ReadyPlanet.com


การลดตำแหน่ง และลดเงินเดือน


ดิฉันเข้าทำงานเมื่อวันที่ 2/6/2551 ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ด้วยเงินเดือน จำนวนหนึ่ง + ค่าน้ำมัน + ค่าโทรศัพท์ (เหมาจ่ายให้พร้อมเงินเดือนทุกเดือน) โดยการทำงานของข้าพเจ้าในช่วงทดลองงานได้ทำการตอกบัตรบันทึกเวลาตามปกติ ต่อมาเมื่อผ่านทดลองงานข้าพเจ้ามิได้ทำการตอกบัตรบันทึกเวลาเนื่องจากมีการต่อรองไว้ก่อนแล้ว ตอนที่ตกลงกัน แต่มิได้มีระบุไว้ในสัญญา ข้าพเจ้าเข้าทำงานโดยมิได้ทำการบันทึกเวลา ตั้งแต่วันที่ 1/9/2551 จนวันที่ 30/6/2552 ทางฝ่ายบุคคลได้เรียกิฉันเข้าไปทำการตักเตือนเรื่องการไม่บันทึกเวลา ดิฉันก็ได้แจ้งกลับไปเกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง แต่ผู้บริหารที่ได้มีการเจรจาไว้กลับบอกว่าไม่ได้อนุมัติ ดิฉันเลยแจ้งว่าหากไม่มีการอนุมัติเหตุใดทางฝ่ายบุคคลจึงอนุมัติให้ดิฉันไม่ตอกบัตรมานานตั้งเกือบ 1 ปี และเพิ่งมาแจ้ง เมื่อดิฉันได้โต้แย้ง ทางบริษัทจึงได้นำใบลาออกมาให้ดิฉันเขียนลาออก แต่ดิฉันมิได้เขียน ทางบริษัทจึงได้ให้ใบเตือนดิฉันและให้ดิฉันเซ็นต์รับ พร้อมกฎระเบียบในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดิฉันได้เซ็นต์รับเอกสารทั้ง 2 ฉบับมา เนื่องจากว่ากลัวจะตกงาน และพยายามปฏิบัติตามทุกประการ ต่อมาวันที่ 3/7/2552 มีการประชุมครึ่งปีพนักงานทั้งบริษัท ทางบริษัทได้ประกาศผังการบริหารงานแบบใหม่ โดยดิฉันโดนลดตำแหน่งจาก ผู้จัดการปฏิบัติการโรงงาน (Operation Mgr.) เป็นเพียง หัวหน้าส่วนสนับสนุนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ และได้ปรับผู้ใต้บังคับบัญชาของดิฉัน 2 คนขึ้นมาเป็นผู้จัดการแผนก โดยให้ดิฉันอยู่ในสายการบังคับบัญชาของผู้จัดการฝ่ายผลิต และแจ้งว่าจะลดเงินเดือนของดิฉัน ทำให้ดิฉันได้รับความอับอายมาก แต่ก็ยังคงมาทำงานตามปกติ เพราะให้บริษัทเลิกจ้างดิฉันอย่างยุติธรรม แต่จากที่ดูแล้วบริษัทน่าจะบีบให้ดิฉันลาออกมากกว่า ขอถามดังนี้

1. ในเรื่องของใบเตือนที่ดิฉันเซ็นต์ไปและได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด สามารถนำมาเป็นความผิดไล่ออกได้หรือไม่

2. การลดตำแหน่ง ทำให้ดิฉันอับอาย หากดิฉันไม่ยินยอมบริษัทสามารถทำได้หรือไม่ และ มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่

3. การลดเงินเดือนตามที่บริษัทกำลังจะทำหากดิฉันไม่ยินยอมสามารถทำได้หรือไม่

4. หากดิฉันได้รับเอกสาร ลดเงินเดือน และลดตำแหน่งจากบริษัท ดิฉันไม่เซ็นต์ แต่ความอับอายทำให้ดิฉันอยู่ไม่ได้ถ้าดิฉันลาออกเพื่อมาดำเนินการทางแรงงานในเรื่องของค่าชดเชยได้หรือไม่อย่างไรดิฉันเข้าทำงาน 1/6/2551 ค่ะ รวมเวลาแล้วก็มากกว่า 1 ปี ค่ะ

 

รบกวนแนะนำให้ด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ช่วยแนะนำด้วย :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-06 11:23:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959267)

1. ใบเตือน เป็นการทำทัณฑ์บนไว้ ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาเลิกจ้าง

2. และ 3.   การลดตำแหน่งและลดเงินเดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่ได้รับความยินยอมของลูกจ้าง และนายจ้างไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยลำพังฝ่ายเดียว เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20

อ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 7238 - 7239/2544

4. เมื่อนายจ้างไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิทำงานต่อไปได้ และไม่น่าจะถือว่าทำให้ลูกจ้างอับอาย ที่จะเรียกค่าเสียหายได้

หากลูกจ้างลาออกเองจึงเป็นความสมัครใจจากลูกจ้างจึงเรียกร้องค่าชดเชยไม่ได้ แนะนำว่าให้นายจ้างทำหนังสือเลิกจ้างและเหตุผลเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วฟ้องต่อศาลแรงงาน เรียกค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือเรียกค่าชดเชยได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-06 19:20:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1959659)

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 42,500 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการไปเป็นพนักงานขายและขอลดเงินเดือนคนละเดือนละ 7,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมและทำหนังสือโต้แย้งขอให้จำเลยชี้แจงคำสั่งแต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง และวันรุ่งขึ้นจำเลยมีคำสั่งห้ามโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานพร้อมกับเก็บบัตรบันทึกเวลาไปด้วย อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในวันดังกล่าวโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 52,392 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน แต่จำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานในวันหยุดดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 รวม 24 วันคิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 32,070 บาท และโจทก์ที่ 2 ทำงานในวันหยุดดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2541 รวม 19 วัน คิดเป็นค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 26,240 บาทโจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะโจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีการศึกษามีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อลงมือทำงานแล้วจึงพบว่าโจทก์ทั้งสองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวและจำเลยต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการบังคับบัญชาเสียใหม่จึงยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ขายและส่งเสริมการขาย คงมีโจทก์ทั้งสองที่ไม่พอใจ ที่อ้างว่าถูกลดเงินเดือนลงคนละ 7,000 บาทนั้น โจทก์ทั้งสองก็จะได้รับชดเชยเป็นค่าตอบแทนการขายตามผลงานไม่ต่ำกว่า 7,000บาทต่อเดือน จำเลยพยายามหาตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมให้โจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือให้ข้อมูลทางการศึกษาและประวัติการทำงานจึงไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ได้นอกจากหน้าที่การขายที่โจทก์เคยทำอยู่ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำหน้าที่ดังกล่าวตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งที่จำเลยชี้แจงและตักเตือนแล้ว โจทก์ทั้งสองจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ่ายเงินเดือนให้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 โจทก์ทั้งสองจึงรับเงินค่าจ้างเกินไปคนละ 7 วัน เป็นเงินคนละ 9,912 บาท หากจำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ก็ต้องหักเงินดังกล่าวออกก่อน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีเพราะจำเลยให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุด การที่โจทก์ทั้งสองทำงานในวันหยุดตามประเพณีบางวันก็เพื่อทดแทนวันที่โจทก์ทั้งสองหยุดงานไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ 127,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 42,480บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอยให้แก่ชาวต่างประเทศ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ตามลำดับครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายมีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ 150คน และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละเดือนละ 42,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2542 เป็นต้นไปและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน และในวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสองไปเป็นพนักงานขายและลดเงินเดือนลงคนละ7,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 24กรกฎาคม 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและละทิ้งหน้าที่การงานตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 25 กรกฎาคม2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนละ 7,000 บาท นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง กล่าวคือเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งที่มีอำนาจบังคับบัญชาให้คำแนะนำแก่พนักงานขายคนอื่นมาเป็นเพียงพนักงานขายทั่ว ๆ ไปอีกทั้งลดเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้ประจำที่มีจำนวนแน่นอนลงอีกด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( ปัญญา สุทธิบดี - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238 - 7239/2544

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-07 21:34:08


ความคิดเห็นที่ 3 (1960611)

ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม

 

 

แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่นายจ้างย้ายลูกจ้างในตำแหน่งเลขานุการฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม อีกทั้งเป็นการย้ายลูกจ้างจากตำแหน่งเลขานุการ ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของลูกจ้างลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม การที่ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 จำเลยได้จ้างโจทก์ให้เข้าทำงานในตำแหน่งเลขานุการ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2543 โดยประจำที่สำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ รัชดาภิเษก ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 โจทก์ได้รับการโอนย้ายตำแหน่งไปรับงานใหม่ในตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 การโอนย้ายตำแหน่งงานดังกล่าวเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลงโดยไม่ชอบ ไม่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของโจทก์ และไม่มีเหตุผลในการย้าย เป็นการบังคับโจทก์ในทางอ้อมให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้โจทก์ได้ยื่นหนังสือปฏิเสธการโอนย้ายตำแหน่งงานต่อจำเลย จำเลยออกหนังสือยืนยันการโอนย้ายตำแหน่งงานพร้อมทั้งหนังสือตักเตือนการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแก่โจทก์ โจทก์ได้ยื่นหนังสือยืนยันปฏิเสธการโอนย้ายตำแหน่งงานต่อจำเลยอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2545 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกการจ้างต่อโจทก์ การบอกเลิกการจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีประจำปีอีก 1 เท่าของค่าแรงในช่วงเวลานั้น ๆ ที่จำเลยยังไม่ได้มีการจ่ายให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47,700 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 15,900 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 47,700 บาท ค่าทำงานในวันหยุดประเพณีประจำปี จำนวน 6,753.28 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,590 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 119,643.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 จำเลยย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการประจำสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ รัชดาภิเษก ไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ของจำเลย สาขาสุขาภิบาล 1 แล้วโจทก์ไม่ยอมย้ายไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว จำเลยจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ไปปฏิบัติงานตามตำแหน่งใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ตามหนังสือเตือน จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จล.4 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 อ้างว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน เห็นว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประจำสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม อีกทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการ ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จำเลยไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 1 ปีแต่ยังไม่ครบ 3 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 90 วัน เป็นเงิน 47,700 บาท ตามมาตรา 118 (2) และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทั้งสองข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะที่โจทก์โอนย้ายไปดำรงตำแหน่งพนักงานประจำแผนกผักและผลไม้นั้น หัวหน้าแผนกผักและผลไม้ได้เลื่อนระดับจากระดับ 3 ขึ้นเป็นระดับ 4 แล้ว จำเลยจึงมิได้ย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าขณะที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งพนักงานประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 นั้น หัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ว่ามีเพียงวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่มีวันหยุดตามประเพณีรวมอยู่นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 จำเลยได้กำหนดให้มีการหยุดตามประเพณีรวมอยู่ด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 08:50:15


ความคิดเห็นที่ 4 (1961590)

หนังสือรับรองการทำงาน

เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร" * เป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะให้นายจ้างออกใบสำคัญการทำงาน (หนังสือรับรองการทำงาน) โดยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดไว้ *เป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะออกใบสำคัญการทำงาน (หนังสือรับรองการทำงาน) ด้วยข้อความใด ๆ ตามความประสงค์ของนายจ้างให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ นายจ้างไม่มีสิทธิระบุข้อความลงในหนังสือรับรองการทำงาน ว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใด ด้วยวิธีใดและสาเหตุใด

คดีสืบเนื่องศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โดยจ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่ง และจำเลยทั้งสองตกลงจะออกใบสำคัญการทำงานแก่โจทก์ ต่อมาในชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ออกใบสำคัญการทำงานให้โจทก์ฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2542 โดยรับรองว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย ช่วยงานฝ่ายกิจการพิเศษ และพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โดยคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลาง รวมระยะเวลาทำงาน 3 ปี 8 เดือน

โจทก์ยื่นคำแถลงว่า หนังสือรับรองแสดงการทำงานที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ ระบุตำแหน่งงานโจทก์ที่ถูกปรับลดและรูปแบบการเลิกจ้าง อันเป็นข้อความที่เป็นผลร้ายต่อโจทก์ ชอบที่จะรับรองการทำงานโจทก์เฉพาะตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและรวมระยะเวลาการทำงานเท่านั้น

จำเลยยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ในลักษณะเดียวกับที่ออกให้พนักงานคนอื่น เป็นข้อความตามความจริงเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การงานและเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองออกใบสำคัญการทำงานโดยมีข้อความรับรองตำแหน่งงานที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ทุกตำแหน่งเพื่อแสดงว่างานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร รวมเป็นเวลานานเท่าไร ส่วนเรื่องที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เมื่อไร ด้วยวิธีใด และสาเหตุใดไม่ใช่ข้อความจำเป็นที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับรองหรือกล่าวถึง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิระบุข้อความว่าได้เลิกจ้างโจทก์ เมื่อใดด้วยวิธีใดและสาเหตุใดลงในใบสำคัญการทำงานได้โดยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า "เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะให้นายจ้างออกใบสำคัญการทำงานโดยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง กรณีจึงหาใช่เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะออกใบสำคัญ การทำงานด้วยข้อความใด ๆ ตามความประสงค์ของนายจ้างให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ ดังนั้นจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิระบุข้อความลงในใบสำคัญการทำงานว่าได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อใดด้วยวิธีใดและสาเหตุใด

พิพากษายืน

( วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - สละ เทศรำพรรณ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2543

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-12 18:12:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล