ReadyPlanet.com


ห้างหุ้นส่วนจำกัด


อยากรู้ว่า หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ในห้างหุ้นส่วนจำกัด มีสิทธิประชุมถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ณรงค์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-06 19:34:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959586)

มาตรา 1088 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้ เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิด รวมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับใน การตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วน นั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน นั้นไม่

 

ตามมาตรา 1088 วรรคสอง นั้น บอกว่า ถ้ามีข้อบังคับกำหนดไว้ในสัญญาหุ้นส่วน ว่าให้ทำได้ ก็สามารถทำได้ แต่หากไม่มีกำหนดไว้ในสัญญาก็ไม่อาจทำได้

 

(เทียบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2529)


ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-07 16:29:26


ความคิดเห็นที่ 2 (1960515)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ประชุมกันลับหลังโจทก์และลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากบ้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกับแก้ไขสัญญาหุ้นส่วนในเรื่องหุ้นส่วนผู้จัดการใหม่แล้วนำมติไปจดทะเบียนกับจำเลยที่ 6 ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว และขอให้โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า การประชุมลงมติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับจำเลยที่ 6 ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง

ระหว่างสืบพยานโจทก์ คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวโดยไม่สืบพยานว่า หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะมีสิทธิร่วมประชุมลงมติถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการได้หรือไม่ ถ้าได้โจทก์ยอมแพ้คดี ถ้าไม่ได้จำเลยแพ้คดี

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์แพ้คดีตามคำท้า พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดว่าด้วยห้างหุ้นส่วนจำกัด หาได้บัญญัติถึงการถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับกับกรณีนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1080 มีปัญหาว่าจะนำมาตรา 1036 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่มาตรา 1036 บัญญัติว่า "อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกันเว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น" ที่มาตรา 1036 บัญญัติให้หุ้นส่วนอื่นทั้งหมายเอาหุ้นส่วนผู้จัดการออกจากตำแหน่งได้นั้นก็เพราะกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีฐานะมีสิทธิและความรับผิดเท่าเทียมกัน การดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องพร้อมใจกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือเปลี่ยนแปลงประเภทแห่งกิจการ มาตรา 1032 กำหนดว่า จะทำมิได้นอกจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนยินยอม ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าให้ใครเป็นผู้จัดการ มาตรา 1033 ก็ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าจัดการได้โดยให้ถือว่าทุกคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ถ้าตกลงกันให้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนโดยเสียงข้างมาก มาตรา 1034 ก็บัญญัติให้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีคะแนนคนละหนึ่งคะแนนโดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นว่ามากหรือน้อยกว่ากัน ด้วยเหตุนี้เองถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดเป็นผู้จัดการแล้ว จะเอาออกจากตำแหน่งมาตรา 1036 จึงกำหนดว่าต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมใจกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น จะเห็นได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญมีสิทธิเท่ากัน มีเสียงเท่ากันและมีความรับผิดเท่ากันทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด แต่กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หาได้มีสิทธิและความรับผิดเท่าเทียมกันไม่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิจัดการห้างหุ้นส่วนและความรับผิดก็มีจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นเท่านั้น ส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมาตรา 1087 บัญญัติให้เป็นผู้มีสิทธิเป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนแต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างโดยไม่จำกัดจำนวนจะเห็นได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนี้มีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญนั่นเอง ส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหาได้มีสิทธิและความรับผิดอย่างผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ หากแต่มีลักษณะใกล้เคียงไปทางผู้ลงทุนหรือให้เงินทุนแก่ห้างหุ้นส่วนโดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ยเมื่อห้างหุ้นส่วนมีกำไร โดยปล่อยให้การจัดการงานของห้างหุ้นส่วนอยู่ในมือของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ฉะนั้น หากห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเพียงคนเดียว ผู้นั้นก็เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนโดยลำพัง หากมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหลายคน ต่างคนต่างก็มีสิทธิเข้าจัดการห้างหุ้นส่วน หรืออาจตกลงระหว่างกันเองให้ใครเป็นผู้จัดการก็ได้และเมื่อจะถอดถอนผู้จัดการก็จะต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นเองเป็นผู้ถอดถอน ทำนองเดียวกันกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 1032 ถึงมาตรา 1036 ดังกล่าวแล้วนั่นเอง จะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งไม่มีสิทธิมีส่วนในการจัดการเข้ามาถอดถอนผู้จัดการซึ่งตั้งโดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดได้ไม่ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเพราะหากให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ก็เท่ากับให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ย่อมเป็นการขัดกับลักษณะของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งแยกสิทธิและความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภทออกจากกัน การนำมาตรา 1036 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงต้องใช้เฉพาะกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้นดังที่มาตรา 1080 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดมีอยู่หลายคน ให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้ก็โดยสัญญาห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ดังที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1088 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 1036 มิได้จำกัดสิทธิไว้เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทใดโดยเฉพาะ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะเป็นประเภทจำกัดความรับผิดหรือไม่จำกัดความรับผิดย่อมมีสิทธิร่วมประชุมลงมติถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้ และมาตรา 1088 ก็ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดทำได้เพราะไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการ แม้หากเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการก็เพียงแต่ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 1036 เป็นบทบัญญัติในหมวดของห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญมีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียวคือผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด จึงย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่เองที่บทบัญญัติของมาตรานี้จะกล่าวถึงผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทอื่นไว้ด้วย และที่มาตรา1088 วรรคสอง มิให้ถือว่าการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดออกความเห็นแนะนำหรือออกเสียงลงคะแนนในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน เป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในสัญญาหุ้นส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหาใช่กรณีทั่วไปไม่ การที่มาตรา1088 วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้เช่นนี้ ย่อมแสดงว่าหากไม่มีสัญญาห้างหุ้นส่วนให้สิทธิไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิเข้าไปออกความเห็น แนะนำหรือลงคะแนนตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน เมื่อวินิจฉัยว่าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิที่จะประชุมถอดถอนหุ้นส่วนผู้จัดการจึงสมตามคำท้าของโจทก์ จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์แพ้คดีนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดพณิชยการเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2525ในส่วนที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้โจทก์คงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม และให้จำเลยที่ 1 ถึง 5 ทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ".

( โสภณ รัตนากร - ไพรัช วงศ์วัฒนะ - วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2529

หมายเหตุ

กฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดมีรากฐานจากหลักกฎหมายฝรั่งเศสและเยอรมันนี เรื่อง Socie"te"encommandite หรือKommanditgesellschaft ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1906 ก็ได้แพร่ขยายเข้าไปประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว

ตามหลักกฎหมายดังกล่างผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นมีอำนาจจัดการ (mangement) ห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจกระทำการผูกพันห้างหุ้นส่วนทั้งนี้เพื่อแลกกับความคุ้มครองที่จะไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทุน(capital) ที่ตนร่วมลงไว้ ฐานะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงเป็นเพียงหุ้นส่วนที่นอนหลับ (sleepingpartner)ไม่มีส่วนในการจัดการ คงมีอำนาจเฉพาะการตรวจสอบบัญชีของห้างหุ้นส่วนสำรวจสถานะภาพทางธุรกิจ และให้คำปรึกษาแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งแตกต่างจากผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดซึ่งมีอำนาจครอบงำการจัดการโดยที่ประชุมใหญ่ เนื่องจากฐานะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดกับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่เท่าเทียมกัน แต่ฐานะของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดเท่าเทียมกันเพราะผู้ถือหุ้นทุกคนจำกัดความรับผิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้เข้าบริหารบริษัทจำกัดหรือไม่

อย่างไรก็ดีการปล่อยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดมีอำนาจจัดการฝ่ายเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดรับผิดและเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนได้ ศาลเยอรมนีจึงกำหนดให้การกระทำบางอย่างต้องได้รับความเห็นชอบจากมติเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด เช่น การเพิ่มทุน เป็นต้น 

สำหรับกฎหมายไทยกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือหุ้นส่วนผู้จัดการดำเนินกิจการเสียหาย สิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดพอกระทำได้ เช่นเรียกค่าสินไหมทดแทน (มาตรา1038) บอกกล่าวเลิกห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1055) ฟ้องเลิกห้างหุ้นส่วน(มาตรา 1057) เป็นต้น.

จิรนิติหะวานนท์.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 21:25:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล