมาจำเลยได้ยอมรับผิดชดใช้เงินแก่คนหางาน 5 คน ที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อจัดหางานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และยกฟ้องความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยมิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดในความผิดสองฐานนี้อีกไม่ได้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 348ผู้เสียหายทั้งห้าต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ผู้เสียหายทั้งห้ารู้ว่านายกอบพลซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยได้หลบหนีไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2536 และรู้ว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินแก่คนหางาน 5 คน ที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อจัดหางานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แสดงว่าผู้เสียหายทั้งห้ารู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แต่ผู้เสียหายทั้งห้าโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยาผู้ดำเนินการแทนได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2537 ซึ่งเกินเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - อรพินท์ เศรษฐมานิต - ชัช ชลวร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 22:02:17


ความคิดเห็นที่ 7 (1960297)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนว่า จำเลยกับพวกเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาด มีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ในสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดเป็นจำนวนมากจะจำหน่ายให้แก่ผู้ที่จะเอาไว้ปลูกหรือเอาไว้เพื่อจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง หากผู้ใดซื้อให้ไปรับเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ได้ที่สหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกับพวกไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดและไม่มีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ในสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาด ทั้งไม่มีเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และไม่มีเจตนาจะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ให้แก่ประชาชนคนใด แต่มีเจตนาคบคิดกันมาตั้งแต่แรกที่จะหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากประชาชนผู้หลงเชื่อข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยกับพวกที่แสดงดังกล่าวและตกลงซื้อเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จากจำเลยกับพวกและจากการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยกับพวกดังกล่าว เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้อื่นหลายคน รวมทั้งผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 12 ตามลำดับหลงเชื่อและตกลงซื้อเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จากจำเลยกับพวก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 69,300 บาท โดยจำเลยกับพวกอ้างว่าเป็นการชำระค่าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ที่ตกลงซื้อไว้บางส่วน ซึ่งเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 วรรคแรก จำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 12 จำนวน 8,500, 5,000, 12,500, 2,500, 3,000,1,300, 1,700, 7,500, 12,500, 1,700, 7,500 และ 5,000 บาท ตามลำดับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายอานนท์ ญาณพันธุ์ ผู้เสียหายที่ 1 นายสำรอง คำภิโล ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า จำเลยเคยมากับนายวิรัตน์ จันทร์ทองบอกจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ให้ โดยบอกว่าทั้งสองคนเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาด และมีโควต้าเมล็ดพันธุ์นำมาจำหน่ายจึงตกลงซื้อ และมีนางจี๋ใจเป็ง ผู้เสียหายที่ 3 นายใหม่ เตจา ผู้เสียหายที่ 4 นายวันชัย กันธะวงค์ ผู้เสียหายที่ 5 นางยุพิน สิทธิคง ผู้เสียหายที่ 6 นายแก้ว ศิริ ผู้เสียหายที่ 7 นายมนตรี แสนศรี ผู้เสียหายที่ 8 นายมานพ กันทา ผู้เสียหายที่ 9 นายเมืองใจ สุภาแก้ว ผู้เสียหายที่ 10 นายศรีวรรณ สุยะ ผู้เสียหายที่ 11 นายอัศวิน เงาผ่อง ผู้เสียหายที่ 12 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยมาบอกจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ โดยบอกว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดมีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่นำมาจำหน่าย จึงตกลงซื้อและผู้เสียหายทั้งสิบสองเบิกความว่า ได้มอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปแล้ว โดยผู้เสียหายที่ 1 ชำระเงิน 8,500 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ชำระเงิน 5,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 ชำระเงิน 12,500 บาท ผู้เสียหายที่ 4 ชำระเงิน 2,500 บาท ผู้เสียหายที่ 5 ชำระเงิน3,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 ชำระเงิน 1,300 บาท ผู้เสียหายที่ 7 ชำระเงิน 1,700 บาทผู้เสียหายที่ 8 ชำระเงิน 7,500 บาท ผู้เสียหายที่ 9 ชำระเงิน 12,500 บาท ผู้เสียหายที่ 10ชำระเงิน 1,700 บาท ผู้เสียหายที่ 11 ชำระเงิน 7,500 บาท ผู้เสียหายที่ 12 ชำระเงิน5,000 บาท เมื่อถึงกำหนดนัด จำเลยไม่นำเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่มาให้และปฏิเสธที่จะคืนเงินที่รับไปแล้ว ผู้เสียหายทั้งสิบสองจึงพากันไปแจ้งความร้องทุกข์ เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสิบสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุอันใดจะแกล้งกล่าวเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ อีกทั้งยังเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดี จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามความเป็นจริง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จากนายวิรัตน์เท่านั้นมิได้มีส่วนร่วมกับนายวิรัตน์ในการกระทำความผิด เพียงแต่นายวิรัตน์ให้จำเลยช่วยจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ให้ หากหาคนซื้อได้ 3 ปอนด์ นายวิรัตน์จะให้เมล็ดพันธุ์แก่จำเลย 1 ปอนด์ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยพานายวิรัตน์ไปช่วยจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และจำเลยไปจำหน่ายเองแต่เพียงลำพัง เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับเป็นเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกับนายวิรัตน์ในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่แล้ว แม้จำเลยจะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ร่วมกันกับนายวิรัตน์หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์หอมหัวใหญ่บ้านกาดและมีโควต้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จำหน่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริตของจำเลยอย่างชัดแจ้งในการที่จะหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองและการหลอกลวงดังว่านั้นจำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งสิบสอง จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับนายวิรัตน์กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องแล้วที่จำเลยอ้างว่าหากจำเลยมีเจตนาทุจริต จำเลยคงจะหลบหนีไปแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยอาจคิดว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่หลบหนีก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( มงคล ทับเที่ยง - สุรพล เจียมจูไร - วิศณุ เลื่อมสำราญ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8723/2544

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 14:27:17


ความคิดเห็นที่ 8 (1960528)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนรวมทั้งสิ้น22,037 บาท

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 ฐานจัดหางานให้คนหางานทำในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ลงโทษจำคุก2 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้งภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติในวันนี้เป็นวันแรกไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ความผิดฐานอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงกับความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานนั้น อาจเป็นความผิดต่างกรรมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องของโจทก์ ถ้าคำฟ้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน การกระทำตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 8, 73 สำหรับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็นสองตอน ฟ้องข้อ (ก) บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนทั่วไปเรียกรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานและผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ส่วนข้อ (ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงประชาชนโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จโฆษณาในหนังสือพิมพ์เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจหารายได้พิเศษเพื่อร่วมงานกับบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้ค่าตัววันละ 700 บาท ถึง 1,500บาท ค่าตัวจ่ายวันต่อวัน โดยผู้สมัครต้องเสียเงินค่าบริการจัดหางานให้จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกดังกล่าวนำผู้สมัครไปรวมกลุ่มพูดคุยที่ต่างจังหวัดโดยไม่ได้คัดตัวนักแสดงแต่อย่างใดและจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ผู้สมัครทำงานตามที่โฆษณาได้ ข้อความตามข้อ (ข) ไม่มีข้อความใดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นการที่จำเลยกับพวกไม่สามารถจัดให้ได้ทำงานมิได้หมายความเสมอไปว่าจะต้องเกิดจากเพราะมิได้มีเจตนาจัดหางานอันจะถือว่าไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

( ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ - อภิศักดิ์ พรวชิราภา - ยงยศ นิสภัครกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7048/2544

 

 

หมายเหตุ

 

การเรียกเงินจากคนหางานว่ามีงานให้ทำแล้วไม่สามารถหางานให้ทำได้นั้น อาจมีความผิดเกี่ยวเนื่องกัน 3 ฐาน คือ ฉ้อโกง การจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตและหลอกคนหางานว่ามีงานให้ทำในต่างประเทศอันเป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงทั้งนี้ อาจมีความผิดหลายฐานหรือฐานใดฐานหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องของโจทก์และข้อเท็จจริงในสำนวน

ความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนนั้นผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาที่จะจัดหางาน แล้วได้ทำการจัดหางานโดยที่มิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ได้ยืนยันมาแต่แรกว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะจัดหางานแต่อ้างการจัดหางานมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากคนหางาน ก็ไม่มีความผิดฐานจัดหางาน ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบของความผิด

หากโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนได้บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยมาครบองค์ประกอบแห่งความผิดก็อาจมีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้โจทก์ต้องมิได้ยืนยันในคำฟ้องว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานมาแต่ต้น แม้โจทก์จะฟ้องบรรยายครบองค์ประกอบของความผิดดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยจะมีความผิดต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏชัดเจนว่าโจทก์กระทำความผิด ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงคงไม่ชัดเพียงพอที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

การจัดหางานนั้นมีการจัดหางานในประเทศและการจัดหางานในต่างประเทศ ซึ่งการจัดหางานในประเทศนั้นผู้จัดหางานจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ส่วนการจัดหางานในต่างประเทศ ผู้จัดหางานต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลธรรมดา และโจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาจัดหางานในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จัดหางานในประเทศได้ จึงอาจเป็นความผิดฐานนี้ได้หากจำเลยเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีคุณสมบัติที่จะจัดหางานในต่างประเทศได้ศาลจึงมักแปลว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางาน แต่อ้างการจัดหางานเพื่อหลอกผู้อื่นจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงและหลอกลวงคนหางานว่ามีงานให้ทำในต่างประเทศอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้ได้เงินจากผู้ถูกหลอกลวง แต่ไม่มีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงนั้น หากจำเลยหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้ได้เงินจากผู้เสียหายแล้วก็มีความผิด ซึ่งคดีต่าง ๆ ที่ขึ้นสู่ศาล ศาลมักจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง หากหลอกลวงผู้เสียหายบางคนก็เป็นความผิดฉ้อโกง ถ้าหลอกลวงผู้เสียหายหลายคนก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หากหลอกลวงว่ามีงานให้ทำในต่างประเทศอันเป็นเท็จก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ความผิดเกี่ยวกับการจัดหางานนั้น แต่ละฐานศาลมักลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือลงโทษไม่เกิน 5 ปีก็ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่ามีคดีเช่นนี้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาจำนวนมาก เพราะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วก็ไม่เห็นมีปัญหาสำคัญที่ต้องให้ศาลสูงพิจารณาแต่อย่างใด

ผู้เขียนมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า คดีความผิดเกี่ยวกับการจัดหางานหลายคดีจำเลยหลายรายโชคดีรอดพ้นจากการติดคุก เนื่องจากเทคนิคทางกระบวนพิจารณาคดีเช่นบางคดีโจทก์ฟ้องจำเลยมารวม 3 ข้อหา คือ จัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉ้อโกงและหลอกลวงผู้อื่นว่ามีงานทำในต่างประเทศ โดยโจทก์บรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางาน แต่อ้างการจัดหางานเพื่อหลอกลวงผู้อื่น ศาลชั้นต้นบางศาลพิพากษาว่าจำเลยผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ยกฟ้องฐานฉ้อโกงและหลอกลวงว่ามีงานให้ทำในต่างประเทศ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดเลย โจทก์เห็นว่าเมื่อศาลลงโทษจำเลยแล้วจึงไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในอีก 2 ฐาน ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง คดีในความผิด2 ฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุด พอศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย โจทก์ก็ฎีกาว่าจำเลยมีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน ทำให้จำเลยหลุดพ้นไปเลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงและหลอกลวงว่ามีงานให้ทำในต่างประเทศแต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิด 2 ฐานนี้ถึงที่สุด ศาลฎีกาจะยกขึ้นพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้ ผลกลายเป็นว่าศาลปล่อยให้คนชั่วลอยนวล

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 21:55:54


ความคิดเห็นที่ 9 (1960883)

การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341, 343, 83, 91 พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนต้นเงินกู้ที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป 18,825,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสิบพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงตามความผิดด้วย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 12 การกระทำของจำเลยทั้งสองต่อผู้เสียหายแต่ละคนถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 และจำเลยทั้งสองกระทำต่อผู้เสียหายหลายคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง แต่เมื่อรวมความผิดทุกกระทงเข้าด้วยกันแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1,700,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 3,995,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 1,180,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 2,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 1,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 2,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 1,000,000 บาท และผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสอง แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเพียงกระทงเดียวมีกำหนดคนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 โดยอ้างว่าจะนำเงินที่กู้ยืมไปปล่อยให้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกู้อีกต่อหนึ่งและจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังได้แบ่งหน้าที่กันไปหลอกลวงกู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกันนี้ โดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนางมยุรี หงวนบุญมาก ส่วนจำเลยที่ 2 ไปหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นายหลี ขาวชม นางสาวชมพู ขาวชน และนายชุมพล ดีพลขันธ์ โดยผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมามอบให้แก่จำเลยทั้งสองคนละวันกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทีละคน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายคนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกันเพียงพอที่แสดงให้เห็นเจตนาที่ประสงค์จะให้เกิดผลแยกออกจากกัน การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน จึงไม่อาจชี้ได้ว่าเป็นการกระทำความผิด 10 กระทง ดังที่โจทก์ฎีกา อย่างไรก็ตาม ความปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนางมยุรี กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นายหลี นางสาวชมพู และนายชุมพล อีกกลุ่มหนึ่ง เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน อันนับว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดรวม 3 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมรวม 3 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 11 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

( เฉลิมชัย จารุไพบูลย์ - พิชิต คำแฝง - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 16:10:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล